อ่านเกมอำนาจ-ขัดแย้งใน สตช. ระหว่าง บิ๊กโจ๊ก กับ บิ๊กต่อ หลัง “วิษณุ” แถลง ส่งกลับ “ต่อศักดิ์” กลับมาเป็น ผบ.ตร. ส่วนให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการ เป็นกระบวนการไม่ถูกต้อง “วิรุตม์” ตั้งข้อสังเกต เหตุผลทะแม่งๆ ผิดตั้งแต่ตั้งโจทย์?

สิ่งที่มีการยืนยันชัดเจนในการแถลงข่าว การตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 119/2567 ลงวันที่ 20 มี.ค. 2567 โดย ดร.วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กรณี 2 บิ๊กตำรวจ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. คือ ทั้งคู่มีความขัดแย้งกันจริง!  

จากที่ทั้งสองคนขัดแย้งส่วนตัวกันไม่พอ ยังทำให้ลูกน้องในสังกัดของแต่ละฝ่าย เกิดความขัดแย้งกันไปด้วย กลายเป็นปัญหาบานปลายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ดร.วิษณุ บอกว่า “ขัดแย้งกันทุกระดับชั้น” และมีคดีที่เป็นปัญหาขัดแย้งกันหลายคดี อาทิ คดีเป้รักผู้การให้เท่าไรให้ใส่มา กับปมเงิน 140 ล้าน, คดี ยิงกันในบ้าน “กำนันนก” โดยมีตำรวจหลายนายพัวพันเกี่ยวข้องในที่เกิดเหตุ, คดีพนันออนไลน์ มินนี่ และ BNK มาสเตอร์ นอกจากนี้ ยังมีคดีอื่นๆ ที่ “ซือแป๋วิษณุ” ไม่ได้กล่าวถึง แต่สรุปรวมคือ มีนับสิบคดี โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2557 

ส่วนผลการแถลงวันนี้ สรุปสั้นๆ ได้ว่า จะส่งกลับ “บิ๊กต่อ” กลับมาทำหน้าที่ ผบ.ตร. ส่วนบิ๊กโจ๊ก ที่ถูกทางให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น เป็นเรื่อง ไม่ถูกต้องในกระบวนการ   

...

คณะกรรมการกฤษฎีกามีมติ 10 ต่อ 0 เห็นว่า เป็นการกระทบสิทธิของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เนื่องจาก ตาม พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ การให้ออกจากราชการไว้ก่อน ต้องทำโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงแนะนำให้ไปแก้ไขให้ถูกต้อง สถานภาพของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ขณะนี้ จึงอยู่ระหว่างการนำกราบบังคมทูลฯ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องตรวจสอบว่าถูกต้องตามขั้นตอนระเบียบกฎหมายหรือไม่

นี่คือผลสรุปคร่าวๆ ของการแถลงข่าวยาวเกือบชั่วโมง เกี่ยวกับเรื่องนี้ “เรา” ได้พูดคุยกับ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นไปตามความคาดหมาย โดยสิ่งที่ตั้งข้อสังเกต คือ การออกคำสั่งครั้งแรก ในประเด็นให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ นั้น มันไม่มีเหตุผลรองรับ เพราะอ้างว่า ทั้งสองขัดแย้งกัน ซึ่งเหตุผลถือว่า “ทะแม่งๆ” อยู่แล้ว 

ตอนนั้น รองสุรเชษฐ์ ถูกดำเนินคดี แต่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยังไม่มีคดีอะไร แต่ถูกคำสั่งย้าย โดยมีข้ออ้างเรื่องความขัดแย้ง นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานตรวจสอบ....ดังนั้น ผลการสอบจึงออกมาว่า “มีความขัดแย้ง” มีความจำเป็นให้ไปปฏิบัติหน้าที่ 

คำถามคือ “ความขัดแย้ง” ผิดกฎหมายข้อไหน... ข้อสรุปยืนยันชัดเจนว่า ขัดแย้ง แต่ซ้ำยังมีคำสั่งให้กลับเข้ามาทำงาน 3-4 เรื่อง เช่น ยาเสพติด เงินกู้นอกระบบ แบบนี้ “ตลกไหม...?” นี่ไม่ใช่ตรรกะที่ดี มันคือ ตรรกะแบบคิดเอาเอง 

ตอนที่มีคำสั่งให้ย้าย อ้างเรื่องความขัดแย้ง เมื่อสอบสวนแล้ว พบว่ามี ความขัดแย้ง แต่ทำไมส่งกลับมา? 

ปัญหาของเรื่องนี้คือ คุณตั้งโจทย์ผิดตั้งแต่แรกหรือไม่? เพราะในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ก็ล้วนมีความขัดแย้งกันทั้งนั้น เมื่อไปออกคำสั่งแบบนั้น ถูกตั้งคำถามว่าผิด คุณจึงเลือกที่จะตะแบงออกมาแบบนี้ ผมในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ไม่เข้าใจ...

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ส่วนกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถูกดำเนินคดีอาญา ก็ถือว่าเป็นไปตามกฎหมาย มีการออกหมายจับ แต่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เขายังไม่โดนดำเนินคดีอาญาอะไร จนถึงตอนนี้ก็ตาม ประเด็นของเรื่องนี้ คือ “ใคร...ทำผิดกฎหมายอะไร” 

“โจทย์ผิดตั้งแต่แรก ตอนนี้จึงเลือกที่จะส่งกลับ ซึ่งกลับไปก็ไม่แน่ว่าจะมีปัญหาหรือไม่ ฟ้องร้องได้หรือไม่ เพราะไม่มีมูลเหตุในการย้ายให้ปฏิบัติหน้าที่ เช่นนั้น หรือ นายกฯ จะอ้างเรื่อง มีความจำเป็น ไปปฏิบัติงานที่สำนักนายกฯ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้อยู่แล้ว” 

...

เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ย้ำว่า ตรรกะในครั้งนี้มันดู “ย้อนแย้ง” คุณยืนยันว่า ทั้งคู่มีปัญหาขัดแย้งกัน แต่เลือกจะส่งกลับไปทำงานที่เดิม ตอนแรกคุณบอกว่า ความขัดแย้งก่อให้เกิดความเสียหาย แต่คุณก็เลือกกลับ จะกลับไปสร้างความเสียหายเหมือนเดิมหรือ...?

ผลออกอย่างนี้ “บิ๊กโจ๊ก” ได้เปรียบหรือไม่ พ.ต.อ.วิรุตม์ มองว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะ เขาคงต้องรอความเห็นจาก คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม กรณี ให้ออกจากราชการไว้ก่อน และสาเหตุให้กระบวนการนี้ชะงัก เพราะกฤษฎีกา มาตั้งข้อสังเกตว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ หากนำเรื่องทูลเกล้าฯ ก็จะจบ เพราะเป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจ กรณี ตำรวจตกเป็นผู้ต้องหา ในคดีอาญา ร้ายแรง 

แต่ ดร.วิษณุ ระบุว่า มันมีกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ และ พ.ร.บ.ตำรวจเก่า ซึ่งกฎหมายใหม่ คือ ต้องรอกระบวนการชี้มูล พ.ต.อ.วิรุตม์ เห็นแย้งว่า ไม่จริง คำถาม คือ หากตำรวจไปก่ออาชญากรรมร้ายแรง ฆ่าคนตาย ค้ายาเสพติด วันพรุ่งนี้ให้ออกจากราชการไม่ได้ หรือ... จำเป็นต้องรอคณะกรรมการสอบสวนหรือ...

แต่ ดร.วิษณุ ยกตัวอย่างคดี ปลัดรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ กรณีสินบน ที่ถูกจับคาหนังคาเขา ที่อ้างว่าเป็นเงินกฐิน ที่สุดท้ายก็มีการตั้งกรรมการสอบ และสุดท้ายได้มีการชี้มูล และมีการให้ออกจากราชการ ซึ่งถือว่าเป็นไปตามขั้นตอน...

...

พ.ต.อ.วิรุตม์ บอกว่า เรื่องนี้ผมไม่ทราบรายละเอียด คำถามคือ สั่งให้ออกราชการไว้ก่อนได้ไม่ใช่หรือ คนตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา มันคือเรื่องความขาดความไว้วางใจ แต่ก็ยังปฏิบัติราชการไว้ ระหว่าง พิจารณาลงโทษ  เป็นที่มาขอคำสั่ง “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน” ระหว่างสอบสวนเพื่อไล่ออก ปลดออก 

สุดท้ายเรื่องนี้ ความเดือดร้อนจะมาสู่ “บิ๊กต่าย” หรือไม่ คนที่ออกคำสั่ง พ.ต.อ.วิรุตม์ บอกว่า เรื่องนี้จะอยู่ที่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม ถ้าความเห็นว่า ออกคำสั่งโดยชอบ ก็จบ... แต่ถ้า “ออกคำสั่งไม่ชอบ” ความวุ่นวายก็จะมาถึง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ซึ่ง “บิ๊กโจ๊ก” สามารถดำเนินการฟ้องร้องได้ 

“แต่การชี้ว่า การออกคำสั่งให้ออกจากราชการไม่ชอบ นั้น จะมีเรื่องยุ่งยากตามมาเยอะ โดยยุ่งทั้งองค์กร และอนาคต...” พ.ต.อ.วิรุตม์ ทิ้งท้าย 

อ่านบทความ 

...