ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำ ชี้เหตุทำภาคเหนืออ่วม เผยตอนนี้ภาคกลางยังรอด ไม่เหมือนปี 54 แต่ปลาย ก.ย. จับตาพายุจร เสี่ยงทำฝนเพิ่ม จัดการน้ำยาก เขื่อนเล็กต้องระวัง!

ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ ทำประชาชนเดือดร้อน ทรัพย์สินและที่อยู่เสียหาย หลายหลังคาเรือนกลายเป็นผู้ประสบภัยไม่ทันตั้งตัว เช่น ประชาชนคนน่าน ถึงกับบอกว่านี่คือน้ำท่วมหนักในรอบ 100 ปี 

สถานการณ์น้ำยังสร้างความกังวลอย่างต่อเนื่อง ประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง ปริมณฑล และกรุงเทพฯ มีความรู้สึกไม่มั่นใจกับมวลน้ำจากตอนเหนือ เพราะมันอาจทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งประชาชนบางส่วนกังวลว่า นี่อาจเดินซ้ำรอย 'อุทกภัย 2554'

อย่างไรก็ดี ทีมข่าวฯ ได้ชวน 'อาจารย์อวิรุทธ์ สุขสมอรรถ' ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำ จากทีมกรุ๊ป มาวิเคราะห์ถึงสถานการณ์นี้ เพื่อไขคำตอบให้คุณผู้อ่านทุกคน!

...

เหตุทำภาคเหนืออ่วม : 

ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำ อธิบายว่า ปี 2554 พายุมาจากฟิลิปปินส์และทะเลจีนใต้ เป็นไต้ฝุ่นที่กลายเป็นพายุโซนร้อนและเข้าไทยมาติดกัน โดยช่วงพฤษภาคมถึงสิงหาคมมีพายุเข้ามา 3 ลูก พอช่วงกันยายนและตุลาคมก็เข้ามาอีก 2 ลูก เมื่อเป็นแบบนั้น จากเดิมที่มีน้ำค้างจากพายุ 3 ลูกแรก ทำให้ช่วงตอนเหนือน้ำเต็ม พอมีพายุเข้ามาอีกเลยทำให้ปริมาณน้ำเยอะผิดปกติ

หากกลับมามองปีนี้ต้องบอกว่าเป็นฤดูฝนปกติ แต่มีร่องมรสุมที่ทำให้เมฆฝนไปรวมกันอยู่จุดนั้น แล้วพาดผ่านเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน บริเวณสกลนครและนครพนม ซึ่งปกติมันจะต้องค่อยๆ ขยับตัวลงมาด้านล่าง แต่ช่วงที่ผ่านมามันกลับไม่ค่อยขยับเลย

"พอเป็นแบบนั้นเลยทำให้ฝนตกเทรวมอยู่บริเวณเชียงราย น่าน พะเยา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนัก ปกติร่องมรสุมจะค่อยๆ ขยับตัวลงข้างล่าง แต่ช่วงที่ผ่านมามันไม่ค่อยขยับตัว ฝนตกเทรวมอยู่บริเวณเชียงราย น่าน พะเยา ทำให้น้ำท่วมหนัก ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ลานีญา และส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับ Climate Change ที่ทำให้ปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ประมาณ 2-3% จากค่าเฉลี่ยปกติ"

ซึ่งลานีญาทำให้ปริมาณความชื้นในอากาศสูง ส่งผลให้ฝนที่จะตกมีปริมาณมาก นอกจากนั้นมวลฝนจะอยู่นิ่งๆ ไม่ขยับ ไม่เคลื่อนตัว ทำให้จุดนั้นๆ มีปริมาณน้ำเยอะ และทำให้การระบายน้ำช้าไปด้วย

ภาคกลางยังไม่เสี่ยงท่วมหนัก : 

ทีมข่าวฯ ถามว่าสถานการณ์ในพื้นที่ภาคกลางจะเป็นอย่างไรต่อไป?

"เดือนนี้ยังไม่มีอะไรเสี่ยงสำหรับภาคกลาง เพราะกรมชลประทานพยายามดำเนินการดูแลอยู่ ทำให้ช่วงนี้ภาคกลางไม่น่ากังวล" อาจารย์อวิรุทธ์ กล่าวตอบ ก่อนจะเสริมข้อมูลว่า

ปริมาณน้ำที่ลงมาแถว อ.เมือง จ.น่าน จะไหลลงมาข้างล่าง แต่มีเขื่อนสิริกิติ์ดักรออยู่ ซึ่งเขื่อนนี้เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และปัจจุบันยังคงมีที่ว่างพอเก็บน้ำส่วนนี้ ทำให้น้ำที่จะลงมาจากน่านมีปริมาณน้อยเพราะมีเขื่อนกักไว้

แต่บริเวณแม่น้ำยมไม่มีเขื่อน จึงทำให้น้ำท่วมที่แพร่และสุโขทัย แต่ตอนนี้กรมชลประทานพยายามนำน้ำลงมาไว้ที่แก้มลิงบางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นจะเก็บน้ำได้ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำที่ผ่านแก้มลิงบางระกำ จะผ่านลงมาทางพิจิตรและนครสวรรค์ ซึ่งจะไม่เยอะและไม่น่ากลัวเท่าที่แพร่หรือสุโขทัย

ก.ย.-ต.ค. ภาคกลางจับตาระวังน้ำ : 

แม้ว่าช่วงนี้ภาคกลางจะดูไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไร แต่อาจารย์อวิรุทธ์ บอกว่า ต้องระวังช่วงปลายเดือนกันยายน ถึง ตุลาคม ให้ดี เนื่องจากร่องความกดอากาศที่พูดถึงช่วงแรก จะค่อยๆ ลดต่ำลงมาแถวนครสวรรค์ และอยุธยาตอนกลาง ทำให้ช่วงปลายกันยายนต้องมาดูอีกทีว่า จะทำให้ฝนตกเยอะไหม

...

ซึ่งการที่ร่องความกดอากาศค่อยๆ ลดต่ำลงมานั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าช่วงปลายเดือนกันยายนหรือตุลาคมมีพายุเข้ามาจะเริ่มไม่ปกติ เพราะมีโอกาสทำให้ฝนตกเยอะ และอาจทำให้การจัดการน้ำอาจยากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญฯ บอกกับเราว่า ปกติประเทศไทยจะมีพายุเข้ามาอยู่แล้วประมาณ 1-2 ลูก แต่ช่วงปี 2566 อาจจะไม่ค่อยเข้ามาเท่าไร เพราะเท่าที่ติดตามพายุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดแถวฟิลิปปินส์ แล้วจะขึ้นเหนือไปทางญี่ปุ่น-เกาหลี ถ้าดูปีนี้ค่าเฉลี่ยมีโอกาสเข้ามา 1-2 ลูก อยู่ที่ว่าจะจัดการน้ำอย่างไร แต่มันคงไม่เหมือนปี 2554 ที่ตกมาแล้วน้ำเยอะเกิน 

"ถ้าช่วงปลายเดือนกันยายนและตุลาคมมีพายุเข้ามา ผมว่าการจัดการในส่วนระบายน้ำ พื้นที่ริมลำน้ำจะเดือดร้อน บริเวณอ่างทอง อยุธยา ตรงไหนที่เคยท่วมก็จะท่วม แต่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ที่ไม่ได้อยู่ติดแม่น้ำสายหลัก อาจจะเจอเรื่องฝนที่ตกมาเยอะแล้วระบายน้ำออกช้า อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูว่าร่องความกดอากาศที่พูดถึง ช่วงปลายเดือนกันยายนถึงตุลาคมมันจะลงมาอยู่ถึงช่วงไหน ตอนนั้นเราก็จะรู้ว่าบริเวณไหนฝนน่าจะตกเยอะ"

...

การบริหารจัดการน้ำของไทย : 

อาจารย์อวิรุทธ์ กล่าวถึง การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยในภาพรวมว่า ระบบระบายน้ำของเรายังไม่ได้มีความสามารถระบายน้ำได้สูงสุด เพราะช่วงที่ฝนตกเยอะมันจะมีปัญหาน้ำทะเลหนุน แต่ถ้าช่วงที่เกิดฝนแล้วไม่มีน้ำทะเลหนุน อันนี้พอจะเร่งระบายน้ำได้ 

อย่าง กทม. บางปะกงก็มีปัญหาลักษณะนี้ ที่ผ่านมาจะมีปัญหาขัดแย้งกันระหว่างคนลุ่มน้ำบางปะกง กับคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะถ้าฝนตกเยอะเขาจะเร่งระบายไปบางปะกง เกิดข้อขัดแย้งให้เห็นกันบ่อยๆ 

ผู้เชี่ยวชาญฯ กล่าวต่อว่า ส่วนเจ้าพระยาตอนล่างมีระบบการระบายน้ำในพื้นที่ชลประทาน คลองชัยนาท-ป่าสัก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะเร่งระบายน้ำช่วงลพบุรี สระบุรี ส่วนช่วงที่จะต้องพร่องน้ำให้ได้คือสระบุรี จนถึงแถวฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ เช่น คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ถ้าเป็นไปได้ต้องรีบเร่งระบายน้ำรอไว้ก่อนตอนฝนไม่ตก

"ต้องคาดการณ์และติดตามข่าวพายุ ว่าหากมีพายุเกิดที่ฟิลิปปินส์ ทะเลจีนใต้ อ่าวตังเกี๋ย แล้วมีแนวโน้มทิศทางเข้ามาทางเวียดนาม ไทยต้องเร่งพร่องน้ำและเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อม แต่ตอนนี้ยังคาดการณ์พายุไม่ได้ ดังนั้น มีแต่ต้องเตรียมตัวไว้ ช่วงที่ผ่านมาเกิดไปแล้ว 7 ลูก แต่พายุขึ้นไปทางญี่ปุ่น เกาหลี เลยไม่มีปัญหากับเรา"

...

การเตรียมรับมือ : 

เมื่อถามว่าคนไทยต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไรบ้าง อ.อวิรุทธ์ ตอบว่า ขึ้นอยู่กับว่าคนไทยภาคไหน ถ้าภาคกลางต้องติดตามข่าวว่าน้ำมาตรงไหนบ้าง ลองดูข้อมูลของเขื่อนเจ้าพระยาได้ ว่าเขาปล่อยน้ำยังไง ปล่อยเท่าไร 

"เพราะเขื่อนเจ้าพระยาจะรับน้ำได้ประมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ถ้าเกิดน้ำที่มาเหนือเจ้าพระยามากกว่า 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็มีโอกาสที่เขื่อนเจ้าพระยาจะระบายลงมาข้างล่าง"

ส่วนชาวอีสานต้องติดตามฝนและพายุจรที่จะเข้ามาช่วงกันยายน-ตุลาคม เพราะร่องมรสุมจะลงมาจากเหนือ ค่อยๆ ไล่ลงมาภาคกลางภาคอีสาน และจะพาดผ่านอยู่ประมาณนี้ และถ้าเกิดมีพายุเข้ามา คล้ายกับปี 2565 จนต้องระบายน้ำลงมา ก็มีโอกาสที่จะท่วมพื้นที่ข้างล่างของไทย

หากมีพายุจรเข้ามาเขื่อนขนาดเล็กต้องระวัง เพราะเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง จะมีหน่วยงานหลักๆ ดูแล แต่เขื่อนขนาดเล็กบางแห่งถูกโอนถ่ายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล เลยอาจจะไม่ได้ติดตามหรือดูแลตลอด บางจุดจึงอาจเสี่ยงเขื่อนพัง

อาจารย์อวิรุทธ์ สุขสมอรรถ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำ ทีมกรุ๊ป ทิ้งท้ายว่า ผมว่าปีนี้คงไม่เท่าปี 2554 เพราะปีนั้นพายุเข้ามาตั้งแต่ปลายมิถุนายน น้ำก็เยอะมาก ระบายลงมาข้างล่างเยอะ แต่ปีนี้ข้างบนเขื่อนยังเก็บน้ำได้อีกเยอะ เว้นแต่ลุ่มน้ำยมที่ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ น้ำอาจจะล้นมาบ้าง พอเลยช่วงนี้ไปร่องความกดอากาศลงมาข้างล่าง ข้างบนก็ไม่น่าห่วงอะไร 

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :