กูรูเศรษฐกิจคาด ครึ่งปีหลังไทยยังซึม GDP โตต่ำ หนี้ครัวเรือนพุ่ง พร้อมเผยปัจจัยทำรายได้เข้าประเทศลด การเมืองผันผวนคือหนึ่งในปัญหา!

ท่ามกลางเสียงสะท้อนจากประชาชนที่บอกว่า "ปีนี้เศรษฐกิจไม่ดี" ทีมข่าวฯ จึงได้ต่อสายตรงถึง 'ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข' คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เพื่อชวนสนทนาถึงต้นเหตุของสถานการณ์ดังกล่าว และวิเคราะห์ว่า 4 เดือนก่อนสิ้นปี 2567 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นหรือไม่ 

ครึ่งปีหลัง 2567 เศรษฐกิจเข้าขั้นซึม : 

"ผมคิดว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังซึม" ผศ.ดร.สันติ เริ่มกล่าวแสดงการวิเคราะห์ ก่อนจะเสริมต่อไปว่า การลงทุนก็จะไม่ได้อย่างที่คิด ที่เขาบอกกันว่า GDP จะโต 2.7% ส่วนตัวถ้าให้ผมเดา ผมคิดว่าไม่ถึง น่าจะอยู่แค่ประมาณ 2.3-2.5% แต่ส่วนตัวผมก็เอนไปที่ 2.3% มากกว่า และก็น่าจะโตอยู่แค่ประมาณนี้ ส่วนปัญหาต่างๆ ที่มีมาก็จะยังคงแก้ไม่ได้ สะสมกันต่อไปแบบนี้

"บางคนบอกว่า เดี๋ยวงบประมาณออกมาก็มีการเบิกจ่ายใหม่ ส่วนตัวผมมองว่าอิมแพ็กตรงนี้มันน้อย โครงการการลงทุนต่างๆ จะดีเลย์ เพราะมันดีเลย์มาตั้งแต่งบปี 2567 แล้ว ส่วนปี 2568 ที่มองกันว่าจะไม่ดีเลย์ ตอนนี้ก็เริ่มไม่แน่ เพราะมาเจอกับคำตัดสินเรื่องนายกฯ"

...

กูรูเศรษฐกิจ กล่าวว่า ผมก็ไม่รู้หรอกว่าถ้าเปลี่ยนนายกฯ แล้วจะดำเนินงานต่างๆ ได้ลื่นไหลแค่ไหน หรือจะคุยเรื่องงบประมาณผ่านเร็วเท่าไร แต่ต่อให้คุยได้เร็ว เดี๋ยว ครม.ก็มีการปรับเปลี่ยน คนที่เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่ง ก็อาจจะได้เป็นอยู่ แต่เปลี่ยนกระทรวง แล้วแบบนี้จะขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ได้ต่อเนื่องเหรอ ผมไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น

"ครึ่งปีหลังผมว่าน่าห่วงมาก เพราะมันยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ต้องแก้" ผศ.ดร.สันติ กล่าว

โตต่ำ แก้ปัญหาไม่จริงจัง หนี้ครัวเรือนพุ่ง : 

ผศ.ดร.สันติ กล่าวว่า ผู้บริหารประเทศ และสังคมไทย ต้องยอมรับการเติบโตของตัวเอง ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับอาเซียน เพราะ GDP ของเราต้องโตต่ำแบบนี้แหละ เพราะในปัญหาต่างๆ ที่รั้งเศรษฐกิจบ้านเรา มันยังมีปัญหาเรื่องค่าครองชีพที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ที่ผมบอกว่าไม่ได้ทำอย่างจริงจัง เพราะเห็นตัวเลขหนี้ครัวเรือนขยับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แปลว่าค่าครองชีพสูง ทำให้คนต้องเป็นหนี้มากขึ้น และการเป็นหนี้ที่มากขึ้นของพวกเขา เขาไม่สามารถจ่ายคืนได้ อัตรา NPL หรือหนี้เสียก็เพิ่มขึ้นด้วย "กู้กันมาเพิ่มไม่ใช่ว่าจ่ายคืนได้นะ ก็คือกู้เพิ่มแล้วก็จ่ายคืนไม่ได้"

"ตอนนี้หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 91.3% ของ GDP ยอดหนี้รวมปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 16.33 ล้านล้านบาท ซึ่ง GDP ของเราอยู่ที่ประมาณ 18 ล้านล้านบาท ก่อนที่จะมีล็อกดาวน์ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ ของ GDP"

เมื่อถามว่า ระยะเวลาที่เหลืออีกประมาณ 4 เดือน ก่อนจบปี 2567 คาดว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่?

กูรูเศรษฐกิจ มองว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเยอะพอสมควร เครดิตบูโรมีการพยากรณ์เอาไว้ ผมอาจจะจำตัวเลขเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่ตอนนี้ที่บอกว่าหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 16.33 ล้านล้านบาท คาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้น่าจะถึงประมาณ 16.50 ล้านล้านบาท

"พูดง่ายๆ ก็คือ หนี้อาจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 แสนล้านบาท ถ้ามองไปอีกหลายปีข้างหน้าอาจจะขึ้นไปถึง 17 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำ อยู่ที่ว่า GDP ของไทยจะโตได้แค่ไหน แต่ผมมองว่ามันก็โตได้แค่ประมาณ 2% นี่แหละ"

ผศ.ดร.สันติ เสริมว่า อันนี้เป็นตัวเลขของคนที่อยู่ในระบบ มีอีกจำนวนหนึ่งที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น แต่กู้เพิ่มในระบบไม่ได้ ก็ถูกถีบออกไปกู้นอกระบบ แบบนั้นยิ่งมีปัญหาเยอะ ถ้าไม่แก้ตรงนี้จะมีคนที่มีปัญหาเพิ่มขึ้น แล้วมันจะบั่นทอนหลายอย่างตามมา เช่น บั่นทอดการบริโภค ความน่าลงทุน โอกาสในการเติบโตและการพัฒนา

...

ศักยภาพลด รายได้สะดุด 2 แหล่งทำเงินโตไม่เหมือนเดิม : 

คุณผู้อ่านน่าจะพอได้รู้ช่วง 4 เดือน ก่อนจบปี 2567 ไปแล้ว ทีมข่าวฯ และ ผศ.ดร.สันติ จะขอพากลับมามองภาพรวมปัจจุบันกันบ้างดีกว่า ว่าขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง หรือถ้าเศรษฐกิจไม่โต มาจากสาเหตุใดกัน?

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบัน กูรูเศรษฐกิจแสดงความคิดเห็นว่า ความคิดของผม ผมมองว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตตามศักยภาพ เพียงแต่ว่าศักยภาพของเราลดลงไปจากเดิมเยอะ เพราะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงช่วงโควิด เศรษฐกิจไทยพึ่งพารายได้หลักๆ 2 ทาง คือ ภาคการท่องเที่ยว และภาคส่งออก แต่ขณะนี้ทั้ง 2 ภาคดังกล่าว เผชิญกับการแข่งขันมากขึ้น ส่งผลให้ไทยสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน 

...

ภาคการท่องเที่ยว - ก่อนเกิดโควิด-19 ไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศประมาณ 40 ล้านคน และมีการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ทำสนามบินอู่ตะเภา ทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน ขยายเฟส 3 ของสุวรรณภูมิ เพราะมองว่าในอนาคตน่าจะมีคนเดินทางเข้าประเทศ 90-100 ล้านคน

"แต่หลังโควิด ภาคท่องเที่ยวไทยเผชิญกับการแข่งขันที่สูง เราตั้งเป้าหมายจะให้นักท่องเที่ยวกลับมา 30-40 ล้านคน เหมือนก่อนโควิด แต่มันก็ไม่ง่าย แม้ว่าจะได้ถึง แต่อัตราการเพิ่มขึ้นก็ไม่เหมือนก่อนหน้านี้"

กูรูเศรษฐกิจ กล่าวว่า หลังโควิดคนอยากออกไปเที่ยวก็จริง แต่เขามีทางเลือกเพิ่มขึ้น เพราะทุกประเทศต่างก็พยายามดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ การที่จะประเทศไทยไปดึงมาด้วย ผมว่าไม่ง่าย เพราะมีปัญหาหลักๆ อยู่ 2 อย่าง หนึ่งคือ ภาพพจน์ของประเทศไทยในเรื่องความปลอดภัยอาจจะไม่ดีเท่าไร สองคือ การเที่ยวในไทยเริ่มแพงขึ้น เพราะค่าครองชีพเราสูง ทำให้เขาไม่อยากมา หรือมาก็ไม่ใช้จ่าย

ฉะนั้นความหวังที่จะได้เติบโตจากการท่องเที่ยวยังไงก็ไม่เหมือนเดิม จะหวังไปถึง 90-100 ล้านคน คิดว่าอีก 5 ปีนับจากนี้ก็ยังทำได้ยาก 

...

ภาคการส่งออก - ผศ.ดร.สันติ กล่าวถึงส่วนนี้ว่า ผมคิดว่าเราเห็นภาพชัดอยู่แล้วว่ามันไม่โต แม้จะเป็นภาคที่เราคาดหวังมาตลอด ภาคนี้ก็มีปัญหา เพราะเราสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน มีคนวิเคราะห์ถึงสาเหตุมากมาย เช่น เทคโนโลยีเราไม่ดี ผลิตแต่ของเก่าๆ แล้วไปผสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่จีนต้องดัมพ์ราคาสินค้า ซึ่งจีนเขาดัมพ์ทั่วโลก เราก็เผชิญกับเรื่องราคาด้วย เพราะประเทศไทยก็มีของจีนเข้ามา

"เพราะฉะนั้นโดยโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่ต้องพึ่งพิง 2 ภาคนี้จะมีปัญหาแน่นอน เนื่องจากศักยภาพเราลดลง ดังนั้นถ้าถามผม ผมไม่เคยมองว่าเศรษฐกิจไทยโตถึง 3% เลย แล้วไม่คิดว่าจะเกิน 3% ได้ แม้ว่าอีก 3 ปีข้างหน้าก็อยู่แบบนี้แหละ ปีไหนดีก็เกิน 3 นิดๆ ปีไหนไม่ดีก็จะลงไป เผลอๆ ต่ำกว่า 2.5 อย่างปีนี้ก็น่าจะต่ำว่า 2.5"

การเมืองผันผวน หนึ่งในปัญหา : 

ในสภาวะที่การเมืองไทยไม่นิ่ง และยังไร้ท่าทีที่จะนิ่ง กูรูเศรษฐกิจมองว่า นี่ก็ถือเป็นหนึ่งใน "ตัวปัญหา" ที่ตอกย้ำเศรษฐกิจไทยให้แย่เข้าไปใหญ่

"4 เดือนที่เหลือของปีนี้ ผมบอกเลยว่าอย่าไปตั้งความหวังว่าจะดีขึ้น หรือในอีก 2-3 ปีข้างหน้าก็อย่าเพิ่งหวัง เพราะเราจะโตอยู่แค่นี้แหละประมาณ 2% ต้องยอมรับแล้วหาทางแก้ปัญหา การเมืองไทย ผมมองว่าไม่นิ่ง และน่าจะนิ่งไม่ได้ ส่วนตัวผมเองก็ไม่รู้ถึงเงื่อนไขต่างๆ ของเรื่องพวกนี้"

การเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีจาก นายเศรษฐา ทวีสิน ไปเป็นคนอื่น คาดว่าจะมีความแตกต่างเกิดขึ้นหรือไม่?

"ในมุมมองผมคิดว่าไม่มีความต่างอะไรเยอะ ทุกวันนี้สมัยที่ คุณเศรษฐา เป็นนายกฯ ผมก็ไม่เห็นรัฐมนตรีคนไหนฟังนายกฯ นโยบายต่างคนต่างว่า อย่าง คุณอนุทิน ก็บอกจะเอากัญชา มันประมาณว่าอันนี้เรื่องของผม พรรคผมดูแล อันนี้พรรคคุณ คุณดูแลไป พรรคใครพรรคมัน ไม่ยุ่งกัน"

"มันไม่เหมือนการร่วมรัฐบาลที่มานั่งคุยกันว่า นโยบายคุณอะไร นโยบายเราอะไร แล้วมารวมกันให้รัฐบาลผสมนี้ช่วยกันผลักดัน เพราะภาพที่ออกมาไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย ลองนำไมค์ไปจ่อถามเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตรัฐมนตรีคนอื่นๆ สิ เขาก็จะตอบว่า "ไม่รู้ อยากทำก็ให้เขาทำ" เพราะฉะนั้นมันไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน"

เริ่มแก้ปัญหาค่าครองชีพ-ทบทวนนโยบาย : 

ทีมข่าวฯ สอบถามกูรูของเราว่า ควรเริ่มแก้ปัญหาอย่างไร?

"ผมมองว่าถ้าจะแก้ปัญหาก็ต้องแก้เรื่องค่าครองชีพก่อน" ผศ.ดร.สันติ ตอบกลับ

"หลังจากนั้นมาแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะตอนนี้ความต่างระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดที่ได้รับการพัฒนา สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มันโดดไปเยอะมาก สมัยนั้นใช้เงิน เอาเงินรัฐมาสร้างสิ่งต่างๆ แต่โครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์"

"ที่ตอนนั้นเห็นว่าเศรษฐกิจประคองไปได้ เพราะว่ารัฐใช้จ่ายซัดเข้าไป เช่น โทลล์เวย์ที่สร้าง แต่ยังไม่มีรถวิ่ง เงินมันลงไปแล้วกี่หมื่นล้าน หลังจากนี้จะทำอะไรต้องวางแผนให้ดี ไม่ให้ซ้ำรอยเดิม นั่นคือสิ่งที่ผมมองว่าเป็นทางออกระยะสั้นตอนนี้ ต้องเริ่มแก้เรื่องเหล่านี้ก่อน"

ปีนี้เหลือเพียง 4 เดือน มองว่าจะหานโยบายไหนมาแก้ได้ทันหรือไม่?

ผศ.ดร.สันติ ตอบว่า ผมถึงบอกว่าอย่าไปคาดหวัง ไม่ต้องไปคิดว่าเราจะบูธ GDP ขึ้นให้เกิน 2.5% เพราะอย่างมากน่าจะโตแค่ประมาณ 2% ตอนนี้ถ้าไปคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย เขาก็แฮปปี้แล้ว เพราะเขารู้ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นแบบนี้ นี่คือเหตุผลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประชุมทีไร เขาก็บอกว่าดอกเบี้ยโอเคแล้ว ไม่ต้องลด เพราะเขามองว่าทุกวันนี้ที่ GDP โต ก็โตตามศักยภาพ แต่ปัญหาอยู่ที่จะทำยังไงให้เรามีศักยภาพขึ้น

"อย่างที่บอกไป ผมคิดว่า หนึ่ง ระยะสั้นต้องแก้ปัญหาค่าครองชีพ สอง ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่ทำลงไปแล้ว สาม ต้องลดความเหลื่อมล้ำ กระจายการลงทุนออกไปในต่างจังหวัด สี่ ปรับปรุงเงื่อนไขของ BOI เพราะทุกวันนี้ใช้มาตรการเดิมๆ ไม่มีประสิทธิภาพดึงดูดในการลงทุน ทุนไหลไปอยู่ประเทศอื่นเยอะเลย"

ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข กล่าวต่อไปว่า แต่การส่งเสริมการลงทุน ไม่ใช่ว่าเอาการลงทุนอะไรก็ได้ ต้องมีกลยุทธ์ว่าอยากได้อุตสาหกรรมอะไร แล้วค่อยส่งเสริม แบบที่มาเลเซียทำเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน เขาตั้งเป้าว่าจะเป็นไต้หวันที่ 2 ของเอเชีย เขาต้องการ chip industry (อุตสาหกรรมชิป) ต้องการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ไม่ใช่การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป และตอนนี้ก็มีบริษัทใหญ่ๆ เข้าไปลงทุน

"ถ้าถามว่าเราจะเหมาะกับอะไร ตรงนี้กระทรวงอุตสาหกรรมก็ต้องทำนโยบายออกมา ต้องกำหนดทิศทางว่าต้องการอะไร แล้วก็ไปปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้อง ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่อุตสาหกรรม EV และขอฟันธงว่าไม่ใช่ ทุกวันนี้ที่ทำกันมีแต่ EV ซึ่งมีแต่ EV จีนด้วย ขนาดเทสลาเคยบอกจะมา ก็ยังไม่มา"

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :