การปรับปรุงแนวเขต "อุทยานแห่งชาติทับลาน" ที่อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น เป็นประเด็นที่สังคมสนใจ มีคนเห็นด้วยในการจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้านที่อยู่เดิมในพื้นที่ และกลุ่มคัดค้านการเข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งอุทยานรอผลการศึกษาอีก 1 เดือน แต่จากผลการวิจัยของนักวิชาการ ที่เข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ "ไทยสามัคคี" พบ 70% เป็นคนที่เข้ามาอยู่ใหม่ ทางออกที่เหมาะสมควรจัดโซนนิ่ง ให้คนอยู่กับป่า หรือจัดสรรพื้นที่ทำกินใหม่นอกอุทยานฯ

“พื้นที่ประเทศไทย 20% เป็นพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่า คนก็พยายามเข้าไปเบียดเบียน ซึ่งใน 7% เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่บุกรุกพื้นที่อุทยาน ทุกวันนี้มีพื้นที่ราบที่ให้สัตว์ป่าอยู่ 3% แต่มนุษย์ก็ยังจะเอาพื้นที่ราบไปเป็นพื้นที่ทางการเกษตรอีก จึงต้องคิดในความเป็นจริงว่า ถ้าคุณยึดเอาพื้นที่ราบของสัตว์ป่าไปอีก อนาคตสัตว์ป่ามันไม่รู้หรอกว่า พื้นที่ราบนั้นเป็นที่ทำกินของมนุษย์ สุดท้ายสัตว์ป่าก็ออกมาหากินในพื้นที่ราบนั้น จนทำให้เกิดปัญหาตามมาระหว่างคนกับสัตว์ป่า” รศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดประเด็นถึงพื้นที่อุทยานทับลาน ที่เสี่ยงสูญเสียพื้นที่อุทยานไป 2.6 แสนไร่

...

"รศ.ดร.นันทชัย" ที่เคยวิจัยการใช้พื้นที่ป่าร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่เขาใหญ่และทับลาน มองว่า กรณีพื้นที่ไทยสามัคคี จากการสำรวจพบผู้อพยพสมัยพัฒนาชาติไทย มีการเปลี่ยนมือไปยังผู้ที่ถือครองรายใหม่ กลายเป็นผู้ครอบครองใหม่ที่เป็นคนนอกพื้นที่จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนเมืองที่เข้าไปครอบครอง แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น จะเอากฎหมู่มาเหนือกฎหมายไม่ได้ เพราะคนที่จะได้รับประโยชน์ไม่ใช่เกษตรกรผู้ยากไร้ ซึ่งผู้ถือครองส่วนนึงเป็นผู้ที่มีอำนาจ แม้ชื่อผู้ครอบครองจะเป็นตาสีตาสา แต่ผู้ครอบครองตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังคือใครกันแน่ ซึ่งผมเชื่อว่า ถ้ามีการอนุญาต ให้ปรับปรุงแนวเขต อุทยานแห่งชาติทับลาน 2.6 แสนไร่ จะมีการขยายไปยังพื้นที่อื่นทั่วประเทศ

ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่ทับซ้อนกับพื้นที่อุทยาน ด้วยการใช้มติคณะรัฐมนตรี ด้วยแผนที่ One Map มาตราส่วน 1 : 4000 เพราะแต่ละหน่วยงานรัฐก็ถือแผนที่ของตัวเอง ทำให้การสำรวจกี่ครั้งก็หาข้อยุติกันไม่ได้ เพราะที่ดินเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ซึ่งเวลาลงไปสำรวจที่ดินในพื้นที่ เมื่อเจอผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นต่อต้าน คนที่ลงไปสำรวจก็จะทำงานยาก

“การแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ทำกินของชาวบ้านกับอุทยาน ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้ศักดิ์สิทธิ์จะสามารถแก้ได้ เพียงแต่ตอนนี้การบังคับใช้กฎหมายมีความผิดปกติ”

จากการวิจัยพื้นที่ทับซ้อนของชาวบ้านกับป่าทับลาน เมื่อ 10 ปีก่อน มีการเสนอให้จัดโซนนิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ไทยสามัคคี คือพื้นที่ที่อยู่ในป่าอุทยานทับลาน ต้องมีการสำรวจให้ชัดเจนว่า ใครเป็นผู้ที่ถือครองที่ดินดั้งเดิมจริง ก็ควรจะให้สิทธิเขา ตามเจตจำนงที่เคยประกาศให้พื้นที่นี้เป็นเขตพัฒนาชาติไทย แต่ที่ดินที่เปลี่ยนมือไปแล้ว และเป็นคนนอกพื้นที่ไปซื้อ ก็ต้องถามสังคมว่า ในเมื่อมีกฎหมายว่าห้าม แล้ววันนี้เราจะมาแก้กฎหมาย เพื่อมอบที่ดินให้ กลุ่มคนที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้ยากไร้ ซึ่งถ้าทำได้ยิ่งทำให้พื้นที่ทับซ้อนอื่นมีปัญหาทั่วประเทศ

โดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อนตลอดแนว เส้น 304 ถือเป็นพื้นที่ "คอริดอร์" มีความมั่นคงในด้านความหลากหลาย ซึ่งเป็นเส้นทางที่ตัด "ดงพญาไฟ" ให้กลายเป็น "ดงพญาเย็น" และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อในการเคลื่อนที่ของสัตว์ป่า โดยอุโมงค์ต่างๆ ที่ทำขึ้นอาจยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร แต่ส่วนที่สัตว์ป่าใช้ประโยชน์จริงคือ จุดแถวบ้านวังมืด ในพื้นที่ทับลาน ซึ่งเป็นสวนป่า เช่นเดียวกับพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า ที่มีพื้นที่ข้ามไปถึง "ไทยสามัคคี" เป็นพื้นที่สำคัญที่กระทิงใช้เดินข้ามไปหากิน ถ้ามีการให้เอกสารสิทธิในที่ดิน จะมีการพัฒนาที่ดินไปในทิศทางที่ไม่เหมาะสมได้

...

ทางออกป่าทับลานจัดโซนนิ่ง จัดสรรพื้นที่ทดแทนใหม่

การจัดการพื้นที่ทับซ้อนของชาวบ้านกับอุทยาน เริ่มมาตั้งแต่พื้นที่เขาใหญ่ และลามมาจนถึงทับลาน "รศ.ดร.นันทชัย" ในฐานะผู้ที่เคยศึกษาวิจัยการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ มองว่า การแก้ปัญหาได้ ควรเป็นแนวทางการการจัดโซนนิ่ง ซึ่งที่ผ่านมามีการวิจัยจำนวนมาก แต่ถูกเอาเก็บไว้ ไม่ได้นำมาใช้ ขณะที่อีกส่วนนึง เกิดจากการที่กรมอุทยานฯ เพิกเฉยต่อปัญหานี้มานาน จนปัญหาการจัดการพื้นที่ทับซ้อนเปลี่ยนไปจากเดิมมาก แต่สำหรับคนที่อยู่อย่างถูกต้อง อาศัยมาตั้งแต่ดั้งเดิมควรให้ที่ทำกิน แต่ที่น่าห่วงคือ คนอีก 70% เป็นกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ใหม่

ดังนั้น แนวทางการจัดโซนนิ่ง ควรแบ่งดังนี้

1.โซนที่ดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเปิดให้เฉพาะนักวิจัย และนักศึกษาเข้าไปศึกษาได้ แต่ไม่เปิดให้ท่องเที่ยวเข้าไป

2. Intensive Use Zone เป็นเขตที่มีประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ มี พ.ร.บ.อุทยานฯ มาตรา 63 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่ควบคุมชาวบ้านมาใช้ประโยชน์ โดยมีการป้องกันไม่ให้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศดั้งเดิม หรือส่งผลให้เกิดการใช้ประโยชน์ในทางลบต่อพื้นที่อุทยาน โซนนี้ตัวกฎหมายก็เปิดทางให้ประชาชนมาใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมอยู่เดิมแล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ หน่วยงานเกี่ยวข้องจะคัดกรองคนที่มาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งเป็นชาวบ้านดังเดิมได้อย่างไร และต้องแยกเอานายทุนที่แฝงตัวออกมาได้อย่างไร

"จากการวิจัยศึกษาข้อมูลการใช้พื้นที่ทับซ้อนระหว่างชาวบ้านกับอุทยาน เฉพาะพื้นที่ ต.ไทยสามัคคี ตั้งแต่โซนที่อยู่ด้านซ้ายมือของถนน 304 เข้าไปยังอุทยาน ควรจัดการให้เอกสารสิทธิกับคนที่ยากไร้จริงๆ และเป็นผู้พัฒนาชาติไทยในยุคก่อน ส่วนโซนด้านขวามือ ควรจัดการที่ดินให้เป็นการใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมแบบป่าไม้ เพราะตอนนี้ พ.ร.บ. ป่าไม้มีการส่งเสริมให้ปลูกไม้มีค่า จึงควรทำการเกษตรที่เกี่ยวกับป่าไม้ ไม่ใช่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่วนพื้นที่อีกบางส่วน ควรพัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่า เพราะพื้นที่นี้เป็นที่ราบที่อยู่บนสันเขา แต่ต้องจัดโซนนิ่งให้ชัดเจน"

...

พื้นที่ทับลานที่มีปัญหาทับซ้อนอยู่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบทั้งหมด แต่พื้นที่ราบเหล่านี้ก็เป็นพื้นที่ถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เพราะช้างป่าในทับลานตอนนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ถ้ามีการประกาศให้พื้นที่ที่มีปัญหาเป็นพื้นที่การเกษตร สุดท้ายก็จะเป็นเหมือนพื้นที่อ่างฤาไน ที่ช้างป่าจะบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้รัฐต้องมีการชดเชย แก้ปัญหาโดยการใช้งบประมาณแบบไม่รู้จบ

ทางออกในแนวทางการจัดการพื้นที่ทับซ้อนระหว่างชาวบ้านกับอุทยาน มีหลักการที่ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) สำรวจผู้ครอบครอง หากเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่จริง และอยู่มาก่อนการตั้งอุทยาน จะมีการจัดสรรพื้นที่ทดแทนให้ใหม่ ที่อยู่นอกเขตอุทยานให้ ซึ่งแนวทางนี้เรามีหลักการอยู่แล้ว และมีการบังคับใช้แล้วในพื้นที่อุทยานห้วยขาแข้ง แต่พื้นที่ทับลาน ก็ไม่รู้ว่าจะต้องมาออกกฎหมายให้พิสดารไปมากกว่านี้ ถึงจะจัดการปัญหาได้.