ศึกอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2568 ฝ่ายค้านตั้งคำถามถึงรัฐบาลละเลยผู้ใช้แรงงาน โดยติดหนี้ประกันสังคมกว่า 6 หมื่นล้านบาท ทำให้ผู้ประกันตนกว่า 24 ล้านคน แบกรับความเสี่ยง สอดคล้องกับนักวิชาการมองว่า ถ้ากองทุนไม่ปรับเปลี่ยนการบริหาร จะทำให้ในอีก 10 ปีข้างหน้า เสี่ยงที่จะเจ๊ง ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินมาทั้งชีวิต อาจเจอปัญหาหนักหลังเกษียณ
การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2568 ที่ฝ่ายค้านได้ตั้งคำถามถึงการใช้งบประมาณกองทุนประกันสังคมที่ "สหัสวัต คุ้มคง" สส.พรรคก้าวไกล ชี้ให้เห็นถึงการที่รัฐบาลละเลยไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ติดหนี้กองทุนประกันสังคมกว่า 6 หมื่นล้านบาท ทำผู้ประกันตนกว่า 24 ล้านคน ต้องเสี่ยงกับความไม่แน่นอนในอนาคต
"รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ" คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า เงินกองทุนประกันสังคมส่อเค้าเจ๊งในอีก 10 ปีข้างหน้า เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของประชากร ที่มีผู้สูงอายุมากกว่าวัยแรงงาน ทำให้เงินอุดหนุนจากแรงงานที่เข้ามาในกองทุนลดลง
"ตอนนี้มีประชากรวัยแรงงานประมาณ 38-39 ล้านคน อยู่ในระบบแรงงานภาคเอกชน เป็นกลุ่มคนที่ถูกให้เข้าไปในระบบผู้ประกันตน ประกันสังคมมาตรา 33 ประมาณ 14 ล้านคน มีลูกจ้างในระบบจ้างงานของรัฐบางส่วนหนึ่ง ซึ่งกลุ่มแรงงานที่จ่ายเงินเข้ากองทุน ตอนนี้กำลังจะเข้าสู่วัยเกษียณจำนวนมาก เมื่อเกษียณแล้วจะอยู่ในระบบประกันสังคมต่อ หรือขอเงินก้อนเพื่อออกจากระบบประกันสังคม"
ยิ่งอีก 10 ปีข้างหน้า ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะปลดเกษียณจำนวนมาก และในระบบจ้างงานของเอกชน มีการกำหนดอายุเกษียณที่อายุ 55 ปี หรืออายุ 60 ปี ดังนั้นจะมีแรงงานในระบบออกจากระบบประกันสังคมมากขึ้น จากการเกษียณอายุ เท่ากับว่าเงินที่เข้ามาในกองทุนจะน้อยลง เมื่อเทียบกับเงินที่ไหลออกไป
ขณะเงินลงทุนทางอ้อม ที่กองทุนประกันสังคมได้รับมาจากการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการลงทุนทางอ้อม เช่น นำเงินไปซื้อสิทธิการเช่าบางอย่าง เพื่อให้มีรายได้เข้ามาจากการลงทุน และลงทุนมากที่สุดคือ การลงทุนด้วยพันธบัตรรัฐบาล
เงินสะสมของกองทุนประกันสังคมมีอยู่ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลนำไปใช้ผ่านการขายพันธบัตรประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ปรากฏว่าคนที่ใช้เงินของประกันสังคมมากที่สุดคือ รัฐบาล ไม่ใช่แรงงานที่จ่ายเงินเข้ากองทุนทุกเดือน ขณะเดียวกันมีคำถามว่า เงินที่รัฐบาลนำไปใช้ก่อประโยชน์ให้กับแรงงานหรือไม่ แต่ก็ไม่มีใครตอบได้
เงินสมทบของกองทุนประกันสังคมมี 3 ฝ่าย ประกอบด้วย รัฐบาล ลูกจ้าง นายจ้าง เงินสมทบทั้งหมดตามกฎหมายระบุว่าเป็นของลูกจ้าง แต่รัฐบาลกลับค้างเงินสมทบกองทุนประกันสังคมประมาณ 5 หมื่นล้านบาท อีกประเด็นต่อมาเกิดจากนายจ้างบางส่วนไม่จ่ายเงินสมทบหลายหมื่นล้านบาท แต่คนที่ต้องสมทบเงินกองทุนเป็นประจำกลายเป็นลูกจ้าง เพราะถูกหักจากเงินเดือน
"ที่ผ่านมาประกันสังคมนำเงินไปลงทุนทางอ้อม ขาดทุนไปจำนวนมาก จะเห็นว่าเงินออกจากประกันสังคม มีจำนวนมากกว่าเงินที่ได้รับ และถ้าไม่มีการจัดการใหม่ คาดว่าอีก 10 ปี จะมีความเสี่ยงที่จะเจ๊ง และส่งผลต่อแรงงานที่ส่งเงินสมทบ เมื่อเกษียณจะได้รับผลกระทบดังกล่าวจำนวนมาก"
ทางออกก่อนกองทุนประกันสังคมจะล่มสลาย
"รศ.ดร.ณรงค์" มองการแก้ปัญหาของกองทุนประกันสังคม ที่พรรคฝ่ายค้านอภิปรายให้รัฐบาลเข้ามาดูแล และช่วยเหลือทางการเงินมากขึ้น แต่ในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส รัฐบาลจะไม่ซัพพอร์ตกองทุนประกันสังคม แต่เก็บจากนายจ้าง 50-60 เปอร์เซ็นต์ หรือเก็บอัตราภาษีแบบก้าวหน้า เพื่อนำเงินภาษีจากคนรวยมาเข้ากองทุนนี้
"สิ่งที่พรรคก้าวไกล พยายามทำให้เกิดรัฐสวัสดิการ เน้นให้รัฐอุดหนุนเงินเข้าไปในระบบ แต่ปัญหาคือเงินเราจะเอามาจากไหน ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมีรีดจากภาษีที่เก็บจากคนจนอีก"
การบริหารกองทุนประกันสังคม ต้องมีการจัดโครงสร้างใหม่ทั้งหมด รวมถึงการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ที่ไปลงทุนทางอ้อมผ่านพันธบัตรต่างๆ ถ้าหันมาลงทุนโดยตรง เช่น จีนมีการสร้างอาคารที่อยู่ใกล้แหล่งชุมชน แล้วให้คนที่ไม่มีงานทำมาขายของ โดยคิดค่าเช่าพอประมาณ แต่ต้องมีกำไร ดีกว่าการนำเงินไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ อย่างที่เป็นอยู่ จึงเป็นการสร้างงานไปด้วยในตัว
"ตอนนี้แรงงานในโรงงาน ส่วนใหญ่ต้องกู้เงิน เพราะรายรับมีไม่เพียงพอ บางส่วนจะกู้จากหัวหน้างาน โดยผู้กู้จะฝากบัตรเอทีเอ็มไว้กับเจ้าหนี้ พอถึงปลายเดือนเจ้าหนี้ก็กดเงินค่าแรงจากลูกจ้างได้ทันที ซึ่งเงินที่เหลือ คนงานก็เอาไป ดังนั้น จึงเสนอว่า ให้กองทุนประกันสังคม นำเงินที่ไปลงทุน นำมาสัก 3 หมื่นล้านบาท เพื่อตั้งธนาคารของแรงงาน สามารถปล่อยกู้ให้กับผู้ใช้แรงงานในอัตราดอกเบี้ยต่ำ คล้ายกับธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ที่ดูแลบรรดาเกษตรกร จะเกิดประโยชน์มากกว่า".