จับตามวลน้ำโขงลด “หนองคาย” ใกล้พ้นวิกฤติ คาดอีก 3 วัน ถึงนครพนม-มุกดาหาร ปริมาณน้ำต่ำกว่าตลิ่ง เฝ้าระวังพื้นที่ต่ำน้ำเอ่อสูง เปิดข้อมูลโขงเจียม จ.อุบลราชธานี น้ำไหลบ่าถึงอีก 6 วัน แม้มีฝนตกหนัก แต่โอกาสท่วมน้อย

มวลน้ำที่ก่อนหน้านี้ไหลบ่าท่วม จ.เชียงราย โดยเฉพาะ อ.แม่สาย ที่ได้รับอิทธิพลมาจากมวลน้ำในแม่น้ำโขง เพราะพื้นที่ตอนบนมีปริมาณฝนจากพายุหนาแน่น ทำให้มีการปล่อยน้ำจนท่วมล้น มีผลต่อพื้นที่ จ.หนองคาย ที่หลายพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่

“ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ” ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. กล่าวว่า หลังปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูง ขณะนี้ปริมาณน้ำที่ท่วมเข้าไปยัง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เริ่มลดลง เห็นได้จากมวลน้ำที่ไหลผ่าน "เขื่อนไซยะบุรี" ของลาว ที่ตอนน้ำท่วม ระบายน้ำ 23,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่วันนี้ (15 ก.ย.57) ปรับลดเหลือ 20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำที่ อ.เชียงคาน จ.เลย มีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 10%

จ.หนองคาย ผ่านวิกฤติปริมาณมวลน้ำเพิ่มขึ้นสูงสุดแล้ว จากนี้ไปประมาณ 3 – 4 วัน น้ำเริ่มลดระดับลงเข้าสู่สภาวะปกติ ส่วนพื้นที่ตอนล่าง ยังเป็นพื้นที่เฝ้าระวังการเอ่อท้นของน้ำ ส่วน จ.นครพนม สถานการณ์น้ำคงมีเพียงปริ่มๆ แต่ยังต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 60%

...

จ.มุกดาหาร ที่มวลน้ำจะไหลไปต่อ มีปริมาณแม่น้ำโขงต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 1.80 เมตร ส่วนที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ปริมาณน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.65 เมตร คาดว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ในพื้นที่ตอนล่างต่อจากนี้ จะไม่เอ่อล้นเข้าไปเหมือนที่เกิดใน จ.หนองคาย เพราะตลิ่งริมน้ำของพื้นที่ตอนล่างสูงกว่ามาก

กรณีมีคนแชร์ข้อมูลว่า น้ำในแม่น้ำโขงจะไหลท่วม จ.มุกดาหาร และ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี “ฐนโรจน์” มองว่า มีโอกาสที่น้ำท่วมยาก เพราะพื้นที่รับน้ำช่วง มุกดาหาร และโขงเจียม มีพื้นที่รับน้ำมากกว่าหนองคาย ที่มีทางน้ำบีบแคบ เลยทำให้ปริมาณมวลน้ำที่มาเอ่อสูงมากกว่าพื้นที่ตอนล่าง อย่างโขงเจียม มีทางน้ำที่กว้างกว่ามาก

เส้นทางมวลน้ำโขง คาด 6 วันถึงโขงเจียม จ.อุบลราชธานี

เส้นทางของมวลน้ำโขงต่อจากนี้ หลังวันนี้ (15 ก.ย.67) น้ำในพื้นที่ จ.หนองคาย เริ่มลดระดับลง “ฐนโรจน์” กล่าวว่า มวลน้ำจะเคลื่อนตัวจากหนองคาย ไปถึงนครพนม ในอีก 3 วัน (18 ก.ย.67) และมวลน้ำเดินทางไปถึงมุกดาหาร ต่อจากนั้นอีก 1 วัน (19 ก.ย.67) จากนั้นมวลน้ำจะถึงโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ภายใน 2 วัน (22 ก.ย.67) ซึ่งมวลน้ำต่อจากนี้จะไหลออกไปยังประเทศกัมพูชา

ความกังวลว่ามีน้ำจากฝนมาเติมในพื้นที่ จากการคาดการณ์ 1 – 2 สัปดาห์นี้ ไม่มีพายุฝนเข้ามาเติมปริมาณน้ำในลักษณะหนัก เนื่องจากความกดอากาศสูงเริ่มดันทำให้ฝนที่ตกทางภาคเหนือตอนบน ลงมายังภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสานตอนกลาง

พบว่าในอีก 15 วันข้างหน้า แม้มีฝนตกในพื้นที่ แต่ไม่มากเหมือนช่วงที่ผ่านมา ที่ตกจนทำให้มีปริมาณน้ำท่วมพื้นที่เชียงราย ส่วนพายุที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ ได้เคลื่อนตัวขึ้นไปยังประเทศจีน และไม่พบมรสุมลูกใหม่ ดังนั้น ฝนที่ตกในพื้นที่แม่น้ำโขง ตอนนี้เป็นฝนที่ตกตามฤดูกาล จะไม่ทำให้มีน้ำมากจนท่วมได้

...

บทเรียนจากปริมาณน้ำท่วมแม่น้ำโขงในรอบนี้ ทำให้ต้องมีการถอดบทเรียน เพราะการประสานขอข้อมูลปริมาณน้ำ จากลุ่มน้ำโขงตอนบนค่อนข้างล่าช้า ซึ่งเตรียมที่จะประสานขอข้อมูลให้เร็วมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับ จ.เชียงราย ที่ระบบการแจ้งเตือนไม่มีสถานีวัดน้ำในฝั่งประเทศเมียนมา ตอนนี้เตรียมประสานเพื่อตั้งสถานี ให้มีข้อมูลประเมินที่รวดเร็วขึ้น

รวมถึง การประสานความร่วมมือกับชาวเชียงราย ในการทำระบบแจ้งเตือนภัย ให้ครอบคลุมมากขึ้น และหาว่าอะไรคือปัญหาที่ทำให้ชาวบ้าน ไม่ได้รับการแจ้งเตือน เพื่อนำไปแก้ไขอย่างเป็นระบบต่อไป