เคยดราม่า... หมวกกันน็อก ชิวทึบ ยังผิดกฎหมายจราจร หรือไม่ พูดคุยกับ เจ้าหน้าที่ สมอ.-ตำรวจจราจร กับปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ณ วันนี้

เคยมีดราม่ามาแล้ว หลายหน ในอดีต สำหรับประเด็นเรื่อง “หมวกกันน็อก” กรณี การใส่หมวกกันน็อกแบบหน้ากากมีสีทึบแล้วถูกตำรวจจับ ถึงแม้วันนี้เราไม่ค่อยได้เห็นแล้ว แต่ตามกฎหมาย จราจร 2522 ระบุว่า อุปกรณ์ต่างๆ ของหมวกนิรภัย (เช่น บังลมต้องทำด้วยวัสดุโปร่งใส ไม่มีสี เป็นต้น) ขณะที่ หมวกกันน็อก ที่เราเห็นขาย ที่ผ่านมาตรฐาน มอก. เราก็เห็นว่ามีหน้ากากเป็นสีทึบได้ สรุปแล้ว เรื่องนี้อัปเดตอย่างไร วันนี้เราได้พูดคุยกับ นางสาวสิริลักษณ์ ชูโชติ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 3 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

น.ส.สิริลักษณ์ บอกว่า ในหลักการตรวจสอบมาตรฐาน หมวกกันน็อกนั้น หลักใหญ่อยู่ที่ ฐานรองหมวกที่บริเวณด้านใน ต้องมีการรองรับการกระแทก ซึ่งพูดเป็นภาษาบ้านๆ คือ รองรับแรงกระแทกได้ ซึ่งจะมีการทดลองจากหุ่นยนต์ 

ส่วนการทดสอบด้วยมือ เราจะดูว่า จับแล้วแน่นหนาหรือไม่ สายคางรัดแน่น ส่วนหน้ากาก เรื่องนี้ มีความแตกต่างกันในด้านกฎหมาย ซึ่งของตำรวจ เขาบังคับว่าต้องโปรงใส ซึ่งเรื่องนี้ เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่...เวลานี้ มันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เนื่องจากคนขี่รถจักรยานยนต์ ต้องเจอกับแดดที่จ้า ฉะนั้น ทางมาตรฐาน จึงมีข้อกำหนดออกมา ว่า...

แผ่นบังลม : ต้องกันแสง ตั้งแต่ 50-80% โดยต้องระบุข้อความว่า “ใช้ในกลางวันเท่านั้น”

รองใน : โฟมรองในหมวกต้องแข็ง หนาตั้งแต่ 2.5 ซม. ขึ้นไป 

เปลือกหมวก : ความหนาเปลือกไม่ต่ำกว่า 4 มิลลิเมตร 

น้ำหนัก : ต้องไม่เกิน 2 กิโลกรัม 

...

สายระคาง : ต้องแข็งแรง ตัวล็อกต้องแน่น สายถักต้องนิ่ม ถักแน่น มีความกว้างไม่น้อยกว่า 20 มิลลิเมตร 

“สาเหตุที่บางครั้งต้องใช้ที่กันลมแบบมีสีบ้าง เพราะเวลาขับขี่รถ จยย.นั้น เจอแดดเข้าตา ก็ขับมอเตอร์ไซค์ลำบาก ส่วนสีหน้ากากนั้น สำหรับของเรา คือ ถ้าผ่าน มอก.ก็จะประมาณ 50-80% ขณะที่กฎหมายของตำรวจนั้น ต้องโปร่งใส อย่างเดียว สำหรับเรื่องนี้ โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว”

เมื่อถามว่า เราได้เคยพูดคุยกับ ทางตำรวจหรือไม่ นางสาวสิริลักษณ์ ระบุว่า เคยได้คุยกันแล้ว เรื่องนี้ ทางตำรวจทราบ และบอกไปแล้วว่า หลักของ มอก. หมวกกันน็อก เปลี่ยนไปแล้ว แต่การใช้กฎหมาย หลักการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างไร เรื่องนี้เคยเป็นเรื่องดราม่ามาหลายปีแล้ว และเราก็เปลี่ยนไปแล้ว...” 

ส่วนกรณีนี้ไม่รวมกรณีการทำผิด ด้วยการเอามาดัดแปลงเอง เปลี่ยนหน้ากากเอง ที่อาจจะสุ่มเสี่ยง ที่ไม่ได้มาตรฐานของ มอก. คือ 50-80% 

ตำรวจจราจร ยังยึดกฎหมาย จราจร ปี 2522 

ทีมข่าวฯ ยังได้สอบถามเรื่องนี้ไปยังเจ้าหน้าที่ นายหนึ่ง ใน บก.จร. เพื่ออัปเดตว่ากฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือไม่ และยังมีการจับกุมกรณีหมวกกันน็อก ไม่โปร่งใส หรือไม่ แหล่งข่าวตำรวจใน บก.จร. ยอมรับว่า เรื่องนี้เคยมีดราม่า และถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่หากจะให้ยึดหลักปฏิบัติในการทำงาน ก็ต้องอิงหลักกฎหมายเป็นหลัก เพราะถึงเวลานี้ กฎหมายดังกล่าว ถือว่ายังบังคับใช้อยู่ และเท่าที่ทราบ คือ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ประการใด 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้อง ยึดหลัก “ความปลอดภัย” ของพี่น้องประชาชนมาก่อน ซึ่งเรื่องนี้ สำหรับตำรวจจราจร ส่วนมากก็มองว่า หากขี่มอเตอร์ไซต์มา และใส่หมวกกันน็อกแล้ว ก็ถือว่า “ใส่แล้ว” 

ส่วนเรื่องการใช้ดุลยพินิจนั้น เบื้องต้น กฎหมายต้องให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจก่อน ที่จะสามารถใช้ได้ ฉะนั้น เรื่องนี้ หากจะให้ยึดหลัก ก็จะยึดหลักกฎหมายเป็นหลักก่อน

ในหลักความเป็นจริง ใส่หมวกแล้ว แดดแรง... แต่กฎหมายที่บังคับใช้ก็เป็นกฎหมายค่อนข้างเก่า 

เมื่อถามว่า ถึงเวลาต้องพูดคุยเรื่องนี้หรือยัง...แหล่งข่าวใน บก.จร. รายเดิม ระบุว่า มันต้องเป็นเรื่องที่มีวาระพูดคุย เจ้าหน้าที่ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน ไม่สามารถปรับแก้กฎหมายได้ เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย 

หากยกตัวอย่างเรื่องความปลอดภัย เกี่ยวกับขนส่งสาธารณะ เช่น คำถามคือ “แท็กซี่” ควรติดฟิล์ม หรือไม่ เพราะอากาศมันร้อน ความปลอดภัยของผู้โดยสาร จะเป็นอย่างไร 

หากถามตำรวจ ตำรวจจะบอกว่าเขาไม่เห็นด้วย ที่แท็กซี่ ติดฟิล์มปรอท ฟิล์มดำ เพราะมีความสุ่มเสี่ยงหลายเรื่อง 

...

เมื่อถามว่า ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน รู้สึกอึดอัดกับกฎหมายที่บังคับใช้หรือไม่ แหล่งข่าว คนเดิมตอบว่า ตอนนี้โลกมีวิวัฒนาการไปมากแล้ว แต่เรายังใช้กฎหมายเก่าอยู่ ทั้งที่สถานการณ์โลกเปลี่ยนไปแล้ว แต่เราก็ไม่สามารถกำหนดได้ เป็นฝ่ายนิติบัญญัติต่างหาก จะเป็นผู้กำหนด 

“สมัยนี้ จยย.ขับรถปิดหน้าปิดตากันหมด หากมีการใส่หมวกกันน็อก เขาก็ไม่ค่อยยุ่งหรอก...” แหล่งข่าว บก.จร. กล่าว 

ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มองประเด็นนี้ว่า ส่วนมากเวลานี้ตำรวจเขาไม่ค่อยยุ่งประเด็นนี้แล้ว ขอแค่ผ่านมาตรฐาน มอก. และหากว่าสวมหมวกนิรภัยแล้ว ก็ถือว่า ได้ทำตามกฎหมายจราจรแล้ว 

หากจะใส่ที่กันลมจนทึบเลย แบบนี้ คนขี่เองก็ไม่ปลอดภัย ก็เชื่อว่าไม่ใช้กันอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการแต่งเติมนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งหากว่าดำมืดเกินไป ทาง มอก. เขาคงไม่ปล่อย และเขาต้องรับผิดชอบ”

“ปัญหาของเรื่องนี้ คือ ตำรวจบางนายนั้น มีการจับกุมเพื่อหวังเงินรางวัล มันจึงกลายเป็นเรื่องเป็นราว บางเรื่องแม้เขาจะทำผิดกฎหมาย แต่คุณสามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ เพื่อให้เขาแก้ไข ตาม พ.ร.บ.จราจร” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว 

...

อ่านบทความที่น่าสนใจ