ไรเดอร์ ติดกับดัก "งานลด คนหน้าใหม่ล้น" เฉลี่ยวิ่งวันละประมาณ 30 งาน ถึงได้เงิน 1,000 บาท แบกรับความเสี่ยงรอบทิศ พักผ่อนน้อยอุบัติเหตุเพิ่ม ขณะที่แพลตฟอร์มสร้างเงื่อนไขผูกมัด ทำให้หลายคนทยอยเลิกอาชีพนี้

การปิดตัวของแพลตฟอร์มไรเดอร์รายหนึ่ง ทำให้เห็นถึงปัญหาของคนทำงานไรเดอร์มากขึ้น เพราะหลายคนประสบปัญหางานน้อย แต่ต้องแบกรับกับความเสี่ยงรอบทิศ

อนุกูล ราชกุณา ผู้ประสานงานเครือข่ายสหภาพไรเดอร์ เล่าว่า สถานการณ์ไรเดอร์ตอนนี้ มีคนที่วิ่งงานมากกว่าจำนวนงานที่มีในแต่ละวัน แถมแพลตฟอร์มยังซ้ำเติมโดยการกระจายงานให้ไรเดอร์ไม่เท่าเทียม ทำให้งานไปกองอยู่ที่ไรเดอร์บางกลุ่ม ที่ทางผู้ประกอบการต้องการจะเอื้อประโยชน์ให้ เพราะไรเดอร์แต่ละค่าย มีการรับงานซ้อนตั้งแต่ 2–3 งาน ขณะที่ไรเดอร์อีกกลุ่ม โดยเฉพาะคนที่ทำมานาน จะมีการจ่ายงานให้น้อย ซึ่งเล่ห์กลเหล่านี้ ตัวแพลตฟอร์มทำเพื่อจะได้ให้มีราคาในการขนส่งที่ถูกลง และทำโปรโมชันลดราคาได้มากขึ้น เพราะงานที่รับซ้อนตัวที่ 2 และ 3 ไรเดอร์จะได้ค่าขนส่งลดลงจากออเดอร์แรก

...

"ด้านแอปพลิเคชันที่ปิดตัวไป ยังไม่มีความชัดเจนในการเยียวยา เพราะมีไรเดอร์ที่สมัครเข้ามาใหม่ จ่ายค่ายูนิฟอร์ม ค่าสมัคร แถมยังมาไล่บี้ค่าสินเชื่อที่ปล่อยให้ไรเดอร์กู้ยืมภายในเดือนนี้ ถือเป็นการรีดเลือดกับปู เพราะไรเดอร์ก็ไม่ค่อยมีงานอยู่แล้ว ขณะเดียวกันปัญหาในภาพรวม ไรเดอร์ต้องเจอกับค่ารอบที่ได้น้อยลง ไม่มีหลักประกันรายได้และอาชีพ ซึ่งไรเดอร์ยังไม่มีนิยามของกฎหมายที่คุ้มครองการทำงาน"

กลวิธีเหล่านี้เป็นกับดักที่เจ้าของแอปพลิเคชัน พยายามรับสมัครไรเดอร์หน้าใหม่ให้เข้ามามากขึ้น เพราะปัจจัยที่ทำให้บริษัทผู้ดูแลแอปพลิเคชันอยู่ได้ เกิดจากไรเดอร์หน้าใหม่ ที่มีการจ่ายงานให้มาก รับงานซ้อนได้ โดยตัวบริษัทสามารถทำโปรโมชันส่วนลดเพื่อจูงใจลูกค้า ส่วนไรเดอร์ที่ทำงานมาประมาณ 3 ปี เหมือนถูกขูดรีดความมั่งคั่งไปหมดแล้ว เพราะสมรรถภาพของรถและสุขภาพของคนขับก็ถูกใช้งานมาพอสมควร

ไรเดอร์หน้าใหม่ ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์จากการจ้างงานในลักษณะนี้ จึงค่อนข้างเชื่อฟังผู้บริหารแพลตฟอร์ม ซึ่งไม่มีการเปิดเผยจำนวนของไรเดอร์หน้าใหม่ แต่เขาจะมีการตุนไรเดอร์คนหน้าใหม่ไว้ หากไรเดอร์กลุ่มเดิมพร้อมใจประท้วงหยุดงาน ก็สามารถให้ไรเดอร์หน้าใหม่ออกมารับงานแทนได้ทันที


ไรเดอร์ ทำงานหนัก รายได้ต่ำ บนความเสี่ยงชีวิต

อนุกูล เล่าว่า ถ้าเทียบรายได้ของไรเดอร์จากเดิมที่ 1 เดือน มีรายได้ 20,000–25,000 บาท ขึ้นอยู่กับความขยันวิ่งงาน แต่ตอนนี้การจะวิ่งงานได้เดือนละ 20,000 บาท ต้องทำงานหนักกว่าเดิมอีกเท่าตัว เพราะมีงานพ่วงมากขึ้น แถมค่าตอบแทนลดลง ซึ่งถ้าเทียบเป็นจำนวนงาน วิ่งแค่ 10 งานต่อวัน ได้เงินประมาณ 1,000 บาท ทำให้มีเวลาพักผ่อน แต่ทุกวันนี้ไรเดอร์ต้องวิ่งงานประมาณ 30 งาน ทำให้พักผ่อนน้อย ยิ่งอยู่บนถนนมากก็เสี่ยงอุบัติเหตุมากขึ้น ดังนั้น การปรับค่ารอบที่ให้ไรเดอร์ลดลง ก็สอดคล้องกับจำนวนอุบัติเหตุของไรเดอร์บนท้องถนนมากขึ้น

“รายได้ที่ไรเดอร์จะอยู่ได้ ควรมีรายได้วันละ 1,000 บาท แต่ทุกวันนี้ต้องวิ่งวันละประมาณ 30 งาน ถึงจะได้เงิน 1,000 บาท ด้วยความที่ภาครัฐไม่มีการควบคุมชั่วโมงการทำงานของไรเดอร์ ทำให้ผู้ที่ทำแพลตฟอร์มสามารถลดค่าจ้างงานต่อรอบได้ ซึ่งปกติจะมีช่วงเวลาที่คนสั่งอาหารมาก เช่น เวลาเช้าตั้งแต่ 6.00 น. ถ้าเป็นช่วงเย็นเวลา 19.00 น. หลังเลิกงาน ดังนั้นการที่นิยามมาว่า ไรเดอร์เป็นแรงงานอิสระ แต่ในความจริงแล้วก็มีกรอบเวลาลูกค้าที่สั่งอาหารในแต่ละช่วงเวลาอยู่”

...

รัฐบาลควรแก้นิยามการจ้างงานให้มีความคุ้มครองไรเดอร์ โดยต้องครอบคลุมว่า ไรเดอร์เป็นอาชีพที่ครอบคลุมคนทำงาน มีนายจ้างที่ชัดเจน มีการคุ้มครองชั่วโมงการทำงาน ซึ่งทำให้ค่าตอบแทนของไรเดอร์เพิ่มสูงขึ้นอย่างเหมาะสม ไม่อย่างนั้นการจ้างงานลักษณะนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้กับสังคม ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแทบจะไม่มีหลักประกันอะไรเลย

“ที่ผ่านมารัฐบาลมีการแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกึ่งอิสระ กลายเป็นการรับรองให้นายจ้าง แทนที่แรงงานจะได้รับการรับรองด้วยกฎหมายฉบับเดียวกัน เช่นเดียวกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม ก็พยายามสร้างเงื่อนไขในการผูกมัดให้ไรเดอร์ทำงานให้ผ่านระบบการกู้เงิน หรือการซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่ยังไม่เป็นธรรม” .