"เป็นพื้นที่รับน้ำ มีสิ่งปลูกสร้างจำนวนมาก ระบบท่อน้ำมีปัญหา" สาเหตุทำเมืองพัทยาน้ำท่วมซ้ำซาก สมาชิกสภาเมืองพัทยาเผยแนวทางแก้ปัญหา เชื่อไม่กระทบการท่องเที่ยว จากนี้เร่งดำเนินงานต่อลดความเดือดร้อนประชาชน

ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ช่วงกลางดึกวันที่ 1 กันยายน 2567 พื้นที่เมืองพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีฝนตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง ส่งผลให้ถนนหลายสายในเมืองพัทยา เช่น ถนนพัทยากลาง ถนนเลียบชายหาดเมืองพัทยา และถนนเลียบทางรถไฟ เกิดน้ำท่วมขัง ระดับน้ำสูง 70-80 ซม. รถยนต์ขนาดเล็กและรถจักรยานยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้

หรือหากย้อนไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2567 ฝนที่กระหน่ำลงมากว่า 1 ชั่วโมง ส่งผลให้มวลน้ำเอ่อท่วมขังบนถนนหลายสาย ในพื้นที่เมืองพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยเฉพาะจุดที่ท่วมขังเป็นประจำ คือถนนเลียบทางรถไฟ ระหว่างซอยเขาน้อยถึงซอยเขาตาโล ทำให้การจราจรชะลอตัว รถเล็กไม่สามารถผ่านไปได้ บางจุดพบว่ามวลน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน

คุณผู้อ่านจะสังเกตเห็นได้ว่า น้ำที่ท่วมเมืองพัทยามักจะท่วมซ้ำจุดเดิม อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงตัวอย่างความเดือดร้อนของคนเมืองพัทยา หากต้องมองย้อนไปไกลกว่านี้คุณผู้อ่านจะพบว่า ยังมีเหตุการณ์จากน้ำอีกนับครั้งไม่ถ้วนที่พวกเขาต้องประสบพบเจอ

แต่ว่าอะไรคือต้นเหตุของความซ้ำซากนี้ แล้วที่ผ่านมามีการแก้ไขอย่างไรบ้าง วันนี้ทีมข่าวฯ จะพาไปหาคำตอบผ่านการสนทนากับ 'นายวสันต์ สุขขี' สมาชิกสภาเมืองพัทยา

...

สาเหตุพัทยาน้ำท่วมซ้ำซาก :

นายวสันต์ เผยถึงสาเหตุน้ำท่วมขังบ่อยครั้งว่า หลักๆ แล้วตัวพื้นที่เมืองพัทยาเป็นที่ราบลุ่ม ทำให้เมืองพัทยากลายเป็นพื้นที่รับน้ำตั้งแต่อดีต โดยน้ำจะมาจากเทศบาลใกล้เคียง ที่อยู่เหนือไปทางภาคตะวันออกของเมืองพัทยา เช่น เทศบาลหนองปรือ เทศบาลหนองปลาไหล บริเวณนั้นเป็นพื้นที่มีภูเขาสูง ซึ่งถ้ามองมาเมืองพัทยาจะเห็นเป็นพื้นที่ต่ำเลย

เวลาฝนตกน้ำจากบริเวณดังกล่าวจะไหลลงมาที่พื้นที่เมืองพัทยา อีกทั้งประกอบกับสภาพเมืองพัทยาในปัจจุบัน มีโครงการก่อสร้าง สิ่งปลูกสร้าง ธุรกิจห้างร้านบ้านเรือน หมู่บ้านจัดสรรเยอะแยะไปหมด จึงทำให้ไม่มีพื้นที่รับน้ำ น้ำต้องมาอยู่บนท้องถนน โดยเฉพาะบริเวณพัทยาใต้ ซึ่งจะมีน้ำมาจากซอยเขาตาโล ซอยเขาน้อย และจะมาท่วมขังอยู่ปากทางพัทยาใต้ ก่อนไหลเข้าสู่เมืองพัทยาชั้นใน

สมาชิกสภาเมืองพัทยา ระบุอีกหนึ่งสาเหตุแห่งปัญหาว่า ระบบท่อน้ำของเราก็มีปัญหาเพราะมีขนาดเล็ก อีกทั้งคลองต่างๆ ที่มีอยู่ทั้ง 7 สายในเขตเมืองพัทยา ไม่ได้ผ่านการรอกระบาย จึงทำให้มวลน้ำที่เข้ามาไหลออกไปได้ช้า

"หากมีฝนตกประมาณ 70 มิลลิเมตร/ชั่วโมง เมืองพัทยาก็ยังรับไหว แต่เนื่องจากมันมีอีก 70 มิลลิเมตรที่มาจากส่วนอื่น เช่น หนองปรือ นี่คือส่วนเกินที่เมืองพัทยาจะรับไหว แต่เราเองก็ต้องหาทางป้องกัน โดยการจัดสรรงบประมาณเข้ามาดำเนินโครงการ"

ถ้าฝนตกไม่เกิน 70 มิลลิเมตร/ชั่วโมง เรารับได้เลย แต่ที่ผ่านมาเมื่อคืนวันที่ 2 กันยายน 2567 ฝนตกลงมาถึง 125 มิลลิเมตร/ชั่วโมง มันเกินศักยภาพที่เรามีอยู่ แต่ถ้าวันข้างหน้าโครงการทั้งหมดตามนโยบายที่ท่านนายกวางไว้เสร็จสมบูรณ์ เชื่อว่าจะสามารถรับมือและจัดการได้ดียิ่งขึ้น นายวสันต์ สุขขี กล่าว

1 ชั่วโมงน้ำลด! :

สมาชิกสภาเมืองพัทยา เผยว่าที่ผ่านมาเราเจอน้ำท่วมทุกปี ในอดีตปัญหาจะหนักกว่านี้ น้ำท่วมขังรอการระบายนาน แต่นับตั้งแต่ปี 2563 ที่เริ่มมีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แม้จะท่วมขังจุดเดิมๆ แต่หลายพื้นที่น้ำระบายได้เร็วขึ้น เช่น พื้นที่หลังวัดหนองใหญ่ นาเกลือ มุมอร่อย พื้นที่เหล่านี้น้ำจะไม่ค่อยท่วมขังแล้ว

"ตลอดเวลาที่ผ่านมาเมืองพัทยาพยายามแก้ไขปัญหาไปหลายจุด ปัจจุบันหลังฝนหยุดตกประมาณ 1 ชั่วโมง น้ำก็สามารถระบายออกได้หมด" นายวสันต์ กล่าว

ซึ่งจุดนี้ถือว่าตรงกับข่าวที่มีการรายงานว่า ช่วงกลางดึกวันที่ 1 ก.ย. 2567 ในพื้นที่เมืองพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีฝนตกลงมาอย่างหนักนานติดต่อกันหลายชั่วโมง เกิดน้ำท่วมขังระดับน้ำสูงประมาณ 70-80 ซม. ทั้งนี้ พอเวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากฝนหยุดตกนั้น ระดับน้ำได้ลดลงจนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

...

แนวทางแก้ปัญหา :

อย่างที่ได้มีการกล่าวถึงก่อนหน้า "นับตั้งแต่ปี 2563 เริ่มมีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง" นายวสันต์ ได้ขยายความแนวทางและวิธีให้เราฟังว่า ภาพรวมทั้งหมดของการแก้ไขปัญหาในเมืองพัทยา ถ้าผมจำไม่ผิดต้องใช้งบประมาณถึง 26,000 ล้านบาท ทุกวันนี้เมืองพัทยาก็ใช้งบประมาณของเมืองเอง เพราะเรารู้ว่าจะไปรอแก้ไขทีเดียว แล้วลงงบประมาณทีเดียว 26,000 ล้านบาทมันเป็นไปไม่ได้

เราจึงลงงบประมาณทุกปีเพื่อทยอยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จัดสรรงบประมาณปีนึงประมาณ 60-70 ล้านบาท รวมกับเงินที่รัฐอุดหนุนอีกปีละประมาณ 200 ล้านบาท รวมอยู่ที่ประมาณ 200-300 ล้านบาท

ตัวอย่างการดำเนินการแก้ไข เช่น นายกเมืองพัทยามีคำสั่งให้ฝ่ายสุขาภิบาล เข้าหาปตรวจสอบท่อระบายน้ำเป็นระยะ และมีคำสั่งให้รอกคูคลองทั้ง 7 สายในเมือง เพื่อป้องกันน้ำท่วม ผลที่ตามมาทำให้เห็นว่า น้ำท่วมขังในเมืองไม่นานเหมือนอดีต

นอกจากนั้น เรายังมีโครงการวางแนวท่อตามแนวชายฝั่งเรียบทางรถไฟ จุดประสงค์คือทำเป็นเหมือนกับดักน้ำ โดยทิศเหนือดักน้ำจากหนองปรือให้ไหลไปที่คลองนาเกลือ ส่วนทางทิศใต้จะระบายน้ำเข้าแก้มลิงที่ห้วยใหญ่

...

'แต่ทางทิศเหนือที่จะไปคลองนาเกลือยังมีอุปสรรค เพราะแนวเรียบทางรถไฟ พอไปถึงช่วงโครงการสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง เมืองพัทยาต้องจัดสรรงบประมาณอีกกว่า 50 ล้านบาท เพื่อเลี้ยวหลบสถานีจึงทำให้เกิดความล่าช้า"

สมาชิกสภาเมืองพัทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการบ่อสูบตรงเขาตาโล เพื่อให้การสูบน้ำมีประสิทธิภาพ สูบได้เร็วขึ้น ส่วนนี้จะแก้ไขปัญหาตรงปากทางพัทยาใต้ ตรงจุดนี้น่าจะใช้เวลาดำเนินการอีกไม่นาน

ไม่กระทบการท่องเที่ยว :

จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา และการคาดการณ์ของนักวิชาการหลายท่าน ระบุว่าช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหลายพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ สมาชิกสภาเมืองพัทยาคาดว่ายังรับมือได้ "ส่วนไหนที่เรารับมือและดำเนินการได้ เราจะทำเพื่อป้องกันความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นแก่พี่น้องประชาชน"

เมื่อถามว่าหากเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งเช่นนี้ มีความกังวลหรือไม่ว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว นายวสันต์ให้คำตอบว่า คิดว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะน้ำที่ท่วมเมืองพัทยาไม่ได้ท่วมนานหลายวันเหมือนพื้นที่อื่น จึงคิดว่าไม่น่าเป็นอุปสรรคสักเท่าไร เพียงแต่ว่ามันทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชน เพราะเวลาน้ำไหลแรง ส่วนหนึ่งจะไหลเข้าบ้านเรือน

...

อย่างไรก็ตามทางเมืองพัทยาของเรา ได้มีการเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือ ประสานงานกับหน่วยต่างๆ เตรียมรับมืออยู่ตลอด เช่น มีการแจกกระสอบทรายฟรีโดยเราเตรียมไว้แล้ว หากประชาชนคนไหนเดือดร้อน สามารถโทรแจ้งเข้ามาได้ จะมีเจ้าหน้าที่นำของไปมอบให้

"ณ เวลานี้ผมคิดว่าในฐานะที่เป็นพื้นที่รับน้ำ เรายังมีความโชคดีกว่าหลายพื้นที่ เพราะน้ำไม่ท่วมขังนาน ต่อจากนี้ทางท่านนายกเมืองพัทยา สมาชิกเมืองพัทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะพยายามดำเนินโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จ เพื่อลดความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องของเราในอนาคต" นายวสันต์ สุขขี สมาชิกสภาเมืองพัทยา กล่าวส่งท้ายการสนทนา

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :