กทม. ออกกฎใหม่คุมแผงลอย จำกัดพื้นที่ไม่ให้กีดขวางทางจราจร ประเมินทุก 1 – 2 ปี วางระบบสแกนหน้าผู้ค้าทุกครั้งก่อนขาย สกัดนายทุน-ต่างด้าวสวมสิทธิ์ เริ่มดีเดย์ ม.ค. 68

วันนี้ 19 ก.ย. 67 กรุงเทพมหานคร ประกาศหลักเกณฑ์ใช้พื้นที่ทำการค้าฉบับใหม่ โดย "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ลงนามในประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ มีหลักเกณฑ์การพิจารณาดังนี้

ถนนที่มีช่องทางจราจรตั้งแต่ 3 ช่องทางจราจรขึ้นไป ไม่ว่าเป็นการเดินรถทางเดียวหรือสวนทาง เมื่อจัดวางแผงค้าแล้วต้องมีที่ว่างให้ประชาชนสัญจรได้ไม่น้อยกว่า 2 เมตร สำนักงานเขตจะทบทวนความจำเป็น และความเหมาะสมของพื้นที่ทำการค้าทุก 2 ปี

ถนนที่มีช่องทางจราจรน้อยกว่า 3 ช่องทางจราจร ไม่ว่าเป็นการเดินรถทางเดียวหรือสวนทาง เมื่อจัดวางแผงค้าแล้วต้องมีที่ว่างให้ประชาชนสัญจรได้ไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร และให้เขตทบทวนความจำเป็นทุก 1 ปี

แผงค้าต้องมีขนาดไม่เกิน 3 ตารางเมตร มีความลึกของแผงค้าไม่เกิน 1.5 เมตร ให้จัดวางแผงค้าเพียงฝั่งเดียว โดยให้ชิดด้านถนน และห่างจากผิวจราจรอย่างน้อย 50 เซนติเมตร และเว้นระยะห่าง 3 เมตร ทุกระยะ 10 แผงค้า เพื่อเป็นทางเข้าออกฉุกเฉิน

...

คุณสมบัติผู้ทำการค้าและผู้ช่วยจำหน่ายสินค้า ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นคู่สัญญาในการซื้อบ้านที่อยู่อาศัยกับการเคหะแห่งชาติในโครงการบ้านมั่นคง ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนและยังมีภาระผูกพันในการชำระหนี้

เป็นบุคคลที่ได้รับเงินสวัสดิการจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาท/ปี โดยอ้างอิงจากเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายประกอบธุรกิจตามหลักฐานการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ผู้ทำการค้าต้องลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ต่อสำนักงานเขตที่กำหนดให้มีพื้นที่ทำการค้า ไม่มีแผงค้าอื่นหรือผู้ช่วยจำหน่ายสินค้าในแผงค้าอื่นในพื้นที่ที่กรุงเทพมหานครกำหนดให้เป็นพื้นที่ทำการค้า

เปิดแผนจัดการแผงลอย กทม. ดีเดย์ต้นปี 2568

หลังมีการเผยแพร่ข้อมูลถึงการจัดการแผงลอยใหม่ของกรุงเทพฯ มีประชาชนเข้ามาวิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงปัญหาผู้ค้าที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย และการสวมสิทธิของผู้ค้าแผงลอยของบรรดานายทุน ทีมข่าวสอบถามไปยัง "เอกวรัญญู อัมระปาล" โฆษกของกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า แนวคิดการจัดการแผงลอยใหม่ของกรุงเทพ มีการพิจารณาจากมิติร้านค้า พื้นที่ และผู้ขาย โดยกฎใหม่ เน้นควบคุมร้านค้าที่ตั้งอยู่ในทางเดิน 2 เมตรขึ้นไป มีการทบทวนความเหมาะสมทุก 2 ปี แต่ถ้าร้านค้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางเดิน 1.5 เมตร จะทบทวนทุก 1 ปี เพื่อควบคุมการลักลอบหรือแอบขยายพื้นที่อย่างไม่เหมาะสม จะได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบควบคุมได้ง่ายขึ้น

แผงลอยต้องไม่อยู่ในรัศมี 150 เมตร ใกล้กับพื้นที่สำคัญ เช่น พระบรมมหาราชวัง หรือพระบรมราชานุสาวรีย์ อีกส่วนที่สำคัญคือ แผงลอยต้องไม่ตั้งขวางทางจราจร จึงต้องมีการยืนยันจากเจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่ก่อน

คุณสมบัติของผู้ค้า เป็นมาตรการที่สำคัญ เพราะการให้สิทธิขายได้ เนื่องจากผู้ค้าเป็นกลุ่มเปราะบาง จึงมีกรอบรายได้ของผู้ค้า ห้ามมีรายได้เกิน 3 แสนบาท/ปี ซึ่งถ้ามีรายได้เกิน แสดงว่าผู้ค้ามีศักยภาพเพียงพอในการไปหาเช่าพื้นที่ของเอกชนได้

เพื่อเป็นการป้องกันการสวมสิทธิของนายทุน จะมีมาตรการให้ผู้ค้าด้วยการสแกนใบหน้าตนเองทุกเช้าก่อนทำการขายของ ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือของธนาคารกรุงไทย เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นผู้ค้าในพื้นที่จริง และไม่ได้ปล่อยเซ้งให้ผู้อื่นมาสวมสิทธิ์ แต่เบื้องต้นต้องมีการคุยกันอีกครั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ขายสินค้า

“การสวมสิทธิ์ผู้ค้าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างกังวล เลยต้องมีการสแกนใบหน้าทุกครั้ง โดยผู้ค้าที่ลงทะเบียนต้องเป็นคนไทย และผู้ช่วย 1 คน ต้องเป็นคนไทย ขณะเดียวกันผู้ค้าต้องสมัครเข้าแอปถุงเงิน ของธนาคารกรุงไทย เพื่อให้ผู้ค้าได้สแกนใบหน้าก่อนขายสินค้า ส่วนในการสแกนรับจ่ายเงิน จะใช้แอปพลิเคชันนี้หรือไม่ เป็นสิทธิของผู้ค้า โดยตั้งเป้าเริ่มใช้การสแกนใบหน้าผู้ค้าช่วงเดือน ม.ค. 2568 แต่ตอนนี้เริ่มมีการทดลองใช้แล้วบางส่วน โดยผู้ค้าที่เข้าเกณฑ์ ต้องไปขึ้นทะเบียน และจ่ายค่าใบอนุญาต 500 บาท/ปี"

...

สำหรับการจัดการแผงลอยในพื้นที่กรุงเทพฯ มีทั้งคนเห็นด้วยและเห็นต่าง ส่วนเรื่องความขัดแย้งของผู้ค้ากับเทศกิจ ก็อาจมีเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่วางหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ ก็เพื่อปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้น เพราะจากการทำประชามติที่ผ่านมา มีความเห็นด้วยที่จะให้ผู้ค้าที่มีความลำบากในการต้องไปจ่ายเงินค่าที่

คาดว่า การเริ่มดีเดย์โครงการพื้นที่ทำการค้าฉบับใหม่ จะเริ่มดีเดย์ 1 ม.ค. 68 และมีการประเมินปัญหา และสิ่งที่ต้องปรับปรุงหลังจากนั้น เพื่อให้มีกระบวนการที่แก้ปัญหาให้กับผู้ค้าและผู้สัญจรในพื้นที่นั้นจริง.