เสียงสะท้อน "ผู้พิการ" หลังรัฐบาลเตรียมโอนเงินเข้าพร้อมเพย์ 10,000 บาท เฟสแรกเริ่ม25 ก.ย.นี้ หวั่นผู้พิการจนจริงเสียโอกาส วอนนโยบายระยะยาวปรับเงินคนพิการให้มากกว่าเดือนละ 800 บาท

รัฐบาลเดินหน้าแจกเงิน 10,000 บาท เฟสแรกให้กลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อย ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐราว 13.5 ล้านคน และคนพิการอีก 1 ล้านคน รวมเป็น 14.5 ล้านคนก่อน เริ่มโอนเข้าบัญชีธนาคารผ่านระบบพร้อมเพย์ ที่ประชาชนลงทะเบียนผูกบัญชีธนาคารไว้กับหมายเลขโทรศัพท์มือถือ และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก

สำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนใช้ระบบพร้อมเพย์ อยากให้ไปลงทะเบียน เพื่อรับเงิน 10,000 บาท โดยกรมบัญชีกลางเริ่มโอนเงิน 10,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารที่ผูกไว้กับระบบพร้อมเพย์ ตั้งแต่วันที่ 25-30 ก.ย. 67 ในเฟสต่อไป กลุ่มผู้เปราะบางที่ได้รับเงินเฟสแรกแล้ว แม้ลงทะเบียนผ่านแอปทางรัฐไว้ ระบบจะทำการตัดสิทธิ์ออก

รัฐบาลคาดหวังว่า เงินส่วนนี้ที่ให้กับกลุ่มผู้เปราะบางก่อน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเฟส 2 เตรียมจะศึกษาคาดว่าแล้วเสร็จในปี 2568
ผู้พิการที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ที่เตรียมรับเงิน 10,000 บาท ปกติถ้ามีการลงทะเบียนผู้พิการ จะมีเงินช่วยเหลือเดือนละ 800 บาท แต่การได้รับแจกเงิน 10,000 บาท เฟสแรก หลายคนยังค่อนข้างสับสน โดย เทิดเกียรติ์ บุญเที่ยง ผู้พิการทางสายตา เล่าว่า ที่ผ่านมาไม่ได้ติดตามเรื่องการโอนเงินหมื่นให้กับผู้พิการ และกลุ่มเปราะบางก่อน เช่นเดียวกับเพื่อนๆ ที่เป็นผู้พิการทางสายตาแทบไม่ได้รับข้อมูล ประกอบกับหลายคนก็เบื่อ เนื่องจากเลื่อนโครงการมาแล้วหลายรอบ

...

สำหรับเงิน 10,000 บาท ที่ได้รับโอนผ่านระบบพร้อมเพย์ ตั้งแต่วันที่ 25-30 ก.ย. 67 จะนำเงินไปใช้ในการเดินทางและค่าครองชีพในชีวิตประจำวัน เพราะเฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เดือนละ 20,000 – 30,000 บาท เพราะผู้พิการมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงกว่าคนปกติ

สำหรับผู้พิการก็มีหลายระดับ เพราะต้องยอมรับว่าผู้พิการบางคนที่บ้านมีฐานะ ก็ไม่ตื่นเต้นกับเงินที่รัฐบาลกำลังจะแจกให้ แต่กลุ่มผู้พิการที่ยากไร้ ถือเป็นกลุ่มที่ภาครัฐ ควรให้ความใส่ใจมากกว่านี้ เพราะลำพังเงินผู้พิการที่รัฐให้เดือนละ 800 บาท ก็แทบใช้ดำรงชีพได้ไม่กี่วัน

“เงินหมื่นที่รัฐบาลให้ผู้พิการก่อน เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบอาจไม่ได้ทั่วถึง เพราะสุดท้ายเงินพวกนี้จะไปเข้ากระเป๋าบรรดาเจ้าสัวแค่ไม่กี่ตระกูล ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาก็เน้นแจกเงิน แต่ยังไม่มองถึงการดูแลสวัสดิภาพผู้พิการในระยะยาวให้มีรายได้เพียงพอกับความต้องการ”

โครงการเงิน 10,000 บาท ช่วยเหลือผู้พิการได้จริงหรือ


ประสาน น้อมจันทึก ผู้พิการทางการเดิน กล่าวว่า การที่ปรับมาแจกเป็นเงินสด ที่สามารถซื้อสินค้าได้หลากหลายมากขึ้นถือเป็นผลดีต่อผู้พิการ น่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้มากกว่าการจ่ายเป็นดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากการเดินทางของผู้พิการมีต้นทุนที่สูงกว่าคนปกติ ยิ่งผู้พิการตามต่างจังหวัด ไปหาหมอทีต้องเหมารถไป เพราะรถโดยสารสาธารณะยังไม่รองรับ

การแจกเงินให้กับผู้พิการผ่านระบบพร้อมเพย์ อยากให้รัฐมีการคัดกรองผู้พิการ ไม่ควรให้เงินคนที่มีเงินในบัญชีเกินกว่าเกณฑ์กำหนด เพราะผู้พิการบางรายมีฐานะ ซึ่งควรมีระบบให้ผู้พิการที่ไม่ต้องการรับเงิน โอนเงินคืนรัฐได้ เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่น ที่ยากไร้กว่าได้รับสิทธิ

“โครงการของรัฐที่จะช่วยเหลือผู้พิการในอนาคต อาจไม่ต้องโอนให้ทีเดียว 10,000 บาท อย่างโครงการนี้ แต่อาจทยอยให้ โดยเพิ่มเงินผู้พิการจากเดือนละ 800 บาท เป็นเดือนละ 2,000 – 3,000 บาท”

การได้รับเงินหมื่นของผู้พิการในเฟสแรก หลังได้รับการโอนเงินแล้ว อยากให้คนในสังคมจับตา และช่วยเหลือผู้พิการที่ถูกเอาเปรียบ เพราะมีคนที่หวังผลประโยชน์จากเงินส่วนนี้ของผู้พิการ เช่น นำไปแลกเป็นเงิน และใช้ประโยชน์ผิดประเภท เลยอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐ คอยตรวจสอบ ดูแลให้เงินเหล่านี้ไปถึงคนพิการจริง เพื่อช่วยทำให้สวัสดิภาพการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมดีขึ้นกว่าเดิม.