ก้าวเข้าสู่ครึ่งปีหลังปี 2567 นอกจากปัจจัยการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ยังมีสารพัดปัญหาจุดเสี่ยงเศรษฐกิจไทยที่เห็นได้ชัด ทั้งธุรกิจเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น ครัวเรือนรายได้น้อยเผชิญกับภาวะการเงินตึงตัวมากขึ้น ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงขึ้น หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย ซื้อสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น ส่งผลให้กำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัวลง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ร้านโชห่วยทั่วประเทศกว่า 4 แสนแห่ง และร้านค้าส่ง-ค้าปลีก กว่า 100 รายได้รับผลกระทบถ้วนหน้า

อีกทั้งโรงงานมีแนวโน้มปิดตัวลงเพิ่มมากขึ้น จากที่ปิดกิจการไปแล้วในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ 488 แห่ง คนตกงานเกือบ 1.6 หมื่นคน เพราะคำสั่งซื้อลดลง และแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอีก ยังไม่รวมโรงแรมขนาดใหญ่และเล็กประกาศขายกิจการรวมกว่า 473 แห่ง นั่นหมายความว่าการจะอาศัยเครื่องยนต์การท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาจไม่ได้ผล เหมือนก่อนโควิดระบาด จะต้องดูว่าเป้าที่รัฐบาลประกาศจะได้ตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้ 36.7 ล้านคน จะเป็นไปได้หรือไม่ จากช่วง 6 เดือนแรก มียอดนักท่องเที่ยวเข้ามา 16.2 ล้านคน

ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะโตได้ราว 2.6% จากอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัว และแรงส่งจากการใช้จ่าย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ไตรมาส 2 รวมทั้งภาคท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะอยู่ที่ 35.5 ล้านคน อีกทั้งเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในภาคการผลิต และการส่งออกบางหมวดสินค้า ตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัว แต่ยังคงมีความไม่แน่นอน เพราะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าจีน ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี คาดเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6% แต่ต้องระวังไม่ให้เงินเฟ้อสูงกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือน

...

จุดเสี่ยงหายนะเศรษฐกิจไทย สัญญาณบวกยังคงเลือนราง

ในมุมมองของ “ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ก็ยังกังวลจุดเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย เพราะที่เห็นมีแต่สัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยของยุโรป จะส่งผลต่อการลดดอกเบี้ยของประเทศอื่น รวมทั้งไทย ซึ่งไทยจะลดดอกเบี้ยจะต้องดูท่าทีของสหรัฐฯ ส่วนสัญญาณอื่นยังไม่ชัดเจน แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวใกล้เข้าเป้า เป็นเชิงปริมาณ แต่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไม่ได้สูงขึ้น จากกำลังซื้อผู้บริโภคทั่วโลกที่ลดลงยังตามหลอกหลอน จนส่งผลต่อภาคส่งออก และสินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นสินค้าประจำวันทั่วไป จากแรงกดดันค่าใช้จ่ายในการขนส่ง มีแนวโน้มสูงขึ้น ยังไม่เอื้อต่อคำสั่งซื้อสินค้าที่จะมีมากขึ้น

“สัญญาณบวกกระจายตัวไปประเทศอื่นด้วยการลดดอกเบี้ย ก็จะผ่อนคลายลง แต่ความกังวลของผู้บริโภคยังอยู่ที่ความขัดแย้งของโลก เป็นเรื่องที่มองไม่เห็นว่าจะเพิ่มกำลังซื้อได้อย่างไร และภาคการผลิตก็ไม่มีใครกล้าผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น จากแรงกดดันผู้บริโภคปลายทาง มีการสั่งเท่าที่จำเป็นจริงๆ จนภาคการผลิตสต๊อกวัตถุดิบแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น”

ข้อกังวลต่อเศรษฐกิจในประเทศ มีทั้งระยะสั้นไปถึงระยะยาว โดยระยะสั้นด้านกำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัว อีกทั้งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจำกัดการใช้จ่าย ส่วนระยะกลางหากเศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มกระเตื้องขึ้น จะทำให้การส่งออกของไทยดีขึ้น แต่ระยะยาวเป็นเรื่องของการปรับตัว ต้องปรับสินค้าที่ผลิตให้เข้ากับเทคโนโลยี เพราะที่ผ่านมาเน้นตอบโจทย์เพื่อการแข่งขันด้านราคา และความสามารถการแข่งขันในสินค้าบางประเภทลดลง ต้องวางแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งเครื่องมือการผลิต กำลังคนที่หายไป และเทรนด์เทคโนโลยี แต่ต้องไม่ทิ้งของเก่าและของใหม่ ก็ต้องพร้อมรับมือ 

โรงงานจ่อปิดกิจการเพิ่มขึ้น สายป่านไม่มี เข้าไม่ถึงแหล่งทุน

...

ขณะที่การลงทุนต้องเดินควบคู่กันไป เพราะการเปลี่ยนแปลงของประเทศอื่นที่กลายมาเป็นคู่ค้า และมีแนวโน้มมาลงทุน ซึ่งไม่ใช่การส่งเสริมการลงทุน ไม่ใช่แค่เรื่องฐานการผลิตเท่านั้น จะต้องเน้นความรู้แก่แรงงานให้มีทักษะตรงกับประเทศที่จะเข้ามาลงทุน และเรื่องการเจรจาการค้าก็ยังสำคัญ แม้บางประเทศมีมาตรการข้อตกลงทางการค้าเสรี หรือ FTA ก็ตาม แต่ไทยยังมีข้อดีมีความเป็นกลาง ทำให้มีเสน่ห์ในการแข่งขัน

“การแข่งขันสำคัญมากในเรื่องกฎระเบียบ และภาคเอกชนต้องปรับตัวกับเทรนด์ใหม่ เพิ่มความสามารถในการผลิตต้องใช้เครื่องจักรแทนคน แต่การเข้าถึงแหล่งทุนก็ยังมีปัญหาอย่างต่อเนื่องในการทำธุรกิจตั้งแต่ช่วงโควิด อยู่ที่สายป่านว่ากำลังจะหมด หรือหมดไปแล้ว เพราะภาคการผลิตจำเป็นต้องขายสินค้าต่อไป เพื่อให้อุปสงค์กลับคืนมา คาดหวังแรงส่งการใช้จ่าย พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2567 และหลายประเทศเพิ่งกระตุ้นเดินหน้าเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นแค่ความหวัง หลังจากโรงงานทยอยปิดตัวจนน่ากลัว ถ้าสายป่านไม่ใหญ่พอ ก็มีโอกาสปิดตัวกันมากขึ้น ถ้าไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และเศรษฐกิจไทย ก็ยังไม่สัญญาณฟื้นตัว”.

...