ศึกเลือกตั้งซ่อม สส. เขต 1 พิษณุโลก ผลอย่างไม่เป็นทางการ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย “จเด็ศ จันทรา” กวาดคะแนนทิ้งห่างผู้สมัครฝั่งพรรคประชาชน นักวิเคราะห์การเมือง มองว่า รอบนี้บรรดาบ้านใหญ่ต่างรวมการเฉพาะกิจ หวังเรียกศรัทธาให้กับหัวหน้าพรรค แต่ถ้ามองการเมืองภาพใหญ่ ไม่แน่ว่าจะร่วมมือกันสู้แบบนี้หรือไม่ ส่วนพรรคประชาชน ต้องกลับไปทำการบ้านหนักอีกครั้ง

วันที่ 15 ก.ย. 67 ผลการเลือกตั้งซ่อม สส. เขต 1 พิษณุโลก แทนตำแหน่งที่ว่าง ผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าผู้สมัครหมายเลข 2 นายจเด็ศ จันทรา จากพรรคเพื่อไทย มีคะแนนนำ 37,209 คะแนน ขณะ หมายเลข 1 นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ มีคะแนนอยู่ที่ 30,640 คะแนน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 138,705 ราย

ภายหลังทราบผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ นายจเด็ศ จันทรา หรือ บู้ ผู้ชนะจากพรรคเพื่อไทย ออกมาแถลงถึงผลคะแนนที่ได้รับชัยชนะ ส่วนนายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หรือ โฟล์ค ผู้สมัครจากพรรคประชาชน ออกมายอมรับความพ่ายแพ้ และแสดงความยินดีกับผู้ชนะ

โดยนายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หรือ โฟล์ค ตัวแทนพรรคประชาชน ออกมายอมรับความพ่ายแพ้ว่า ขอแสดงความยินดีกับตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ที่ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ และขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่มอบให้ แม้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ แต่ต้องเดินหน้าทำงานต่อ

...

ด้านเลขาธิการพรรคประชาชน กล่าวว่า หลังจากนี้ต้องมาทบทวน และเริ่มปรับทัพการทำงานของพรรคให้กับตัวแทนและสมาชิกพรรคในทุกพื้นที่ และจะมีการเลือกตัวแทนสมาชิกพรรคในทุกพื้นที่ เพื่อให้พรรคนี้ที่เป็นของทุกคนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง และสร้างพรรคให้เป็นของมวลชนโดยรวมได้

ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์การชนะเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ว่า การชนะเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก ของพรรคเพื่อไทย แม้เป็นการปักธงชัยชนะในนามแกนนำรัฐบาล แต่ในเนื้อแท้เห็นว่า เป็นการรวมการเฉพาะกิจของบรรดาบ้านใหญ่ ที่มารวมตัวกันช่วยหาเสียง เพื่อต่อสู้กับตัวแทนของพรรคประชาชน

การชนะเลือกตั้ง หากวิเคราะห์อาจมีหลายสาเหตุ ตั้งแต่ระบบเครือข่าย การอุปถัมภ์กันของคนในพื้นที่ ย่อมได้เปรียบ เพราะตัวแทนพรรคประชาชนไม่มีฐานเสียงในกลุ่มนี้ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อาศัยกระแสสังคมมาตลอด ยิ่งในการเลือกตั้งซ่อม ไม่มีการอนุญาตให้เลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้คนในพื้นที่ที่ไปทำงานต่างถิ่น ก็เลือกที่จะไม่กลับมาลงคะแนนเสียง จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้พรรคประชาชนพ่ายแพ้

แต่ถ้าวิเคราะห์ปัญหาที่ตามมาต่อจากนี้ ต้องจับตาดูว่า บรรดาบ้านใหญ่ของพรรคเพื่อไทย จะรวมการเฉพาะกิจ และสร้างความร่วมมือกันแบบนี้ได้นานแค่ไหน ถ้าในการเลือกตั้งทั่วไป ในสนามการเมืองใหญ่ ก็มีโอกาสอย่างมากที่บรรดาบ้านใหญ่จะตัดทอนคะแนนกันเอง ดังนั้น ใครจะเป็นผู้เสียสละให้คะแนนกับบ้านใหญ่อีกฝั่ง

“ในการเมืองภาพใหญ่ การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดว่า บรรดาบ้านใหญ่ต่างหวั่นวิตกกับการเติบโตของพรรคประชาชน ซึ่งความพ่ายแพ้ของพรรคประชาชนรอบนี้ต้องกลับไปทำการบ้านอีกเยอะ เพื่อเอาชนะระบบหัวคะแนนแบบเดิม ที่ผ่านมาหลายสนามพ่ายแพ้ ก็แสดงให้เห็นว่าระบบหัวคะแนนของบ้านใหญ่ยังมีความเหนี่ยวแน่น”

...

ด้าน “ผศ.ว่าที่ ร.ต.จตุพล ดวงจิตร” อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า การชนะเลือกตั้งซ่อมของพรรคเพื่อไทย เห็นได้ชัดถึงการทุ่มสรรพกำลังทางการเมืองมาในสนามนี้จำนวนมาก ส่วนหนึ่งต้องการแสดงศักยภาพให้เห็นถึงพลังของ แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่พยายามสลัดภาพคนเบื้องหลังออก และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกพรรค

ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาชน ต้องมาปรับกระบวนการทำงานใหม่ ซึ่งระยะเวลานี้อาจต้องให้พรรคเพื่อไทย ที่มีนายกฯ คนใหม่ทำงานไปสักพัก เพราะหลังจากนี้จะเห็นชัดว่า ควรเดินเกมการเมืองอย่างไรต่อ ถ้าแกนนำรัฐบาลทำไม่ได้ กระแสความนิยมจะตกลง และเป็นโอกาสให้กับพรรคประชาชนอีกครั้ง.