นายกสมาคมการท่องเที่ยว อ.วังน้ำเขียว ยันชาวบ้านไม่ได้รุกป่าทับลาน ยอมรับในพื้นที่มีนายทุน หากใครทำผิดให้หน่วยงานจัดการตามกฎหมาย เผยหากเลือกได้อยากได้สิทธิ์ ส.ป.ก. 

ภายหลังที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปิดโหวตเมื่อ 12 กรกฎาคม 2567 จากคำถามที่ว่า "ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ จากการสำรวจแนวเขตเมื่อ พ.ศ.2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566" ผลปรากฏว่า มีผู้ร่วมโหวตทั้งสิ้น 947,107 คน โดยประชาชนโหวตไม่เห็นด้วย จำนวน 901,892 คน คิดเป็น 95.2% และโหวตเห็นด้วย 45,215 คน คิดเป็น 4.8% 

อย่างไรก็ตาม ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมข่าวฯ ได้ติดต่อสัมภาษณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว วันนี้เราจึงขอพาคุณผู้อ่าน ไปรับฟังความคิดเห็นจากอีกฝั่ง นั่นก็คือประชาชนในพื้นที่ ว่าพวกเขาคิดเห็นอย่างไรกับ #Saveทับลาน

คุณภาพจาก ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร
คุณภาพจาก ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร

...

"คนวังน้ำเขียวอยู่ที่นี่ตั้งแต่แรก" : 

"ชาวบ้านรุกป่า!"

หนึ่งในความคิดเห็นเกี่ยวกับ #Saveทับลาน ที่เราเชื่อว่า คุณผู้อ่านน่าจะเคยเห็นผ่านตามาบ้างไม่มากก็น้อยจากโซเชียล สำหรับคำกล่าวอ้างนี้ 'มงคลศิลป์ ลีนะกนิษฐ์' นายกสมาคมการท่องเที่ยวอำเภอวังน้ำเขียว และประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรอำเภอวังน้ำเขียว กล่าวกับทีมข่าวฯ ว่า เราเป็นคนในพื้นที่ กล้าพูดเลยว่าไม่ได้บุกรุกป่า พวกเรามาอยู่ก่อนที่เขาจะประกาศแนวเขตอุทยานกันเสียอีก

"ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นการเข้าใจผิด เพราะคนวังน้ำเขียวอยู่ที่นี่ตั้งแต่แรก คุณพ่อผมเล่าให้ฟังว่าคุณปู่อยู่ที่นี่มาตั้งแต่แรก ก่อนที่เขาจะประกาศเขตของกรมป่าไม้ ที่กลายมาเป็นกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตัวผมเองก็เริ่มต้นจากเป็นเกษตรกร และต่อยอดทำเป็นธุรกิจ แต่พอบอกว่าทำธุรกิจ เดี๋ยวเขาก็หาว่าผมเป็นนายทุนอีก แต่เราเริ่มต้นจากเกษตรกรจริงๆ และต่อยอดตรงนี้มาเรื่อยๆ"

นายกสมาคมการท่องเที่ยว อ.วังน้ำเขียว กล่าวต่อว่า เราเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่หวงแหนทรัพยากรของตนเอง เพราะทุกคนรักประเทศ ถึงเราจะไม่เห็นด้วยที่คนส่วนใหญ่ว่ามาแบบนั้น แต่ก็ไม่รู้จะพูดยังไงให้เข้าใจ หรือถ้าคนจะมองว่า เรามาอยู่ก่อนอุทยานจริง แต่สุดท้ายก็รุกป่าเพิ่ม แบบนี้ในประเทศไทยคนก็รุกป่าหมด เพราะหลายพื้นที่เป็นป่ามาก่อน

คุณภาพจาก ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร
คุณภาพจาก ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร

เมื่อถามว่า ในฐานะคนวังน้ำเขียวรู้สึกอย่างไรบ้าง คำตอบของคำถามนี้ คือ รู้สึกเศร้า ตอนแรกไม่เข้าใจ น้อยใจ และเคืองหน่อยๆ แต่พอมองถึงอีกฝั่งก็พอเข้าใจได้ว่า ถ้าเราอยู่กรุงเทพฯ หรือเมืองอื่นๆ แล้วไม่ได้สนใจอะไรมาก่อน 

พอเห็นข่าวจากสื่อต่างๆ ก็คงจะเข้าใจว่า ประเทศกำลังโดนรุกป่าจากพวกนายทุน และคงรู้สึกไม่ยอมจนกด #Saveทับลาน และเข้าใจไปตามนั้นว่า คนวังน้ำเขียว เสิงสาง ครบุรี ปักธงชัย นาดี พวกนี้เป็นคนรุกป่า เอาป่าไปขาย

"แต่ถ้าเข้าใจไปอย่างนั้น เพราะไม่ได้ดูรายละเอียดเชิงลึก ซึ่งผ่านมา 40 กว่าปี ก็น่าสงสัยว่า ถ้าชาวบ้านรุกป่าจริงๆ คงโดนไล่ออกไปตั้งนานแล้ว มันคงไม่เป็นคดีความยาวนานขนาดนี้ ถ้าอ่านข้อมูลครบถ้วนและคุยกันด้วยเหตุผลอาจจะเข้าใจกันมากกว่านี้"

มงคลศิลป์ ตั้งคำถามกลับว่า ถ้าคุณเป็นเราคุณจะยอมไหม คุณมีที่ดินทำกิน ทำเกษตร ปลูกผักอยู่ แล้วอยู่ดีๆ มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมาบอกว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ของคุณ ทั้งที่เราลงทุนในแปลงเกษตร และค้าขาย เลี้ยงดูตัวเองมานานแล้ว ถ้าเป็นคุณจะทำอย่างไร?

...

"มีระบบนายทุนแต่นับนิ้วได้" : 

เมื่อถามต่อว่า ชาวบ้านจริงๆ ดั้งเดิม เคยโดนคดีรุกที่ป่าหรือเปล่า?

มงคลศิลป์ ให้คำตอบว่า อาจจะไม่ใช้คำว่าชาวบ้านจริงๆ ขอเรียกว่าเป็นเกษตรกรคนจน แต่ในนั้นมีเกษตรกรคนจนที่พัฒนาแล้ว เขาส่งลูกหลานไปเรียน เด็กบางคนกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ให้เป็นไร่ผัก สวนผลไม้ พอเริ่มมีนักท่องเที่ยว ก็ต่อยอดทำคาเฟ่ เพราะเล็งเห็นว่าสามารถทำรายได้เสริมได้

"พวกเขาก็ค่อยๆ เก็บเงินกันมาต่อยอดทำสิ่งอื่นๆ เช่น ร้านกาแฟ ตกแต่งให้ออกมาสวย แต่พอมันออกมาดี คนก็มองว่านี่เป็นร้านของนายทุน เกิดการตั้งคำถามว่า ชาวบ้านจะมีตังค์ซื้อเครื่องทำกาแฟได้ไง ซึ่งผมต้องบอกว่า มีได้ครับ ชาวบ้านเก็บออมกันเป็น"

"พวกเราก็อยากมีรายได้ เลยต้องเก็บเงินต่อยอดทำอาชีพ แต่คราวนี้พอเปิดร้านกาแฟก็เป็นเรื่องเลย เกิดการตั้งคำถามว่าเป็นคนต่างถิ่นใช่ไหม ทำไมไม่ประกอบอาชีพเกษตร ไม่เห็นตรงตามเอกสารที่ดิน จริงๆ แล้วพวกเราก็ยังทำเกษตร แต่ส่วนนี้เป็นเพียงรายได้เสริมในช่วงรอผลผลิต"

แล้วในพื้นที่มีนายทุนหรือไม่?

มงคลศิลป์ ตอบว่า ผมมองว่า ที่นี่ไม่ได้เริ่มจากคำว่านายทุน มันเริ่มจากคำว่าเขาเห็นว่ามันมีการท่องเที่ยว คนมาเที่ยวก็ต้องนอน พอนอนก็ค่อยๆ ขึ้นที่พัก เพราะเห็นว่าสร้างเป็นรายได้

...

"ของเราเนี่ย เราคิดว่าระบบนายทุนจ๋าๆ มีครับ แต่นับนิ้วได้ ถ้าบอกว่าไม่มีเดี๋ยวจะกลายเป็นโกหกกัน เขาก็คงแค่เห็นหนทางของเขา และหาวิธีการที่ไม่ได้ถูกต้อง เข้ามาทำรีสอร์ตใหญ่ๆ ผมเลยมองว่า จริงๆ มีครับ แต่มีไม่กี่ราย"

ให้หน่วยงานจัดการตามกฎหมาย : 

สืบเนื่องจากคำตอบก่อนหน้า ทีมข่าวฯ จึงถามต่อไปว่า แม้จะมีนายทุนเพียงนับนิ้วได้ แต่จุดนี้ก็เป็นประเด็นที่คนในสังคมมองว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะเหมือนเป็นการบุกรุกพื้นที่ จุดนี้มองว่าควรจัดการเช่นไร?

นายกสมาคมฯ ตอบว่า ถ้าเกิดการทำที่ไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างบางพื้นที่เป็น ถ้าเป็น ส.ป.ก. ทาง ส.ป.ก. ก็ต้องเข้ามาจัดการสืบว่า คนที่ใช้พื้นที่เป็นทายาทเกษตรกรที่ได้สิทธิ์ ส.ป.ก. 4-01 หรือเปล่า หรือคนที่ทำอยู่ซื้อสิทธิ์มาจากใคร แล้วต้นทางเอาเอกสารนี้ขายได้ยังไง เพราะเขาระบุแล้วว่าห้ามซื้อขาย เรื่องแบบนี้ ส.ป.ก. จึงต้องเป็นผู้มาจัดการ ไม่ใช่อุทยานฯ

ส่วนคนที่มีใบ ภ.บ.ท.5 แล้วนำที่ไปขาย มีคนต่างถิ่นมาซื้อ ก็ต้องไปถามทางฝ่ายมหาดไทย กรมการปกครอง ไม่ว่าจะเป็น อบต. หรือ อำเภอท้องถิ่นว่า ในเมื่อคุณเป็นเจ้าหน้าที่แล้ว ปล่อยไปอย่างนี้ได้อย่างไร ควรไปถามหน่วยงานนั้นๆ ให้สืบสาวราวเรื่อง ถ้าพบผู้กระทำผิดจริงก็ให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย

...

ส่วนกรณีที่สังคมตั้งคำถามว่า "ถ้าเปลี่ยนให้เป็น ส.ป.ก. ในอนาคตชาวบ้านจะไม่เอาที่ไปขายต่อหรือ?"

มงคลศิลป์ แสดงความคิดเห็นว่า ต้องเรียนก่อนว่า ขณะนี้หลายคนมองว่า ส.ป.ก.คือแบ็กอัปของนายทุน เนื่องจากก่อนหน้านี้มีข่าวที่เขาใหญ่ว่า พื้นที่ ส.ป.ก.งอก คนก็เลยงงกันใหญ่ ข่าวนั้นทำให้คนมองหน่วยงาน ส.ป.ก. ไม่ดีไปเลย แต่ที่จริงแล้ว ส.ป.ก.วังน้ำเขียวกับเขาใหญ่ มันคนละแบบกันเลยครับ เพราะหน่วยงาน ส.ป.ก. ที่วังน้ำเขียว สนับสนุนพวกผมมากๆ เขาคอยมาดูแลเรื่องต่างๆ อยู่ตลอด เนื่องจากเราทำเกษตร และมันขึ้นตรงกับสิ่งที่เขาดูแล 

"แต่จากคำถามก็ต้องยอมรับว่า เรื่องแบบนี้มีอยู่จริงในประเทศไทย และขอความกรุณาว่า อย่าคิดว่าจะเป็นแค่ที่วังน้ำเขียว เพราะทุกๆ ที่มีคนแบบนี้ เราห้ามไม่ได้เลย" นายกสมาคมฯ กล่าว ก่อนจะเสริมต่อไปว่า

"คราวนี้กลับมาเข้าเรื่องว่า ในอนาคตถ้าเกิดวังน้ำเขียวซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรอยู่แล้ว และ ส.ป.ก.เข้ามาดูแลอย่างจริงจัง หากใครจะแอบไปขายที่ ทาง ส.ป.ก. ก็ต้องจัดการครับ อาจจะยึดที่ไปเลย ก็ในเมื่อเป็นสิทธิ์ของ ส.ป.ก. อยู่แล้ว หรือถ้า ส.ป.ก. เห็นว่าวังน้ำเขียวเป็นเมืองท่องเที่ยว ทาง ส.ป.ก. จะมีแนวทางให้เช่าเป็นกรณีพิเศษก็แล้วแต่ สรุปคือ หน่วยงานไหนได้สิทธิ์ดูแล ก็บริหารจัดการไป ใครทำอะไรผิดก็ว่าตามผิด"

"อยากอยู่กับ ส.ป.ก." : 

แม้ว่า มาตรา 64 ในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จะให้สิทธิ์แก่ประชาชนผู้อาศัยอยู่ในเขตอุทยาน และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานดังกล่าว ก็เคยให้สัมภาษณ์กับเราว่า ชาวบ้านจะยังมีสิทธิ์ทำกินตามปกติธุระ ไม่จำเป็นต้องไปขึ้นต่อ ส.ป.ก. แต่มงคลศิลป์กลับเห็นต่างออกไป

"มันเป็นประกาศที่ใช้ทั่วประเทศ แต่ตอนประกาศ ม.64 ก็มีชาวบ้านหลายจังหวัดออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย เนื่องจากในแต่ละพื้นที่มีบริบทและเรื่องราวแตกต่างกัน เลยอาจจะต้องแยกกันจัดการเพื่อความยุติธรรม"

"ถ้ายังไม่ได้ปรับแนวเขต 2543 ในอนาคตเราก็ไม่รู้ว่าจะมีปัญหา หรือเรื่องราวอะไรอีกไหม นึกภาพไม่ออกเลย หรือถ้าให้คิดว่า ต้องอยู่ในเขตอุทยานจริงจังจะเป็นยังไง ก็นึกภาพไม่ออก เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้รู้สึกว่าเราอยู่ในเขตอุทยาน จึงจินตนาการได้ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง คนที่อยู่ในพื้นที่แบบนี้อีกหลายจังหวัด ก็คงรู้สึกเหมือนกัน"

หากเลือกได้อยากอยู่กับอุทยานฯ หรือ ส.ป.ก.?

"ส.ป.ก." มงคลศิลป์ ตอบกลับ

เหตุผลที่เราอยากอยู่กับ ส.ป.ก. เพราะเขาเป็นหน่วยงานดูแลด้านเกษตร และพวกเราทำเกษตรกันจริงๆ ลองคิดดูว่าหากมีผักจาก 5 จังหวัดวางขายใน อตก. แล้วมีเขียนว่าผักนี้มาจากวังน้ำเขียว ผักนั้นน่าจะเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ของผู้บริโภค เพราะเราทำผลผลิตกันอย่างดีเยี่ยม ผักของเราเป็นออร์แกนิก และมีมาตรฐานด้านต่างๆ เช่น GMP ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำได้

"เราทำเกษตรกันอยู่จริงๆ ทำไมถึงไม่มองว่าเราทำเกษตรจริงๆ ไม่อย่างนั้นเราจะมีผลไม้ดีๆ ออกไปให้ทุกคนกินเหรอ ดังนั้น ถ้าเราทำเกษตร เราก็ต้องอยู่กับ ส.ป.ก. เพราะเขาสนับสนุนเรา ทั้งหมดเป็นเรื่องจริง และเป็นแบบนี้มาตลอด"

"เห็นผลโหวตยิ่งรู้สึกเศร้า" : 

สำหรับผลโหวตที่มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการเพิกถอน 2.6 แสนไร่อย่างท่วมท้นกว่า 9 แสนรายชื่อ มงคลศิลป์ กล่าวว่า สำหรับคนวังน้ำเขียวเอง เมื่อเห็นคะแนนเสียงก็ยิ่งรู้สึกเศร้าว่า ทำไมคนถึงมองวังน้ำเขียวแย่ขนาดนี้ ตั้งแต่เกิดมาเราก็ได้ยินเรื่องวังน้ำเขียวรุกป่ามานานแล้ว ครั้งนี้เหมือนเป็นการว่าคนวังน้ำเขียวรุกป่าเข้าไปอีก 

อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่า ในระยะเวลาเนิ่นนานที่ผ่านมา ทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่ 3 รอบ และทำการวินิจฉัยเรียบร้อยแล้วว่า วังน้ำเขียวควรได้แนวเขต 2543 เพราะว่าชุมชนมีร่องรอยทำกินอยู่ก่อนประกาศของกรมป่าไม้จริงๆ ท่านผู้ตรวจการแผ่นดินเลยให้คำวินิจฉัย โดยยื่นเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรี และเข้า ครม. เรียบร้อย

ซึ่งการพิจารณาถ้าจำไม่ผิด มันจะมีอยู่ทั้งหมด 16 ข้อ ในปัจจุบันตามคำถาม ตอนนี้เราดำเนินมาถึงข้อที่ 11 แล้วครับ การลงชื่อครั้งนี้ ไม่ใช่การลงคะแนนเสียงแบบเลือกตั้งนะ แต่เป็นการขอความคิดเห็น เผื่อนำมาประกอบกับข้อต่อๆ ไป 

"ด้านคณะกรรมาธิการ สคทช. ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ จะนำข้อมูลต่างๆ มาประกอบรวมกัน ทางผมเองก็ไม่สามารถทราบได้ว่า จะเป็นอย่างไรต่อ แต่เชื่อว่าจะมีการตรวจสอบต่อไปว่า ความคิดเห็นครั้งนี้เป็นไปด้วยสุจริตเรื่องจริงหรือไม่ ข้อมูลเป็นอย่างไรบ้าง ให้ข้อมูลละเอียดทั้ง 2 ด้านหรือเปล่า หรือให้เพียงด้านเดียว ทำไมคะแนนเสียงออกมาโอเวอร์ขนาดนี้ มันมีสาเหตุใด เรามั่นใจในกรรมาธิการว่า ท่านจะดูทุกอย่าง ไม่ได้ดูแต่คะแนนเสียงที่จะออกมาครับ"

"ขอบคุณทุกคนที่เข้าใจวังน้ำเขียวมากขึ้น" : 

ทีมข่าวฯ สอบถามนายกสมาคมฯ ว่า ตั้งแต่มีกระแสด้านลบเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของวังน้ำเขียวหรือไม่ คำตอบคือ "ไม่ส่งผลกระทบเลยครับ เพราะวังน้ำเขียวเงียบอยู่แล้ว"

ต้องเรียนว่า ตอนนี้ภาคท่องเที่ยวแย่ไปหมด เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ดีด้วย เรื่องนี้จึงไม่มีผลกระทบมากเท่าไร เพราะวังน้ำเขียวเงียบอยู่แล้ว จะมีคนก็แค่ช่วงปีใหม่ หรือวันเสาร์และอาทิตย์แต่ก็มีนิดเดียว แต่เราก็คิดว่าการท่องเที่ยวเป็นเพียงโบนัส เพราะทุกคนยังยึดการทำเกษตรกันไป 

มงคลศิลป์ ลีนะกนิษฐ์ ฝากทิ้งท้ายว่า อยากขอบคุณทุกคนผ่านทางนี้ ที่ทุกวันนี้ทุกท่านพยายามจะรื้อค้นสืบแงะแคะวังน้ำเขียว จนทุกท่านพอจะทราบข้อมูลความจริงบ้าง ซึ่งมันเยียวยาหัวใจของพวกเราได้ครับ เราเองไม่อยากให้ตัดสินคนที่อยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่เกิด และตอนนี้ เรายังไม่รู้ว่าผลจะออกมาในรูปแบบไหน 

"เราเข้าใจทุกๆ จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่แบบเรา แค่ตอนนี้ชาววังน้ำเขียวโชคดีที่เป็นที่เพ่งเล็ง คนเลยสืบค้นและเข้าใจวังน้ำเขียวขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาเราไม่เคยว่าคนที่เข้าใจวังน้ำเขียวผิด จากตัวหนังสือไม่กี่บรรทัด เพราะทุกคนอาจจะไม่มีเวลาที่สืบค้นข้อมูล แต่ตอนนี้ขอบคุณทุกคนที่เข้าใจว่า ความเป็นมาของวังน้ำเขียวเป็นยังไง"

มงคลศิลป์ ลีนะกนิษฐ์
มงคลศิลป์ ลีนะกนิษฐ์

.........

ขอบคุณภาพ จาก มงคลศิลป์ ลีนะกนิษฐ์ 

อ่านบทความที่น่าสนใจ :