โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงินหมื่น แกนนำ "เพื่อไทย" ยืนยันไม่พับแผน แต่มีสัญญาณปรับเปลี่ยนเป็นการแจกเงินสดในกลุ่มคนจนก่อน นักเศรษฐศาสตร์มองว่า ถ้าทำจริงจะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน มากกว่าหว่านแหแจก แต่ต้องจำกัดให้มีการใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็ก ไม่ให้เงินตกไปอยู่ในกระเป๋า "เจ้าสัว" ตั้งแต่ต้นทาง
ระหว่างรอแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของ นายกรัฐมนตรี "แพทองธาร ชินวัตร" ก็มีคำถามถึงแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นเรือธงของพรรคเพื่อไทย โดยมีการเปิดให้ลงทะเบียนผ่านแอปทางรัฐไปแล้วนั้น ล่าสุดทางแกนนำพรรคเพื่อไทยยืนยันจะดำเนินการนโยบายต่อ แต่ขอให้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และแถลงนโยบายของนายกฯ ก่อน
สอดคล้องกับ อดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” ได้กล่าวกับนักข่าว ถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องเป็นนโยบายแรกๆ ที่ต้องเริ่มดำเนินการทันที โดยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงินหนึ่งหมื่นบาท ยังคงเดินหน้าต่อ แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนแนวทางไปจากเดิม ขณะที่วันนี้ก็มีกระแสข่าวถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาท ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า อาจมีการปรับเปลี่ยนด้วยการแจกเงินสด โดยจะเริ่มต้นที่กลุ่มเปราะบางก่อน ซึ่งจ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คาดใช้เงิน 1.22 แสนล้านบาท สำหรับกลุ่มนี้ก่อน
...
ถึงอย่างไรต้องรอความชัดเจนจากนายกรัฐมนตรี ในการแถลงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อีกครั้ง แต่ในมุมนักวิชาการบางส่วนเห็นด้วย หากงบประมาณเหล่านี้จะส่งผ่านไปถึงร้านค้าขนาดเล็กในชุมชน
“ดิจิทัลวอลเล็ต” ต้องวางกรอบ แจกเงินสด
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์ว่า หากมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการแจกเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นเงินสดหนึ่งหมื่นบาท ให้กับกลุ่มผู้เปราะบาง ที่ลงทะเบียนไว้กับบัตรคนจนก่อน ซึ่งถ้ามีการแจกเป็นเงินสด จะทำให้คนที่ได้รับสามารถใช้เงินได้ตรงกับความต้องการมากขึ้น
แต่มีข้อด้อยในการแจกเงินสด คือ เมื่อให้เงินไปแล้วต้องมีการวางกรอบเพื่อให้มีการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็กในชุมชน มากกว่านำไปซื้อของในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าขนาดใหญ่ของบรรดาเจ้าสัว เพราะถ้าเราต้องการกระตุ้นให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ก็ควรให้คนที่ได้รับเงินไปจับจ่ายในร้านค้าขนาดเล็กก่อน และต่อจากนั้นร้านค้าเล็กๆ สามารถไปซื้อสินค้าตามร้านค้าส่งใหญ่ๆ ไล่ขึ้นไปได้
“แต่ถ้าประชาชนที่ได้รับเงินไปใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ของบรรดาเจ้าสัว การกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบจะไม่เกิดอย่างทั่วถึง อีกส่วนนึงต้องออกกฎเพื่อไม่ให้นำเงินที่ได้ไปซื้อสินค้าที่ไม่สมควร เช่น ก่อนหน้านี้มีออกกำหนดสินค้าที่ใช้เงินดิจิทัลซื้อไม่ได้ เช่น ทองคำ สุรา บุหรี่ สินค้าต่างประเทศ สลากกินแบ่ง และการพนันต่างๆ”
หากมีการวางกรอบการใช้เงินส่วนนี้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เงินที่รัฐบาลคาดหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เกิดผลมากขึ้น
แจกกลุ่มเปราะบางก่อน มีโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจสูง
"ดร.นณริฏ" วิเคราะห์ หากมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการแจกกลุ่มเปราะบางก่อนว่า ส่วนนี้ค่อนข้างเห็นด้วย แต่ก่อนหน้านี้ค้านมาตลอด เนื่องจากมองว่ากลุ่มคนที่ต้องช่วยเหลือคือ กลุ่มคนยากจน กับร้านค้าขนาดเล็ก ซึ่งจริงๆ ก็ไม่อยากให้ทำเพสต่อไป ถ้าเรามุ่งกระตุ้นไปในกลุ่มคนยากจน จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในเศรษฐกิจมากกว่า
จากการที่มีกระแสข่าวว่า คาดใช้เงิน 1.22 แสนล้านบาท ในกลุ่มเปราะบาง "ดร.นณริฏ" มองว่าถือเป็นเรื่องดี ที่ก่อนหน้านี้มีกลไกบัตรคนจนที่เป็นแนวทางในการเช็กกลุ่มคนยากจนของรัฐ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ ข้อมูลอาจไม่มีการอัปเดต เลยอาจจะทำให้คนยากจนรายใหม่หลุดไป แต่อย่างน้อยก็ครอบคลุมคนยากจนที่ลงทะเบียนไว้เดิม ซึ่งก็อาจจะมีปัญหาว่าคนที่ลงทะเบรยนไว้เดิมอาจจะยังไม่ยากจนแล้ว
...
ถ้ามีการจ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถือเป็นกลไกที่ดี เพราะมีองคาพยพต่างๆ ซ่อนอยู่ในระบบ แต่ต้องมาดูว่า เดิมอาจจะมีเงินที่หมุนในระบบมากสุดก็ 3,000 บาท แต่ถ้าเพิ่มมาเป็น 10,000 บาท ระบบจะรองรับได้หรือไม่
ขณะเดียวกันที่ผ่านมาก็มีการเปิดให้ร้านค้าขนาดเล็กรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ถ้ามีการนำเงินดิจิทัลมาผูกกับบัตร ควรมีการเปิดให้ร้านค้าเข้ามาลงทะเบียนเพิ่มเติม เพื่อเปิดโอกาสให้มีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจมากขึ้น ในทางเศรษฐศาสตร์อาจใช้การกระตุ้นในกลุ่มเหล่านี้ก่อน ส่วนประชากรที่มีรายได้ระดับปานกลาง หรือระดับบน อาจมีโครงการอื่นที่ช่วยเพิ่มให้เกิดการออมในระบบได้.