ฝีดาษลิง ไทยพบผู้ต้องสงสัยรายแรก แม้มีการยืนยันว่าไม่พบผู้ป่วยรายอื่น แต่องค์การอนามัยโลก ออกมาแสดงความกังวลต่อความร้ายแรงของเชื้อ ที่แพร่กระจายได้เร็ว สวนทางกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตั้งข้อสังเกตว่า มีโอกาสที่จะมีคนปล่อยเชื้อร้ายแรงมากขึ้นใน 5 ประเด็น เช่นเดียวกับผลข้างเคียงของวัคซีน ที่ไทยตอนนี้มีการฉีดให้เข็มละหลายพันบาท จะซ้ำรอยยุคโควิด
ฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร พบผู้ต้องสงสัยรายแรกในไทย เป็นชาวยุโรป ขณะนี้อยู่ในขั้นตรวจสอบ รอดูผลภายใน 1 อาทิตย์ ซึ่งประวัติผู้ป่วยเดินทางมาจากแอฟติกา เข้าไทยเมื่อ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา ต่อมา 15 ส.ค. 67 ผู้ป่วยมีอาการไข้ มีตุ่มขึ้น ก่อนเดินทางไปโรงพยาบาล พบว่าเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร โดยผลตรวจฝีดาษลิง Clade 2 ปรากฏว่าเป็นผลลบ และตรวจฝีดาษลิง Clade 1B ปรากฏว่าผลไม่ชัดเจน
ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของโรคเอ็มพ็อกซ์ (Mpox) สายพันธุ์ clade 1 หรือ ฝีดาษลิง บางพื้นที่ทวีปแอฟริกา เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ขณะนี้กลายเป็นความน่ากังวลระดับนานาชาติ
...
แม้มีความกังวลการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงระดับโลก แต่ "ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา" ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติ ที่อาจเกิดจากฝีมือมนุษย์ว่า ฝีดาษวานร มีการกลายพันธุ์ของเชื้อที่รุนแรงมากขึ้น ตั้งแต่ระยะแรกที่เป็นสายพันธุ์ Clade 1 มีความอันตราย แต่แพร่กระจ่ายเชื้อได้น้อย แต่ Clade 2 มีความอันตรายของเชื้อน้อยกว่า แต่แพร่กระจายเชื้อได้มากกว่า โดยทั้งสองสายพันธุ์นี้กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่แอฟริกา
วงการแพทย์มีการตั้งข้อสงสัย ถึงการแพร่กระจายของเชื้อฝีดาษลิง ตอนนี้จากการสืบสวนของกรรมาธิการรัฐสภาสหรัฐฯ รายงาน 73 หน้า การสอบสวน พบมีการทำวิจัยไวรัสฝีดาษลิง ที่มีความเสี่ยง ทำให้มีความรุนแรงมากขึ้น และติดต่อได้ง่ายขึ้นระหว่างคนสู่คน ไว้ดังนี้
1. พบมีขั้นตอนตัดต่อส่วนของไวรัสฝีดาษลิง Clade 1 กับ Clade 2 โดยให้มีการตายของผู้ติดเชื้อประมาณ 15% แต่แพร่กระจายได้เร็วขึ้น มากกว่า 1 คน ข้อมูลนี้เพิ่งมีการเผยแพร่ปีนี้ แต่มีการสอบสวนย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 2021-2022 พบมีการฝึกซ้อมรับมือการแพร่ระบาดของฝีดาษลิง และในปีเดียวกัน ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า คนที่ติดฝีดาษลิงในอังกฤษ ไม่ใช่คนที่เดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือพบปะกับคนกลุ่มเสี่ยง
2. ปี 2566 มีการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงมากขึ้น แต่น่าสนใจว่า เชื้อฝีดาษลิงที่ระบาดตอนนี้ ตุ่มหรือผื่นที่ขึ้นบนผิวหนัง จะไม่ได้ออกมาเป็นตุ่มแบบเดียว ซึ่งปกติเป็นตุ่มแบบใดแบบหนึ่ง คือ ตุ่มราบ นูน หนอง ก่อนแห้งเป็นสะเก็ด แต่ตอนนี้ผู้ติดเชื้อมีตุ่มผื่นหลายลักษณะในเวลาเดียวกัน ทำให้การรักษาต้องมีกระบวนการซับซ้อนมากขึ้น
3. วัคซีนฝีดาษลิง มีการพัฒนามาตั้งแต่สมัยที่ซ้อมการแพร่ระบาด ตอนนี้องค์การอนามัยโรคตื่นตระหนกต่อการแพร่ระบาด ถึงขนาดมีความกังวลว่าอาจต้องให้ฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงทั่วโลก ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรตื่นตระหนก เหมือนการแพร่ระบาดของโควิด เพราะการแพร่เชื้อต้องมีความใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ผ่านสารคัดหลั่ง หรือผ่านการมีเพศสัมพันธ์
...
4. การติดเชื้อฝีดาษลิง ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ออกมาจากตุ่ม จะแพร่เข้าไปผ่านเยื่อบุของคนกลุ่มเสี่ยง หรือการมีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อลักษณะนี้ ค่อนข้างแพร่ได้ยาก แต่ทำไมมีการเสนอให้ฉีดวัคซีนฝีดาษลิงในทุกกลุ่มอายุ โดยที่มีการอนุมานว่า วัคซีนป้องกันได้ 85% แต่ไม่มีข้อมูลหลักฐานชัดเจนยืนยันได้
5. วัคซีนป้องกันฝีดาษลิง มีการประกาศถึงความเสี่ยงของผู้ที่ฉีด มีโอกาสหัวใจอักเสบได้ เฉลี่ย 8 ราย ต่อ 1 หมื่นคน และรอยฉีดอาจเป็นแผลเป็นได้ ซึ่งรอยอยู่ได้ยาวนานประมาณ 1 ปี ขณะเดียวกันก็มีโอกาสทำให้หัวใจล้มเหลว หรือการตายเฉียบพลัน เช่นเดียวกับวัคซีนที่มีการฉีดในไทยตอนนี้ ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนผ่านหน่วยงานรัฐที่มารับรองยืนยัน แต่มีการฉีดให้กับประชาชนเข็มละหลายพันบาท
ฝีดาษลิง โอกาสติดเชื้อกลุ่มเสี่ยงในไทย
"ศ.นพ.ธีระวัฒน์" มองว่า การที่คนไทยจะตื่นตระหนกกับฝีดาษลิง อยากให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เพราะไม่ได้แพร่ระบาดเร็วเหมือนโควิด ซึ่งการจะแพร่ระบาดได้ต้องมาจากการมีเพศสัมพันธ์ แต่ก็ไม่ควรประมาท ในกลุ่มที่ต้องทำอาชีพที่มีความเสี่ยง
...
คนกลุ่มเสี่ยง ที่มีโอกาสมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ ในระยะแรกอาจยังไม่แสดงอาการ แต่อาจมีตุ่มที่ซ่อนอยู่ในจุดซ่อนเร้น ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ดังนั้น ถึงใส่ถุงยางอนามัยป้องกัน แต่สารคัดหลั่งก็อาจทำให้ติดเชื้อได้ การป้องกันที่ดีที่สุด จึงไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือคนที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง.