ไฟไหม้เยาวราช ในชุมชนตรอกโพธิ์ สร้างความเสียหายกว่า 66 หลังคาเรือน ภายใต้ข้อจำกัดเมืองที่ขยายตัว ทำให้การทำงานของนักดับเพลิงค่อนข้างยาก “นักดับเพลิงชั้นครู” มองว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ต้องลงทุนวางระบบหัวจ่ายน้ำดับเพลิง ที่มีแรงดันน้ำสูง และไม่ต่อพ่วงกับประปา ถึงจะช่วยระงับเหตุไฟไหม้รุนแรง หรือตึกสูงได้ทัน

ไฟไหม้เยาวราช เมื่อกลางดึกวันที่ 6 ก.ค. 67 เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชน ภายในชุมชนตรอกโพธิ์ พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ และด้วยความเป็นพื้นที่ชุมชน ทำให้รถน้ำที่ใช้ในการดับเพลิงเข้าถึงยาก และพื้นที่ส่วนนึงเป็นชุมชนขนาดใหญ่ กว่าเจ้าหน้าที่จะทำการควบคุมเพลิงได้ต้องใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง เบื้องต้นมีการสรุปความเสียหายส่งผลกระทบต่อประชาชน 37 ครัวเรือน บ้านจำนวน 66 หลังคาเรือน ลุกลาม โรงแรมนิวเอ็มไพร์ เสียหายที่ชั้น 4, 5 และชั้นที่ 6 ลุกลามร้านหูฉลามเฉลิมบุรี เสียหายชั้นที่ 4, 5 และลุกลามภัตตาคารไต่เซ๊ง เสียหายชั้นที่ 4, 5 พื้นที่เพลิงไหม้เสียหายประมาณ 1 ไร่ 80 ตารางวา และมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย จากการสำลักควัน และถูกไฟช็อต

...

เหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนนึงเป็นชุมชนแออัด ซึ่งมีบ้านเรือนติดกัน ทำให้เวลาเกิดเพลิงไหม้ควบคุมได้ยาก และพื้นที่ตึกสูงเป็นอีกปัจจัย ที่นักดับเพลิงชั้นครู มองถึงการวางระบบดับเพลิงที่กรุงเทพฯ ต้องมีการวางระบบใหม่ให้ทันกับเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

“ชาติชาย ไทยกล้า” ผู้อำนวยการสถาบันฝึกดับเพลิง และกู้ภัยชั้นสูง ทาฟต้า นักผจญเพลิงดับไฟป่าชั้นครู เล่าถึงเหตุไฟไหม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ต้นเหตุของไฟไหม้ส่วนใหญ่ มาจากไฟฟ้าลัดวงจร โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตราฐาน ซึ่งตอนนี้นำเข้ามาขายในไทยจำนวนมาก เช่น ปลั๊กไฟ ที่มีการต่อพ่วงใช้งานหลายอุปกรณ์ไฟฟ้า และเจ้าของบ้านไม่มีการดึงปลั๊กออกหลังไม่ได้ใช้งาน ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร และเกิดไฟไหม้ในชุมชน

“ประกอบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภท ไม่ได้มาตรฐาน และต้องใช้ไฟฟ้ามากกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตราฐาน เช่น หม้อต้มสุกี้ เมื่อใช้งานนาน ก็เกิดการสึกหรอ ทำให้ไฟฟ้าลัดวงจร”

พื้นที่กรุงเทพฯ ต้องยอมรับว่ามีชุมชนที่มีบ้านเรือนติดกัน หรือชุมชนแออัดซ่อนตัวอยู่ตามซอยต่างๆ จำนวนมาก ขณะเดียวกัน มีชุมชนแออัดใหม่เกิดขึ้น เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ มีการขยายตัว ดังนั้น หน่วยงานเกี่ยวข้องควรมีการวางระบบท่อน้ำที่ใช้ในการดับเพลิงในพื้นที่เหล่านี้ให้เพียงพอ เช่น ชุมชนใต้ทางด่วน ควรมีการเดินสายท่อน้ำที่ใช้ในการดับเพลิงมาตามแนวทางด่วน เพราะเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ สามารถใช้น้ำในการดับเพลิงได้ทันที

ระบบน้ำดับเพลิง ยังเป็นปัญหาที่นักดับเพลิงต้องเผชิญค่อนข้างหนัก เพราะยังไม่มีการวางระบบน้ำดับเพลิงที่มีแรงดันสูง หรือบางพื้นที่มีหัวน้ำดับเพลิง แต่อยู่ห่างไกลจากตัวชุมชน ทำให้เมื่อเกิดเหตุ แรงดันน้ำไปไม่ถึงภายในตัวชุมชน ขณะเดียวกันระบบน้ำดับเพลิง ไม่ควรไปพ่วงกับระบบน้ำประปา ที่มีแรงดันน้ำต่ำ ต่างจากในต่างประเทศ แรงดันน้ำดับเพลิงอยู่ที่ 150 ปอนด์ ซึ่งแรงดันน้ำแรงกว่ารถน้ำดับเพลิงที่ใช้อยู่

...

กรุงเทพฯ ควรวางระบบน้ำดับเพลิง ป้องกันเพลิงไหม้ในชุมชน

เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ ประชาชนต้องรอการมาของรถดับเพลิง แต่ “ชาติชาย” มองว่า ควรมีการวางระบบน้ำดับเพลิง ที่เป็นประปาหัวแดง หรือหัวจ่ายน้ำดับเพลิงใหม่ ให้มีแรงดันน้ำที่สูงกว่าระบบประปา โดยต้องเดินท่อไปตามถนน แนวรถไฟฟ้า และทางด่วน เมื่อแนวท่อถึงชุมชนไหน ก็ต้องท่อน้ำดับเพลิงเข้าไปในชุมชน ซึ่งแนวท่อนี้รถดับเพลิงสามารถต่อไป ทำเป็นสถานีย่อยเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ในพื้นที่ได้ ปลายท่อจะสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ต้องแบ่งเป็นตามจุดประมาณ 4-5 จุดทั่วกรุงเทพฯ

หลายพื้นที่ชุมชนในกรุงเทพฯ มีบ้านเรือนจำนวนมาก แต่มีหัวจ่ายน้ำดับเพลิงแดงของประปา อยู่แค่ 1 หัว ซึ่งถ้ามีเหตุไหม้ร้ายแรง นักดับเพลิงต่อน้ำจากหัวจ่ายน้ำ เพียงแค่ 2 หัว น้ำก็ไหลไม่เพียงพอ ทำให้ต้องเรียกรถบรรทุกน้ำดับเพลิงเข้ามาช่วยสมทบ แต่กว่ารถบรรทุกน้ำจะเข้ามาถึงพื้นที่ก็ต้องฝ่ารถติด จนเพลิงไหม้ลุกลามเป็นวงกว้าง

“น้ำประปาหัวแดง ที่ใช้ดับเพลิง หลายพื้นที่ไม่สามารถต่อไปใช้ดับเพลิงได้ทันที เพราะแรงดันน้ำไม่พอ เลยต้องต่อสายเพื่อนำน้ำจากประปาหัวแดง มาใส่ในรถดับเพลิง ให้เกิดแรงดันน้ำ สามารถฉีดดับเพลิงในจุดที่สูง หรืออยู่ห่างไกลได้ ต่างจากในต่างประเทศ หากเป็นพื้นที่ใกล้ตึกสูงและศูนย์การค้า หัวดับเพลิงจะมีแรงดันน้ำสูง สามารถต่อท่อและฉีดได้ทันที ไม่ต้องต่อไปพักน้ำในรถดับเพลิงและเพิ่มแรงดันน้ำอย่างของบ้านเรา”

...

การป้องกันเหตุไฟไหม้ที่สำคัญคือ คนในชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ สามารถนำถังดับเพลิงไประงับเหตุได้ทันที หรือก่อนที่ดับเพลิงจะมา ถ้ามีท่อดับเพลิงขนาดเล็ก ที่คนในชุมชนสามารถระงับเหตุเบื้องต้นได้ ก็จะช่วยทำให้ระงับเหตุไฟไหม้ที่ไม่ขยายวงกว้าง ได้ก่อนที่หน่วยดับเพลิงจะมา.