ปลายปีนี้จ่อขึ้นค่าไฟ หลัง กกพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นขึ้นค่าไฟตั้งแต่ 4.65-6.01 บาท/หน่วย เพื่อล้างหนี้ กฟผ. ที่ค้างมานาน ด้าน “สภาผู้บริโภค” ชำแหละค้านรัฐมัดตราสังประชาชน บังคับขึ้นไม่มีลด เรียกร้องให้ล้างระบบโครงสร้างพลังงานไม่เป็นธรรม หลังโรงไฟฟ้าเอกชนผุดมากกว่าการใช้ไฟจริง หวังสร้างระบบ “โซลาร์เซลล์ ภาคประชาชน” ลดการใช้ไฟในระบบ

ผวารับกลางปี 2567 เมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เปิดรับฟังความคิดเห็น ในการปรับขึ้นค่าไฟงวดเดือนกันยายน-ธันวาคมนี้ จากเดิมอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท โดยมี 3 ทางเลือกคือ 1.จ่ายคืนหนี้ กฟผ.ทั้งหมดภายในเดือนธันวาคมนี้ เมื่อบวกกับค่า Ft ค่าไฟปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาท/หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 44%

ทางเลือกที่ 2 แบ่งคืนหนี้ กฟผ. 3 งวด เมื่อบวกกับค่า Ft ค่าไฟปรับขึ้นเป็น 4.92 บาท/หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 18% จากงวดปัจจุบัน และทางเลือกที่ 3 แบ่งคืนหนี้ กฟผ. 6 งวด บวกค่า Ft ค่าไฟจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาท/หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 11% จากงวดปัจจุบัน ซึ่ง กกพ. จะนำทั้ง 3 แนวทางไปเปิดรับฟังความคิดเห็น ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ระหว่างวันที่ 12–26 กรกฎาคมนี้ ก่อนสรุป และประกาศอย่างเป็นทางการ

แต่ในมุมของ “อิฐบูรณ์ อ้นวงษา” รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอด มองว่า ทางเลือกที่ กกพ. เสนอ ไม่มีทางเลือกไหนที่ลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน และเป็นการผลักภาระให้ต้องจ่ายค่าไฟแพง ตามจริงแนวทางที่เสนอมา ควรมีแนวทางที่ 4 ในการลดราคาค่าไฟให้กับประชาชน

...

3 ทางเลือกที่เสนอมา แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานเกี่ยวข้องไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม และผู้บริโภคที่ยื่นข้อเสนอไป เพราะหนี้ กฟผ.ที่ค้างอยู่มาจากค่าก๊าซธรรมชาติที่ผลิตไฟฟ้า โดยจะจ่ายตามจริงที่ใช้ไป และอีกส่วนเป็นหนี้แฝง มาจากค่าซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งถูกผลักภาระมาให้ กฟผ.ในโครงสร้างค่าเอฟที หรือค่าไฟฟ้าผันแปร

แนวทางที่สภาองค์กรของผู้บริโภค พยายามเสนอคือ 1.ถ้าเป็นหนี้ของ กฟผ. กับบริษัทผู้ขายก๊าซนำมาผลิตไฟฟ้า ส่วนใหญ่เป็นก๊าซ LNG นำเข้าจากต่างประเทศ โดยบริษัทนำเข้าเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็ควรจะยืดเวลาการจ่ายหนี้ ซึ่งหน่วยงานรัฐน่าจะคุยกันได้ เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ

2.ควรแก้ไขนโยบายที่ส่งเสริมให้เอกชน มาร่วมผลิตไฟฟ้าและขายไฟให้กับ กฟผ. และแทนที่ กฟผ.จะสามารถต่อรองราคาได้ในฐานะเป็นผู้รับซื้อแต่เพียงรายเดียว แต่เหมือนถูกบีบให้ทำสัญญาซื้อในราคาสูง เพราะกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาในปี 2567 มีกว่า 5 หมื่นเมกะวัตต์ แต่การใช้ไฟที่เกิดขึ้นอยู่ที่ 3 หมื่นเมกะวัตต์ จะเห็นว่าการใช้ไฟจริงน้อยกว่านโยบายที่สนับสนุนให้เอกชนร่วมผลิต จึงควรลดโครงสร้างราคาการซื้อไฟฟ้าที่จูงใจเหมือนสมัยก่อน เช่น ผลตอบแทนการลงทุนให้ร้อยละ 15 ตอนนี้ควรเปลี่ยนผลตอบแทนให้ลดลง เนื่องจากปริมาณการใช้ไฟจริงมีน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้

ที่ผ่านมายังไม่เห็นความพยายามของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ในการที่แก้ไขโครงสร้างราคาที่รับซื้อไฟคืนจากเอกชน เพราะถ้ายังจ่ายราคาที่สูงเท่าเดิม จะเป็นการเอื้อต่อเอกชนเกินความสมควร ไม่สอดคล้องกับกำลังการผลิตไฟฟ้าและการใช้ไฟจริงปัจจุบัน และการที่ค่าไฟฟ้ากระโดดไปถึงหน่วยละ 4-5 บาท ทำให้ภาคธุรกิจได้เปลี่ยนตัวเองจากผู้บริโภค หันมาผลิตไฟฟ้าให้กับตัวเอง ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงงานของตนเอง ใช้เวลากลางวัน เพื่อลดการใช้ไฟที่มีราคาสูง

ผลจากค่าไฟฟ้าที่สูงทำให้ผู้ผลิตหลายอุตสาหกรรมต้องปิดตัวลง เช่น ผู้ประกอบการโรงแรมทางภาคใต้ แม้การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว แต่ค่าไฟที่จ่อปรับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ยากจะควบคุมต้นทุน รวมถึงประชาชนทั่วไป ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น ทั้งที่ตอนนี้มีหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่ง 3 ทางเลือกที่ กกพ. เสนอมา ประชาชนแทบไม่มีสิทธิร้องขอให้ลดค่าไฟ

“อิฐบูรณ์ อ้นวงษา” รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค
“อิฐบูรณ์ อ้นวงษา” รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค

...

แผนกำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ลดลง ส่ออนาคตคนไทยใช้ไฟแพง

จากข้อมูลพบว่า ภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ค้างสะสมรวมกว่า 9.9 หมื่นล้านบาท จึงเป็นภาระที่ กฟผ. ต้องแบกรับ และกลายเป็นมหากาพย์ที่ยังหาทางออกไม่ได้ แต่ในมุมของ “อิฐบูรณ์” มองว่า ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างพลังงานไฟฟ้าที่เป็นธรรม ประชาชนทั่วไปต้องใช้ไฟแพงขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอนนี้ กฟผ. มีกำลังการผลิตเพียง 30% ส่วนอีก 70% เป็นของเอกชน

จะเห็นว่า ค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.ผลิตมีราคาเหมาะสมกับโครงสร้างราคา แต่ราคาไฟฟ้าที่ผลิตโดยเอกชน จะถูกบวกเพิ่มด้วยผลตอบแทนในการลงทุน ซึ่งรัฐควรกำหนดให้เหมาะสมกับปัจจุบัน ที่ตอนนี้มีโรงไฟฟ้าเอกชนเกิดขึ้นจำนวนมาก และกำลังผลิตไฟฟ้ามากกว่าการใช้จริง

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทบทวนแผนพัฒนาพลังไฟฟ้า หรือ แผน PDP ใหม่ เพราะตอนนี้กำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ไปอยู่ที่เอกชน แทนที่ กฟผ.จะมีกำลังการผลิตและควบคุมตลาดได้ เลยทำให้ตอนนี้มีเศรษฐีด้านพลังงานเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก แต่ประชาชนต้องใช้ไฟแพง และยิ่งน่าเป็นห่วงที่แผน PDP 2024 มีสัดส่วนให้ กฟผ.เหลือการผลิตไฟฟ้าเพียง 17% ในปี 2580 เสี่ยงที่ค่าไฟจะแพงขึ้นต่อเนื่อง เพราะผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่อยู่ในมือเอกชน

...

ทางแก้ปัญหาให้ราคาค่าไฟลดลง ต้องเริ่มที่การปรับแผนพัฒนาพลังไฟฟ้า หรือ แผน PDP โดย 1.ต้องหยุดการเพิ่มโรงไฟฟ้าของเอกชนอย่างน้อยประมาณ 5 ปี เนื่องจากตอนนี้ไฟฟ้าที่ผลิตในระบบมีมากเกินความจำเป็น และไม่ถึงจุดเสี่ยงที่กำหนด เพราะถ้าโรงไฟฟ้าเอกชนมีจำนวนมาก จะเป็นภาระประชาชน เพราะต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า แม้ไม่ได้ผลิตไฟก็ยังต้องจ่าย รัฐจึงต้องเพิ่มอำนาจการต่อรองการซื้อไฟฟ้ากับโรงผลิตไฟฟ้าของเอกชน ให้มีราคาถูกลงกว่าเดิม

2.ในรัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องพลังงาน ให้มีการพึ่งพาตนเอง แต่ทุกวันนี้โรงผลิตไฟฟ้ากว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิต บวกกับเกิดปัญหาผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซในประเทศ ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จนต้องมีการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศที่แพงกว่า ซึ่งราคานำเข้าก๊าซบวกอยู่ในค่า Ft ที่มีราคาสูง

ที่ผ่านมารัฐเหมือนมัดตราสังประชาชน เพราะไม่เปิดให้เข้าถึงพลังงานโซลาร์เซลล์ โดยการกำหนดโควตาทั่วประเทศ จนทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงสินเชื่อโซลาร์เซลล์ เพราะมีการคำนวณแล้วไม่คุ้ม ดังนั้นรัฐไม่ควรปิดกั้น เพื่อให้ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้ แม้ค่าไฟฟ้าในระบบหลักจะมีราคาแพง แต่เมื่อมีพลังงานทดแทน ประชาชนก็จะใช้ไฟในระบบลดลง

ตอนนี้ไทยกำลังขับเคลื่อนประเทศด้วยธุรกิจพลังงาน แต่ความร่ำรวยนั้นกำลังไปกัดกินรายได้ของประชาชนโดยรวม จนค่าไฟมีราคาแพง ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กได้รับผลกระทบ มีการปิดโรงงานเนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และปิดโอกาสที่อุตสาหกรรมไทยจะแข่งกับเพื่อนบ้านได้ เนื่องจากต้นทุนค่าไฟที่สูง จึงอยากเรียกร้องให้ลดค่าไฟฟ้าเหลือหน่วยละประมาณ 3 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ยังพอรับได้

อยากให้ประชาชนร่วมเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเข้าถึงพลังงานโซลาร์เซลล์ด้วยระบบเงินผ่อน และเปิดโควตาการผลิตไฟฟ้าของประชาชนแบบไม่จำกัด เพื่อจะไปแทรกสัดส่วนการผลิตของโรงไฟฟ้าเอกชน โดยรัฐต้องให้สถาบันการเงินของรัฐนำร่องการเปิดสินเชื่อ “โซลาร์เซลล์ ภาคประชาชน” หรือติดโซลาร์เซลล์ ที่บ้านเพื่อลดค่าไฟ ซึ่งอนาคตเราฝันว่า จะมีการเพิ่มราคาการซื้อคืนไฟฟ้าจากประชาชน

...

กฟผ. วางแนวทางลดค่าไฟในอนาคต

ที่ผ่านมา นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงาน ว่า ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในฐานะผู้ว่าการ กฟผ. จะเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ คือ 1.รักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า 2.บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ 3.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ 4.ดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ และ 5.เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ

“ผมจะทำให้ กฟผ.เป็นกลไกของรัฐบาลเพื่อดำเนินนโยบายด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ ในช่วงที่ประเทศไทยเดินหน้า เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ด้วยการเพิ่มสัดส่วน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้า ต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ”

นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐพิจารณาปรับ รูปแบบการคำนวณค่าไฟฟ้า ของประเทศให้ต่ำและนิ่งกว่านี้ จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) จะคำนวณตามต้นทุนเชื้อเพลิงทุกๆ 4 เดือน ทำให้ค่าไฟฟ้าขึ้นลงผันผวนกระทบต่อค่าครองชีพ ประชาชน การคำนวณต้นทุนของภาคเอกชน ซึ่งปกติเอกชนจะประเมินต้นทุน ที่สูงที่สุดของปีและเมื่อค่าไฟฟ้าถูกลง ก็ไม่ได้ลดราคาสินค้าลง ดังนั้น หากเป็นไปได้ควรกำหนดค่าไฟฟ้าให้ต่ำและนิ่ง อาจคำนวณทุกๆ 1 ปี เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับรู้ต้นทุนระยะยาว เพราะราคาพลังงานมีปรับขึ้นลงเป็นปกติสามารถหักลบกัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศแน่นอน