โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกลอบสังหารขณะขึ้นเวทีหาเสียง เมื่อ 13 ก.ค. 2567 ที่รัฐเพนซิลเวเนีย โชคดีกระสุนเฉี่ยวใบหูได้รับบาดเจ็บ “อดีตตำรวจอเมริกา” วิเคราะห์ว่า คนร้ายน่าจะเป็นมือปืนระดับ “พระกาฬ” ฝึกมาอย่างดี เพราะการฝ่าแนวอารักขาซุ่มยิงได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็อาศัยช่องโหว่ในการก่อเหตุ ถือเป็นความผิดพลาดในรอบกว่า 40 ปี เผยแผนอารักขาบุคคลสำคัญในอเมริกา หากเกิดเหตุร้ายสังหารคนร้ายได้ทันที

เย็นวันที่ 13 ก.ค. 2567 ตามเวลาท้องถิ่น โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ วัย 78 ปี ถูกยิง ขณะขึ้นเวทีหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย หลังมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดบริเวณเวทีหาเสียง ทรัมป์ได้ยกมือจับใบหู เพียงเสี้ยวนาที ทีมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้รีบเข้าคุ้มกันและพาทรัมป์ลงจากเวทีหาเสียงทันที

เหตุการณ์ลอบสังหารครั้งนี้ ทำให้คนมาฟังการหาเสียง เสียชีวิต 1 ศพ บาดเจ็บสาหัส 2 คน ส่วนทรัมป์ได้รับบาดเจ็บ กระสุนมาเฉี่ยวถูกริมใบหูด้านขวา ขณะที่ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุถูกยิงเสียชีวิตแล้ว
ทีมข่าวสอบถามไปยัง “สุวิทย์ ยงหวาน” อดีตตำรวจรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ที่ทำงานกว่า 28 ปี เล่าถึงการระงับเหตุลอบสังหารบุคคลสำคัญในสหรัฐอเมริกา ว่า มือปืนที่ลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เห็นได้ชัดว่าต้องการยิงให้เข้าไปยังจุดสำคัญ ปกติทรัมป์ใส่เสื้อกันกระสุนไว้ภายใน เพราะเคยพูดหลายครั้งว่า กำลังจะถูกปองร้าย ประกอบกับทรัมป์ เคนเป็นประธานาธิบดี จึงมีหน่วยป้องกันคอยรักษาความปลอดภัยตลอดเวลา

...

“สุวิทย์ ยงหวาน” อดีตตำรวจรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ทีทำงานกว่า 28 ปี
“สุวิทย์ ยงหวาน” อดีตตำรวจรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ทีทำงานกว่า 28 ปี

มือปืนที่ลอบสังหาร จากการวิเคราะห์น่าจะผ่านการฝึกฝน เป็นมือปืนระดับพระกาฬ เพราะปกติการลอบยิงบุคคลสำคัญระดับนี้ในสหรัฐฯ จะมีกระบวนการตรวจสอบแน่นหนา แต่มือปืนรายนี้สามารถยิงเข้ามาได้ และเกือบจะถูกจุดสำคัญบนร่างกายของทรัมป์ ก็ถือว่าไม่ธรรมดา

ช่องโหว่แผนอารักขาทรัมป์ ต้องยอมรับว่าสังคมอเมริกัน ทุกคนจะเท่าเทียมกันหมด ยกตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีจะไปกินข้าวที่ร้านอาหาร ก่อนไปตำรวจจะเข้าไปตรวจสอบในร้าน นำสุนัขไปดมหาวัตถุต้องสงสัย หลังจากนั้นพอบุคคลสำคัญมาจะนั่งกินอาหารกับบุคคลอื่นในร้าน ต่างจากไทย ที่ต้องมีการกันประชาชนทั่วไปไม่ให้อยู่ในร้าน สิ่งนี้เป็นช่องโหว่ ที่ทำให้เกิดการสังหาร แต่บุคคลสำคัญต้องคอยระวังตัวเอง โดยมีทีมอารักขาที่แน่นหนา คอยตรวจสอบความผิดปกติในระยะใกล้และไกล

กรณีทรัมป์ ถ้าทีมป้องกันไม่มีแผนอารักขาที่ดี อาจถูกยิงในจุดสำคัญได้ ที่สำคัญตำรวจหรือทีมป้องกันบุคคลสำคัญ มีการฝึกว่าถ้ามีบุคคลที่ลอบสังหาร ก่อนยิงโต้ตอบ จะไม่ยิงขาหรือแขนให้ผู้ก่อเหตุบาดเจ็บ แต่ต้องยิงในจุดสำคัญ เพื่อให้เสียชีวิตได้ทันที ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะบริเวณศีรษะ แต่ทีมอารักขาจะรู้ว่าถ้ายิงในจุดสำคัญส่วนไหน ที่เชื่อมต่อกับระบบหัวใจ เพื่อให้ผู้ก่อเหตุเสียชีวิตทันที

“ตำรวจในอเมริกา เวลาปฏิบัติการจะไม่ใช้คำว่า ตามล่า หรือฆ่า แต่จำกัดความหมายในแผนปฏิบัติการว่า ทำให้คนร้ายหายไป โดยให้เหตุการณ์สงบในทันที”

กรณีของทรัมป์ ที่มีการแชร์ภาพบนเสื้อของทรัมป์ เห็นมีรอยกระสุนถูกยิง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เขาต้องระวังตัว โดยการใส่เสื้อเกราะกันกระสุน โดยเหตุการณ์นี้เห็นได้ชัดว่าช่วยได้ ไม่อย่างนั้นคนร้ายอาจจะยิงเข้าจุดสำคัญมากกว่าจะถูกใบหู

...

แนวทางการฝึกอารักขาบุคคลสำคัญในอเมริกา

“สุวิทย์” เล่าว่า แผนการป้องกันการประทุษร้ายของทรัมป์ มีการเตรียมความพร้อมมาอย่างดี หน่วยที่ดูแลความปลอดภัย จะเตรียมไว้ทั้งรถพยาบาล และเฮลิคอปเตอร์ ที่ใช้ในการลำเลียงผู้บาดเจ็บ กรณีนี้หลังเกิดเหตุไม่ถึง 5 นาที ก็นำทรัมป์ไปส่งโรงพยาบาลได้ทันที

ปกติทีมอารักขาบุคคลสำคัญของอเมริกา แบ่งวงในการป้องกันคือ หน่วยอารักขาในวงนอก ที่อยู่ไกลจากบุคคลสำคัญคอยดูความผิดปกติ ต่อมาเป็นหน่วยอารักขาในจุดที่อยู่กับคนเข้ามาดู เพื่อคอยตรวจสอบความผิดปกติของคนที่เข้ามาชมการปราศรัย และทีมอารักขาวงในประมาณ 7 – 8 คน ที่จะคอยกันไม่ให้บุคคลสำคัญอยู่ในมุมที่เปิดโล่ง ซึ่งเสี่ยงต่อการซุ่มยิง ดังนั้นเราจึงจะเห็นว่าการปรากฏตัวของทรัมป์แต่ละครั้ง แทบไม่เห็นทรัมป์แบบเต็มตัว แต่มีหน่วยอารักขามาบังมุมและทิศทางที่เป็นจุดเสี่ยงตลอด

ผมเคยไปอบรมวิธีการอารักขาบุคคลสำคัญในหน่วยตำรวจอเมริกา จะสอนการใช้อาวุธร้ายแรงทุกรูปแบบ เพราะหน่วยนี้ถ้าอยู่ในวงในใกล้กับบุคคลสำคัญ จะต้องถือกระเป๋าสีดำ ที่ในกระเป๋าจะมีปืนกลหลายขนาด ซึ่งการที่บุคคลสำคัญจะปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชน จะมีการวางแผนว่า หากเกิดเหตุร้าย มีหัวหน้าทีมป้องกันหนึ่งคน คอยสั่งการในการพาบุคคลสำคัญออกจากที่เกิดเหตุ เช่นเดียวกับหน่วยที่โต้ตอบคนร้าย จะโต้ตอบทันที

...

ขณะเดียวกัน บุคคลสำคัญก็ต้องถูกฝึกอบรม ว่าถ้าเกิดเหตุร้าย ต้องฟังใคร ที่จะเป็นหัวหน้าทีมรักษาความปลอดภัย และต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้การป้องกันเป็นไปตามกลวิธีป้องกัน

การลอบสังหารทรัมป์ ถือเป็นความรุนแรงในรอบหลายสิบปี เพราะบุคคลสำคัญที่ถูกลอบสังหาร ครั้งสุดท้ายคือ โรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2524 โดยได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย.