รถเมล์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเริ่มทยอยปฏิรูป 107 เส้นทาง โดยบางสายที่ ขสมก.วิ่งอยู่เดิม ให้เอกชนเข้ามาวิ่งแทน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ของผู้ใช้บริการ ถึงปัญหารถขาดระยะ ค่าโดยสารแพงขึ้นเท่าตัว "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" มองว่า ปัญหาการปฏิรูปรถเมล์ ที่ผ่านมามีเสียงวิจารณ์จากผู้ใช้บริการมาตลอด แต่ "กรมขนส่ง" ในฐานะผู้กำกับดูแล กลับไม่ได้แก้ปัญหาในภาพรวม เสี่ยงที่อนาคตกระบวนการปฏิรูป จะเกิดระบบผูกขาดเส้นทาง ประชาชนแบกรับค่าโดยสารไร้ทางเลือก ด้าน "คมนาคม" วางเป้าจัดหารถใหม่ให้ ขสมก. ปี 68
รถเมล์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มเดินหน้าทยอยปฏิรูปเส้นทาง ปรับเปลี่ยนเลขสาย และให้เอกชนเข้ามาเดินรถแทน ขสมก. บางเส้นทาง เช่นวันนี้ (25 ก.ค. 67) เป็นวันแรกที่ ขสมก. เดินรถตามแผนการปฎิรูป 107 เส้นทาง แต่ยังมีเสียงสะท้อนจากผู้ใช้บริการ ถึงการขาดระยะ รอรถนาน ค่าโดยสารสูงกว่ารถร้อนที่ ขสมก. เคยวิ่ง
ตัวอย่างเช่นผู้โดยสารรายหนึ่ง โพสต์ในกลุ่มผู้ใช้รถเมล์ว่า "...ผู้โดยสารทำงานสาย จ่ายค่ารถเพิ่มขึ้น นั่งรถหลายต่อ ผู้สูงอายุเป็นลมบนรถเมล์ เพราะแน่น การปรับเปลี่ยนน่ะดี แต่เป็นการปรับเปลี่ยนไม่สอดคล้องเลย คนคิดไม่ได้นั่งรถเมล์ ของเดิมรถก็ไม่พออยู่แล้ว...ยังจะมาลด และแบ่งไปเส้นใหม่อีก....ประเทศไทยอะไรให้แค่พ้นตัว แล้วมาตามแก้ทีหลัง..."
...
ปฏิรูปรถเมล์ ค่าโดยสารพุ่ง คนหาเช้ากินค่ำสะเทือนหนัก
"นฤมล เมฆบริสุทธิ์" รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ติดตามแผนปฏิรูปรถเมล์ และได้สำรวจผู้ใช้บริการในพื้นที่ กทม. มองว่า สถานการณ์การปฏิรูปรถเมล์ ที่อยู่ในความดูแลของกรมขนส่งทางบก กำกับดูแลรถโดยสารในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจากการสำรวจผู้โดยสารที่มีรายได้น้อย หลายคนได้รับผลกระทบ เนื่องจากการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ เพราะมีประชาชนที่ไม่ทราบว่า ขสมก.จะยกเลิกเส้นทางเดิม มีอยู่จำนวนมาก และไม่ทราบว่าเอกชนที่จะมาวิ่งแทนคือสายอะไร
“การปฏิรูปรถเมล์ มีการปรับเปลี่ยนเลขที่บอกสายรถ ระยะทางที่รถวิ่ง รวมถึงเส้นทางใหม่ที่ ขสมก. จะวิ่ง แต่ที่เป็นปัญหามากคือ 11 เส้นทางที่ ขสมก. เลิกวิ่ง โดยเฉพาะเส้นที่รถเมล์เคยวิ่งสายยาวเดิม ทำให้ผู้โดยสารต้องต่อรถหลายสายมากขึ้น จากนโยบายใหม่ ที่ต้องการให้รถเมล์วิ่งระยะสั้นมากขึ้น เช่นเดียวกับ กรมขนส่งทางบก เป็นผู้ควบคุมผู้ประกอบการ กลับไม่กระตุ้นให้ประชาชนทราบถึงเส้นทางใหม่อย่างทั่วถึง”
แผนปฏิรูปรถเมล์ ที่ตั้งเป้าไว้ว่า “1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ” ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร เพราะค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว อย่างราคาโดยสารของรถเอกชนเริ่มต้นที่ 15 บาท ขณะที่ ขสมก. เริ่มต้นเพียง 8 บาท ซึ่งคนที่มีรายได้น้อย ถ้าต้องนั่งรถเมล์ต่อวันละหลายสาย ค่าแรงจากการทำงานที่ได้มาก็ไม่เพียงพอกับค่ารถ แม้เอกชนผู้เดินรถบางเจ้ามีโปรโมชันให้ซื้อบัตรโดยสาร ที่สามารถเดินทางได้ทั้งวัน 40 บาท แต่รถเมล์จากผู้ประกอบการเอกชนดังกล่าวก็ไม่ได้วิ่งทุกเส้นทาง
แนวทางปฏิรูปรถเมล์ ควรคำนึงถึงผู้ใช้บริการเป็นหลัก ตั้งแต่การปล่อยรถให้เพียงพอกับผู้ใช้บริการ ขณะที่ราคาโดยสาร ไม่ควรปรับให้สูงจากเดิม เพราะถ้ามีการปรับให้ 1 เส้นทางมี 1 ผู้ประกอบการ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก หลายคนจำใจขึ้น และเสี่ยงเกิดการผูกขาดเส้นทาง เนื่องจากการแข่งขันไม่มี แต่ประชาชนผู้ใช้บริการต้องยอมจ่ายแพง ทั้งที่มีรายได้น้อย ประเด็นนี้ยังไม่เห็นหน่วยงานรัฐออกมาแก้ไข
หลังเริ่มแผนปฏิรูปรถเมล์ เห็นได้ชัดว่า รถเมล์ไม่เพียงพอในช่วงเวลาเร่งด่วนหลายสาย แต่รัฐยังไม่มีการดำเนินการ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดีขึ้น ทั้งที่มีการรณรงค์ให้ใช้รถสาธารณะ แต่รถเมล์ไม่เพียงพอ สุดท้ายคนก็ใช้รถส่วนตัว หรือออกมอเตอร์ไซค์ ทำให้รถในกรุงเทพฯ ติดขัด
...
“เคยมีการสำรวจพบว่า ราคาค่าโดยสารหลังมีการปฏิรูป มีราคาพอกับค่าน้ำมันรถส่วนตัว ขณะที่หน่วยงานรัฐ เหมือนทุกวันนี้ต่างคนต่างแก้ไข ซึ่งยังไม่เห็นบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแล ออกมาแก้ไขราคาค่าโดยสารที่สูง โดยเฉพาะเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการรายเดียวในเส้นทางนั้น ควรลดราคาค่าโดยสารลงมา”
ค่าโดยสารแพงขึ้นเท่าตัว ทางออกที่ยังรอแก้ไข
"นฤมล" มองว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐ ยังไม่มีการสำรวจ ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่มีเงินเพียงพอในการจ่ายให้กับรถเอกชนที่ปรับขึ้น แต่ที่ผ่านมามักมีการอ้างแต่จำนวนของผู้โดยสารที่ขึ้นรถเมล์ได้ ทั้งที่จริงยังมีประชาชนอีกจำนวนมาก ที่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอในการจ่ายค่ารถเมล์เอกชน
น่าสนใจว่าแผนปฏิรูปรถเมล์ โดยมีกรมขนส่งทางบกเป็นผู้ดูแลทั้งรถเมล์สาธารณะและรถทางเลือก แต่ยังไม่มีการจัดการเส้นทางทั้งระบบให้มีการเชื่อมต่อในราคาถูก เพราะรถเมล์ต้องวิ่งระยะสั้นมากขึ้น ซึ่งจุดเชื่อมต่อนั้นอาจมีรถทางเลือก เช่น รถกะป๊อ รถสองแถว เข้ามาเป็นจุดเชื่อมต่อในราคาที่ถูกลง
...
ที่ผ่านมาเราพยายามรณรงค์ให้มีป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ที่บอกเวลาของรถที่จะมาถึงป้าย แต่พอเอาเข้าจริงกลับไม่อัจฉริยะ เช่น ป้ายขึ้นว่าอีกไม่กี่นาทีรถจะมาถึงป้าย แต่ถึงเวลาจริงรถกลับมาอีกฝั่ง ซึ่งเป็นป้ายตรงข้ามของป้ายรถเมล์ที่รออยู่
เช่นเดียวกับ การทำตารางเดินรถให้เป็นมิตรกับผู้บริโภค เพื่อได้วางแผนการเดินทางออกจากบ้านได้ทันเวลา นอกจากนี้ ตอนนี้เราเปลี่ยนเลขของสายรถเมล์ แต่ป้ายรถเมล์ยังบอกเลขรถสายเดิมอยู่ ทำให้ผู้ที่ใช้บริการไม่ทราบว่าต้องขึ้นรถสายอะไร
การใช้รถสาธารณะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการดำรงชีพของประชาชน ถ้ามีการปฏิรูปให้มีการเชื่อมต่อที่ดี และมีราคาถูก จะทำให้ประชาชนนำรถส่วนตัวมาวิ่งในเมืองน้อยลง อุบัติเหตุทางจราจรก็จะลดลง ดังนั้น การปฏิรูปไม่ควรเป็นการปรับเปลี่ยนเฉพาะเส้นทางหรือการเดินรถ แต่ต้องปรับเปลี่ยนระบบการดูแลให้มีการครอบคลุมทั้งระบบ
รถเมล์ไทย ข้อเสนอแนะจากการสำรวจ
ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้สำรวจประชาชน 800 คน พื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก และกรุงธนใต้ ในการใช้รถเมล์ และได้ข้อเสนอแนะดังนี้
...
ควรเพิ่มความถี่รอบของรถเมล์ให้สอดคล้องกับชั่วโมงเร่งด่วน
เพิ่มเส้นทางเดินรถให้ครอบคลุมกับพื้นที่อย่างเพียงพอ
มีระบบติดตามเพื่อให้เดินรถได้ตรงเวลา
เพิ่มอุปกรณ์ความปลอดภัยของผู้โดยสาร
ตรวจสภาพรถก่อนเดินทาง
มีทางขึ้นลงของผู้พิการ
รอรถเมล์ใหม่ ขสมก. ในปี 2568 หวังพัฒนาทุกมิติ
"มนพร เจริญศรี" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันที่ 25 ก.ค. 67 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะเริ่มเดินรถเส้นทางตามแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องทั้งหมด 107 เส้นทาง ส่วนการเดินรถเส้นทางเดิมก็ยังคงดำเนินการควบคู่ไปกับเส้นทางปฏิรูปที่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการสะดวกมากยิ่งขึ้น
ขสมก. มีรถโดยสาร 2,884 คัน แบ่งเป็นรถธรรมดา (ครีมแดง) 1,520 คัน และรถปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) 1,365 คัน โดยมอบหมาย ขสมก.ไปจัดหารถใหม่ ภายใต้โครงการเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แผนการจัดหารถใหม่ ตอนนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงเพิ่มเติมรายละเอียดตามข้อสังเกตของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) ในรูปแบบการเช่า คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการ ขสมก. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการภายในเดือน ก.พ. 68 เซ็นสัญญาราวเดือน มี.ค. ทยอยรับมอบรถในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. 68
ปัจจุบัน ขสมก. มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย วันละประมาณ 650,000-700,000 คน-เที่ยว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในสิ้นปี 67 การให้บริการรถสาธารณะของ ขสมก. ยังครองสัดส่วนเป็นอันดับ 1 ด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมาเส้นทางที่มีการใช้บริการจำนวนมากของ ขสมก. คือ สาย 510, 84, 134, 68, 95ก, 516, 1-38, 96, 145, 1-36, 15, 76, 511, 73, 205, 23 และ 95.