สืบหาต้นตอขาย "ไซยาไนด์" คลี่คลายคดีจัดฉากอำพรางฆ่า "น้องตอง" ฮุบเงินประกัน ด้าน "กระทรวงอุตฯ" ตรวจสอบหาผู้ลักลอบขาย พบพิรุธ 6 ราย จากผู้นำเข้า 1 ราย เตรียมปิดช่องโหว่ หวั่นมีคดีซ้ำรอย

คดีปริศนาการเสียชีวิตของ น.ส.ชลดา หรือน้องตอง อายุ 25 ปี เมื่อ 3 ก.พ. 67 ในพื้นที่ จ.ลพบุรี ได้ถูกรื้อคดีมาสอบสวนอีกครั้ง หลังแพทย์ผู้ชันสูตรร่างพบความผิดปกติ เนื่องจากมีสารไซยาไนด์ ในร่างกายผู้ตาย โดยวันเกิดเหตุ หลังจากผู้ตายได้ไปทานอาหารกับเพื่อน ขณะขับมอเตอร์ไซค์กลับบ้าน รถได้พุ่งลงข้างทาง โดยผู้ตายล้มลงและเสียชีวิตเวลาต่อมา แม้ผู้เห็นเหตุการณ์ยืนยันว่า เธอไม่ได้ประสบอุบัติเหตุ แต่ล้มลงเอง จนเสียชีวิตอย่างน่าสงสัย

แต่ทันทีที่รถของ น้องตอง ล้มลงข้างทาง เพื่อนสนิทรายหนึ่งได้รุดเข้ามาในที่เกิดเหตุทันที และบอกกับคนในที่เกิดเหตุว่า ตนเป็นเพื่อนของผู้ตาย ก่อนนำร่างน้องตอง ส่งโรงพยาบาล ท่ามกลางปริศนาการเสียชีวิต ซึ่งหลังจากนั้นเพื่อนสนิทคนดังกล่าวก็รีบจัดงานศพ และรับเลี้ยงลูกของผู้ตาย ในเวลาอันรวดเร็ว

ปมเหตุคดีนี้ ถูกรื้อขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อบริษัทประกันที่ผู้ตายได้ทำไว้ก่อนเสียชีวิตไม่กี่วัน พยายามสืบหาสาเหตุ เพราะผู้ตายทำประกันไว้ 4 ฉบับ เป็นวงเงินกว่า 11 ล้านบาท โดยที่ผู้ที่ได้รับเงินประกันกลับเป็นเพื่อนสนิท ที่มาในวันเกิดเหตุอย่างรวดเร็ว

...

เมื่อพิสูจน์สารพิษในร่างของผู้ตายพบว่า มีปริมาณไซยาไนด์ ในตัวน้องตองมากถึง 1.52 มิลลิกรัม ถือว่ามีปริมาณมากพอจะทำให้เสียชีวิตได้ จากนั้นตำรวจได้ทำการสอบสวนเพื่อนสนิทอย่างหนัก ก่อนมีการนำหลักฐานที่ตำรวจตรวจสอบพบว่า เพื่อนสนิท มีการสั่งซื้อไซยาไนด์ โดยใช้โทรศัพท์มือถือ สั่งผ่านช่องทางออนไลน์ ช่วงเดือน ม.ค. 2567 โดยสั่งซื้อ 1 ขวด ราคาประมาณ 30,000 บาท

โดยมีข้อมูลว่าสารอันตรายมีการสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ แหล่งเดียวกับ "แอม ไซยาไนด์” ที่ก่อคดีไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเริ่มแรกได้ให้เพื่อนที่อยู่บ้านเดียวกันสั่งซื้อ อ้างว่าจะนำไปใช้ในการทำทอง แต่เมื่อตอนจ่ายเงินกลับใช้ชื่อของเบียร์ เพื่อนสนิทน้องตอง เลยทำให้ผู้จำหน่ายไม่ยอมส่งให้ตอนแรก ก่อนมีการส่งบัตรประชาชนไปยืนยันกลับบริษัทผู้ส่งว่า ผู้ที่สั่งกับเบียร์ อยู่บ้านเดียวกัน จึงได้ทำการส่งให้

น่าสนใจว่า การสั่งซื้อไซยาไนด์ ที่เป็นสารอันตราย ทำไมถึงสามารถทำได้ง่าย ซึ่งรัฐเองควรมีมาตรการป้องกันการสั่งซื้อในลักษณะนี้อย่างไร แม้สารอันตรายนี้จะไม่มีการผลิตในประเทศไทย แต่ก็อาจมีอีกหลายคดี ที่นำไปก่อเหตุ อาจใช้สารพิษทำอันตรายลักษณะเดียวกัน

คุมเข้มนำเข้าไซยาไนด์ พบผู้จำหน่ายต้องสงสัย

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกคำสั่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เข้มงวดกับ สถานที่เก็บรักษาโพแทสเซียมไซยาไนด์ ต้องได้รับการตรวจสอบทุกครั้ง

สำหรับกลุ่มผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้า สารโพแทสเซียมไซยาไนด์ที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามความเข้มข้นและวัตถุประสงค์การนำไปใช้ ได้แก่ 1.กลุ่มผู้นำเข้าในกิจการโรงงาน กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับห้องปฏิบัติการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และกลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการชุบล้างโลหะขนาดเล็ก

2. จัดทำระบบรายงานข้อมูลสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ เพื่อรองรับรายงานการเปลี่ยนแปลงปริมาณการครอบครองวัตถุอันตรายทันที และรายงานการเปลี่ยนแปลงปริมาณการครอบครองทุกปริมาณ ทุก 3 เดือน

3. จัดทำหนังสือขอความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กำหนดมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ และสารโซเดียมไซยาไนด์ ในแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำขนาดใหญ่ที่มีการซื้อขายสินค้าจำนวนมาก

4.จัดทำร่างประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการโฆษณาวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเห็นชอบ พ.ศ. .... โดยกำหนดห้ามมิให้ทำการโฆษณาวัตถุอันตราย โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์สื่อสังคมออนไลน์ หรือสื่อโฆษณาอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์

...

5. ส่งเจ้าหน้าที่ไปร้องทุกข์ เพื่อให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ตามข้อมูลการรายงานการสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ซึ่งจากรายงานดังกล่าว พบว่ามีผู้กระทำความผิดตามมาตรา 45 (4) อันมีโทษตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 31 ราย โดยมีผู้ร่วมกระทำความผิดประกอบด้วย ผู้จำหน่าย จำนวน 6 ราย และผู้นำเข้า จำนวน 1 ราย และเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 กรอ. ได้มีหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสอบถามความคืบหน้าในการร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535.