เปิดสาเหตุสินค้าจีนไหลเข้าไทย หลังถูกตลาดยุโรปปิดกั้น หวั่นไทยถูกผูกขาด ผู้เชี่ยวชาญชี้ แก้ปัญหาทั้งหมดไม่ได้ แต่ต้องผ่อนหนักเป็นเบา ช่วยเอสเอ็มอีไทยก่อน ย้ำรัฐบาลสร้างความร่วมมือจีน ให้ผู้ประกอบการไทยมีทางรอด

ปัจจุบันเราสามารถเห็น 'สินค้าจีน' ได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันของคนไทย ทั้งด้านอุปโภค บริโภค การบริการ และการค้าออนไลน์ หรือเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีข่าวถึงการเข้ามาของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม e-Commerce ยักษ์ใหญ่จากจีน

สินค้าจีนมีจุดเด่นหลัก ๆ คือ 'ราคาถูก' และ 'หลากหลาย' ทำให้กลายเป็นที่ต้องการของตลาดได้ไม่ยาก แต่อย่างไรก็ตาม ระยะหลังสินค้าจีนไหลบ่าเข้าไทยเพิ่มมากขึ้น ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) ประเทศไทยนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้น 7.12% คิดเป็นมูลค่า 37,569.89 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.33 ล้านล้านบาท และนั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่สร้างความกังวลให้ผู้ประกอบการไทยว่า สินค้าจีนจะค่อย ๆ เข้ามาแย่งตลาด จนกลืนกินมันไปเสียทั้งหมด

...

'รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์' อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ มองว่า สินค้าจีนไม่ได้ไหลเข้าแค่เมืองไทยแต่ไหลไปทั่วโลก อย่างไรก็ตามมีสิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงคือการค้าระหว่างไทย-จีน เพิ่งมีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านเหรียญต่อปี สินค้าที่เข้ามาในไทยกว่า 80% เป็นสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลางที่เอามาผลิตต่อ ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคโดยตรงอย่างมากไม่เกิน 20%

80% ที่กล่าวเป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ วัตถุดิบ ชิ้นส่วน สารเคมีต่าง ๆ ที่ไทยเอามาผลิตต่อเพื่อส่งออกไปทั่วโลก เพราะเราอยู่ Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) เดียวกับจีน นี่คือโครงสร้างรวมระหว่างการค้าไทยกับจีน

"การที่เราสามารถส่งออกได้ปีนึงประมาณ 280,000 ล้านเหรียญ หรือร่วม 60% ของ GDP ต้องยอมรับว่าจำนวนมากของเครื่องจักรอุปกรณ์ หรือสินค้าขั้นกลาง หรือสินค้าต้นน้ำต่าง ๆ ก็มาจากประเทศจีน ฉะนั้น ที่เรากล่าวว่าขาดดุลการค้ากับจีนไม่รู้ตั้งเท่าไร ลึก ๆ แล้วก็เกิดจากโครงสร้างการใช้ที่กล่าวไปที่นี่แหละ"

เหตุผลทำสินค้าจีนไหลสู่ต่างประเทศ :

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ระบุว่า มี 2 สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้สินค้าจีนท่วมไปสู่ประเทศต่าง ๆ ประการแรก สินค้าเหล่านี้ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดของประเทศพัฒนาแล้วได้มากเหมือนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศทางตะวันตก เนื่องจากถูกกีดกันและถูกตั้งภาษีจากสงครามการค้า ซึ่งปรากฏให้เห็นจากการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา จีนกับสหภาพยุโรป จีนกับญี่ปุ่น จีนกับเกาหลีใต้ จีนกับไต้หวัน โดยติดลบไปกว่า 10% ต่อแห่งเมื่อปีที่ผ่านมา

ประการที่สอง เนื่องจากเศรษฐกิจจีนไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนก่อนหน้า โตเพียง 5% บวกลบ ไม่ใช่ 7-9% เหมือนในอดีต ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของคนจีนโดยเฉพาะหนุ่มสาวเปลี่ยนไปมาก พวกเขามัธยัสถ์อดออมมากขึ้น หรือแม้แต่กินอาหารที่ถูกลง

"ยกตัวอย่าง ร้านฟาสต์ฟู้ดแบรนด์ดัง ๆ ที่เรารู้จักต้องเปิดร้านเพิ่มต่างหาก เพื่อขายของราคาถูกหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปของคนจีน ที่รู้สึกเกิดความไม่แน่นอนของอนาคต เศรษฐกิจแย่ เมื่อเป็นอย่างนี้เขาก็เผื่อเหลือเผื่อขาดตั้งการ์ดให้สูงเอาไว้"

...

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ กล่าวต่อไปว่า เหตุผลสองข้อนี้ทำให้การผลิตในจีนเริ่มมีปัญหา กำลังการผลิตล้นเกิน เขาคงไม่ได้ขยายการผลิตหรอก ที่ไปกล่าวไปหาว่าจีนผลิตสินค้าแล้วส่งต่ำกว่าทุนออกมาตีตลาดโลก ถ้าทำแบบนั้นจะไปได้สักกี่น้ำ เพราะผลิตของแล้วขาดทุนตลอดจะผลิตไปทำไม

ข้อสำคัญที่ผมมองว่าเป็นจุดน่าสังเกต คือ มีการกล่าวหาว่ารัฐบาลจีนให้เงินอุดหนุนบริษัทต่าง ๆ เพื่อผลิตของราคาถูกมาทุบตลาดโลก คำถามคือถ้ารัฐบาลจีนจะใช้เงินอุดหนุนบริษัทเหล่านั้น เขาก็ต้องเอาเงินมาจากภาษีอากรของประชาชน แต่เขาจะยอมทำแบบนั้นหรือ

สินค้าจีนไปต่อได้ เศรษฐกิจโลกโตช้า :

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ให้เหตุผลว่า ตอนนี้จะเห็นว่าสินค้าจีนราคาถูกยังเดินไปได้ในทั่วโลก เพราะเศรษฐกิจโลกมันมีปัญหา เนื่องจาก GDP โลกโตแค่ประมาณ 3% หรือต่ำกว่านั้น ทั้งที่ปกติต้องโตประมาณ 3.5% บวกลบ

ทำให้เมื่อปีที่แล้วคนทั้งโลกต้องรัดเข็มขัด เพราะของราคาแพงขึ้นเนื่องจากเงินเฟ้อ และหลังจากที่รัสเซียไปบุกยูเครนราคาน้ำมันและพลังงานก็พุ่งทะยาน ทำให้ธนาคารกลางต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นหลายครั้ง

...

ฉะนั้น เมื่อเกิดเงินเฟ้อทั่วโลกจึงทำให้เศรษฐกิจไม่ดีคนยากลำบาก นายจ้างก็ยากที่จะปรับค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อ นอกจากจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วมาก ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เพราะเขามีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งต่อรองได้

"ของไทยถ้าต้องการปรับค่าจ้างให้เป็น 400 บาทต่อวัน นายจ้างคงไม่ยอมเพราะเขาก็ยากลำบากอยู่แล้ว ฉะนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ลูกจ้างทั้งหลายที่มีรายได้แค่ประมาณ 300 บาทต่อวัน ก็ต้องซื้อของถูกมาใช้ แต่ทีนี้ของถูกก็เผอิญเหลือเกินว่าเป็นสินค้าจีน"

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สมภพ เข้าใจความจริงที่เกิดขึ้นว่า แต่เมื่อเป็นแบบนี้ก็ไปกระทบกับผู้ประกอบการท้องถิ่น จะเห็นว่าสินค้าอุปโภคบริโภคแม้ว่าจะไม่ใช่ส่วนมากของสินค้าจีนที่เข้ามา แต่มันมีผลต่อ SME หรือร้านค้าต่าง ๆ จุดนี้รัฐต้องเข้าไปดูแลจัดระเบียบ

"สินค้าจีนเข้ามาขายในไทยไม่ใช่เรื่องน่าแปลก แต่คงต้องแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ การที่จีนทำค้าส่งผมว่ามันก็โอเค แต่ถ้าทำค้าปลีกควรให้บรรดา SME หรือผู้ประกอบการของไทยมีโอกาสได้ทำบ้าง"

...

แนวทางผ่อนหนักเป็นเบา :

เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องข้างต้น รศ.ดร.สมภพ แสดงความคิดเห็นว่า ผมคิดว่าสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ แต่จะแก้ไขปัญหาทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะเราก็รู้ว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัว จากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์กับมหาอำนาจตะวันตกทำให้จีนมีการโยกย้ายออก ทั้งเงินทุน สินค้า หรือธุรกิจ ไปยังที่อื่น ๆ ทั่วโลก แต่จีนเข้าอาเซียนเป็นพิเศษ เพราะเกือบทุกชาติฟรีวีซ่าให้จีนหมด อันเป็นผลมาจากนโยบายต้อนรับขับสู้ เพราะอยากให้เขาเข้ามาท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์เป็นแบบนี้แล้ว เราต้องดูว่าจะจัดระเบียบได้อย่างไร เช่น จัดระเบียบการขายของตามเว็บไซต์ต่าง ๆ อย่างที่รัฐบาลล่าสุดพยายามออกมาตรการเพื่อเข้ามาดูแลในระดับหนึ่ง เช่น ดูว่าจดทะเบียนไหม เสียภาษีถูกต้องหรือเปล่า และเรื่องอื่น ๆ ผมมองว่าถ้าทำได้คงช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา

หากจัดระเบียบได้ดี ด้านไหนที่ได้ประโยชน์อย่าปล่อยให้หลุดมือ ข้อสำคัญคือต้องการดำเนินงานต้องเกิดจากความร่วมมือของหลายระดับ โดยเริ่มต้นที่รัฐบาล เพราะผมเชื่อว่ารัฐบาลเขาก็รู้ว่าคนของเขาออกนอกประเทศเยอะ ดังนั้น ควรคุยกันเพื่อจัดระเบียบให้ดี ข้อสำคัญคือภาครัฐของไทยต้องร่วมมือกับภาคเอกชนไทยด้วย ไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือ SME ช่วยทำให้ปัญหาด้านลบลดน้อยลง ด้านบวกเพิ่มขึ้น

"ผมคิดว่าเวลามองปัญหาต้องมอง 2 ด้าน อย่าไปมองว่ามีบวกหรือลบอย่างเดียว เมื่อเรามองว่าไม่ใช่ขาวหรือดำ แต่มันเป็นกลาง ๆ ก็คิดต่อไปว่าจะบริหารสีกลาง ๆ นั้น ให้เป็นผลดีต่อประเทศชาติอย่างไร และที่สำคัญอย่าทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบาดหมาง เพราะอาจทำให้การลงทุนลดลง และเศรษฐกิจที่เราน่าจะได้ก็ลดลง"

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทย :

ข่าวจากเว็บไซต์ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย รายงานว่า เร็ว ๆ นี้มีสื่อมวลชนไทยติดต่อกับสถานทูตจีนประจำประเทศไทยเพื่อสัมภาษณ์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทย ทีมข่าวฯ ได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจมาบางส่วน ดังนี้

ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรของไทยที่สำคัญ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยมากกว่า 40% เฉพาะทุเรียนรายการเดียวมีมูลค่า 4,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา กิจการต่าง ๆ ของจีนยังเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง สถิติเบื้องต้นพบว่าบริษัทจีนลงทุนในไทยมากกว่า 1,000 แห่ง

ไทย-จีนมีการเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการปรับปรุง แก้ไข กฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับระบบเศรษฐกิจ และการค้า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย และการค้าระหว่างจีน-ไทยมีโครงสร้างที่ชดเชยซึ่งกันและกัน

จากรายงานของสื่อ สินค้าจีนบางส่วนมีปัญหาไม่ได้มาตรฐาน อย. หรือ มาตรฐาน สมอ. รวมถึงไม่ได้มาตรฐานอื่น ๆ รัฐบาลจีนเรียกร้องให้บริษัทจีนและชาวจีนดำเนินกิจการตามกฎหมาย ข้อบังคับในต่างประเทศอย่างเคร่งครัดโดยตลอด รัฐบาลจีนสนับสนุนรัฐบาลไทยให้เข้มงวดในการกำกับดูแลตามกฎหมาย แก้ไข ปราบปรามการละเมิดกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

อีกทั้งที่ผ่านมากิจการขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีของไทย เผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าจีน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อประกอบกับปัจจัยเชิงลบอื่น ๆ ทำให้กิจการเอสเอ็มอีประสบความยากลำบาก รัฐบาลจีนตระหนักดีถึงความสำคัญของกิจการเหล่านี้ จึงยินดีที่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ช่วยเหลือ พัฒนา ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างยั่งยืนระหว่างจีนและไทย

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :