โครงการสร้าง "อ่างเก็บน้ำแม่ฮอด" ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง จ.เชียงใหม่ แม้ยังอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นขั้นต้น จากประชาชนในพื้นที่ แต่การต้องถอนพื้นที่อุทยานฯ บางส่วน มาทำโครงการ ทำให้เกิดเสียงต่อต้านจากนักอนุรักษ์ โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ยื่นคัดค้านการใช้พื้นที่ และควรนำงบประมาณ 500 ล้านบาทที่จะสร้าง มาพัฒนาแหล่งน้ำเดิม ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งไม่ควรทำลายป่าที่อยู่อาศัยของนกยูง

แม้อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นช่วงต้น กรณีการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ที่คาดว่าใช้พื้นที่ประมาณ 253 ไร่ ซึ่งในรายงานข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็น ระบุถึงการสร้างเพื่อบรรเทาภัยแล้งให้กับประชาชนในพื้นที่ แต่ต้องมีขั้นตอนวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป นักอนุรักษ์ในพื้นที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงถึงโครงการนี้ มีผลกระทบที่ได้ไม่คุ้มเสีย

"ภานุเดช เกิดมะลิ" ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ความเห็นว่า ตอนนี้โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง ยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น และได้ทำหนังสือคัดค้าน แม้จะอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้น

...

โดยเนื้อหาการคัดค้านมาจากการเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ควรต้องสงวนไว้ให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เพื่อให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำ ที่ได้นำน้ำมาเติมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง ดีกว่าไปทำ "เขื่อนบนหลังคาบ้าน" เพราะตัวอ่างเก็บน้ำควรอยู่ด้านนอกพื้นที่อุทยานฯ เพื่อที่จะได้ใช้การจัดการน้ำได้หลากหลายมากขึ้น

ถ้ามองถึงความคุ้มค่า ในการใช้เงินทำโครงการกว่า 500 ล้านบาท ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนในพื้นที่ เนื่องจากความจุน้ำที่ระบุไว้ประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ตอนฤดูแล้ง ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่

ขณะเดียวกันพื้นที่ของโครงการจะติดกับอ่างเก็บน้ำของแม่ปิง ซึ่งถ้าบริหารจัดการน้ำในโครงการเดิมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น สูบน้ำเข้าระบบ หรือดูแลระบบท่อส่งน้ำกระจายได้ดีขึ้น จะช่วยทำให้บรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ดีกว่าการสร้างใหม่

อีกสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นค่อนข้างขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ยังขาดความสมเหตุสมผล หรือเป็นข้อมูลที่นำมาเติมเพื่อตอบโจทย์ให้เกิดการพิจารณาผ่านโครงการ ไม่ว่าจะเป็นจุดคุ้มทุน ซึ่งกลไกการทำ IEE การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และ EIA รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องมีการสังคายนาทั้งหมดใหม่ หลายโครงการที่ผ่านมามีข้อมูลที่บิดเบี้ยว ทำให้การอนุมัติโครงการไม่ถูกต้อง

ในความเห็นมองว่า งบประมาณในการก่อสร้าง 500 ล้านบาท ถ้านำมาปรับปรุงแหล่งน้ำที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ก็จะช่วยทำให้แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้

จับตาผลกระทบที่อยู่นกยูงสายพันธุ์ไทย

ผลกระทบการสร้างโครงการ จะมีผลต่อระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติออบหลวง ตามความเห็นของ "ภานุเดช" มองว่า ด้วยความที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ จะมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต โดยบริเวณริมลำน้ำเป็นพื้นที่หลักที่นกยูงใช้ประโยชน์ โดยพื้นที่ออบหลวงมีความโดดเด่นของนกยูงพันธุ์ไทย

การทำโครงการจะมีผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของนกยูง ขณะที่สัตว์ป่าชนิดอื่นก็ใช้ประโยชน์อยู่ เพียงแต่เราไม่เห็นการใช้ประโยชน์

...

สำหรับมูลนิธิฯ จะมีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดในทุกกระบวนการ หลังจากนี้ทางอุทยานฯ ในพื้นที่จะรวบรวมความเห็นทั้งหมด นำมาเสนอให้กับที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ ในการให้ความเห็นประกอบ จากนั้นส่งเรื่องมาที่กรมอุทยานฯ ขณะเดียวกันทางกรมชลประทาน จะนำข้อมูลส่วนนี้ไปนำเสนอให้กับคณะรัฐมนตรี ถ้ามีความเห็นชอบ เริ่มดำเนินการสร้างและทำการเพิกถอนจากพื้นที่อุทยานฯ

ตอนนี้มีหลายโครงการอ่างเก็บน้ำในลักษณะเดียวกัน ที่เข้าไปก่อสร้างในพื้นที่อุทยานฯ โดยตอนนี้มีอยู่กว่า 80 โครงการ จึงอยากให้พิจารณาด้วยความรอบคอบมากที่สุด.