ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ต่อจากเศรษฐา ทวีสิน หลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย ต้องติดตามการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันศุกร์ที่ 16 ส.ค. 2567 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป โดยผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมี สส. รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งใน 10 ของ สส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภา หรือ 50 คน จากจำนวน สส. ที่เหลืออยู่ 493 คน และผู้ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้เสียง สส. เกินครึ่งหนึ่ง หรือได้คะแนนเสียงตั้งแต่ 248 เสียงขึ้นไป 

พรรคร่วมรัฐบาล ประกาศหนุนแพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31
พรรคร่วมรัฐบาล ประกาศหนุนแพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31

แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อ จากพรรคการเมืองที่มี สส. ไม่น้อยกว่า 5% มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย สส. 141 คน มีแคนดิเดต 2 คน แพทองธาร ชินวัตร และชัยเกษม นิติสิริ, พรรคภูมิใจไทย สส. 70 คน มีแคนดิเดต 1 คน อนุทิน ชาญวีรกูล, พรรคพลังประชารัฐ สส. 40 คน มีแคนดิเดต 1 คน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พรรครวมไทยสร้างชาติ สส. 36 คน มีแคนดิเดต 2 คน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งองคมนตรี และพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, พรรคประชาธิปัตย์ สส. 25 คน มีแคนดิเดต 1 คน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

...

พรรคเพื่อไทย ส่งแพทองธาร ชินวัตร ชิงนายกฯ คนที่ 31
พรรคเพื่อไทย ส่งแพทองธาร ชินวัตร ชิงนายกฯ คนที่ 31

เอกชน คาดหวังได้นายกฯ คนใหม่ เร็วที่สุด แก้วิกฤติเศรษฐกิจ

แล้วใครจากพรรคใด? จะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย จะยังคงเป็นพรรคเพื่อไทย หรือพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ท่ามกลางกระแสมาแรงอาจเป็น “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย หรือ ม้ามืด “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ อาจได้ดำรงตำแหน่งแบบพลิกโผ เพราะการเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ เป็นสิ่งที่น่าจับตา โดยเฉพาะภาคเอกชน คาดหวังจะได้นายกรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด เพื่อเดินหน้าแก้วิกฤติเศรษฐกิจ

“ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ยอมรับว่าผิดคาดมากที่เศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคาดหวังนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต้องมีความรู้และเข้าใจด้านเศรษฐกิจ มีมุมมองในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก หรืออาจหาทีมมาเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการทำงาน เพราะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาลง และความเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง จะต้องเตรียมการในอนาคต โดยเฉพาะการตัดสินใจ ท่ามกลางความขัดแย้งมากมายในการจะพาประเทศไทยไปอย่างไร 

“ภาคเอกชนอยากได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เร็วๆ ไม่อยากให้เกิดสุญญากาศ ได้หมดไม่ว่ามาจากพรรคใด ขอให้เจรจาเร็วๆ เชื่อว่าแต่ละพรรคมีนโยบายอยู่แล้ว ก็ต้องปรับสมดุลให้ไปด้วยกัน อาจไม่ได้ดั่งใจทุกพรรคในการขับเคลื่อนนโยบาย และสิ่งที่กังวลมากสุด คือเสถียรภาพรัฐบาล จะเป็นตัวช่วยให้มีความชัดเจนด้านลงทุนจากต่างชาติ เป็นจังหวะที่หลายประเทศย้ายฐานการผลิต หากเราไขว่คว้าไม่ทัน ก็จะเสียโอกาส ไม่ว่าจากความขัดแย้งของแต่ละประเทศ และการปรับตัวของอุตสาหกรรมใหม่ๆ”

อนุทิน ชาญวีรกูล แถลงจุดยืนสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย
อนุทิน ชาญวีรกูล แถลงจุดยืนสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย

ช่วงขาลงเศรษฐกิจโลก งานหนักวัดฝีมือ นายกฯ คนใหม่

มุมมองส่วนตัวเกี่ยวกับผลงานของเศรษฐา ในช่วงที่ผ่านมา ก็ต้องชื่นชมในความขยัน และไฟแรงพอสมควร เป็นสิ่งที่หายากที่ไทยมีนายกรัฐมนตรีเดินทางไปหลายประเทศ โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าไทยมีความพร้อมอย่างไร ในการดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย เพราะเป็นช่วงขาลงของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าใครเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถดีดนิ้วแก้ปัญหาได้ ต้องอาศัยความพยายาม

...

หากโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เสร็จสิ้น อย่างน้อยต้องประกาศให้ชัดเจนเรื่องการดึงต่างชาติมาลงทุน หากไม่ชัดเจนจะทำให้นักลงทุนเกิดความลังเลในการตัดสินใจ จะต้องมีตัวช่วยมีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุน ไม่เช่นนั้นไทยจะเสียโอกาส เพราะหลายประเทศในอาเซียนพยายามสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน ภายหลังกำลังซื้อทั่วโลกหดตัวลง ไม่มีใครกล้าจ่ายเงิน และคาดหวังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของบางประเทศ ก็จะเป็นความหวังของไทย ในการปักหมุดให้เป็นกลุ่มประเทศเป้าหมาย ควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ก็มีประโยชน์ แต่ต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากหลายประเทศเช่นกัน

อีกทั้งความคาดหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากงบประมาณต่างๆ ในการใช้จ่ายของภาครัฐ จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว อาจล่าช้าและเหลือเพียง 1 เดือนจะเข้างบประมาณปี 2568 หากการจัดตั้ง ครม.ใหม่ล่าช้า จะส่งผลกระทบอย่างแน่นอนในการช่วยผลักดันเม็ดเงินในระบบ ก็จะไม่มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ส่งออกเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน แต่ยังมีความหวังในการสร้างเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่บ้าง

...

ดิจิทัลวอลเล็ต เดินหน้าต่อยาก ต้องถกใหม่ในพรรคร่วม

ขณะที่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะเดินหน้าต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แม้เป็นคนในพรรคร่วมรัฐบาลเดิม สุดท้ายก็ต้องเจรจามาไกล่เกลี่ยนโยบายการใช้งบของแต่ละพรรค เพราะเดิมทีดิจิทัลวอลเล็ต มีการเจรจามาตั้งแต่แรกก่อนจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา แต่เมื่อมีรัฐบาลใหม่ ต้องเริ่มเจรจาใหม่ภายในพรรคร่วม หากเอาเข้าจริงๆ แล้ว เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่ดิจิทัลวอลเล็ตจะเดินหน้าต่อ จากความกังวลหลายฝ่ายเกี่ยวกับข้อกฎหมาย

“ขอให้การเมืองนิ่งๆ ตกลงกันไวๆ เชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาล จะไม่เสียเวลายุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ และในฐานะประชาชน ก็คาดหวังให้เดินหน้าอย่างเดียว เพราะเศรษฐกิจบ้านเราอยู่ในขั้นวิกฤติ จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ”.