"เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์" ชวนรู้จักเรื่องราว 2 ขั้ว ดีที่สุด-เลวร้ายที่สุด ของ 2 วิทยาศาสตร์ระดับโลก "ทฤษฎีสัมพัทธภาพ" และ "พันธุวิศวกรรม"

"ทุกวิทยาศาสตร์" เริ่มต้นจากเจตนาดีของนักวิทยาศาสตร์ แต่ "บางวิทยาศาสตร์" เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว นอกเหนือไปจากสิ่งดี ๆ ตามความตั้งใจของนักวิทยาศาสตร์ ก็เกิดผลกระทบที่รุนแรงหรือคาดไม่ถึง!

"เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์" วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไป "สัมผัส" กับเรื่องราว 2 ขั้ว คือ ขั้วดีที่สุดและขั้วเลวร้ายที่สุดของ 2 วิทยาศาสตร์สำคัญ คือ "ทฤษฎีสัมพัทธภาพ" และ "พันธุวิศวกรรม" แต่ก่อนจะไปปักหลักดู "2 วิทยาศาสตร์ 2 ขั้ว" ที่เป็น "เรื่องหลัก" ของเราวันนี้ เราไปดู "วิทยาศาสตร์ 2 ขั้ว" เป็น "หนังตัวอย่าง" ก่อน 2 เรื่อง

ตัวอย่าง 1 : โนเบลกับระเบิดไดนาไมต์

อัลเฟรด โนเบล ประดิษฐ์คิดค้นระเบิดไดนาไมต์ เพื่อให้ใช้เป็น "วัตถุระเบิดที่ควบคุมได้" และก็ได้รับการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในประเทศต่างๆ สำหรับงานการระเบิดทำเหมืองแร่ และระเบิดภูเขา เพื่อใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างถนนและอื่นๆ มากมาย

แต่ไดนาไมต์ก็ถูกนำไปใช้ในการทำสงครามทำลายล้างชีวิต ร้ายแรงที่สุดที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน "ระเบิดไดนาไมต์" จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนของ "วิทยาศาสตร์ 2 ขั้ว" คือ ทั้งด้านดีและเลวร้าย แต่คนส่วนใหญ่ทั่วโลกก็จะนึกถึง "ขั้วร้าย" ก่อน แม้แต่โนเบลเองก็ "รู้สึกผิด" เขาจึงยกมรดกทรัพย์สินของเขาทั้งหมด แก่ "สถาบันโนเบล" รางวัลโนเบลจึงเกิดขึ้น

...

อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel)
อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel)

ตัวอย่าง 2 : ถ้าพระเจ้าจะให้มนุษย์บินได้

เมื่อสองพี่น้องตระกูลไรต์ (ออร์วิล และวิลเบอร์) สร้างประวัติศาสตร์การขับขี่เครื่องบินได้สำเร็จเป็นครั้งแรก วันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1903 วิทยาศาสตร์การบินก็ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว-เคลื่อนย้ายของผู้คนทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและสะดวก นั่นคือ "ขั้วดี" ของวิทยาศาสตร์การบิน

แต่อุบัติเหตุเครื่องบินตกก็เกิดขึ้น เป็น "ขั้วร้าย" ของวิทยาศาสตร์การบิน ถึงแม้เหตุเครื่องบินตกจะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ทุกครั้งก็จะเป็น "ข่าวใหญ่" และก็มักจะมีคำกล่าวหนึ่งดังขึ้นมาว่า "ถ้าพระเจ้าต้องการให้มนุษย์บินได้ดังนก พระองค์ก็จะสร้างมนุษย์ให้มีปีก"

ซึ่งมีที่มาอย่างน่าสนใจว่า เป็น "คำสอน" หรือ "บทสวด" ของ บาทหลวงมิลตัน ไรต์ (Milton Wright) ผู้เป็นบิดาของสองพี่น้องตระกูลไรต์เอง ในโบสถ์แห่งหนึ่ง เมื่อปี ค.ศ. 1896 เพราะเป็นห่วงลูกชายทั้งสอง ที่กำลังสนใจเรื่อง "การสร้างเครื่องจักรให้มนุษย์บินได้เหมือนนก"

จาก "หนังตัวอย่าง" 2 เรื่อง จากนี้ ก็ถึงเวลาของ 2 เรื่องหลักของวิทยาศาสตร์ 2 ขั้ว โดยเริ่มกับเรื่องแรก "ทฤษฎีสัมพัทธภาพ" ของไอน์สไตน์

รูปถ่าย
รูปถ่าย "สองพี่น้องตระกูลไรต์" เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1904

ทฤษฎีสัมพัทธภาพ : ในโลกวิทยาศาสตร์ยุคใหม่

ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ มี 2 ทฤษฎี คือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษ (special theory of relativity) เกิดขึ้นปี ค.ศ. 1905 และทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป (general theory of relativity) เกิดขึ้นปี ค.ศ. 1915

เรื่องราวเนื้อหาและการประยุกต์ใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั้งภาคพิเศษและภาคทั่วไป มีมากมายในโลกของวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ยี่สิบ กับกำเนิดของทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษถึงปัจจุบัน และต่อไปในอนาคตที่จะพอมองเห็นได้อย่างค่อนข้างแน่ชัด แต่ก็ยังมีประเด็นการเรียนรู้และถกเถียงกันอย่างมากมาย ในส่วนของ "ความถูกต้อง" และ "การประยุกต์ใช้" ทั้งในด้านสร้างสรรค์และทำลาย

...

ดังนั้น วันนี้ผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ โดยภาพรวมบางส่วนที่สำคัญเป็นพิเศษอย่างเร็ว ๆ เพื่อนำเข้าสู่เป้าหมายหลักคือ "ขั้วดีที่สุด" และ "ขั้วเลวร้ายที่สุด" ดังต่อไปนี้

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)

• แสงเคลื่อนที่ในสุญญากาศด้วยความเร็วคงที่ (ประมาณสามแสนกิโลเมตรต่อวินาที) เสมอ ไม่ขึ้นอยู่กับสภาพการเคลื่อนที่ของแหล่งกำเนิดแสง (เช่น ดวงดาว) หรือผู้สังเกต เป็นคุณสมบัติของแสงที่ไอน์สไตน์กำหนดในการตั้งทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษ แต่ก็ใช้กับทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไปด้วย

• การวัดทุกอย่างจะมีผลสมบูรณ์ ต้องเป็นการวัดเชิงสัมพัทธ์ เกี่ยวข้องกับมิติของตำแหน่ง 3 มิติ (กว้าง, ยาว, สูง หรือ x, y, z) และมิติของเวลา 1 มิติ (t) จะแยกเฉพาะมิติของตำแหน่งกับเวลา ดังการวัดแบบสัมบูรณ์ (absolute measurement) เฉพาะตำแหน่งตามแบบของนิวตันไม่ได้

...

• แต่ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษ มิได้บอกว่าทฤษฎีการเคลื่อนที่ของนิวตันผิด เพราะทฤษฎีการเคลื่อนที่ของนิวตันจะยังใช้ได้ สำหรับการเคลื่อนที่เกี่ยวกับความเร็วที่น้อยกว่าแสงมาก ซึ่งก็โชคดีเพราะหมายความว่าสำหรับการดำเนินชีวิตทั่วไปบนโลก ก็ใช้เพียงทฤษฎีของนิวตันก็พอ

• ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไปของไอน์สไตน์ จริงๆ แล้วก็คือ ทฤษฎีความโน้มถ่วงแบบเดียวกับของนิวตัน แต่ละเอียดถูกต้องกว่าของนิวตัน นั่นคือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป มิได้บอกว่าทฤษฎีความโน้มถ่วงของนิวตันผิด และในทางปฏิบัติทฤษฎีของนิวตันก็เพียงพอสำหรับการคำนวณเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของวัตถุในท้องฟ้าโดยทั่วไป เช่น เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์, ดาวเคราะห์น้อย, ดาวหาง ฯลฯ

• ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษ เมื่อวัตถุเคลื่อนที่เร็วขึ้น ขนาดจะเล็กลง, มวลจะเพิ่มมากขึ้น และเวลาจะช้าลง

• ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป แรงโน้มถ่วงมีผลทำให้อวกาศ-เวลา (space-time) รอบวัตถุ (เช่น ดวงดาว) โค้ง และแสงจะเคลื่อนที่ตามผิวที่โค้งของอวกาศ-เวลา

• ความโค้งของอวกาศ-เวลา เป็นที่มาของเรื่องเกี่ยวกับหลุมดำ (black hole) และรูหนอนอวกาศ (wormhole)

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)

...

ทฤษฎีสัมพัทธภาพ : ขั้วที่ดีที่สุด

สิ่งดีๆ ที่สำคัญจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั้งภาคพิเศษและภาคทั่วไป ที่ผู้เขียน "นึกเห็น" ได้ มีมากมายต่อทั้งวงการวิทยาศาสตร์ นักคิด นักปรัชญา ผู้คนทั่วไป และนักสร้างจินตนาการ ทั้งนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ และนักเขียนนิยายจินตนาการ หรือนักเขียนเรื่องเชิงแฟนตาซี ทั้งนิยายวิทยาศาสตร์แฟนตาซี และนิยายแฟนตาซีบริสุทธิ์คล้ายเทพนิยาย

แต่เมื่อให้นึกถึง "คำเพียงคำเดียว" ที่จะ "สื่อ" ถึงสิ่งดีที่สุดจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั้งสองภาค ผู้เขียนก็นึกถึงคำ "วุฒิปัญญา"

เพราะจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั้งสองภาค ทำให้เกิดประเด็นเรื่องราวความก้าวหน้าอย่างทั้งเป็นรูปธรรมและความคิดแปลกใหม่ ที่ทำให้เกิด "วุฒิปัญญา" อย่างไม่สิ้นสุด เฉพาะตัวอย่าง "น่าทึ่ง" ที่สุดเพียงไม่กี่ตัวอย่าง มีเช่น

• การท่องเวลา หรือ time travel จากโลกของจินตนาการบริสุทธิ์ มาเป็นเรื่องของ "ความเป็นไปได้...หรือไม่...เชิงวิทยาศาสตร์"

• นวัตกรรมและเทคโนโลยีแปลกใหม่จาก "ผลเชิงสัมพัทธ์" ของขนาด, มวล และเวลา

• จากทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป ทฤษฎีกำเนิดจักรวาลแบบบิกแบง (big bang) จึงเกิดขึ้น เป็นผลน่าทึ่งที่สุดจากทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ที่แม้แต่ตัวไอน์สไตน์เองก็คาดไม่ถึง

• การเคลื่อนที่ของแสงด้วยความเร็วคงที่ในอวกาศหรือสุญญากาศ ทำให้วงการดาราศาสตร์ก้าวกระโดดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาอวกาศและจักรวาลอย่างลงลึก และ "เห็น" วิวัฒนาการของจักรวาลย้อนหลังไปไกลเกือบถึงจุดเริ่มต้น คือ บิกแบง ด้วยความหวังจะได้ "ถอดรหัส" ความลับยิ่งใหญ่และท้าทายที่สุดของจักรวาล คือ "บิกแบง" เอง!

ทฤษฎีสัมพัทธภาพ : ขั้วเลวร้ายที่สุด

หน้าหรือขั้วเลวร้ายที่สุดของทฤษฎีสัมพัทธภาพ คืออะไร?

เชื่อว่า บางท่านอาจนึกถึง ผลของทฤษฎีสัมพัทธภาพต่อเวลา ทำให้การท่องเวลาอาจเกิดขึ้นได้ แล้วถ้าคน ๆ หนึ่งด้วยเหตุผลใดก็ตาม สามารถเดินทางย้อนกลับไปสู่อดีตได้ แล้วไปทำอะไรบางอย่าง เช่น ฆ่าปู่ ทำให้พ่อไม่ได้เกิด หรือไปทำให้พ่อและแม่ ไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งอย่างแน่นอน ตนก็จะไม่ได้เกิด!

แต่สำหรับผู้เขียน มองเห็น "ขั้วเลวร้ายที่สุด" ของทฤษฎีสัมพัทธภาพได้ไม่ยากเลย และชี้นิ้วอย่างไม่ลังเลไปที่ "ระเบิดนิวเคลียร์" เพราะระเบิดนิวเคลียร์ เกิดขึ้นได้จากสมการ E = mc² ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษ แล้วก็มีการนำระเบิดนิวเคลียร์ไปใช้กับมนุษย์จริง ๆ ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ เมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่สอง

แม้แต่ไอน์สไตน์ก็ "เสียใจ" กับบทบาทของทฤษฎีสัมพัทธภาพ และกับบทบาทของตัวเขา ที่ทำให้ระเบิดนิวเคลียร์ได้เกิดขึ้น และก็ "ภาพจำ" ความรุนแรงของระเบิดนิวเคลียร์ที่ถูกใช้จริงมาเพียง 2 ลูก ก็เกินพอกลบเรื่องราวและคุณประโยชน์มากมายของ "พลังงานอะตอม" ในด้านต่างๆ เช่น การแพทย์, อุตสาหกรรม, เกษตรกรรม ฯลฯ

พันธุวิศวกรรม

พันธุวิศวกรรม (genetic engineering) คือ การใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพในการตัดต่อดัดแปลงยีนของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ พืช และมนุษย์ ก่อนจะไปเปิดดูขั้ว "ดีที่สุด" และ "เลวร้ายที่สุด" ของพันธุวิศวกรรม เราไปเปิดดูเรื่องราวที่สำคัญในภาพรวมของพันธุวิศวกรรมอย่างเร็วๆ กันก่อน

• ผู้ตั้งคำว่า genetic engineering ขึ้นมา คือ นักพันธุศาสตร์ชาวโซเวียต นิโคไล ทิโมฟีฟ-เรซซอฟสคี (Nikolay Timofeev-Ressovsky) ในปีค.ศ. 1934

• การเสนอทฤษฎีโครงสร้างดีเอ็นเอในโครโมโซมของสิ่งมีชีวิต เป็นแบบเกลียวคู่ (double helix of life) โดย ฟรานซิส คริกต์ และเจมส์ วัตสัน ในปีค.ศ. 1953

• วงการพันธุวิศวกรรมมีผู้ได้รับชื่อเป็น "บิดาแห่งพันธุวิศวกรรม" สำหรับผลงานบุกเบิกการตัดต่อยีนข้ามสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตถึง 3 คน คือ พอล เบิร์ก (Paul Berg) กับผลงานปี ค.ศ. 1972 และ เฮอร์เบิร์ต บอยเออร์ (Herbert Boyer) และ สแตนลีย์ โคเฮน (Stanley Cohen) กับผลงานปี ค.ศ. 1973

• กระแสการตื่นตัวและหวาดกลัวพืชและสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ (GMO: genetically modified organism) ตั้งแต่กลางทศวรรษปี 1970

• กำเนิดโครงการถอดรหัสยีนมนุษย์ (Human Genome Project) ในปี ค.ศ. 1990 (เสร็จสมบูรณ์ปี ค.ศ. 2003) สร้างกระแสทั้งความหวังจากเทคโนโลยีชีวภาพ ที่จะถอดพิมพ์เขียว (เกือบ) ทั้งหมดของความเป็นตัวตนมนุษย์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็สร้างกระแสการต่อต้านรุนแรงที่สุด คือ การกล่าวหาว่า "มนุษย์กำลังทำตัวเป็นพระเจ้า"

• กำเนิดของแกะโคลน ดอลลี (Dolly) ขึ้นปกนิตยสาร TIME ฉบับวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1997 พร้อมกับคำถาม Can We Clone Humans? ขึ้นปกนิตยสาร NEWSWEEK ฉบับวันเดียวกัน

พันธุวิศวกรรม : ขั้วดีที่สุด

ในบรรดาความ "อาจเป็นไปได้" มากมายของ "สิ่งดีๆ" ที่พันธุวิศวกรรมดูจะมีศักยภาพ "ให้" กับมนุษย์ได้ เช่น คนส่วนใหญ่ทั่วโลก เกิดมา "สวย" "หล่อ" กันเกือบหมด โรคระบาดใหญ่ทั่วโลกจะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ หรือแม้แต่การนำสัตว์ยักษ์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้ว กลับมาเดินบนโลก ให้คนดัง เช่น สตีเวน สปิลเบิร์ก ได้เห็น

แต่สำหรับผู้เขียน ขอชี้ "ขั้วดีที่สุด" จากพันธุวิศวกรรม อย่าง "ไม่โลภมาก" และ "มีความเป็นไปได้จริง" คือ การทำให้คนส่วนใหญ่ทั่วโลก ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (เปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ) ตั้งแต่เกิด ถึงวันสุดท้ายของชีวิตอย่างตรงๆ ขั้วดีที่สุดที่ผู้เขียนมองเห็นจากพันธุวิศวกรรม และสามารถเป็นจริงได้ มีเช่น:

• ความก้าวหน้าของ "ยีนบำบัด" แก้ไขความผิดปกติของยีนทารกมนุษย์ ตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมาในครรภ์คุณแม่จนกระทั่งคลอดออกมาดูโลก

• ความก้าวหน้าของพันธุวิศวกรรม สร้างวัคซีนและยามีประสิทธิภาพป้องกันโรคในมนุษย์ทุกวัย ตั้งแต่เกิดถึงวันสุดท้ายของชีวิต ให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม มิใช่เพื่อกำจัดโรคร้ายหรือความผิดปกติของยีนได้ทั้งหมด แต่ให้ได้ผลระบุเป็นเปอร์เซ็นต์ระดับโลกได้

• ความก้าวหน้าและการใช้ประโยชน์ได้จริงจากพันธุวิศวกรรม ในการ "บำรุงรักษา" สุขภาพของมนุษย์มิใช่เพื่อการมีชีวิตอย่างเป็นอมตะ แต่มีชีวิตยืนยาวโดยยังมีสุขภาพที่ดีถึงเก้าสิบหรือใกล้หนึ่งร้อยปี โดยมิใช่การมีชีวิตอย่างคนป่วยติดเตียง ซึ่งโดยทางการแพทย์ ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว ให้มีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างเกือบจะไม่มีกำหนด

• ประสิทธิภาพที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของการเปลี่ยนอวัยวะจากสัตว์ตัดต่อพันธุกรรมให้กับมนุษย์ ดังเช่น หัวใจ ตับ ไต ปอด ฯลฯ ซึ่งถึงล่าสุด ความก้าวหน้ามากที่สุดคือ เปลี่ยนหัวใจจากหมูตัดต่อพันธุกรรม ให้กับผู้รับขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา 2 ราย โดยผู้รับทั้งสองคน มีชีวิตอยู่กับหัวใจหมูได้เกือบสองเดือน และเกือบหกสัปดาห์ตามลำดับ

พันธุวิศวกรรม : ขั้วเลวร้ายที่สุด

เมื่อกวาดมองไปทั่วเรื่องราวและสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับพันธุวิศวกรรม สัญญาณกระพริบสีแดงที่ผู้เขียนเห็นชัดเจน มี 2 เรื่อง คือ เรื่องของ "อีฟ" และเรื่องของ "ลูลูกับนานา"

วันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 2002 บริษัทโคลเนด (Clonaid) ประกาศกำเนิดของมนุษย์โคลนคนแรกชื่อ อีฟ (Eve) เมื่อวันคริสต์มาสของปี 2002 นั้น และประกาศอีกด้วยว่า มีเด็กโคลนจากผลงานของบริษัทที่กำลังจะเกิดตามอีฟอีกหลายคน

โคลเนดประกาศว่า จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอีฟให้ทราบกันต่อไป แต่ต่อมา โคลเนดก็ได้ประกาศยุติการเปิดเผยข้อมูลตัวตนเกี่ยวกับ "มนุษย์โคลน" คนแรกด้วยเหตุผลทางกฎหมายและอื่นๆ ซึ่งจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ โคลเนดก็ยังมิได้เปิดเผยความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ "เด็กโคลน" ของบริษัทอีกเลย

เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2018 เหอ เจียนขุย (He Jiankui) นักฟิสิกส์ชีวภาพจีน ประกาศว่าเขาได้สร้างทารกแฝดหญิงชื่อ ลูลู (Lulu) และ นานา (Nana) ซึ่งคลอดเมื่อกลางเดือนตุลาคม ค.ศ. 2018 ด้วยวิธีการตัดต่อยีน เพื่อให้ลูลูและนานาปลอดจากโรคเอดส์ ที่พ่อของลูลูกับนานามีเชื้อเอชไอวีอยู่ในตัว

หลังการประกาศของ เหอ เจียนขุย เขาก็ถูกประณามอย่างรุนแรงจากวงการวิทยาศาสตร์และสังคมว่า สิ่งที่เขาได้ทำนั้น ผิดทั้งในทางวิทยาศาสตร์ จริยธรรม และกฎหมาย ทำให้เขาถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยในประเทศจีนที่ประจำทำงานอยู่ และถูกจับ ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลาสามปี

เหอ เจียนขุย (He Jiankui)
เหอ เจียนขุย (He Jiankui)

กรณีของ "อีฟ" และ "ลูลูกับนานา" เป็นกรณีเฉพาะของคนไม่กี่คน แต่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับวงการวิทยาศาสตร์ เพราะเรื่องนี้มิได้จบเพียงแค่การไม่เปิดเผยข้อมูลตัวตนของอีฟ มนุษย์โคลนคนแรก และลูลูกับนานา

คำถามใหญ่ที่ผู้เขียนมองเห็นเป็น "ขั้วเลวร้ายที่สุด" ของพันธุวิศวกรรม ก็คือคงปฏิเสธไม่ได้ว่าน่าจะมีมนุษย์โคลนเกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ และน่าจะมิใช่มีเพียงคนเดียวที่ชื่ออีฟ ใช่หรือไม่? สำหรับลูลูกับนานา ถึงแม้จะมิได้กำเนิดจากกระบวนการทำโคลนนิง แต่ก็เป็นตัวอย่างของ "เด็กออกแบบได้" หรือ "designer baby" อย่างปฏิเสธไม่ได้

และ เหอ เจียนขุย ก็ยอมรับเองว่าได้สร้างเด็กตัดต่อพันธุกรรมแบบเดียวกับลูลูและนานาอีกอย่างน้อยหนึ่งคน ซึ่งทั้งหมดจึงทำให้เกิดเป็นคำถามใหญ่ต่อเนื่องว่า จริงๆ แล้ว มีมนุษย์โคลนหรือมนุษย์ออกแบบได้ ถึงขณะนี้ กี่คน? กำลังอยู่กันอย่างไร? เป็นอย่างไร? แล้วอนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร? ที่สำคัญ แล้ว "ใคร" ควรจะ "ตั้งหลักรับมือ" กันอย่างไร?

เรื่องราววิทยาศาสตร์ 2 ขั้วที่ผู้เขียนนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านวันนี้ เป็นเพียงไม่กี่เรื่องจากเรื่องราววิทยาศาสตร์คล้ายกันอีกหลายเรื่อง แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ นึกถึงวิทยาศาสตร์อื่นๆ อะไรอีกบ้าง ที่มีทั้งขั้วดีที่สุดและเลวร้ายที่สุดชัดเจน?

สำหรับ 2 เรื่องเป็นหนังตัวอย่าง และ 2 เรื่องหลักวิทยาศาสตร์ 2 ขั้ว ที่ผู้เขียนนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านวันนี้ ท่านผู้อ่านเองคิดเห็นกันอย่างไรครับ?

.........

อ่านสกู๊ป "เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์" :