คุยเรื่อง "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" กับ "ดร.สมชัย จิตสุชน" มองพายุหมุนทางเศรษฐกิจ หรือจะเป็นเพียงวาทกรรม นโยบายนี้ได้ไม่คุ้มค่า เชื่อว่ารัฐบาลก็รู้… แต่ยังผลักดันต่อ

โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาล ยังคงถูกผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการตั้งคำถามและข้อสงสัย ซึ่งเรื่องนี้ ทีมข่าวฯ ได้มีโอกาสสนทนากับ "ดร.สมชัย จิตสุชน" ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ TDRI ถึงความคิดเห็นที่มีต่อโครงการดังกล่าว 

โดย ดร.สมชัย ได้แสดงทรรศนะ เปิดการสนทนาว่า "ผมอยู่ในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ตั้งแต่แรก และพูดต่อเนื่องมาหลายเดือนแล้ว เพราะว่ามันเป็นวิธีกระตุ้นเศรฐกิจที่ไม่ค่อยได้ผลเท่าไร ส่วนเรื่องที่พูดว่าพายุหมุนหลายรอบมันก็ไม่ใช่อย่างนั้น"

ค่าเสียโอกาสราคาแพง : 

ดร.สมชัย กล่าวว่า มุมมองของผมน่าจะเอาเงินนี้ไปทำเรื่องอื่นที่ดีได้มากกว่า แต่กลับต้องมาเสียโอกาสนั้นไป ซึ่งผมขอใช้คำว่ามันเป็น 'ค่าเสียโอกาส' ที่มีราคาแพงมาก เพราะมีหลายเรื่องที่ควรทำ แต่กลับไม่ได้ทำ 

...

ไม่ว่าจะเป็นการดูแลประชาชน การเพิ่มทักษะให้แรงงานไทย ซึ่งกำลังมีปัญหาอยู่เยอะมาก และน่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่โต ยิ่งไปกว่านั้น หากใช้เงินในเรื่องงดังกล่าว ก็จะใช้เงินน้อยกว่าแต่ตอบโจทย์มากกว่า

"มันจะตอบโจทย์ที่รัฐบาลพูดไว้ว่า เงินดิจิทัลจะมาปั๊มหัวใจ ทำให้เศรษฐกิจไทยกระชุ่มกระชวยขึ้น และสามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว จากเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเขาเชื่อกันอย่างนั้น แต่พวกผมไม่เชื่อ"

ผอ.ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง เสริมว่า ถ้านำเงินก้อนเดียวกันไปใช้ในเรื่องอื่น ที่มันให้ผลระยะยาวมากกว่า เช่น เรื่องของการเพิ่มทักษะให้แรงงานไทยทุกระดับอย่างที่กล่าวไป ตรงนั้นน่าจะยั่งยืนกว่า และแก้ปัญหาต่างๆ ได้มากกว่า เช่น สังคมเหลื่อมล้ำ สังคมสูงวัย แต่เงินดิจิทัลมันไม่ได้แก้ตรงนั้นเลย

วาทกรรมพายุหมุน : 

จากคำสัมภาษณ์ตั้งแต่ต้นของการสนทนาที่ ดร.สมชัย กล่าวว่า "เรื่องที่พูดว่าพายุหมุนหลายรอบ มันก็ไม่ใช่อย่างนั้น" ทีมข่าวฯ จึงถามต่อไปว่า เงินดิจิทัลไม่น่าจะสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจได้จริงหรือ?

ผอ.ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ตอบแทบจะทันทีว่า "ไม่อยู่แล้วครับ" ก่อนจะกล่าวต่อไปว่า คำว่าพายุหมุนของรัฐบาล เป็นวาทกรรมที่เปลี่ยนไปเรื่อย อย่างล่าสุดที่รัฐมนตรีคลังกล่าว เขาก็พูดถึงพายุหมุนอีกแบบหนึ่ง

"เขาพูดประมาณว่า มันเป็นการรับเงินไปเป็นทอดๆ ลอตแรกคือคนที่ได้รับเงินดิจิทัล ไปซื้อของจากพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ถือว่าเป็นพายุหมุนลูกที่ 1 หลังจากนั้นผู้ค้าก็ไปซื้อของต่อ เป็นพายุหมุนลูกที่ 2 ซึ่งพอผมฟังแบบนี้มันก็รู้สึกแปลกๆ งงว่าทำไมเขานับแบบนี้กัน"

ดร.สมชัย แสดงทรรศนะต่อไปว่า นั่นเป็นเวอร์ชันล่าสุด แต่เวอร์ชันก่อนหน้านี้ บอกว่าคนที่ได้รับจะซื้อของกันเป็นทอดๆ หลายรอบ มันก็เลยเหมือนพายุ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงเป็นวาทกรรม ในทางวิชาการเราไม่พูดอย่างนั้น จะหมุนกี่รอบเราก็ไม่พูด 

สิ่งที่จะพูดกันคือเรื่อง 'ตัวคูณทางการคลัง' ยกตัวอย่าง หากนำเงินลงไปที่นโยบายต่างประเทศ 1 บาท จะมองกันว่า GDP จะได้คืนมากี่บาท เช่น ถ้าลงเงิน 1 บาท แล้วได้คูณมา 1 บาท ตัวคูณทางการคลังจะเท่ากับ 1 ถ้าได้คนมากกว่า 1 ตัวคูณก็มากกว่า 1 หรือถ้าได้กลับมาน้อยกว่า 1 ตัวคูณก็จะน้อยกว่า 1 เป็นต้น

...

"นี่เป็นเวอร์ชันแรกๆ ที่ตอนแรกทางรัฐบาลเขาก็เล่นเรื่องนี้เหมือนกัน และบอกว่าตัวคูณที่จะได้จากเงินดิจิทัลจะมีอยู่ที่ 4-6 เท่า แต่นั่นก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะถ้าดูที่ตัวเลขจริงๆ โครงการลักษณะแบบนี้ อาจจะได้แค่ 0.4-0.5 เท่า ไม่ใช่ 4-6 เท่า ซึ่งจำนวนถือว่าห่างกันเยอะมาก"

ดร.สมชัย กล่าวเสริมต่อไปว่า แต่ล่าสุดตัวเลขที่รัฐบาลเขาพูดถึง อาจจะไม่ได้พูดตัวเลข 0.4 แต่เขาบอกประมาณว่า ถ้าลงงบประมาณไป 450,000 ล้านบาท เศรษฐกิจจะโตขึ้นคิดเป็น 1.8% ของ GDP ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ถ้าคำนวณกลับในกระบวนของการคลัง มันก็จะอยู่ที่ประมาณ 0.4-0.5 เท่านั้นแหละ

"หมายความว่า เขายอมรับโดยที่ไม่ยอมรับไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีการสร้างวาทกรรมเรื่องพายุหมุนต่อไป รัฐบาลก็รู้ตัวแล้วว่ามันคงกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เยอะ เพียงแต่ว่าเจ้านายสั่งมาก็ต้องทำ" ดร.สมชัย กล่าวกับเรา

หมายเหตุ : "ตัวคูณทางการคลัง" หรือ "Fiscal Multipliers" คือ สัดส่วนที่บอกถึงการเพิ่มขึ้นของ GDP เมื่อภาครัฐเพิ่มการใช้จ่ายหรือลดภาษี

...

นโยบายดิจิทัลไม่คุ้มค่าอย่างแน่นอน : 

ทรรศนะของ ดร.สมชัย มองว่านโยบายนี้ไม่คุ้มค่าอย่างแน่นอน "อย่าลืมนะครับว่าเมื่อใช้เม็ดเงินมากขนาดนั้น มันจะมีความเสี่ยงทางการคลังเข้ามาด้วย อย่างความเสี่ยงของหนี้สาธารณะมันก็เรื่องหนึ่ง ซึ่งบางคนบอกว่าไม่เป็นไรหรอก ขึ้นไปอยู่ที่ 70% ก็ยังพอรับได้อยู่"

ส่วนตัวผมก็เห็นด้วยว่า ถ้าหนี้มันขึ้นไปถึง 70% ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่แย่แน่ๆ แต่ประเด็นที่น่าห่วงมันอยู่ตรงที่ อัตราการเพิ่มขึ้นจาก 60% ต้นๆ ไปอยู่ที่ 70% ภายในระยะเวลา 2-3 ปี ถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายพอสมควร

ตอนนี้เขาบอกมาแล้วว่า เงินสองก้อนแรกที่จะนำมาใช้กับโครงการนี้ มาจากงบประมาณแผ่นดินปี 2567 และ 2568 แต่ยังมีเม็ดเงินก้อนที่ 3 ที่ยังไม่ได้บอกว่าจะนำมาจากไหน ซึ่งจากเดิมบอกว่าจะมาจาก ธ.ก.ส. แต่ก็เหมือนไม่ได้แล้ว 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายจะมีบอกว่าสามารถกู้ได้เท่าไร แต่หากใส่วงเงินขาดดุลเข้าไป เพื่อรองรับดิจิทัลวอลเล็ต จนเกือบชนเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้ หมายความว่า สมมติถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรที่คาดไม่ถึง คล้ายกับโควิด-19 จะทำให้เราไม่มีเงินเผื่อรองรับภาวะฉุกเฉินอื่นๆ เพราะมัวแต่มาทุ่มเงินตรงนี้จนเต็มเพดาน นี่จึงเป็นความเสี่ยงที่น่าห่วงอยู่

"เพราะฉะนั้นโดยหลักไม่เห็นด้วย เนื่องจากหนึ่งคือไม่คุ้มค่า ไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ เอาเงินไปใช้ในเรื่องอื่นดีกว่าเยอะ สอง มีความเสี่ยงด้านการคลัง เรื่องของหนี้ที่เพิ่มเร็ว เพราะใช้จนเต็มเพดาน กระทั่งไม่เหลือเงินใช้เมื่อมีความจำเป็นอื่นที่ไม่คาดคิดผ่านเข้ามา"

...

ไม่ว่าอย่างไรโครงการนี้จะเกิดขึ้นจริง : 

ในมุมของ ดร.สมชัย จิตสุชน มองว่า ไม่ว่าอย่างไร เขา (รัฐบาล) ก็จะดันโครงการนี้ให้ได้แน่นอน เพราะว่ามันเป็นจุดประสงค์ทางการเมือง ไม่ใช่จุดประสงค์ทางเศรษฐกิจ เพราะถ้ามองในมุมของเศรษฐกิจ เขาคงรู้อยู่แล้วว่า ไม่ได้ตามที่โอ้อวดไว้หรอก แต่ยังไงก็ต้องทำเพราะมีผลทางการเมือง "เพราะฉะนั้น ยังไงเขาก็จะทำให้ได้แน่นอน"

หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง จะเรียกว่าเป็นการซื้อใจประชาชนได้หรือไม่?

"ได้สิ เพราะว่าจู่ๆ มีเงินเข้ากระเป๋ายังไงคนก็แฮปปี้ เพียงแต่ว่าตอนนี้อาจจะยังมีคนลังเลเรื่องของรายละเอียดต่างๆ ที่ยังมีการถกเถียงกันอยู่ เรื่องเหล่านั้นก็เป็นรายละเอียดที่รัฐบาลต้องทำให้ชัดเจน แต่ถ้าตอบคำถามต่างๆ ของประชาชนได้ ยังไงประชาชนก็คงนิยม"

ดร.สมชัย กล่าวต่อว่า นี่เป็นนโยบายประชานิยมแน่นอน 100% ซึ่งการที่เป็นอย่างนี้ จะส่งผลต่อการเงินและการคลังของรัฐบาลที่พูดไปแล้ว แต่มันอาจจะมีผลกับประชาชนด้วย ยกตัวอย่าง บางคนไปก่อหนี้เพราะคาดว่าจะมีเงินเข้ามา แล้วค่อยนำมาใช้หนี้ ก็จะทำให้เรื่องของหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เป็นต้น แต่บางคนอาจจะทำเงินนั้นมาใช้หนี้เดิม ก็ถือว่าดีต่อเขา แต่นั่นก็ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะไม่ใช่การจับจ่ายใช้สอย 

"เขาดันแน่นอนครับ ณ ตรงนี้ วินาทีนี้ทุกคนรู้ว่าเกิดแน่นอน ถ้าจะไม่เกิดคงมีแค่เรื่องตกม้าตายด้านไอทีซะมากกว่า เช่น แอปใช้งานได้ไม่ทัน แต่ถ้าแอปทำไม่ทันจริงๆ มันก็แค่ทำให้เงินได้เงินช้าขึ้น จากที่หวังจะได้ใช้ธันวาคม ก็อาจเลื่อนไปอีก แต่สุดท้ายผมเชื่อว่ามันก็แค่เลื่อน เพราะว่ายังไงเขาก็คงให้มันออกมาให้ได้" ดร.สมชัย จิตสุชน กล่าวทิ้งท้าย

........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :