คุยกับ อธิการบดี PIM มองการเมืองไทยไม่นิ่ง ทำหุ้นดิ่ง เศรษฐกิจถดถอย ส่อแววต่างชาติเมินลงทุน และความเห็นถึงเงินดิจิทัล จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ?

ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยมั่นคงสักเท่าไร เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ 'รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์' อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ถึงที่มาที่ไปของสถานการณ์ดังกล่าว

เรื่องนี้ รศ.ดร.สมภพ มองว่า เศรษฐกิจโลกอ่อนไหวมาก ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจของอเมริกาและญี่ปุ่นผันผวนเห็นได้ชัด ความเหมือนกันของ 2 ประเทศนี้ คือ พึ่งพาภาคการเงินและภาคการบริการเป็นหลัก อย่างภาคการเงินของญี่ปุ่น ช่วงที่ผ่านมาดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำมายาวนาน เมื่อมันไปถึงจุดหนึ่งที่พึ่งพาไปต่อไม่ได้ จึงเริ่มมีผลเสียทางด้านลบ 

ญี่ปุ่นเกิดภาวะเงินเฟ้อ : 

รศ.ดร.สมภพ อธิบายว่า ปกติญี่ปุ่นจะมีแต่เงินฝืด แต่ตอนนี้เกิดเงินเฟ้อ เพราะเงินเยนอ่อนค่ามาก สินค้านำเข้าแพงทุกอย่าง โดยเฉพาะอาหารการกิน เพราะญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารกว่า 60% ของการบริโภคทั้งหมดในญี่ปุ่น 

...

เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น คนที่รับค่าจ้างประจำเขาไม่พอใจ เกิดการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม ข้อสำคัญคือ เมื่อญี่ปุ่นดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เลยทำให้เกิดช่องว่างของอัตราดอกเบี้ย ระหว่างญี่ปุ่นกับอเมริกาอย่างมหาศาล 

ดูได้จากอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ประมาณ 5.25-5.50% แต่ในญี่ปุ่นปรับขึ้นมาแค่ประมาณ 0.25% ตลาดยังเตลิดเปิดเปิงอย่างที่เห็น พอมันเกิดช่องว่างของอัตราดอกเบี้ย เงินเยนก็ยิ่งไปไล่ซื้อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเอาไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา เพราะดอกเบี้ยมันห่างกันกว่า 5% 

"คุณกู้เงินในญี่ปุ่นเสียดอกเบี้ยต่ำมาก พอคุณได้เงินเยนก็ไล่เทขายเพื่อไปซื้อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเอาไปลงทุนในสหรัฐฯ เพราะได้ผลตอบแทนมากกว่า เงินมันเลยยิ่งไหลออกจากญี่ปุ่น ยิ่งทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง สร้างความเสียหายให้สินค้านำเข้าแพงมาก"

การที่ BOJ หรือธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งใช้อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อเนื่องกันมาเป็น 10 ปี ไปต่อไม่ไหว จึงปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% คนก็เลยเทขายเงินเยนที่มีอยู่ เพราะเห็นท่าว่าไม่ดี หลายคนคงเล็งเห็นแล้วว่าเมื่อธนาคารปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น เขาคาดการณ์ไว้เลยว่า ต้นทุนในการกู้เงินเยนจะแพงขึ้น เงินมันก็เลยไหลออกจากตลาดหุ้น 

ผลกระทบจากญี่ปุ่นถึงสหรัฐฯ : 

รศ.ดร.สมภพ เสริมว่า เมื่อค่าเงินเยนปรับตัวปั๊บ ประการแรกมันกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน อย่างหุ้น 7 นางฟ้าในอเมริกา เช่น ไมโครซอฟ และแอปเปิล เพียงแค่ 7 ตัวนี้ที่มีมูลค่าตลาดมหาศาล ไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP ทั้งปีของสหรัฐฯ เมื่อมันขึ้นไปมากๆ จนถึงจุดหนึ่ง มันไปต่อไม่ได้ คนก็รีบเทขายอย่างระห่ำ เหมือนไม่กี่วันที่ผ่านมา หุ้นทุกตัวตกทั้งนั้นเลย 

"พอภาคการเงินมันมีปัญหามากๆ ซึ่งเศรษฐกิจอเมริกามันอิงกับภาคการเงินและภาคบริการ มันจึงเริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น อัตราการว่างงานเพิ่มมากขึ้น จากที่เคยอยู่แค่ประมาณ 3% ล่าสุดเมื่อ 1 กรกฎาคม อยู่ที่ 4.3%"

"อัตราการจ้างงานใหม่ก็ลดน้อยลงอย่างชัดเจน จึงทำให้สหรัฐอเมริกามีปัญหา เพราะช่วงที่ผ่านมาโตจนเกินตัว มันโตจากความแปลกของนโยบายการเงิน เช่น การใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำมากๆ การอัดฉีดเงินออกมาเยอะ กล่าวโดยสรุป สถานการณ์เหล่านี้เลยทำให้เศรษฐกิจโลกเสียศูนย์มากตามไปด้วย"

สะเทือนเศรษฐกิจไทย : 

...

รส.ดร.สมภพ เลกเชอร์ว่า สหรัฐอเมริกาเพียงชาติเดียว มี GDP ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 4 ของโลก ส่วนญี่ปุ่นมีไม่ต่ำกว่า 6-7% ของโลก หากรวม GDP ของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ถือว่ามีเกือบ 1 ใน 3 ของโลก ดังนั้น เมื่อ 2 ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกมีปัญหา จึงส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย

ผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงตลาดหุ้นร่วงหนัก แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว เพราะเมื่อคนเริ่มมีเงินน้อยลงก็จะออกเที่ยวต่างประเทศลดลง ฉะนั้น ชาติไหนที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากๆ อย่างไรก็เดือดร้อน 

อีกทั้ง เมื่อคนในประเทศที่มีอำนาจซื้อสูงเขามีปัญหา เขาก็ย่อมบริโภคและซื้อสินค้าน้อยลง พอเป็นเช่นนั้น ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกมากๆ อย่างไทย ที่ส่งออกกว่า 60% ของ GDP มูลค่าปีนึงประมาณ 280,000 ล้านเหรียญ ก็จะได้รับความเดือดร้อน การส่งออกจะหดตัวไปด้วย 

การเมืองไทยยังไร้เสถียรภาพ : 

กูรูเศรษฐกิจ อธิบายว่า ขณะนี้ประเทศไทยเศรษฐกิจไม่ดี นอกจากนั้น ยังมีปัญหามากมายอย่างที่เห็น ทั้งภาคการเงินที่ไม่ดี ส่วนตลาดหุ้นก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน อีกทั้ง ตอนนี้การเมืองไทยก็ยังไม่มั่นคง และหากยังไม่ดีขึ้น มันจะเกิดสภาวะผีซ้ำด้ำพลอย พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก 

...

เนื่องจากเมื่อการเมืองไร้เสถียรภาพ นอกจากฝ่ายบริหารบ้านเมืองอย่างรัฐบาล จะไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็อาจจะมีนโยบายที่ไม่ถูกต้อง จนก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจตามมาและยิ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ

"ตอนนี้การเมืองไทยไม่นิ่งหรอก เพราะยังติดอยู่กับนโยบายหลักๆ ของรัฐบาล ที่ตัวเองก็ยังแกะไม่ออก เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต ที่ผ่านมาแล้ว 1 ปีก็ยังเป็นอย่างที่เห็น จะไม่ไปต่อก็ไม่ได้ เพราะหาเสียงกับประชาชนไว้แล้ว"

"ฉะนั้น เมื่อมะรุมมะตุ้มกับนโยบายนี้ ก็ทำให้นโยบายอื่นๆ น้อยลง หรือนโยบายด้านพัฒนาก็ลดทอนลงไปมาก เพราะมัวยุ่งอยู่แต่กับดิจิทัลวอลเล็ตและแลนด์บริจด์ ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลสูญเสียโอกาสอย่างมากในการพัฒนาและกอบกู้เศรษฐกิจด้านต่างๆ"

รศ.ดร.สมภพ เสริมว่า ความสูญเสียด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตหรือภาคการเงิน มันทำให้ GDP ของเราต่ำเตี้ยเรี่ยดิน อำนาจซื้อจึงต่ำ คนก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค คนมีเงินไม่อยากจับจ่ายใช้สอย เก็บเงินไว้เผื่อเหลือเผื่อขาด อีกกลุ่มหนึ่งก็ไม่มีเงินจะใช้สอย แม้ว่าจะอยากจับจ่าย นี่คือภาวะที่เกิดขึ้นในขณะนี้

...

เมื่อถามว่า GDP ของประเทศลดลงไปเยอะหรือไม่ รศ.ดร.สมภพ อธิบายว่า เราโตไม่ถึงครึ่งของอาเซียนมาร่วม 10 ปีแล้ว อย่างปีที่ผ่านมาอาเซียนโตเฉลี่ยทั้งกลุ่ม ประมาณ 5% แต่ของเราโตแค่ 1.9% และครึ่งปีแรกอาเซียนโต 4-5% ของเราก็ยังโตไม่ถึง 2% ฉะนั้นเห็นได้เลยว่า GDP เราตกชั้นอาเซียนและตกชั้นโลกด้วย ปกติโลกจะโตประมาณ 3.0-3.5% แต่ของเราโตแค่ครึ่งกว่าๆ ของโลก 

การเมืองไม่มั่นคง ต่างชาติไม่มั่นใจ :

รศ.ดร.สมภพ มองว่า ความไม่มั่นคงของการเมืองไทย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติแน่นอน เพราะเมื่อการเมืองไม่มั่นคง ก็จะไม่สามารถกำหนดนโยบายที่ชัดเจนได้ ที่จริงแล้วรัฐบาลมีหน้าที่กำหนดนโยบายว่าควรจะทำเรื่องไหน ควบคุมกำกับหน่วยงาน คุยกับสภาพัฒน์ร่างแผนนโยบายกำหนดทิศทางของประเทศ

แต่เมื่อการเมืองไม่มั่นคง ก็จะไม่สามารถกำหนดนโยบายได้ชัดเจน หรือนโยบายที่กำหนดออกมาก็อาจจะไม่ถูกต้อง ไม่ไปตามแนวทางที่ควรจะเป็น ตามแนวทางที่จะนำไปสู่โอกาสการพัฒนาประเทศ พอไม่ชัดเจนแบบนี้ แล้วใครเขาอยากจะเข้ามาลงทุน

"อย่าลืมว่า หากต่างชาติมาลงทุน กว่าเขาจะได้จุดคุ้มทุน ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-8 ปี แต่เมื่อเขาเห็นอย่างนี้ก็คงไม่อยากเข้ามา และอีกอย่างเขาก็มีทางเลือกไปลงทุนที่อื่น เลยทำให้เศรษฐกิจไทยเป็นสภาพแบบที่เห็น"

จากกรณีที่ช่วงนี้มีเรื่องใหญ่ทางการเมือง ชวนจับตามองถึง 2 เรื่อง รศ.ดร.สมภพ เห็นว่า อย่างไรก็คงมีผลต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ เพราะเขามองเห็นถึงความคาราคาซัง จึงเลือกจะใส่เกียร์ว่าง รอฝุ่นที่ตลบอยู่จางหายไปก่อน อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าเรื่องเหล่านี้หากพ้นช่วงสิงหาคมไปได้ อะไรก็คงชัดเจนมากขึ้น 

'เงินดิจิทัล' ต้องทำให้เป็นพายุ ไม่ใช่ลมบ้าหมู :

รศ.ดร.สมภพ แสดงทรรศนะถึงนโยบาย 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ว่า มุมมองของผม เมื่อรัฐบาลพยายามเข็นมาถึงขนาดนี้ แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มามากมายก็คงต้องทำให้ได้เพราะยากที่จะหวนกลับ

"ตอนนี้ก็เปิดให้ประชาชนลงทะบียนไปแล้วหลายล้านคน ยิ่งนโยบายนี้เป็นนโยบายใช้หาเสียง รัฐบาลคงยิ่งจะพยายามทำให้ได้ แต่ถ้าจะทำ ต้องทำให้มีประสิทธิภาพ ต้องทำให้เห็นว่าจะสร้างผลทวีคูณทางเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน เรื่องของพายุเศรษฐกิจที่พูดถึงกัน มันจะหมุนได้กี่รอบ เรื่องนี้ต้องไปคิดให้หนักๆ"

เมื่อถามว่า นโยบายนี้จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นจริงหรือไม่ รศ.ดร.สมภพ มองว่า มันคงจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ (Demand) หรือความต้องการซื้ออยู่บ้าง แต่เมื่อมันกระตุ้นให้มีคนออกมาจับจ่ายใช้สอยได้แล้ว ต้องดูว่าเขาไปจับจ่ายใช้สอยที่ไหน มันทำให้องคาพยพทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้อย่างไรบ้าง เช่น มีผลผลิตทางตลาดที่เพิ่มขึ้นไหม 

"เรียกแบบง่ายๆ ว่า ทำให้เศรษฐกิจหมุนได้จริงหรือเปล่า ฉะนั้นเมื่อมีนโยบายที่ต้องใช้เงินหลายแสนล้าน กลายเป็นภาระหนี้ของประเทศ ก็ต้องสร้างมรรคผลทางเศรษฐกิจให้ได้ ให้มันหมุนได้หลายรอบ อย่างที่นักวิชาการหลายคนแนะนำ หากให้ได้อย่างถูกต้องและสร้างประโยชน์จริง ก็คงจะไม่มีใครว่าอะไรได้"

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์

ทีมข่าวฯ ถามอธิการ PIM ว่า เรื่องใดคือสิ่งที่น่ากังวลที่สุดของดิจิทัลวอลเล็ต?

"ที่ผมเป็นห่วงมากที่สุด คือ ถ้ามันออกมาใช้ได้จริงแล้ว จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ตั้งแต่รากหญ้าไปจนถึงยอดหญ้า เพราะขณะนี้สังคมไทยมีความขัดแย้งมากอยู่แล้ว แต่นโยบายนี้ถ้าออกมาได้แล้วเอาไปใช้ลำบาก ติดตรงนู้นติดตรงนี้ บางส่วนได้ประโยชน์ บางส่วนไม่ได้ประโยชน์ มันจะยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง ดังนั้น คุณจะบริหารอย่างไรให้ราบรื่น" รศ.ดร.สมภพ กล่าว

ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย แถมยังต้องใช้เงินหลักแสนล้านในการดำเนินนโยบายนี้ ทำให้อาจารย์สมภพมองว่า ภาระหนี้ของรัฐจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ตามจำนวนที่ระบุออกมา แต่ต้องย้ำว่าเมื่อกู้และเอามาจ่ายแล้ว มันจะทำให้เศรษฐกิจหมุนด้านบวกได้กี่รอบ ถ้าหมุนได้หลายรอบ อย่างน้อยสิ่งที่เสียไปและสิ่งได้มาเสมอกัน แค่นี้ก็โอเคแล้ว แถมรัฐบาลยังจะได้ผลด้านบวกด้วย

"อย่างที่เขาบอกว่า นโยบายนี้จะเป็นพายุหมุน เราก็ต้องรอดูว่ามันเป็นพายุหมุนจริงๆ หรือเป็นแค่ลมบ้าหมู รัฐบาลต้องทำให้เป็นพายุให้ได้ เพราะคุณทุ่มเงินไปมหาศาล ถ้าเป็นแค่ลมบ้าหมู ก็อาจจะไม่ช่วยสักเท่าไร"

มุมมอง อดีต รมว.คลัง ถึงการแจกเงินดิจิทัล :

กรณีของดิจิทัลวอลเล็ต ด้านของ 'ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล' อดีต รมว.คลัง แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องนี้มีนักวิชาการพูดหลายคนแล้วว่า การแจกเงินดิจิทัล ในประเด็นที่เราไม่มีเงินในลิ้นชัก หากรัฐบาลเก็บภาษีได้เกินดุล มีเงินในลิ้นชักมาก แล้วเอาเงินในลิ้นชักออกมาแจกเป็นระยะ แบบนี้ไม่เป็นไร 

แต่การแจกเงินครั้งนี้ เป็นการแจกจากเงินกู้ เพิ่มเงินกู้ของประเทศ และเป็นการแจกแบบเหวี่ยงแห ดังนั้น การแจกลักษณะนี้จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางเศรษฐกิจว่าได้ไม่คุ้มเสีย นอกจากนี้ ยังมีคนวิจารณ์ว่ามีกระบวนการขั้นตอนที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ส่วนนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง

"ส่วนตัวผมให้กำลังใจ ในฐานะที่ผมเป็นประธานด้านวิชาการของพลังประชารัฐ พยายามจะให้คำแนะนำ แต่เท่าที่ดูก็รู้สึกว่ามันมี 'อุปสรรค' อยู่เยอะ ในขณะที่รัฐบาลต้องไปหาคำตอบกับประชาชนให้ชัดเจน"

อดีต รมว.คลัง กล่าวต่อว่า สิ่งที่กังวลคือ เรื่องที่แบงก์ชาติมีจดหมายไปเตือน เรื่องขอให้แน่ใจเรื่องความถูกต้องและคุ้มค่า โดยเฉพาะเรื่องการเงินการคลัง โดยนักวิชาการหลายคนมองว่าสุ่มเสี่ยงเรื่องผิดกฎหมาย และให้ระมัดระวังเรื่อง ระบบ "ชำระเงิน" 

"ผมเองเคยเป็นรองผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ก็พอมีความรู้เรื่องการโอนเงิน ชำระเงิน ก็รู้สึกว่า ไม่น่าจะทำได้ ก่อนที่จะมีการดำเนินการ ก็อยากให้ รมว.คลัง ชี้แจงต่อ ครม. ให้ชัดเจน โดยเฉพาะการโอนชำระเงินอย่างถี่ถ้วน และยืนยันกับ คณะรัฐมนตรี หากไม่ทำแบบนี้ก็จะไม่เกิดความเชื่อมั่น"

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง

รัฐบาลไทยต้องมีเสถียรภาพ และเดินเกมรุก : 

เราถามว่า ต่างชาติยังคงมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยอยู่บ้างหรือไม่ รศ.ดร.สมภพ มองว่า ยังคงมีอยู่ เพราะช่วงปีที่ผ่านมา ต่างชาติยื่นขอ BOI (Board of Investment หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) กันเยอะมาก แต่เมื่อยื่นมาแล้วรัฐบาลมีหน้าที่ต้องให้เขาตัดสินใจลงทุน เพราะยื่นมาเยอะ ไม่ได้แปลว่าจะลงทุน

การที่เขาจะตัดสินใจทุน เขาต้องมีความเชื่อมั่นจาก 3 เรื่อง คือ หนึ่ง รัฐบาลไทยต้องมีเสถียรภาพ สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ยาวนานพอสมควร สอง ต้องมีนโยบายที่ถูกต้อง และสาม เมื่อมีนโยบายที่ถูกต้องแล้ว ต้องรีบผลักดันสู่ภาคปฏิบัติให้ได้ อีกทั้ง 'ประสิทธิภาพ' และ 'เสถียรภาพ' เป็นตัวแปรสำคัญอย่างยิ่งยวดว่า รัฐบาลจะทำงานได้ดีมากน้อยเพียงใด

รศ.ดร.สมภพ กล่าวว่า หลังจากนี้รัฐบาลต้องมองว่าจะปล่อยเกมรุกอย่างไรในการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้ประเทศไทยเข้าตานักลงทุนต่างประเทศ เพราะตอนนี้ผมมองว่าโลกไม่ได้ขาดแคลนเงินทุน แต่เขามองว่าจะมีที่ไหนที่น่าหอบเงินไปลงทุนมากกว่า 

"ตอนนี้รัฐบาลต้องจริงจังได้แล้ว เพราะถ้าก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของการบริหาร ต้องรุกและบุกให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาคุณมัวไปติดกับดักอยู่ไม่กี่เรื่อง คือ เศรษฐกิจและการเมือง ต้องออกจาก 2 กับดักนี้ให้ได้"

"อีกทั้ง ต้องติดตามสภาวะเศรษฐกิจการเมืองโลกให้ดี เพราะประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เปิดกว้างมาก เราต้องอาศัยต่างประเทศมาก ทั้งเรื่องการค้า นำเข้า ส่งออก ต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศ หรือหาเม็ดเงินจากภาคบริการอย่างการท่องเที่ยว ฉะนั้น ต้องรู้เขารู้เราให้มาก แล้วบริหารประเทศให้ดี อันไหนที่เป็นผลประโยชน์ก็ต้องขยันเก็บเกี่ยว"

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :