สถิติกองถ่ายต่างชาติเข้าไทย ครึ่งปีสร้างเม็ดเงินกว่า 3,500 ล้านบาท! อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ไม่หวั่น Jurassic World 4 กระทบสิ่งแวดล้อมซ้ำรอย The Beach ชี้มีมาตรการดูแลรัดกุม เชื่อข้อดีมากกว่าเสีย

กลายเป็นกระแสฮือฮาเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากภาพยนตร์ชื่อดังของฮอลลีวูดอย่าง จูราสสิค เวิลด์ 4 (Jurassic World 4) เตรียมยกกองบินลัดฟ้าข้ามมหาสมุทร มาถ่ายทำภาพยนตร์ที่ประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ตรัง กระบี่ และพังงา หลายฝ่ายเชื่อว่าการมาของหนังฟอร์มยักษ์เรื่องนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยยิ่งขึ้นไปอีก!

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สังคมกำลังตั้งข้อสงสัยต่อไปคือ การอนุญาตให้กองถ่ายต่างชาติใช้สถานที่ในประเทศ จะส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติหรือไม่ เพราะในอดีตเคยมีกรณีศึกษาให้เราได้พอเรียนรู้กันมาบ้างแล้ว

เราขอแวะเล่าสักนิดถึงกรณีที่ว่าข้างต้น… ย้อนกลับไปเมื่อปี 2541 ภาพยนตร์ฮอลลีวูด เรื่อง The Beach เลือกอ่าวมาหยา จ.กระบี่ เป็นสถานที่ถ่ายทำ แม้ว่าโลเคชันจะสวยต้องตาเพียงใด แต่ก็ยังไม่ถูกใจผู้สร้างอย่าง ทเวนตี้ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ พวกเขาจึงได้ขออนุญาตทางการไทย ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ ให้สอดคล้องกับบทประพันธ์มากที่สุด 

...

ทางผู้สร้างได้นำเครื่องจักรขนาดใหญ่ เช่น รถแบ็กโฮ ขุดสันทรายและชายหาด มีการย้ายพันธุ์พืชท้องถิ่นออกจากพื้นที่ นำเรือบรรทุกต้นมะพร้าวแล่นผ่านแนวปะการังน้ำตื้นขึ้นชายหาด อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐยังคอยอำนวยความสะดวก สั่งห้ามนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด ฯลฯ 

การกระทำดังกล่าว สร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสาธารณชนคนไทยบางส่วน จนเกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ลากยาวมากว่า 2 ทศวรรษ และในที่สุด 13 ก.ย. 2565 ศาลฎีกาพิพากษาให้กรมป่าไม้เยียวยาฟื้นฟูอ่าวมาหยา เหตุเป็นผู้อนุมัติให้เอกชนเข้าไป ส่วน ทเวนตี้ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ต้องจ่ายค่าชดเชย 10 ล้านบาท เพื่อช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูอ่าวมาหยา 

กรณีดังกล่าว จึงเป็นเหตุนำมาซึ่งความกังวลว่า Jurassic World 4 จะเดินทางซ้ำรอย The Beach หรือไม่?

เชื่อมาตรการเข้มข้นขึ้น ไม่หวั่นซ้ำรอยเดิม : 

สำหรับข้อสงสัยอันน่ากังวลข้างต้น 'นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช' อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวกับทีมข่าวฯ ว่า กรณีเรื่อง The beach ที่มีกระแสว่าทำลายสิ่งแวดล้อมของไทย เราต้องบอกว่าช่วงนั้นยังไม่มีระเบียบออกมาอย่างชัดเจน ว่าจะจัดการหรือดูแลอย่างไร จึงทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว แต่เมื่อปี 2552 ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีระเบียบออกมาแล้ว

"เมื่อก่อนเราไม่ได้คิดกันว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น เจ้าหน้าที่จึงไม่ได้กำหนดเงื่อนไข เพียงแต่อำนวยความสะดวกในการถ่ายทำ แต่หลังจากนั้นกรมอุทยานฯ ก็ได้วางขอบเขตให้ชัดเจนมากขึ้น และตอนนี้เชื่อว่ามาตรการต่างๆ จะเข้มข้นขึ้น ไม่สามารถทำอะไรได้เหมือน 20 ปีที่แล้ว นั่นเป็นภาพความผิดพลาดในอดีตที่เรายอมรับว่าเกิดขึ้นจริง"

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า สำหรับจูราสสิค เวิลด์ 4 ทางผู้สร้างได้วางเงินหลักประกันเอาไว้แล้ว ส่วนทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตามคณะถ่ายทำอย่างใกล้ชิด สำหรับการพิจารณาต่างๆ นั้น กรมการท่องเที่ยวจะพิจารณาแล้วว่า บทภาพยนตร์ไม่ทำให้เราเสื่อมเสีย ไม่มีผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับวัฒนธรรม ประเพณี จารีต สิ่งแวดล้อม เมื่อดูแล้วไม่มีอะไรขัดจึงอนุญาตไป 

"ส่วนทางกรมอุทยานฯ เขาได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า จูราสสิค เวิลด์ 4 ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่มีสิ่งแปลกปลอม ไม่มีพันธุ์พืชหรือสัตว์นอกถิ่น จึงอนุญาตการถ่ายทำ" อธิบดีกรมการท่องเที่ยวชี้แจงกับเรา

...

มาตราการดูแลสิ่งแวดล้อม : 

ทีมข่าวฯ ถามต่อไปว่า หากเกิดมีผลกระทบภายหลังต่อทรัพยากรธรรมชาติ หน่วยงานต่างๆ มีมาตรการดูแลอย่างไรบ้าง? 

อธิบดีการท่องเที่ยว ชี้แจงว่า ส่วนของกรมการท่องเที่ยวมีระบุไว้ชัดเจนใน พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 24 ว่า ในกรณีที่การสร้างภาพยนตร์มีผลกระทบ หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องดําเนินการปรับปรุงสิ่งดังกล่าวให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ทั้งนี้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

หากภาพยนตร์เข้าใช้สถานที่ถ่ายทำเขตพื้นที่ของกรมอุทยานฯ ทางนั้นเขาก็ได้มีกำหนดบทเฉพาะไว้แล้วว่า ให้วางหลักประกันการเข้าใช้พื้นที่ตามหลักเกณ์ที่กำหนด และหากภาพยนตร์มีผลกระทบ หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องดำเนินการปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะใช้หลักประกันนั้นในการดำเนินการฟื้นฟูและเยียวยา ที่กล่าวไปนั้นเป็นแนวทางที่หน่วยงานวางหลักกันไว้

...

"เขาต้องวางหลักประกันไว้ ถ้าเขาดำเนินการไม่ถูกต้องเราจะยึดหลักประกันแล้วมาดำเนินการให้ถูกต้อง และจะมีมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าไป" นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช กล่าวย้ำอีกครั้ง

ทีมข่าวฯ พบข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้จาก ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2552 โดยเราขอยกตัวอย่างมา ดังนี้ 

ข้อ 6 ผู้รับอนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ในอุทยานแห่งชาติ ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด แต่ไม่เกิน 10,000 บาท/วัน/เรื่อง สำหรับภาพยนตร์ไทย และไม่เกิน 50,000 บาท/วัน/เรื่อง สำหรับภาพยนตร์ต่างประเทศ

ข้อ 11 ผู้รับอนุญาต พนักงาน หรือคนงานของผู้รับอนุญาต ต้องไม่กระทำการใดๆ ที่จะเกิดผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่สภาพธรรมชาติหรือทำการใดๆ อันเป็นการรบกวน หรือเดือดร้อนรำคาญแก่คนหรือสัตว์ป่า

ข้อ 12 ผู้รับอนุญาต พนักงาน หรือคนงานของผู้รับอนุญาต ต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็น การฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ

...

ข้อ 13 ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนตามข้อ 11 และหรือข้อ 12 หรือคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ชอบด้วยกฎหมาย หัวหน้าอุทยานแห่งชาตินั้นๆ มีอำนาจสั่งห้ามมิให้ผู้นั้นกระทำการ ดังกล่าวต่อไปได้ 

ข้อ 14 ในกรณีที่เกิดความเสียหายกับทรัพย์สินของทางราชการ อันเนื่องมาจากการใช้ สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ผู้รับอนุญาตต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการ สำหรับการ ถ่ายทำภาพยนตร์ที่ต้องจัดทำฉากประกอบ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชอาจเรียกเงิน ค่าค้ำประกันความเสียหายตามอัตราที่อธิบดีกำหนด

ติดตาม-ดูแล-กำกับ อย่างใกล้ชิด : 

อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวต่อว่า ในทุกขั้นตอนของการผลิต จะมีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ดูแลตลอด แม้กระทั่งบทภาพยนตร์หรือเนื้อหาที่จะออกไป ก็ต้องมีการกำกับดูแลโดยกรมการท่องเที่ยวเหมือนกัน ว่าเป็นไปตามที่ขออนุญาตไหม ซึ่งตรงนี้จะมีคณะกรรมการอยู่หลายชั้น

ถ้ามีการปรับเปลี่ยนบทระหว่างถ่าย จะทำอย่างไร? ทีมข่าวฯ ถาม 

"เขาต้องมาขออนุญาตที่กรมใหม่ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่อนุญาตให้ถ่ายทำในฉากที่ไม่ได้ขอไว้ เราจะมีผู้กำกับดูแลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของเรา อยู่ในกองถ่ายเขาด้วย 1 คน เราต้องย้ำว่าแม้กองถ่ายถึงแม้จะได้รับอนุญาตแล้ว ก็ต้องอยู่ในความดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ดี" นายจาตุรนต์ ตอบ

"ระหว่างถ่ายทำจะมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย ติดตามทุกขั้นตอนทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการถ่ายทำ แล้วจะมีการรายงานว่าต้องเยียวยาหรือฟื้นฟูยังไงบ้าง ส่วนในเรื่องของการป้องกันสิ่งแวดล้อม ตอนนี้ถือว่าเรามีความรัดกุมมาก"

ข้อดีมีมากกว่าข้อเสีย : 

ถอยหลังจาก Jurassic World 4 กลับมามองภาพรวมทั้งหมด การมาของกองภาพยนตร์ต่างชาติ มีผลกระทบเชิงบวกและลบต่อไทยอย่างไรบ้าง?

นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช แสดงความคิดเห็นว่า ถ้ามองดูข้อเสีย เอาจริงแทบไม่มีเลยนะครับ การทำตรงนี้เป็นการนำเงินตราเข้าประเทศ ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของไทย ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ และเป็นการนำคอนเทนต์ของประเทศไทยไปสู่สายตาชาวโลก มันแทบไม่มีข้อเสียเลย

"อาจจะมีบ้างบางครั้ง ที่เข้าไปส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่กองภาพยนตร์เข้าไปถ่ายทำ เช่น อาจมีการปิดถนน หรือปิดสถานที่บางแห่ง แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้ผมมองว่า ถ้ามองผลเสียแทบจะไม่มี ส่วนผลดีเยอะแยะมากมาย"

นอกจากนั้น การเข้ามาของพวกเขา ยังทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ส่วนข้อดีอื่นๆ เช่น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างทีมงาน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านภาพยนตร์ สิ่งที่เราได้อีกอันหนึ่งก็คือ การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ 

"เราจะเห็นภาพยตร์หลายเรื่อง เช่น ️Lost in Thailand (แก๊งม่วนป่วนไทยแลนด์) ซึ่งทำให้เกิดกระแสนักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลเข้ามาที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นซีรีส์เกาหลีอย่าง King the Land มันเลยทำให้เกิดกระแสตามรอยภาพยนตร์"

"ฉะนั้น ผมมองว่าการที่กองถ่ายต่างชาติเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ ข้อเสียก็อาจจะมีบ้าง แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว ข้อดีมันเยอะกว่า มันมีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจไทย ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ประเทศ เราเลยเลือกที่จะส่งเสริมตรงนี้ต่อไป"

อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวต่อไปว่า อย่างการมาของ Jurassic World 4 เรื่องเดียวเขาแจ้งใช้เงินลงทุนสูงถึง 645 ล้านบาท เงินตรงนี้เป็นเงินที่เขาจะเอามาทิ้งในประเทศไทยล้วน เป็นเงินที่เขาจะเอาเข้าบัญชีในไทย และใช้จ่ายออกไป ซึ่งเราจะมีเจ้าหน้าที่บัญชีควบคุม ตรวจสอบการใช้จ่ายของเขาเหมือนกัน ว่ามีการใช้จ่ายเกิดขึ้นจริงไหม

ครึ่งปี 67 ต่างชาติถ่ายภาพยนตร์ไปแล้วกว่า 228 เรื่อง! : 

ระหว่างการสนทนา อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ระบุว่า ปีที่แล้ว (2566) เป็นการสร้างรายได้ที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศขึ้นมา โดยอยู่ที่ประมาณ 6,700 ล้านบาท ส่วนในปี 2567 เพียงแค่ 5 เดือนแรก เรามีรายได้ประมาณ 3,400 ล้านบาท ถือว่าเกินกว่า 50% ของปี 2566 เพราะฉะนั้นในปี 2567 เราเลยตั้งเป้าอยู่ที่ประมาณ 7,500 ล้านบาท

ทีมข่าวฯ จะพาคุณผู้อ่านไปดูสถิติการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยข้อมูล ณ วันที่ 27 มิ.ย. 2567 ของกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า

ปัจจุบันมีจำนวนภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่เข้ามาถ่ายทำในไทยถึง 228 เรื่อง รวมงบประมาณการถ่ายทำทั้งสิ้น 3,538,463,327.67 บาท หรือ สามพันห้าร้อยสามสิบแปดล้านสี่แสนหกหมื่นสามพันสามร้อยยี่สิบเจ็ดบาทหกสิบเจ็ดสตางค์! ประกอบไปด้วยทีมงานต่างชาติ 4,354 คน และทีมงานชาวไทย 13,773 คน

แบ่งจำนวนประเทศ/เขตการปกครองพิเศษที่เข้ามาใช้สถานที่ รวมกว่า 31 ประเทศ โดยท็อป 5 ที่มีจำนวนเรื่องถ่ายทำมากที่สุด ได้แก่ สาธารณรัฐอินเดีย 26 เรื่อง, ญี่ปุ่น 23 เรื่อง, สาธารณรัฐประชาชนจีน 23 เรื่อง, สาธารณรัฐเกาหลี 22 เรื่อง และสหรัฐอเมริกา 17 เรื่อง

ส่วนท็อป 5 ประเทศ/เขตการปกครองพิเศษ ที่ใช้จำนวนงบประมาณมากที่สุด ได้แก่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 1,192,615,421 บาท, สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ 807,206,355 บาท, สหรัฐอเมริกา 387,010,477 บาท, สาธารณรัฐฝรั่งเศส 248,900,000 บาท และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี 133,880,000 บาท

สำหรับสถานที่ถ่ายทำในประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ 48 จังหวัด โดย 5 อันดับแรกที่กองภาพยนตร์ต่างชาติสนใจ คือ กรุงเทพมหานคร 148 เรื่อง, ปทุมธานี 42 เรื่อง, ชลบุรี 33 เรื่อง, สมุทรปราการ และภูเก็ต จังหวัดละ 21 เรื่อง และ นนทบุรี 20 เรื่อง

จากภาพยนตร์จำนวน 228 เรื่อง แบ่งประเภทได้ดังนี้ โฆษณาและประชาสัมพันธ์ 97 เรื่อง, สารคดี 36 เรื่อง, รายการโทรทัศน์ 31 เรื่อง, ภาพยนตร์เรื่องยาว 22 เรื่อง, มิวสิกวิดีโอ 19 เรื่อง, เกมโชว์และเรียลลิตี้ 17 เรื่อง, ภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ 4 เรื่อง, Stock Footage 1 เรื่อง และละครโทรทัศน์ 1 เรื่อง 

มาตรการดึงดูดกองต่างประเทศ : 

อ่านผ่านมาถึงตรงนี้ คงจะได้เห็นไปแล้วว่า ตัวเลขเม็ดเงินนั้นถือว่าค่อนข้างสูงเลยทีเดียว ทำให้เราสงสัยต่อไปว่า ทางกรมการท่องเที่ยว มีมาตราการดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาอย่างไรบ้าง

อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ไขข้อสงสัยว่า เรื่องแรกเป็นมาตรการเชิงรุก โดยกรมการท่องเที่ยวจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม มีการไปออกบูธร่วมกัน เพื่อสื่อสารเรื่อง Content Thailand ในต่างประเทศ คล้ายกับการโรดโชว์ (Roadshow) ไปปีนึงประมาณ 6-7 ประเทศ เช่น งาน American Film ที่สหรัฐฯ หรือเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ที่ฝรั่งเศส 

มาตรการต่อมาเป็นมาตรการดึงดูดที่เรียกกันว่า Incentive (แรงจูงใจ) คือ มาตรการคืนเงินร้อยละ 15-20 ให้กับผู้ลงทุนต่างชาติ ที่มาใช้จ่ายในประเทศมากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งทำให้เรามีสถิติการขอเข้ามาถ่ายทำสูง และต่างชาติให้ความสนใจมาก "จริงๆ ประเทศไทยเรามีศักยภาพในการเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์อยู่แล้ว แต่พอเรามี Incentive ทำให้เราโดดเด่นเป็นแนวหน้าของประเทศทั่วโลก"

อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เสริมว่า อีกหนึ่งในมาตรการ Incentive คือ การถ่ายทำที่เมืองรอง ถ้าเขาไปถ่ายทำในเมืองรองเกินกว่า 50% ของหนังที่เข้ามาถ่ายในไทยทั้งหมด จะได้รับ Incentive มากขึ้น เพราะเราพยายามกระจายเศรษฐกิจให้ไปสู่เมืองรองมากขึ้น และมันก็ได้ผลด้วย เพราะหนังบางเรื่องเขาใช้เพียงสถานที่ แล้วไปเนรมิตสิ่งที่เขาต้องการเอง หรือวิวบางอย่างอาจเห็นในเมืองหลักเยอะแล้ว เขาก็เลือกเมืองรองที่ยังไม่ปรากฏในสายตาชาวโลกมากนัก

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า นั่นเป็นมาตรการเชิงรุก และเมื่อพวกเขาเข้ามาประเทศไทยแล้ว เราจะมีมาตรการอำนวยความสะดวกให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ นักแสดง หรือทีมงานที่เข้ามา เช่น การอนุมัติหรืออนุญาตในส่วนของภาครัฐ จะใช้เวลาดำเนินการเพียง 3-10 วัน ซึ่งเร็วกว่าหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดี

"เรื่องการขออนุญาต ให้เขามาขอที่กรมการท่องเที่ยวครั้งเดียว แล้วเราจะมีหนังสือนำส่งให้ตั้งแต่เข้าประเทศ ถ่ายทำสถานที่ต่างๆ ส่วนที่เหลือก็จะเป็นกฎระเบียบของหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมอุทยานฯ เทศบาล หรือหน่วยงานที่ไปถ่ายทำต่างหาก นั่นจะเป็นไปตามกฎระเบียบของส่วนราชการนั้นๆ"

มาตราการยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เมื่ออธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวต่อไปว่า เราเพิ่มประสิทธิภาพอำนวยความสะดวกกองถ่ายเข้าไปอีก เช่น เวลาเขาไปถ่ายทำใน กทม. บางครั้งคาบเกี่ยวกับหลายหน่วยงาน ทางกรมฯ จึงประสานกับ กทม. ร่วมกันจัดตั้ง One Stop Service ซึ่งตั้งอยู่ที่กองการท่องเที่ยว ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า เพราะฉะนั้นเวลากองถ่ายมาขออนุญาตกับกรมการท่องเที่ยว ก็จะมีหนังสือให้นำไปที่ One Stop Service 

"นอกจากนั้นยังมีการร่วมกับ BOI ในการอนุญาตให้กับผู้สร้าง ผู้ผลิต หรือนักแสดง มายื่นขอวีซ่า หรือ Work Permit (ใบอนุญาตทำงาน) ได้ที่ศูนย์ One Stop Service ของ BOI ได้เลย ไม่ต้องไปยื่นขอแต่ละหน่วย"

เมื่อถามว่า หากไม่มองถึงมาตรการของทางหน่วยงานรัฐ มีปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ ที่ทำให้ไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจ คำตอบของคำถามนี้ คือ ทีมงานคนไทยเป็นมืออาชีพ เรามีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการถ่ายทำภาพยนต์ การคมนาคม โรงแรมที่พัก มีโลเคชันครบครัน ทั้งทะเล ภูเขา น้ำตก บางอย่างก็สามารถเนรมิตให้ไทยเป็นประเทศอื่นหรือสถานที่อื่นได้ ตามที่เขาอยากจะทำ นี่คือองค์ประกอบที่ทำให้น่าสนใจ

.........

ขอบคุณภาพ จาก เพจ TFO Thailand Film Office

อ่านบทความเพิ่มเติม :