เปิดปัจจัยเสี่ยง กองทุนประกันสังคม ล้มละลาย พบ เงินสะสมเริ่มลด หากบริหารจัดการแบบเดิม อาจไม่เหลือในอีก 20 ปี หรือปี 2045 ผู้เชี่ยวชาญแนะทางออกก่อนจะสาย... วันนี้ “คุณ” กินข้าว “มื้อ” หนึ่งใช้เงินกี่บาท 100 บาทเอาอยู่ไหม 200 บาท ทะลุหรือเปล่า แน่นอนว่า “ความจริง” ในวันนี้ “ค่าครองชีพ” ของเราสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับ 4-5 ปีที่แล้ว... และในอีก 20 ปีข้างหน้า คุณว่า “ข้าวมื้อหนึ่ง” จะใช้เงินกี่บาท ถึงเวลานั้น เงินที่เก็บออม จะเหลือไหม...สำหรับ “มนุษย์เงินเดือน” ที่จ่ายเงินกองทุนประกันสังคม จะได้เงินชราภาพมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญ “เงินกองทุน” มันจะเหลือถึงคุณไหม สำหรับใครที่ตั้งใจเข้ามา หรือหลงเข้ามาอ่าน รายงานพิเศษชิ้นนี้ ลองคิด พิจารณาดูสิว่า “เรา” จะทำอย่างไรกับ “อนาคต” ของเราดี กับสถานะ “กองทุนประกันสังคม” ก่อนจะไปที่ตัวเนื้อหาบทความ เรามาดู สถานะกองทุนประกันสังคม จาก “รายงานประจำปี 2565” กันก่อน สถานะเงินกองทุน สะสมในปัจจุบัน (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564) มีเงินจำนวน 2,345,866 ล้านบาท หากดูสถิติเงินสะสมย้อนหลัง 5 ปี ได้แก่... 2561 : 1,999,466 ล้านบาท 2562 : 2,219,082 ล้านบาท 2563 : 2,288,499 ล้านบาท 2564 : 2,379,495 ล้านบาท 2565 : 2,345,866 ล้านบาท จากที่เคยเพิ่มๆ ตอนนี้เริ่มลดแล้ว... แปลว่า หลังจากนี้ “เงิน” จะเริ่มลดลง หรือไม่..เมื่อมาดู รายละเอียด ลึกลงมาอีก ที่รายรับปี 2565 มีจำนวน 253,953 ล้านบาท แบ่งเป็น ผลตอบแทนการลงทุน 74,419 ล้านบาท อื่นๆ 10,538 ล้านบาท รายจ่ายทั้งหมด 177,902 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการ 5,407 ล้านบาท อื่นๆ 11,278 ล้านบาท สำหรับรายละเอียดของผู้ประกันตน มาตรา 33 จำนวน 11,638,041 คนมาตรา 39 จำนวน 1,879,744 คน มาตรา 40 จำนวน 10,881,050 คน รวม 24,398,835 คน แบ่งเป็น หากเทียบกับจำนวนประชากรไทย 60.9 ล้านคน จะถือว่ามีผู้ประกันตนอยู่ที่ 36.92% แต่ถ้าคิดกับจำนวนแรงงานไทย 40.30 ล้านคน จะเท่ากับ 60.54% โดยมีสถานประกอบการทั้งสิ้น 506,299 แห่ง สำหรับรายจ่าย จำแนกตามสิทธิ ในปี 2565 กองทุนว่างงาน จำนวน 159,330 ล้านบาทกองทุนเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร จำนวน 146,103 ล้านบาท กองทุนชราภาพ สงเคราะห์บุตร จำนวน 2,019,219 ล้านบาท กองทุนมาตรา 40 จำนวน 21,214 ล้านบาท ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ขอนแก่น และที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม TDRI กล่าวว่า จุดเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อความ “ยั่งยืน” ของกองทุนประกันสังคมนั้น มาจากหลายปัจจัยที่สอดคล้องกัน คือ - โครงสร้างประชากรมีความเปลี่ยนแปลง : คนไทยอายุยืนยาวมากขึ้นและคนเกิดน้อยลง - เงินสมทบน้อยลง : คนทำงานในระบบน้อยลง เงินสมทบจะน้อยลงตามไปด้วย - เงินออกมากขึ้น : คนอายุยืนขึ้น ต้องจ่ายบำนาญยาวนานขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนผู้สูงอายุ “เมื่อเงินออกมาก และเร็วขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน เงินที่เข้ามาก็ไม่เพียงพอกับการจ่าย กระทั่งถึงจุดหนึ่ง มันจะไม่เพียงพอแก่การจ่าย ฉะนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ถูกคำนวณไว้นานแล้ว ดร.วรวรรณ ยกตัวอย่างว่า ประเด็นนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษา และได้คำตอบในทิศทางเดียวกัน และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ก็ได้ออกมาย้ำอีกครั้งว่า เงินประกันสังคมอาจจะใช้หมดในปี 2045 งานวิจัยนี้ทำมาเมื่อ 10 ปีก่อน และตอนนี้ปัจจัยต่างๆ ยังไม่เปลี่ยน จึงมีการคาดการณ์ว่าอีก 20 ปี เราจะใช้เงินกองทุนจนหมด ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจของ ป๋วยฯ ค้นพบว่า เงินจะไม่เพียงพอมาจาก...1. ระบบรายได้ผู้สูงอายุของประเทศไทยทุกระบบ ไม่ได้มีแนวคิดเกี่ยวกับมูลค่าของเงินที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป 2. ระบบต่างๆ ของไทยยังไม่ได้คำนึงถึงการกระจายรายได้มากนัก 3. ระบบหรือกองทุนต่างๆ เช่น ประกันสังคม และ กอช. ยังมีอายุไม่มากนัก สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนเหล่านี้ขึ้นกับระยะเวลาที่สมาชิกส่งเงินสมทบ ในอีก 20 ปีข้างหน้า สมาชิกส่วนหนึ่งของกองทุนเหล่านี้จะได้รับผลตอบแทนมากขึ้น ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ถ้าหากเราไม่ทำอะไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็จะเป็นแบบนี้แน่ๆ ฉะนั้น จึงมีแนวคิดในการแก้ปัญหา คือ 1. การปรับอายุเกษียณ จากอายุ 55 ปี ให้ยืดออกไป เนื่องจากคนไทยปัจจุบันนี้แม้อายุ 55 ปีแล้ว ก็ยังดูเป็นหนุ่มสาว การทำงานที่นานขึ้นมีข้อดีหลายอย่าง ถือเป็นการเก็บเงินได้นานขึ้น “ให้อยู่แต่บ้านมากๆ คนเราก็ป่วยซึมเศร้าได้...” ดร.วรวรรณ กล่าว 2. เพิ่มเงินสมทบ : ทุกวันนี้เราสมทบ เพียง 5% (คิดจาก ฐานเงินเดือน สูงสุด 15,000 บาท จ่าย 750 บาท) โดยจะแบ่งเข้าไปที่กองทุนบำนาญชราภาพส่วนของเรา ซึ่งที่จริงต้องเข้า 3% แต่เข้าจริงๆ เพียง 2% นายจ้างสมทบอีก 2% โดยที่รัฐไม่ได้ช่วยเหลือร่วมด้วย จาก 2 ฝ่าย คือ 4% ซึ่งถือว่าน้อยมาก...แต่เวลาเรารับ เราได้ขั้นต่ำคือ 20% โดยบวกทุกๆ 1.5% หากเราทำงานเกิน 15 ปี หากคุณทำงานนานมาก คุณจะได้ถึง 45% “เวลาคุณสมทบ คุณกับนายจ้าง รวมกันแค่ 4% เองนะ แต่เวลาคุณรับ รับ 45% ตรงนี้คือชัดเจนเลยว่าเงินไหลออกมากกว่าเข้า...” ดังนั้น สิ่งที่ควรปรับ คือ ควรปรับการสมทบ ให้เพียงพอแล้วเท่ากับ “สภาพการณ์” ซึ่งสถาบันป๋วยฯ จะต้องปรับจาก 4% เพิ่มขึ้นไปถึง 20% ในระยะยาว...นอกจากนี้ สิ่งที่เสนอคือ การบริหารเงินให้มันงอกเงย จากน้ำในถังที่เปรียบดั่งถังเงิน มีรูรั่วไหล 4-5 รู ช่วยกันไหล ดังนั้น การบริหารจัดการเงินที่ดี ที่เวลานี้บริหารได้เฉลี่ย 4% (สถิติ 10 ปี ย้อนหลัง) ซึ่งถือว่าต่ำ ควร บริหารจัดการให้ได้มากกว่านี้ “การใช้เงินของประกันสังคม ถือว่า ใช้เยอะมาก รายงานล่าสุด คือ 5,000 ล้าน เมื่อเทียบกับการบริหารจัดการเงิน ของ สปสช. และ กบข. ใช้เงินประมาณที่ละประมาณ 1,000 ล้าน รวมกัน 2 แห่ง ยังไม่เท่ากับ กองทุนประกันสังคมเลย..ทั้งที่คนที่คุณต้องดูแล น้อยกว่า สปสช. ที่มีมากกว่า 50 ล้านคน”**หมายเหตุ** จากการตรวจสอบข้อมูลรายงาน สปสช. ประจำปี 2565 พบว่า ค่าบริหารจัดการของ สปสช.ใช้เงินอยู่ที่ 1,284.99 ล้านบาท (https://www.nhso.go.th/operating_results/54) ขณะที่ข้อมูลใน รายงานประจำปีของ กบข. ประจำปี 2566 มีค่าบริหารจัดการ กองทุนและสำนักงาน ประจำปี 2565 อยู่ที่ 1,146 ล้านบาท ปี 2566 อยู่ที่ 1,259 ล้าน (https://cfl.gpf.or.th/ebook/Annual_Report_2023/mobile/index.html) ดังนั้น หากพิจารณาดูกันดีๆ จะพบรูรั่ว ในกองทุนประกันสังคม มันมีรูรั่วมากกว่า และช่วยกัน(เงิน)ไหลออก ดังนั้น การบริหารจัดการ หากปรับลดตรงนี้ได้จะช่วยประหยัดได้ นี่คือภาพรวมของปัญหาเรื่องการเงิน...ส่วนคำถามที่ว่า แต่ละปี สามารถเบิกค่าทำฟันได้ 900 บาท และคนส่วนใหญ่ไม่ได้เบิกอะไร แต่เมื่อถึงเวลาจะได้เงินชราภาพ กลับมีความเสี่ยง แบบนี้หลายคนจึงรู้สึกไม่อยากจ่ายเพิ่ม...เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.วรวรรณ ตอบว่า การเบิกได้เท่านี้ แปลว่า คุณเอาเงินของคุณไปช่วยคนอื่น กรณี ตกงาน หรือ อุบัติเหตุ อย่างไรก็ดี วันหนึ่งที่คุณเสียชีวิต คุณจะได้คืนมามากกว่าที่คุณจ่ายไปอีก และเพราะแบบนี้ ทางสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วยฯ จึงเสนอให้มีการจ่ายเพิ่ม พร้อมขยายฐาน จาก 15,000 บาท เพิ่มขึ้นไปอีก...ถามว่ามีโอกาสล้มไหม... “ถ้าเงินหมด แล้วรัฐไม่ช่วยอะไรเลย ก็แปลว่าไม่มีเงินจ่าย แบบนี้เรียกว่า “ล้มไหม””“เรื่องนี้อยากให้ทุกคนเข้าใจ และดูงานวิจัยว่าเขามีข้อเสนออย่างไร และ “ยอม” ที่จะเปลี่ยนกันไหม และหากไม่ยอมเปลี่ยน ก็อาจจะถึงวันนั้น...” แล้วคุณล่ะ หากเป็นพนักงาน มนุษย์เงินเดือน จะยอมจ่ายประกันสังคม เพิ่มขึ้นหรือไม่...