การแก้กฎกระทรวงฯ ให้ผู้ครอบครองยาบ้าไม่เกิน 1 เม็ดเข้าสู่กระบวนการบำบัด จากเดิมกำหนดไว้ 5 เม็ด เพื่อปราบปรามเด็กเดินยาที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่า กระบวนการบำบัดต้องมีการปรับปรุง หลายแห่งบำบัดแบบรวมกลุ่ม ทำให้ "นักเสพ" กับ "ผู้ค้ายา" มาเจอกัน พอออกไปก็ขยายเครือข่ายหนักขึ้นกว่าเดิม

กระทรวงสาธารณสุข แก้กฎมียาบ้าต่ำกว่า 5 เม็ด เป็นผู้เสพ โดยวันที่ 17 มิ.ย. 67 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ “กฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2567” โดยมีเนื้อหาว่า ถ้ามีเมทแอมเฟตามีน ปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม หรือในกรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 20 มิลลิกรัม ถือเป็นผู้เสพ

สำหรับการแก้กฎในการพิจารณาว่าเป็นผู้เสพที่เข้าสู่การบำบัด หากมียาบ้าในครอบครอง 1 เม็ด รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า การปรับเปลี่ยนกฎกระทรวงฯ เป็นการดำเนินการให้เท่าทันกับกระแสสังคม เดิมถ้ามียาบ้าครอบครองไว้ไม่เกิน 5 เม็ด ให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อเสพ เว้นแต่มีพฤติกรรมเพื่อจำหน่าย ซึ่งเมื่อเริ่มใช้ก็มีเสียงต่อต้านจากสังคม ต้องยอมรับว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในไทย จากการสำรวจมีประมาณ 3 ล้านคน ทำให้วงจรพ่อค้ายาและนักเสพทั้งหน้าใหม่-เก่า เป็นวงจรที่เพิ่มขึ้น

...

การกำหนดให้การครอบครองยาบ้าเหลือ 1 เม็ด เป็นผู้เสพที่เข้าสู่กระบวนการบำบัด แต่หัวใจหลักของการแก้กฎครั้งนี้ต้องมีการควบคุมสถานบำบัด ให้ผู้เสพที่เข้าไปอยู่กระบวนการได้รับการบำบัดจริง เนื่องจากที่ผ่านมามีการบำบัดลักษณะเป็นกลุ่มมาเข้าร่วมผ่านแคมป์ เลยทำให้ผู้เสพและผู้ค้ารายย่อยที่เข้ามาบำบัดได้เจอกัน กลายเป็นเครือข่ายยาเสพติดใหม่ หลังจากการเข้ามาร่วมบำบัด ทำให้กลับไปสู่วงจรเดิมกว้างขึ้น

“การแก้กฎให้เหลือ 1 เม็ด ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากภาครัฐ ไม่มีการแก้ไขกระบวนการบำบัด เพื่อตัดวงจรให้ผู้เสพกับนักค้ามาเจอกัน น่าจะถึงเวลาที่ต้องมาทบทวนมาตรการบำบัดผู้ติดยาเสพติดใหม่ แต่ถ้ายังทำแบบเดิมที่ให้งบแต่ละหน่วยงานไปบำบัดผู้ติดยาเสพติด ก็ยากจะแก้ปัญหาได้”

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ยาเสพติดกลายเป็นสิ่งที่แพร่ระบาดรวดเร็ว ดังนั้นการนำผู้ติดยาเสพติดแล้วถูกจับ ไปบำบัดกันแบบรวมกลุ่มยิ่งเพิ่มปัญหา ขณะเดียวกันการควบคุมเหลือแค่ 1 เม็ด เป็นการปราบปรามบรรดาเด็กเดินยา ที่เดิมแบ่งไปส่งยาบ้าทีละ 5 เม็ด พอปรับให้เหลือเม็ดเดียวจะเป็นการสกัดกั้น ด้วยกฎหมายที่แรงขึ้น

แต่ขบวนการค้ายาเสพติด ก็เริ่มมีการปรับตัว โดยการส่งยาเสพติดผ่านระบบขนส่ง หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ ขณะเดียวกันก็มีการทำการตลาดของขบวนการยาเสพติด โดยให้ผู้เสพที่ไม่มีเงิน นำยาบ้าบางส่วนมาขายพร้อมกับอีกส่วนให้ไปเสพ ซึ่งขบวนการค้ายาเสพติด ก็มีการปรับตัวที่รวดเร็ว ดังนั้นตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังมีการปรับเปลี่ยนให้เหลือเพียงแค่ 1 เม็ด ก็ต้องมีการประเมินการทำหน้าที่ เพื่อจะได้อุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นได้

จากการวิจัยพบว่า กระบวนการบำบัดยาเสพติดที่ดี ต้องมีในระดับชุมชน โดยต้องมีผู้นำในการดูแล เพื่อสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งในชุมชน และป้องกันไม่ให้ขบวนการค้ายาเสพติดเข้ามาในพื้นที่

ยาบ้า ต้องปราบปรามตั้งแต่ขบวนการค้าริมชายแดน

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ มองถึงการปราบปรามแหล่งผลิต เป็นอีกปัญหาสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่แหล่งผลิตและเส้นทางขนส่งยาบ้า มาจากแนวชายแดน หรือชนกลุ่มน้อยที่ส่งเข้ามา ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ ยังมีปัญหาเรื่องความสงบภายใน จึงยังไม่สามารถร่วมมือในการปราบปรามได้อย่างเข้มงวด

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย จะต้องมีการดำเนินการที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการป้องกันการฟอกเงิน ที่จะต้องมีการทำงานที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อปราบปราบเครือข่ายยาเสพติด ที่มักจะเป็นเครือข่ายเดิมให้หมดไป.

...