ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี ตัวแทนพรรคประชาชน ยังเจาะไม่เข้า ขณะกลุ่ม "บ้านใหญ่" กวาดเรียบเกือบทุกเก้าอี้ในหลายจังหวัด หากมองขุมกำลัง นักวิเคราะห์การเมือง ชี้ว่า เป็นเรื่องยาก ที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะคนพื้นที่มีความผูกพันกับตระกูลการเมือง และส่งผลต่อการเมืองระดับประเทศ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ศึกเลือกตั้ง 2566 พรรคก้าวไกล ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพรรคประชาชน มีคะแนนเป็นอันดับ 1 แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้แกนนำพรรค วางทิศทางลุยการเมืองสนามท้องถิ่น ในการเลือกตั้ง อบจ. และเทศบาล ทำให้การเมืองท้องถิ่นคึกคัก แน่นอนว่า "กลุ่มบ้านใหญ่” ที่มีฐานเสียงเดิมในพื้นที่ แม้ตอนแรกดูเป็นรอง แต่ผลเลือกตั้ง อบจ. ระดับท้องถิ่น เช่น อยุธยา,ชัยนาท,พะเยา และราชบุรี กลุ่มบ้านใหญ่ ต่างกวาดเรียบ

และต้องจับตาการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 วันที่ 15 ก.ย. นี้ ว่าการเมืองจะเปลี่ยนขั้วหรือไม่ แต่ถ้าวิเคราะห์ทิศทางการเมืองท้องถิ่น ที่ส่งผลต่อการเมืองภาพใหญ่ระดับประเทศ "รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ว่า ผลเลือกตั้งนายกฯ อบจ.ราชบุรี ที่ "กำนันตุ้ย" วิวัฒน์ นิติกาญจนา คว้าชัยทิ้งห่าง “หวุน ชัยรัตน์” พรรคประชาชน เป็นผลที่ไม่น่าแปลกใจ ด้วยปัจจัยต่อไปนี้

...

กติกาการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ได้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า และการเลือกตั้งนอกเขต ถ้าดูค่าเฉลี่ยการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ มีคนมาใช้สิทธิเลือกตั้งเฉลี่ย 60% ทำให้คะแนนเสียง ที่มาจากการจัดตั้งมีความหมายมากกว่า

มุมมองผู้เลือกตั้งท้องถิ่น ต่างจากระดับชาติ ที่มองว่า การไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อการคัดเลือกผู้นำประเทศ และไปใช้สิทธิให้กับพรรคการเมือง ที่ตอบสนองนโยบายประชาชน แต่การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ต้องการจะแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง ทางไม่ดี หรือการเลือกบุคคลที่ไว้วางใจ น่าเชื่อถือ คนในชุมชนท้องถิ่นคุ้นเคย เช่นเดียวกับการมีตระกูลการเมืองท้องถิ่น ช่วยเหลือเกื้อกูลระดับท้องถิ่นมานาน

ด้วยเหตุนี้ ไม่แปลกใจที่ทุกสนามการเมืองท้องถิ่น กลุ่มนักการเมืองบ้านใหญ่ สามารถเอาชนะตัวแทนที่ผ่านการสนับสนุนของพรรคประชาชน ในทุกสนามเลือกตั้ง โดยเฉพาะเวทีเลือกตั้ง อบจ.

“พรรคประชาชน พยายามระดมสรรพกำลังที่มี โดยนำอดีต 4 หัวหน้าพรรคลงไปช่วยหาเสียง แต่ไม่สามารถทำให้คะแนนพลิกมาชนะ ตัวอย่างเช่น พื้นที่ราชบุรี พรรคประชาชน ไม่มี สส.เขต มีเพียงคะแนนการเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ มาเป็นอันดับ 1 เลยทำให้คะแนนฐานเสียงระดับพื้นที่มีน้อย ถ้าเปรียบเทียบคะแนนจากการเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ ที่ตัวแทนพรรคประชาชน ได้คะแนนประมาณ 2.3 แสน แต่ผลการเลือกตั้ง อบจ. ล่าสุด ได้คะแนนประมาณ 1.7 แสน ถือว่าลดลง เพราะมุมมองคนละแบบในการเลือกตั้ง”

กลยุทธ์หาเสียงท้องถิ่น “บ้านใหญ่” ยังเหนียวแน่น

ถ้าประเมินกลยุทธ์การหาเสียงศึกการเมืองท้องถิ่น "รศ.ดร.ยุทธพร" มองว่า การเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี โดยตระกูล "นิติกาญจนา” มีฐานเสียงในพื้นที่มายาวนาน มีสายสัมพันธ์กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ประกอบกับพื้นที่ราชบุรี มีตัวแทน สส. จากพรรคการเมืองหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่า พื้นที่นั้นใครมีฐานเสียงอยู่เดิม สิ่งนี้ทำให้คุณวิวัฒน์ นิติกาญจนา แชมป์เก่าคว้าเก้าอี้ นายก อบจ.ราชบุรี

พรรคประชาชน พยายามหาเสียงด้วยแคมเปญ "พิธา” นั่งรถไฟชั้น 3 ไปราชบุรี เพื่อชวนคนนั่งรถไฟกลับบ้านไปเลือกตั้ง แต่สุดท้ายกติกาเลือกตั้งท้องถิ่น ต่างจากระดับชาติ เพราะการนั่งรถไฟกลับบ้านไปเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องมีค่าใช้จ่าย ด้วยคนที่มีสิทธิเลือกตั้งในราชบุรี กระจายอยู่หลายจังหวัดทั่วประเทศ สิ่งสำคัญสุดคือคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่ได้รู้สึกว่าจะได้รับประโยชน์ จากการกลับบ้านไปเลือกตั้ง ทำให้คะแนนเสียงจากการจัดตั้ง มีน้ำหนักมากกว่า

หากมองไปถึงภาพใหญ่ของการเมืองระดับชาติ ที่มีผลมาจากแข่งขันในศึกเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ส่งผลกระทบพอสมควรในการเลือกตั้งอนาคต แม้หลายคนคิดว่า การเลือกตั้งปี 2570 พรรคประชาชน จะกวาดที่นั่งจำนวนมาก แต่ความจริง มีหลายปัจจัยที่เป็นส่วนประกอบ

...

ความเป็นเมือง เป็นปัจจัยสำคัญทำให้พรรคก้าวไกล ชนะการเลือกตั้งถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่ความเป็นเมืองไม่ได้ขยายไปง่ายๆ ในเวลา 3 – 4 ปี แต่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี สิ่งนี้ทำให้นักการเมืองที่เป็นบ้านใหญ่ในพื้นที่ ยังสามารถควบคุมฐานเสียงได้

“การเลือกตั้งระดับประเทศครั้งต่อไป กลุ่มการเมืองบ้านใหญ่ ยังมีบทบาทในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะการเลือก สส. ในระดับพื้นที่ กลุ่มบ้านใหญ่ยังคงได้เปรียบ เช่นเดียวกับกลยุทธ์ของพรรคเพื่อไทย และภูมิใจไทย ที่จับกลุ่มสร้างเครือข่ายพรรคร่วมรัฐบาล แม้พรรคประชาชน ได้คะแนนเสียงส่วนมาก แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกในระบบรัฐสภา ที่ประชาชนไม่ได้เลือกฝ่ายบริหารโดยตรง แต่จะมีกระบวนการของสภาในการคัดเลือกอีกชั้น”

...

ความคึกคักของการเมืองท้องถิ่น ทำให้ผู้คนหันมาสนใจมากขึ้น แต่การกระจายอำนาจ กลับไม่เปลี่ยนจากเดิม เพราะเป็นการกระจายอำนาจเพียงหน้าที่ แต่โครงสร้างอำนาจยังรวมศูนย์ ความต้องการแก้ปัญหาให้กับประชาชนในระดับท้องถิ่น ตอนนี้เริ่มมีมากขึ้นทุกวัน แต่วันนี้การทำหน้าที่ของรัฐ กลับไม่ตอบโจทย์ และอาจส่งผลให้เกิดวิกฤติการเมืองอีกครั้งในอนาคต