"เขาอยากทำอะไรก็ทำ" เปิดใจ 'ไรเดอร์' งานเยอะรายได้น้อย เรียกร้องรัฐแก้ปัญหา โดยเฉพาะการกำหนดราคากลาง วอนช่วยให้มีตัวตน และสวัสดิการทางกฎหมาย
หลังจากที่เราได้สนทนากับ สมชาย หอมลออ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไปแล้ว ก็ทำให้ทราบว่า ทาง กสม. มีติชัดเจนว่า กรณีที่แพลตฟอร์มไม่นับไรเดอร์เป็นลูกจ้าง ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ควรมีการปรับแก้กฎหมาย เพื่อคืนสิทธิอันพึงมีแก่พวกเขา
วันนี้ ทีมข่าวฯ ต่อสายตรงถึง เบล-จักรศิริ ระเบียบโลก กรรมการสมาคมไรเดอร์ไทย รักษาการแทนนายกสมาคมฯ เพื่อชวนพูดคุยถึงปัญหาที่ไรเดอร์เจออยู่ ซึ่งคุณเบลบอกกับเราว่า ปัญหาอาจจะมียิบย่อยมากมาย แต่หลักๆ มีเพียง 3 ข้อ ที่ทางสมาคมพยายามเรียกร้องมาโดยตลอด
...
อยากให้มีการกำหนดราคากลาง :
ปัญหาแรกที่รักษาการนายกสมาคมฯ กล่าวกับเราคือเรื่อง ราคากลาง โดยจักรศิริ ระบุว่า การกำหนดราคากลางเป็นสิ่งที่พวกเราอยากได้ เพราะตอนนี้ไม่มีแพลตฟอร์มไหนเลยที่มีราคากลาง เราอยากให้รัฐเข้ามาช่วยกำหนดเรื่องนี้
ตัวอย่างราคากลาง เช่น แท็กซี่ หรือวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งกฎหมายจะกำหนดเลยว่า สิ่งรถระยะทางเท่าไร ผู้โดยสารต้องจ่ายเท่าไร แต่สำหรับไรเดอร์ไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ ทำให้แพลตฟอร์มอยากจะลดราคารอบวิ่งเมื่อไรหรือเท่าไรก็ได้
"ตอนนี้กลายเป็นว่า เกิดการแข่งขันลดราคาเพื่อดึงลูกค้าเข้าใช้แพลตฟอร์มตนเอง ทำให้ไรเดอร์ต้องทนรับงาน โดยไม่มีอะไรช่วยเป็นสื่อกลางให้ไรเดอร์ มีปากมีเสียงกับแพลตฟอร์ม มีอาชีพที่ไหนบ้างนอกจากไรเดอร์ ที่ยิ่งทำงานเหมือนเงินยิ่งลด"
จักรศิริ กล่าวต่อว่า วอนรัฐหรือใครช่วยเข้ามากำหนดราคากลางหน่อยได้ไหม ใช้วินมอเตอร์ไซค์หรือแท็กซี่เป็นแม่แบบก็ได้ ไรเดอร์ควรมีราคากลางที่แน่นอน ส่วนบริษัทอยากทำโปรโมชันอะไร เพื่อดึงลูกค้ายังไง ก็ให้อยู่ที่การตัดสินใจของพวกเขา
ยิ่งทำงานรายได้ยิ่งลด :
เผื่อคุณผู้อ่านจะนึกภาพปัญหาแรกไม่ชัดเจน กรรมการสมาคมไรเดอร์ไทยจึงได้ยกตัวอย่างให้เข้าใจว่า อดีตกับปัจจุบันค่อนข้างต่างกันครับ ผมตั้งราคาเป็นเลขกลมๆ นะ ในระบบแพลตฟอร์มพวกนี้ ขั้นต้นเขาจะถล่มราคาลงมาให้ลูกค้าเห็นว่าถูก ซึ่งมันเป็นกลไกวิธีทำงานของเขา ส่วนรายได้วิ่งงานของเรามันลดลงจาก 100 บาท เหลือ 60 บาท และลงมาเหลือ 30 บาท จนตอนนี้เหลือไม่ถึง 30 บาทแล้ว ยิ่งมาเจองานพ่วงอีกก็หนักเข้าไปใหญ่
"อย่างงานนึงเราได้ 30 บาท แต่ 2 งานเราได้ 45 บาท ทำไมถึงไม่ใช่ 60 บาทอย่างที่ควรเป็น แล้วเดี๋ยวนี้งานพ่วงเพิ่มขึ้นเป็น 3 งาน แทนที่ควรจะได้ 90 บาท ตอนนี้เหลือ 50 บาท ผมเห็นข่าวล่าสุดเมื่อวานนี้ เจอไป 5 งาน แทนที่จะได้ 150 บาท เขาก็มันไม่ถึง เพราะตอนนี้แพลตฟอร์มแข่งขันกันลดราคาเพื่อดึงลูกค้าให้มาใช้ แต่ตัวไรเดอร์กลับต้องเป็นคนรับภาระ"
เราถามว่า คุณเบลมีรายได้ต่อวันประมาณเท่าไร?
จักรศิริ ตอบว่า พอสมควรครับ เพราะผมวิ่งวันนึงประมาณ 12 ชั่วโมง เพราะไรเดอร์รับงานเป็นรายชิ้น ยิ่งทำมากเราก็ได้เงินมาก แต่ว่าถ้าเป็นเมื่อก่อนผมทำงาน 12 ชั่วโมง อาจจะได้ประมาณ 1,500 บาท ตอนนี้เหลือ 1,000 ต้นๆ ผมเลยบอกว่าตอนนี้รายได้ลดลง หรือถ้าฝนตกปริมาณการสั่งซื้ออาจจะเยอะขึ้นจริง แต่ว่าเราก็ต้องแบกรับความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุ
...
ปิดระบบทำงานโดยไม่ได้ชี้แจง :
เข้าสู่ข้อเรียกร้องที่ 2 จักรศิริ ระเบียบโลก บอกว่า เป็นเรื่องของการที่บริษัทบีบบังคับไรเดอร์ โดยการแบนเพราะลูกค้าร้องเรียน ซึ่งบางทีไรเดอร์ทำถูกต้องทุกอย่างอยู่แล้ว แต่บริษัทเชื่อฟังลูกค้าอย่างเดียว ไรเดอร์ไม่สามารถที่จะอุทธรณ์ต่อแพลตฟอร์มได้ บางคนอาจจะทำผิดจริง แต่บางคนเขาไม่ได้ทำผิด ถึงอย่างนั้นผมก็มองว่าไม่ควรปิดระบบ โดยยังไม่มีการพูดคุย
ทุกวันนี้ถ้ามีการแจ้งหรือร้องเรียน แพลตฟอร์มจะปิดระบบไรเดอร์ไปก่อน แล้วค่อยมาสอบสวน ซึ่งมันไม่ถูกต้อง จริงๆ บริษัทควรมีช่องทางติดต่อกับไรเดอร์ อาจจะทำระบบผ่านหน้าแอปก็ได้ ผมว่าเขาทำได้ ไม่ใช่เรื่องยาก
คุณเบล ยกตัวอย่างให้ฟังว่า เช่น 20.00 น. คอลเซ็นเตอร์ปิดรับบริการ ไรเดอร์ส่งอาหารไม่ได้เพราะติดต่อลูกค้าไม่ได้ ส่วนลูกค้าก็ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้ ไรเดอร์แก้ปัญหาโดยนำอาหารกลับ พอตอนเช้าลูกค้าร้องเรียนว่า เมื่อคืนรอหน้าบ้านแต่ไรเดอร์ไม่มาส่ง สุดท้ายไรเดอร์โดนปิดระบบไปก่อน
"เรื่องนี้เลยเป็นปัญหา เพราะหากไรเดอร์ไม่ได้ทำผิดจริง แต่แพลตฟอร์มเลือกปิดระบบไปเลย 3-5 วัน พอรู้ว่าไม่ได้ทำผิดก็กลับมาเปิดระบบให้ แล้ววันที่ผ่านมาเขาเสียรายได้ไปเท่าไร ไรเดอร์บางคนอาจจะเป็นเสาหลักของครอบครัว อย่างผมทำงานคนเดียว เพราะแฟนมีลูกเล็ก ถ้าผมโดนแบนไป 3 วัน รายได้ผมขาดไปกี่บาท"
...
ไรเดอร์ไร้ตัวตน :
"ตัวสถานะของไรเดอร์ เหมือนคนไร้ตัวตน" ประโยคเปิดที่จักรศิริ ใช้ระบุถึงปัญหาข้อสุดท้าย!
รักษาการแทนนายกสมาคมฯ กล่าวว่า ทุกวันนี้ไม่มีสถานะรับรองทางกฎหมาย และยังไม่มีการขึ้นทะเบียนว่าคนนี้ทำอาชีพเป็นไรเดอร์ ซึ่งการทำงานผ่านแพลตฟอร์มมันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว อาชีพนี้มีมานับ 10 ปีแล้ว เราอยากให้ไรเดอร์กลายเป็นอาชีพได้บ้าง
การเป็นคนที่เหมือนไร้อาชีพ ทำให้เราเกิดปัญหาบางอย่าง เช่น ไปธนาคารก็ไม่สามารถทำเรื่องขอกู้ได้ เพราะพอบอกว่าเป็นไรเดอร์ ธนาคารเขาก็จะมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีการขึ้นทะเบียน จึงไม่สามารถทำได้
"ผมแค่อยากให้ไรเดอร์มีสถานภาพ และมีตัวตนในสังคมอย่างชัดเจนตามกฎหมาย" จักรศิริย้ำกับเรา
เมื่อถามว่า มีปัญหาอื่นใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เราได้รับคำตอบว่า อาจจะมีพวกเรื่องราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอยากให้รัฐช่วยควบคุมราคาของจำเป็นเหล่านี้ ส่วนเรื่องการบำรุงรักษารถ ผมยังพอเข้าใจได้ว่าเราต้องทำเอง เพราะนี่เป็นรถของเรา แล้วก็คงไม่มีปัญหาอื่นแล้ว หลักๆ ขอแค่แก้ 3 ข้อ ที่กล่าวไปให้ได้
...
วอนรัฐดูแลไรเดอร์ :
จักรศิริ ระเบียบโลก ตอบคำถามที่เราถามว่า ทางสมาคมฯ จะมีการเคลื่อนไหวใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ไว้ว่า ด้วยความที่เราเป็นสมาคมเราก็ต้องเคลื่อนไหวผ่านทางรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐ ถ้าจะให้ไปจัดเดินประท้วงก็อาจจะไม่ใช่เรื่องถูกต้อง และอีกอย่างพอทำไปแล้วบริษัทเขาก็ไม่ได้สนใจเท่าไร เราเลยต้องเดินหน้ากับทางหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว
เมื่อถามถึง ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. … ที่โฆษกกระทรวงแรงงาน เคยเปิดเผยว่า กระทรวงฯ กำลังเร่งผลักดันว่า คุณเบลคิดเห็นอย่างไรบ้าง?
กรรมการสมาคมฯ ตอบว่า ผมต้องเรียนตามตรงว่า ยังไม่ได้เห็นร่างกฎหมายโดยละเอียด แต่เท่าที่ทราบมาคร่าวๆ มองว่ายังไม่ค่อยโอเคสักเท่าไร ภาพรวมที่ได้เห็นมายังไม่ตอบโจทย์ครับ เพราะอาชีพอิสระหากจะให้ระบุเป็นการทำงานว่าต้องทำกี่ชั่วโมงต่อวัน ผมว่าทำไม่ได้ เพราะเราต้องการทำงานเป็นรายชิ้น ยิ่งทำมากเราก็ได้เงินมาก
คุณเบลกำลังจะบอกว่า สามารถทำงานเกิน 8 ชั่วโมงได้ แต่หลักๆ ขอราคากลาง?
"ใช่ครับ" เขาตอบ
จักรศิริ ระเบียบโลก ฝากทิ้งท้ายว่า อยากให้รัฐบาลลงมาช่วยเหลือดูแลอาชีพไรเดอร์ ที่เหมือนไม่มีตัวตนอยู่ ณ ตอนนี้ ให้มีตัวตนสักทีครับ เพราะการที่เราไม่มีตัวตนในทางกฎหมาย มันมีผลไม่ดีมากมายตามมา
"อย่างกรณีที่มีแพลตฟอร์มประกาศปิดตัว มันเป็นหนึ่งตัวอย่างที่บอกว่า นี่แหละคือผลของการที่รัฐไม่เข้ามาดูแลอย่างเข้มข้น ทำให้บริษัทอยากจะทำอะไรก็ทำได้ โดยที่ไม่ได้สนใจเลยว่าไรเดอร์จะเป็นยังไง ถ้ามีการระบุอาชีพเราในกฎหมายอย่างถูกต้อง การจะทำแบบนี้บริษัทกับเราก็จะต้องคุยกันก่อน ตรงนี้แหละที่ผมอยากให้ไรเดอร์มีตัวตน มีสถานะ มีการคุ้มครองจากรัฐบาล"
.........
อ่านบทความที่น่าสนใจ :