ปมร้อน "สามี" ฟ้องร้อง "ภรรยา" ยักยอกทรัพย์ กลายเป็นประเด็นที่สังคมสนใจ แม้มีการเสนอให้นำไปสู่การไกล่เกลี่ยในเรื่องทรัพย์สิน แต่ทนาย มองว่า ตอนนี้มีคดีที่สามี ฟ้องร้องภรรยา มากกว่าคดีที่ภรรยาฟ้องร้องทรัพย์สินจากสามี แต่คดีส่วนใหญ่ไม่สามารถทำให้อีกฝ่ายถูกจำคุกได้ โดยเฉพาะคู่ที่จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินต้องแบ่งครึ่ง แม้เลิกรักกันแล้ว

กลายเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องกรณี หนุ่ม กะลา นักร้องชื่อดัง มอบหมายให้ทนายยื่นฟ้องภรรยา โดยมีการอ้างว่าพบการยักยอกเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ โดยการโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวภรรยา ในประเด็นของการยักยอกทรัพย์ สุดท้ายอยากให้ไกล่เกลี่ยจบกันด้วยดี ซึ่งฝ่ายภรรยามีการตอบโต้กลับผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงรายจ่ายสามีในแต่ละเดือน

ทนายกรณ์ เชิญธงไชย ณ ราชสีมา เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ลุงทนายใจดี ปรึกษากฎหมายฟรี กล่าวถึงคดีปมร้อนยักยอกทรัพย์ของสามี-ภรรยา ว่า ตอนนี้มีคดีที่สามีแจ้งความดำเนินคดีกับภรรยา เรื่องทรัพย์สินมากขึ้น แต่ภรรยาจะมาฟ้องร้องสามีน้อยกว่า ซึ่งตามกฎหมายนับตั้งแต่การจดทะเบียนสมรส ไม่ว่าสามีจะหาเงินได้เท่าไร เงินส่วนนั้นเป็นของภรรยาครึ่งนึง โดยหลังจากหักค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เงินหรือทรัพย์สินที่เหลือจะถูกแบ่งครึ่งให้เป็นสมบัติของทั้งสองฝ่าย เช่น สามีมีเงินเดือน 3 แสนบาท ภรรยาเงินเดือน 2 หมื่นบาท รวมกันแล้ว 3.2 แสนบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเงินอยู่ 2 แสนบาท จะเป็นเงินเก็บร่วมของสามีภรรยา

...

กรณีสามีฟ้องภรรยา เรื่องยักยอกเงิน มีระบุไว้ในประมวลกฏหมายอาญามาตรา 71 ที่ระบุว่ากรณีของสามีภรรยา อะไรที่เกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ลักวิ่ง ชิงปล้น ยักยอก ถึงแม้ได้ความว่าภรรยากระทำต่อสามี หรือสามีกระทำต่อภรรยา ผู้กระทำความผิดจะไม่ต้องรับโทษ เพราะถือว่าเป็นสามีภรรยากัน

กรณีของ หนุ่ม กะลา ที่มีการอ้างว่าภรรยายักยอกเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัดของตน สามารถฟ้องได้ เพราะถ้าสามีฟ้องภรรยาก็จะไม่มีโทษ แต่มีการนำหลักฐานสำคัญมายืนยันคือ สเตตเมนต์ ที่ระบุรายละเอียดถึงการเบิกจ่าย แต่สุดท้ายศาลก็จะให้ทั้งสองฝ่ายไกล่เกลี่ยกัน

หลายเคสที่มีการฟ้องร้องว่าสามีหรืภรรยายักยอกเงินของตนเองไป อย่างมากศาลตัดสินว่าให้นำเงินมาคืน แต่ไม่มีโทษจำคุก

ทางออกสามี-ภรรยา ฟ้องร้องยักยอกทรัพย์

เคสของนักร้องดัง ทำให้คนในสังคมตื่นตัว กรณีที่สามีฟ้องร้องภรรยาในการยักยอกทรัพย์ ซึ่งทางออกหากมีการจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ทนายกรณ์ มองว่า เรื่องเงินทองของสามีภรรยาเป็นเรื่องที่ฟ้องกันไม่ได้ เช่น ตอนนี้สามีมีเงินในบัญชี 4 หมื่นบาท เท่ากับว่าเป็นของภรรยา 2 หมื่นบาท เพราะตามกฎหมายระบุว่า ระหว่างที่สามีไปทำงานนอกบ้าน โดยที่ภรรยาดูแลบ้านและลูก ถือเป็นส่วนที่สนับสนุนทำให้สามีสามารถออกไปทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ภรรยาถือว่าเป็นหนึ่งในหน่วยเศรษฐกิจ สามี-ภรรยา เป็นเสมือนหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น เคสที่สามีแอบโอนเงินไปไว้ที่เมียน้อย 1 ล้านบาท หากมีการนำสืบและพิสูจน์ได้ ภรรยาหลวง สามารถขอเงินคืนได้ครึ่งนึงคือ 5 แสนบาท เพราะถือเป็นสินสมรสที่ภรรยามีส่วนได้เสียครึ่งนึง แต่ถ้าบางกรณีมีช่องว่าง ถ้าเป็นการให้เงินสด หลักฐานการโอนต่างๆ ไม่มี ทำให้เรียกร้องไม่ได้

สำหรับคู่ครองที่กลัวจะตกอยู่ในสถานการณ์การถูกฟ้องร้องยักยอกทรัพย์ เอกสารที่ต้องเก็บคือ สเตตเมนต์ โดยเฉพาะการทำธุรกิจร่วมกัน ต้องมีการเก็บอย่างละเอียด รวมถึงข้อมูลการแชตไลน์ต่างๆ

...

"กรณีที่มีการให้ของขวัญชิ้นใหญ่ๆ อาจต้องโพสต์ลงออนไลน์ เช่น การนำสืบว่าสามีให้รถภรรยา ภายหลังสามีบอกว่าไปยืมเงินคนอื่นมา และวันนั้นไม่ได้ให้รถภรรยา แต่ภรรยาได้เคยโพสต์รูปตอนสามีให้รถ และมีการคอมเมนต์ในทำนองว่าให้รถ ก็ถือเป็นหลักฐานการให้ย้อนหลัง ที่ไม่สามารถเรียกร้องเอาคืนได้"

สิ่งที่สำคัญในเรื่องทรัพย์สินของสามีภรรยา ต้องมีการทำให้ชัดว่า สิ่งไหนขอ สิ่งไหนให้ หรือสิ่งไหนไถ สุดท้ายปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมาจากการหมดรัก ซึ่งหลายคดีจะต้องมีการไกล่เกลี่ย.