แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส ลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย วัย 24 ปี มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021 (Miss Universe Thailand 2021) ตัวแทน Gen Z เผยถึงแนวคิดและทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อสังคมและคนต่างเจน ถึงความแตกต่าง แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยการเปิดใจ เปิดมุมมอง รับฟังด้วยความเคารพ

ในงานเสวนาไทยรัฐฟอรั่ม 2024 ภายใต้หัวข้อ “Talk of the Gens เปิดเวทีความคิด ของคนหลายเจน” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2567 เวลา 14.30-16.30 น. ที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมเสวนาจาก 4 เจเนอเรชัน อย่าง คุณตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ นักเขียน คอลัมนิสต์ชื่อดัง ตัวแทน BABY BOOMER, คุณวู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา ครีเอเตอร์ ตัวแทน GEN X, คุณโบ๊ท พชร อารยะการกุล CEO บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตัวแทน GEN Y และคุณแอนชิลี สก๊อต-เคมมิส นางแบบ นางงาม ตัวแทน GEN Z

เหล่าตัวแทนแต่ละเจนและผู้บริหารไทยรัฐกรุ๊ป ถ่ายภาพร่วมกันในงานเสวนา Talk of the Gens เปิดเวทีความคิด ของคนหลายเจน
เหล่าตัวแทนแต่ละเจนและผู้บริหารไทยรัฐกรุ๊ป ถ่ายภาพร่วมกันในงานเสวนา Talk of the Gens เปิดเวทีความคิด ของคนหลายเจน

...

ดำเนินรายการ โดย 2 ผู้ประกาศไทยรัฐทีวี ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ (Gen X) และ อรชพร ชลาดล (Gen Y)

ประเดิมเปิดเวมีด้วยคำถามละลายพฤติกรรม เรื่องมุกตลกของแต่ละเจนว่าเจอมาแบบไหนกันบ้าง แอนชิลี ได้พูดถึงมุกตลกของชาว Gen Z ว่า ในยุคของเธอจะตลกเรื่องมีมต่างๆ เพราะคนวัยนี้จะชอบเอามีมจากไวรัลในโซเชียลมาทำให้เป็นเรื่องขำ เช่น คลิปต่างๆ หรือภาพตลกๆ แล้วนำมาใส่แคปชั่นให้ขำ ไม่ได้เป็นมุกตลกที่ทำขึ้นเองเหมือนเจนอื่นๆ

มุกจีบหนุ่มของชาว Gen Z

แอนชิลี บอกว่า คน Gen Z เกิดทันยุคจีบกันผ่าน BB (Black Berry), MSN และ Hi5 ตอนนั้นเธออยู่วัยประถม แต่ถ้า Gen Z จีบกันจะส่งข้อความผ่าน DM ใน IG ถ้าเจอคนที่ถูกใจตอนไปเที่ยวในที่สาธารณะ ก็จะแลก IG กัน แต่จะไม่คุยทันทีในวันนั้น แต่จะไปคุยกันต่อในโซเชียลทีหลัง แล้วค่อยนัดเจอกันใหม่จริงๆ และมักจะรอสัก 2 วันหลังจากขอ IG ค่อยคุยกัน เพราะเคยเห็นข้อมูลโซเชียลว่าอย่าแสดงออกชัดเจนว่าสนใจผู้ชายมากเกินไป เพราะการทักหรือตอบทันทีเหมือนกับเรานั่งรอเขาทักมา หรือไม่มีอะไรทำ ต้องเล่นเกมสักนิดหนึ่ง ส่วนจะดีหรือไม่ดีก็แล้วแต่คน

คิดเห็นอย่างไรกับประโยค “เด็กสมัยนี้ไม่มีความอดทน”

“เรื่องการทำงานอดทนหรือเปล่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราชอบหรือเปล่า ในเจนนี้มักจะมีการเสพข้อมูลเยอะมาก เราจะชัดเจนกับสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบมากขึ้น การที่เราได้อยู่ในโซเชียล ได้เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ถ้าเราชอบอะไรก็กล้าที่จะออกมาทำหรือไม่ทำต่อมากกว่า แต่การทำงานทุกอย่างก็มีความเหนื่อย แต่ถ้าใจรักก็ทำต่อได้ ซึ่งมันจะถึงจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามากเกินไปแล้วเราจะถอยหลังออกมา คิดว่าเป็นความชัดเจนในสิ่งที่อยากทำและไม่อยากทำมากกว่า เรื่องนี้เชื่อมเข้าไปใน Work life balance ด้วย เพราะ Gen Z เห็นคุณค่าในเรื่องคุณภาพชีวิต (Quality of life) มากขึ้น การได้ใช้ชีวิตที่สร้างความทรงจำดีๆ กับเพื่อนๆ กับครอบครัว มีค่ามากกว่าเจนอื่นๆ ที่เกิดก่อน”

ข้อดีของการเข้าถึงเทคโนโลยีของ Gen Z

แอนชิลี บอกว่า การที่ Gen Z ได้ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเยอะๆ ทำให้เราสามารถจัดเรียงความสำคัญของข้อมูลได้ แต่เห็นด้วยกับ Baby Boomer ว่าการที่ Gen Z อยู่กับเทคโนโลยีมากไป ทำให้เราเข้ากับคนไม่เป็น เราไม่รู้ว่าควรจะสื่อสารกับผู้คนอย่างไร ต้องถามอะไรบ้าง อะไรที่ไม่ควรถาม

...

ผู้ร่วมเสวนาจาก 4 เจเนอเรชัน ได้แก่ คุณตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ นักเขียน คอลัมนิสต์ชื่อดัง ตัวแทน BABY BOOMER, คุณวู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา  ครีเอเตอร์ ตัวแทน GEN X, คุณโบ๊ท พชร อารยะการกุล CEO บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตัวแทน GEN Y และคุณแอนชิลี สก็อต-เคมมิส -นางแบบ นางงาม ตัวแทน GEN Z
ผู้ร่วมเสวนาจาก 4 เจเนอเรชัน ได้แก่ คุณตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ นักเขียน คอลัมนิสต์ชื่อดัง ตัวแทน BABY BOOMER, คุณวู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา ครีเอเตอร์ ตัวแทน GEN X, คุณโบ๊ท พชร อารยะการกุล CEO บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตัวแทน GEN Y และคุณแอนชิลี สก็อต-เคมมิส -นางแบบ นางงาม ตัวแทน GEN Z

...

“มันเป็นดาบสองคม เรารู้มากขึ้นเพราะเราเข้าหาข้อมูลได้เยอะ แต่การที่เราจะสื่อสารข้อมูลต่อในที่ทำงาน โดยเฉพาะการที่เราต้องคุยกับคน คิดว่าเป็นปัญหาที่ Gen Z เจอมากที่สุด โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมา เป็นช่วงที่สมองเราต้องพัฒนา ต้องเรียนรู้ ตอนนั้นกำลังเรียนมหาวิทยาลัยปีท้ายๆ ก็ต้องอยู่ในห้องคนเดียว ทำให้เราไม่ได้ใช้ชีวิตคุยกับคนอื่น หรือแชร์ข้อมูลกับคนอื่นในมหาวิทยาลัย เพราะทุกอย่างต้องออนไลน์หมด พอหมดโควิดก็ต้องออกมาทำงานจริงๆ ก็ทำให้เราช็อกพอสมควร”

จริงไหม ที่ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วย “แรงดราม่า” ต้องด่าก่อนถึงจะปรับปรุง

“คิดว่าจริงระดับหนึ่ง ในเรื่องที่เราต้องการความช่วยเหลือในสังคม เช่น ถนนพระรามสองที่ไม่เสร็จสักที การให้เสียงเรามาขับเคลื่อนก็เป็นเรื่องดี แต่อีกเรื่องคือเวลาที่คนด่าอะไรแล้วมักจะรู้สึกฟิน และเหมือนเป็นยาเสพติด เพราะรู้สึกว่าข่าวลบ ข่าวดราม่า คนจะเสพติดเรื่องนี้ และส่วนตัวจะอึดอัดมากๆ กับเรื่องนี้ เลยจะไม่เข้าไปอ่านคอมเมนต์ ไม่เข้าไปอ่านความคิดลบๆ แล้วเสพแต่ข่าวดีๆ ให้สมองเรามีความสุข”

...

คนไทย “ยิ่งด่ายิ่งดัง แถมลืมง่าย” ยุคนี้ยังใช้ได้อยู่ไหม

แอนชิลี เผยว่า เธอเคยโดนด่าเยอะๆ ตอนประกวดมิสยูนิเวิร์ส ซึ่งผ่านมาถึง 3 ปีแล้ว แต่ยังกลายเป็นเรื่องที่วนอยู่ในโซเชียลไปเรื่อยๆ จนเธอรู้สึกว่าคนไม่รู้จักคำว่าพอ เพราะเรื่องนี้มันไม่มีสาระ ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ในสังคม

“ส่วนตัวคิดว่าเราเลือกได้ว่าจะพูดถึงเรื่องนี้เพื่ออะไร แล้วคุยต่อตรงนั้น แทนที่จะมาพูดถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนสังคมในแง่ที่ดีได้ เพราะมันจะสร้างภาพจำให้กับคนคนนั้น คนไทยไม่ได้ลืมง่าย แอนเคยถูกด่าตอนประกวดมิสยูนิเวิร์ส ผ่านมา 3 ปีแล้ว คนก็ยังด่าเราอยู่”

นอกจากนี้เธอยังมองว่าคนที่อ่านข่าวแล้วด่าคนมักจะรู้สึกฟิน เธอจึงไม่ชอบอ่านข่าวตัวเองในด้านลบๆ เพราะอ่านแล้วจิตตกและรู้สึกว่าไม่มีสาระ ทำให้กลายเป็นภาพจำที่ทำให้คนจำเธอในภาพนั้น แต่ถ้าเรื่องไหนที่ด่าแล้วสามารถเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นได้ เธอก็คิดว่าก็เป็นเรื่องดี

สังคมไทยอยากรู้เรื่องชาวบ้าน แบบป้าข้างบ้าน จริงหรือ?

เนื่องจากเธอเป็นลูกครึ่งและเติบโตมาในสังคมที่มีแต่คนต่างชาติที่เคารพเรื่องความเป็นส่วนตัวมากๆ จึงทำให้เธอไม่เคยเจอประสบการณ์ “ป้าข้างบ้าน” แบบคนอื่นๆ และเมื่อเธอโตขึ้น ได้เข้าใจภาษาไทยมากขึ้น เธอก็เลือกที่จะไม่พูดเรื่องนี้ เพราะเข้าใจว่าอาจเป็นความเคยชินของคน และเธอคิดว่าการถามเรื่องส่วนตัวอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเจนเสมอไป อาจเป็นที่นิสัยส่วนตัวของแต่ละบุคคลมากกว่า

การแสดงจุดยืนทางการเมืองของ Gen Z เป็นสิ่งที่ทำได้ไหม

“หนูคิดว่า Gen Z กล้าที่จะพูดในสิ่งที่ต้องการหรือไม่ต้องการ และรู้สึกว่ามีสิทธิที่จะพูดได้ เพราะชีวิตของเรากำลังจะเริ่มต้น อนาคตก็ต้องขึ้นอยู่กับการเมืองอยู่แล้ว แต่ส่วนตัวแล้วหนูจะไม่กล้าพูดในที่สาธารณะ แต่ว่าจะคุยกับคนที่ใกล้ชิดที่สามารถดีเบตได้ และมี Critical Thinking ได้ บทสนทนาแบบนี้หนูคิดว่า Gen Z มีกันเยอะ แล้วก็ทำความเข้าใจในทัศนคติและมุมมองของคนต่างเจน และเปิดใจคุยกันได้ง่ายกว่า อาจเป็นเพราะว่า Gen Z เคารพความรู้สึกตัวเอง และเคารพความแตกต่างด้วย”

รัฐบาลในฝันเจอหรือยัง

“สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ตอนนี้มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ ไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนมีความสุขได้ แต่ถ้ารัฐบาลในฝันของหนูจริงๆ หนูชอบ จาซินดา อาร์เดิร์น อดีตนายกนิวซีแลนด์มาก เพราะเป็นผู้นำที่คิดเพื่อคน ทำเพื่อประชาชนจริงๆ เขากลับมาดูว่าคนประเทศเขาต้องการอะไรบ้าง ส่วนตัวหนูกังวลประเทศไทยว่าเราอาจจะลืมไปว่าคนไทยจริงๆ ต้องการอะไร ณ ตอนนี้เราให้ความสำคัญกับการเป็นประเทศพัฒนาแล้วมากเกินไป จนลืมพัฒนาคนในประเทศ ส่วนตัวคิดว่าถ้าคนในประเทศแข็งแกร่ง ประเทศก็พัฒนาต่อไปได้”

ย้ายประเทศ ดีหรือแย่กว่าในความเห็นของคุณ

แอนชิลี บอกว่า ส่วนตัวแล้วเธอมีความคิดอยากย้ายประเทศ เพราะเคยใช้ชีวิตที่ออสเตรเลียแล้วรู้สึกว่าคุณภาพชีวิตดีกว่าไทย สาธารณสุขดีและฟรี การศึกษาก็ฟรี ค่าแรงขั้นต่ำก็ดี สอนให้คนมี Critical Thinking ถนนหนทางดีปลอดภัย คุณภาพอากาศดี

“เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เราอยากไปอยู่ที่นั่น แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อเสียด้วย อย่างวัฒนธรรมไทยที่สวยงามและคนไทยก็ชอบช่วยเหลือกัน ก็เป็นสิ่งที่สวยงาม จึงมองว่าอาจจะไม่เกี่ยวกับเจน แต่เป็นเรื่องส่วนบุคคลมากกว่า”

สิ่งที่ Gen Z อยากส่งต่อและไม่อยากส่งต่อ คืออะไร

“หนูคิดว่า Gen Z ติดมือถือกันมากเลย จนทำให้เราลืมการใช้ชีวิตร่วมกับคนรอบข้าง อยากให้ Gen Z กลับไปใช้ชีวิต Slow life เพื่อให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แล้วสิ่งหนึ่งที่หนูอยากให้ Gen Z ทำต่อ ก็คือหนูภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเจนนี้คือความกล้าที่จะพูด กล้าที่จะถามคำถามที่ออกจากกรอบ”

ภาพ : ธนัท ชยพันธฤทธี