รัฐบาลอัดยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังผ่านครึ่งปีแรกซึมลึก เตรียมเปิดลงทะเบียน "ดิจิทัลวอลเล็ต" วันที่ 1 ส.ค. 67 ด้านนักวิชาการมอง เม็ดเงินในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมได้ 0.7–0.8 เท่า หรือเท่ากับว่า เงิน 1 บาทในโครงการ จะได้ผลลัพธ์กลับมา 70–80 สตางค์ ซึ่งผลลัพธ์ได้ไม่คุ้มเสีย สุดท้ายคนแบกหนี้อนาคตคือ "คนจน-มนุษย์เงินเดือน"

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พร้อมเปิดให้ประชาชนลงทะเบียน 1 ส.ค. 67 ผ่านแอปทางรัฐ และยืนยันตัวตนอีก 5 ช่องทาง โดย "นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะใช้เงินจากงบประมาณปี 2567 และงบประมาณปี 2568 รวม 4.5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ ข้อมูลระบุว่า แหล่งเงินในการทำโครงการ เติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท มาจาก 2 แหล่งคือ 1. งบประมาณปี 2567 จากการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 122,000 แสนล้านบาท และการบริหารจัดการงบประมาณอีก 43,000 ล้านบาท โดยไม่ใช่แค่งบกลางอย่างเดียว

2. งบประมาณปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณางบประมาณ และการบริหารจัดการงบประมาณอีก 132,300 ล้านบาท

...

ที่ผ่านมา โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ถูกเลื่อนมาหลายครั้ง เนื่องจากข้อจำกัดการพิจารณางบประมาณในการทำโครงการ ล่าสุดคาดว่า เริ่มดำเนินโครงการได้ในเดือน ก.ย. 67 และมีประชาชนเข้าร่วมระยะแรก 45 ล้านคน โครงการนี้ถูกคาดหวังว่าจะเป็นตัวชูโรงกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของพรรคเพื่อไทย หลังผ่านครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทย ขยายตัวที่ 1.5% ต่ำกว่าเกณฑ์ที่คาดไว้

หากมีการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในช่วงนี้ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) วิเคราะห์ว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะเติบโตช้า มีหนี้ครัวเรือนสูงในกลุ่มคนรากหญ้า ซึ่งถ้ามีการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้ 0.7–0.8 เท่า หรือเท่ากับว่า เงิน 1 บาทในโครงการ จะได้ผลลัพธ์กลับมา 70–80 สตางค์ 

และคาดว่ามีเม็ดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจภาพรวมผ่านการทำโครงการประมาณ 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมปีแรกที่เริ่มโครงการประมาณ 50–60 เปอร์เซ็นต์ ขณะปีถัดไปเม็ดเงินในโครงการยังกระตุ้นภาพรวมได้ 60 เปอร์เซ็นต์ พอเข้าปีที่ 3 เม็ดเงินที่กระตุ้นจะลดลงต่อเนื่องไปถึงปีที่ 5

“จากการประเมินจะเห็นว่ารัฐบาลลงทุนในโครงการทั้งหมด 4.5 แสนล้านบาท แต่กระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมได้ไม่ถึง 1 เท่า จึงไม่คุ้มค่าจะลงทุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่าเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ ซึ่งถ้ามีการใช้แผนกระตุ้นอื่น จะทำให้มีพายุหมุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากกว่านี้ รัฐบาลจึงควรคิดโครงการขนาดเล็กที่ตอบโจทย์เฉพาะกลุ่ม ตัวอย่างเช่น โครงการในอดีตที่มีประสิทธิภาพเช่น โครงการคนละครึ่ง การเติมเงินโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ให้กับกลุ่มคนยากจน”

ขณะเดียวกันควรกระตุ้นในกลุ่มที่กำลังเจอปัญหาเศรษฐกิจหนักอย่าง เอสเอ็มอี ควรมีโครงการที่กระตุ้นให้มีรายได้มากขึ้น ดังนั้นการทำโครงการจะกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบได้ ควรมีโครงการที่เจาะรายกลุ่ม ไม่ใช่หว่านแหอย่างที่เป็นอยู่

...

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ทำให้เกิดผลกระทบเงินในอนาคต

หากมีการเริ่มโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในช่วงเดือน ก.ย. 67 อย่างที่คาดไว้ จะช้าไปหรือไม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม "ดร.นณริฏ” มองว่า ปกติภาวะเศรษฐกิจจะต่ำสุดในช่วงไตรมาสแรกต่อกับช่วงต้นไตรมาสสอง ซึ่งช่วงเวลานี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นด้วยตัวมันเอง การมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในช่วงนี้ ถือว่าช้าไป เพราะไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ต่ำที่สุด “ความจริง หลังจากนี้ควรมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ควรเป็นโครงการเล็กๆ แบบเฉพาะกลุ่ม เพราะปกติเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นด้วยตัวมันเอง จึงอาจเป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสีย หากมีการทำโครงการขนาดใหญ่ในช่วงเวลานี้”

ขณะที่งบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ที่นำมาใช้ในโครงการ มีการยืนยันว่า จะนำงบประมาณบริหารจัดการมาใช้ ย่อมส่งผลต่อการใช้งบประมาณในภาพรวม เพราะงบประมาณแต่ละปีมีจำกัด ดังนั้น ถ้ามีการดึงเงินมาใช้โครงการนี้ ย่อมทำให้งบประมาณในบางกระทรวงต้องปรับลดลง

การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ควรมีการวางทาร์เก็ตกรุ๊ปให้ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจน คนทำงานหาเช้ากินค่ำ เอสเอ็มอี ซึ่งจะไม่ต้องใช้เงินอัดฉีดมาก แต่ต้องทำให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

...

“โครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีการตั้งเป้าว่ามีผู้ร่วมโครงการ 45 ล้านคน แต่จริงแล้วควรเริ่มกระตุ้นที่กลุ่มคนจนก่อนประมาณ 4 ล้านคน หรือถ้าอิงกับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะประมาณ 14 ล้านคน ซึ่งถือเป็นจำนวนคนที่ต้องเร่งช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนก่อน"

สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว ควรมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลมองแค่การกระตุ้นระยะสั้น แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน ไม่ต้องทำโครงการที่ไปกระตุ้นเศรษฐกิจบ่อย.