คุยกับ อธิบดีกรมอุทยานฯ กรณี #Saveทับลาน ชี้ไม่เอื้อผลประโยชน์นายทุน เผยที่ผ่านมามีการบุกรุกพื้นที่ป่า คนทำผิดต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย มองคำถามที่สังคมตั้งข้อสงสัย อาจเกิดจากความไม่ไว้ใจหน่วยงาน

#Saveทับลาน

แฮชแท็กสุดร้อนแรงแซงทุกกระแสขณะนี้ เกิดขึ้นหลังจากมีการพูดถึงกรณีเปิดรับฟังความเห็น ว่าจะปรับปรุงพื้นที่แนวเขต 'อุทยานแห่งชาติทับลาน' จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ให้เป็นไปตามแผนที่ ONE MAP เหตุดังกล่าวส่งผลให้กระแสสังคมมองว่า นี่คือการเฉือนพื้นที่ธรรมชาติหลักแสนไร่ ให้กลายเป็นของ ส.ป.ก. และถูกตั้งข้อสังเกตต่อว่า อาจเกิดการเอื้อประโยชน์แก่นายทุน

สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ทีมข่าวฯ จะขอพาทุกคนไปหาคำตอบ และทำความเข้าใจร่วมกัน ผ่านบทสัมภาษณ์จาก 'นายอรรถพล เจริญชันษา' อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 

ที่มาแนวคิดตัดพื้นที่ป่า 2.6 แสนไร่ : 

...

นายอรรถพล กล่าวว่า ความเป็นไปเป็นมา ผมขอสรุปสั้นๆ เพราะมันยาวมากว่า 40 ปีแล้ว โดยแต่เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นป่าสงวนมาก่อน มีการจัดที่ดินทำกินประมาณ 58,000 ไร่ ให้กับคณะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ในช่วงที่มีปัญหาคอมมิวนิสต์สมัยก่อน

ภายหลังมีการประกาศให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2524 แต่มันก็ไปทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านตรงนั้นด้วย เรียกได้ว่า 'ทับซ้อน' กัน ก็ไปเลยมีการเรียกร้องกันมาตลอด จนมาถึงปี พ.ศ. 2543 ที่ให้มีการรังวัดและปรับปรุงแนวเขตใหม่ เลยเป็นที่มาที่ไปของแนวเขตที่กำลังพูดถึงกัน

"อย่างไรก็ตาม แนวเขตนี้ไม่ได้ถูกประกาศให้ครบถ้วนขั้นตอนตามกฎหมาย คือไม่ได้มีการออกกฎหมายมา หมายความว่า พื้นที่ยังคงเป็นแนวเขตเดิมเหมือนปี 2524 ปัญหาเลยคาราคาซังมาจนถึงทุกวันนี้"

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวเสริมต่อไปว่า ระหว่างนั้นมีคนเข้ามาอยู่และบุกรุกเพิ่ม คนเก่าขาย คนใหม่มาซื้อที่ ตรงไหนมีทิวทัศน์ดีก็มีการปลูกสร้างรีสอร์ต ซื้อขายเปลี่ยนมือ จนขยายวงกว้างกลายเป็นชุมชนใหญ่ ที่มีพื้นที่ถึงประมาณ 265,000 ไร่ 

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เลยมีการประชุมหารือแนวทางผ่านคณะกรรมการ ONE MAP (คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000) ว่าควรจะต้องมีการจัดการบริหารพื้นที่ตรงนี้อย่างไร เพราะมีข้อเรียกร้องจากชุมชนเยอะมาก เนื่องจากติดอยู่ในเขตป่า

หลังจากนั้นจึงมีการนำเข้าคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เสนอ ครม.ให้ปรับปรุงแนวคิด โดยตัดพื้นที่ 265,000 ไร่ออกจากอุทยานฯ เพื่อให้เป็นที่ของ ส.ป.ก. (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) นั่นเป็นมติของ ครม. เมื่อ 14 มีนาคม 2566 

ไม่เอื้อประโยชน์นายทุน ผู้บุกรุกยังถูกดำเนินคดี : 

จากคำถามที่สังคมตั้งข้อสงสัย "ปรับแนวเขตเพื่อเอื้อนายทุนจริงหรือไม่?"

อธิบดีกรมอุทยานฯ ให้คำตอบว่า ไม่จริงครับ เพราะเจตนารมณ์ที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาคือการช่วยเหลือประชาชน เพียงแต่ว่าพื้นที่ตรงนั้น มีกลุ่มคนที่มีรีสอร์ต มีบ้านพักอยู่ด้วย สังคมเลยมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มนี้ 

"แต่ต้องเรียนว่ากลุ่มนี้ทำผิด และถูกดำเนินคดีอยู่แล้ว 495 คดี กินพื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่ ซึ่ง ครม.ไม่ได้ยกเว้นกลุ่มนี้ มติที่ออกมาใครทำผิดก็ต้องว่าไปตามผิด และกระบวนการตามกฎหมาย"

...

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ต้องเรียนให้เข้าใจว่า ขณะนี้พื้นที่ป่ากว่า 265,000 ไร่ กลายเป็นที่ทำกิน เป็นบ้าน เป็นชุมชน เป็นรีสอร์ต คนที่อยู่ในพื้นที่คละกันไปหมด ทั้งคนมีสิทธิ์เดิมที่ยังอยู่ไม่ได้ขายต่อ ทั้งคนที่มาซื้อใหม่เปลี่ยนหลายมือ จนมาถึงคนที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองโดยมิชอบ 

"495 คดี ที่เราต้องดำเนินตามกฎหมาย เพราะเขาเปลี่ยนมือ มาซื้อที่เอาทีหลัง ที่จริงมันไม่สามารถซื้อขายได้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นที่ดินของรัฐ และสุดท้ายมันก็จะออกโฉนดไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่ของรัฐมาก่อน ยกเว้นว่าพื้นที่ตรงนั้นมีหลักฐานเดิม เช่น การออกเฉพาะราย"

นายอรรถพล แสดงความคิดเห็นว่า ขณะนี้ที่สังคมมองว่า พื้นที่จะถูกเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเมื่อไปอยู่กับ ส.ป.ก. อาจเกิดจากการที่คนมองว่า หากไม่ใช่พื้นที่ป่าแล้ว อาจนำที่ไปเปลี่ยนมือได้ คนเลยมีความรู้สึกไม่เชื่อมั่น ไม่ไว้วางใจในตรงนี้ แล้วมันอาจจะทำให้กลายเป็นกรณีตัวอย่าง ที่ขยายผลในอนาคตได้มากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่าทาง สคทช. ก็คำนึงถึงตรงนี้เหมือนกัน ไม่ได้ละเลยส่วนใด

...

ผลลัพธ์ที่ต้องรอพิจารณา : 

นายอรรถพล ระบุว่า มติของ ครม. มีเจตนาดีต่อประชาชนในพื้นที่ ไม่ได้ยกเว้นเรื่องคนทำผิดกฎหมาย ยังคงให้สิทธิ์เฉพาะคนที่มีคุณสมบัติ เพียงแต่ว่าเมื่อมีมติ ครม. ทางกรมอุทยานฯ ก็ต้องมาดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นก่อน เพราะกฎหมายระบุไว้แบบนั้น ขณะที่กำลังรับฟังความคิดเห็นก็เกิดกระแสขึ้นมา

ตามความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ เขาก็อยากให้ปรับแนวเขตตามมติ ครม. ซึ่งเราจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดจากการรับฟัง ไปเข้าคณะกรรมการอุทยานฯ พิจารณาว่า พื้นที่กว่า 265,000 ไร่ จากมติเดิมของ ครม. คณะกรรมการจะยึดตามนี้ไหม หรือจะมีการเสนอแนวคิดเพิ่ม

...

"เช่น จะให้เฉพาะคนที่ควรรับสิทธิ์ชุดแรกก่อนสมัย 58,000 ไร่ ก็ต้องรอการพูดคุยกันในคณะกรรมการอุทยานอีกที ถ้าคณะกรรมการมีมติอย่างไร เราก็จะเสนอผ่าน สคทช. ไปสู่รัฐบาล เพื่อพิจารณาต่อไป หรือถ้าเห็นตามเดิมก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณาปรับปรุง"

จากนี้อาจจะต้องมาคุยกันก่อนว่า ถ้าสังคมยังไม่เห็นด้วยกับการที่จะยกทั้งหมด ต้องพิจารณาว่ามีส่วนใดที่อาจจะต้องได้รับสิทธิ์ก่อนเพื่อนไหม ส่วนที่พวกเขาควรได้รับสิทธิ์ระดับแรก เช่น ราษฎรผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ในพื้นที่เดิมที่เคยจัดตั้งแต่สมัย 58,000 ไร่ ให้พวกเขาไปก่อน ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องไปพิจารณาในชั้นคณะกรรมการ

การประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป ในพื้นที่จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว และ จ.นครราชสีมา
การประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป ในพื้นที่จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว และ จ.นครราชสีมา

ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ได้ง่าย : 

อธิบดีกรมอุทยานฯ ย้ำว่า พื้นที่ป่ายังคงเหมือนเดิมใน 1.4 ล้านไร่ ไม่ได้ถูกตัดออกไป ตอนนี้กระแสสังคมเริ่มมีการสืบค้นข้อเท็จจริง หลายคนเริ่มรู้แล้วว่านี่ไม่ใช่การตัดป่า แต่ประเด็นอยู่ที่การให้สิทธิ์กับผู้ที่จะได้รับ มันเหมาะสมไหม ยุติธรรมหรือเปล่า หรือมีการเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือเปล่า 

เราเห็นใจประชาชนที่อยู่กันมา รัฐบาลพยายามแก้เรื่องนี้กันมานานมาก ทาง สคทช.มีการประชุมตลอด กลั่นกรองหลายขั้นเยอะแยะไปหมด จนมีมติ ครม.ออกมา แต่ตอนนั้นมติ ครม.ไม่ดัง เลยเหมือนว่าทุกคนเห็นด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไปตอนนี้กลายเป็นเหมือนจุดกระแส บวกกับสังคมอาจจะรู้สึกไม่ไว้วางใจ เพราะเคยเกิดข่าวเกี่ยวกับ ส.ป.ก.ที่ผ่านมา คำถามต่างๆ ตามโซเชียลมีเดียจึงเกิดขึ้น 

อรรถพล เจริญชันษา
อรรถพล เจริญชันษา

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาการดำเนินงานของหน่วยงานติดขัดส่วนไหน?

นายอรรถพล ชี้ว่า ในพื้นที่มีทั้งคนถูกและคนผิด ผิดน้อย ผิดปานกลาง ผิดมาก ผสมกันเต็มไปหมด ดังนั้น จะใช้มาตรฐานเดียวกันแก้ไขก็ไม่ได้อีก เรื่องของการคัดกรองคุณสมบัติของผู้อาศัยและทำกิน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ มันไม่ใช่เรื่องที่แก้ง่ายๆ เพราะทับซ้อนกันหมด

"อยากให้เข้าใจถึงข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจริงๆ เพราะเรื่องเริ่มจากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน อยากให้มองทั้งมิติการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน มองทั้งมิติการดูแลรักษาพื้นที่ บนพื้นฐานของการให้ความยุติธรรม โดยไม่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใด"

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :