หวยเกษียณคืออะไร? ภายหลัง “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรคเพื่อไทย ออกมาเปิดเผยนโยบาย “สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” เรียกสั้นๆ ว่า “สลากเกษียณ” หรือ “หวยเกษียณ” มีการออกรางวัลทุกสัปดาห์ จากพฤติกรรมชอบเสี่ยงดวงของคนไทยมาเป็นแรงจูงใจในการออม เพื่อแก้ไขปัญหาคนไทยแก่แต่จน แก่แต่ไม่มีเงินเก็บ หากไม่ถูกรางวัลเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ซื้อหวยเกษียณ จะสะสมเป็นเงินออมยามเกษียณ คาดเริ่มปี 2568

“สลากเกษียณ” เป็นสลากขูดแบบดิจิทัล ใบละ 50 บาท ออกโดยกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อให้แรงงานนอกระบบ สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ และผู้ประกันตน มาตรา 40 ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อเดือน ผ่านแอปพลิเคชันของกองทุนการออมแห่งชาติ และจะสามารถถอนเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดออกมาได้เมื่ออายุ 60 ปี ซึ่งปัจจุบันสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ มีประมาณ 3 ล้านราย คาดว่าผลิตภัณฑ์หวยเกษียณ เงินรางวัลสูงสุด 1 ล้านบาท 5 รางวัล และเงินรางวัล 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล จะสร้างแรงจูงใจทำให้จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 16-17 ล้านราย

ข้อมูลศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยประมาณการว่าคนไทยมีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ติดพนันราว 6.66 ล้านคน และที่น่าตกใจพบว่าสัดส่วนผู้ติดการพนันออนไลน์ มีมากสุด รองลงมาหวยรายวัน ทั้งหวยเพื่อนบ้าน หวยหุ้น และหวยยี่กี อันดับ 3 พนันฟุตบอล ตามมาด้วยอันดับ 4 พนันในบ่อนต่างๆ และอันดับ 5 หวยใต้ดินและสลากกินแบ่งรัฐบาล

...

หวยเกษียณนโยบายย้อนแย้ง ให้คนออมเงิน หรือกระตุ้นบริโภค

ทันทีที่รัฐบาลเปิดแนวคิดจะออกสลากเกษียณ หรือหวยเกษียณ ในมุมมองของ “ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข” คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) บอกเลยว่า เหมือนการออกสลากออมสิน และมีโอกาสถูกรางวัล แต่ไม่ได้กระตุ้นให้คนจะเกษียณออมเงินมากขึ้น เพราะคนเหล่านี้ออมเงินอยู่แล้ว และมีทางเลือกอย่างอื่นในการออม อย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ไม่แน่ใจว่านโยบายนี้จะช่วยอะไร ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์จริงๆ หากจะรอพันธบัตรรัฐบาลก็ไม่มีปัญหา อย่างไรแล้วรัฐบาลก็ขาดดุลงบประมาณ 5 ปี อยู่ที่ 7-8 แสนล้านบาทต่อปีอยู่แล้ว ใครจะซื้อก็ซื้อได้ หรือว่ากองทุนการออมแห่งชาติ ไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องใช้เครื่องมือแบบนี้

“สลากออมสินก็มีขาย คนเกษียณก็ฝากเงินอยู่แล้ว คิดว่าไม่มีนัยอะไรในแง่นโยบาย ถ้าจะเปิดให้คนใกล้เกษียณซื้อสลาก ก็ไม่ต่างอะไรกับการซื้อสลากออมสิน จนมีความรู้สึกว่าเป็นมาตรการที่สับสน ในการส่งเสริมการออม ขณะเดียวกันก็กระตุ้นการบริโภค มันดูย้อนแย้ง ไม่แน่ใจว่าทำเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ถ้าให้กลุ่มผู้ประกันตน มาตรา 40 ออมเงิน แล้วให้กลุ่มมาตรา 33 กระตุ้นการบริโภค ก็ไม่ได้ต่อต้านนโยบายการออม เข้าใจว่าเป็นนโยบายที่ดีในแง่ให้คนมีวินัยทางการเงิน ให้ออมมากขึ้น แต่สภาวะเป็นแบบนี้ เราไม่ได้ขาดแคลนทุน ปัญหาอยู่ที่ว่าจะแปลงทุนให้เป็นการลงทุนอย่างไร ในการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมันเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ แต่กลับให้คนกระตุ้นการบริโภค”

หนี้ครัวเรือนพุ่งกระฉูด จะออมอย่างไร ซื้อหวยเกษียณ ก็คงยาก

การจะมีนวัตกรรมให้คนออมเงินมากขึ้น คิดว่าควรทำแบบร้านเซเว่น อีเลฟเว่น มีการสะสมคะแนนจากการบริโภคในช่วงวัยทำงาน มาเป็นเงินออม เช่น 100 คะแนน ได้กลับมาเป็นเงินออมกี่บาท เรียกว่า “บริโภคไปด้วย ออมไปด้วย” เพื่อมาใช้ในยามเกษียณน่าจะดีกว่า ให้คนรู้สึกว่าเป็นการส่งเสริมการออม เพราะหวยเกษียณ เหมือนกับสลากออมสิน ไม่เห็นความแตกต่าง แทนที่จะเป็นการกระตุ้นการออม ก็กลายเป็นว่าไปแย่งลูกค้าจากแบงก์ออมสิน ไม่เห็นเป็นนวัตกรรมในการออม ไม่เห็นมีนัยต่อเศรษฐกิจ

สุดท้ายจะได้เงินออมเท่าไร จะถึงหลักร้อยล้าน พันล้าน หรือหมื่นล้านบาทหรือไม่ หรือจะให้ดิจิทัลวอลเล็ต กู้ไปใช้ ก็คงไม่ได้ มองไม่ออกว่ากองทุนการออมแห่งชาติ จะมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นไปจากเดิม เพราะทุกวันนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ทำ KPI ไม่ได้ตามเป้าหมาย 

ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่าโครงสร้างสังคมไทยมีปัญหาการออม จากในอดีตคิดว่าเป็นสังคมออมเงินมากกว่าโลกตะวันตก แต่ปัจจุบันไม่คิดแบบนั้น เพราะหนี้ครัวเรือนในขณะนี้เพิ่มขึ้น 91.4% ต่อจีดีพี หรือ 16.9 ล้านล้านบาท และคนส่วนนี้ ก็จะออมน้อย ไม่ได้มีเงินเหลือทำให้ออมเงินไม่ได้ หรือจะให้กินข้าวและบริโภคให้น้อยลง เพื่อนำเงินไปซื้อหวยเกษียณให้เป็นเงินออม ก็คงไม่ได้ เพราะเอาเข้าจริงๆ ในทางปฏิบัติ ไม่คิดว่าพฤติกรรมคนเหล่านี้จะทำได้ 

...

“เหมือนซื้อหวยใต้ดิน มีเงินน้อยเพียง 10 บาท ก็ซื้อได้ เมื่อถูกก็ได้เงิน แต่หวยเกษียณไม่สามารถจ่ายได้แบบนี้ หรือต่อให้จ่ายได้แบบนี้ ก็ไม่คิดว่าคนจะซื้อหวยเกษียณ เพราะเคยซื้อหวยใต้ดิน 10 บาทมาก่อน ไม่คิดว่าพฤติกรรมคนจะเปลี่ยน คิดว่าในทางปฏิบัติไม่เวิร์ก นำมาสู่การตั้งคำถามว่าหวยเกษียณ มีเป้าหมายอะไร มีวัถตุประสงค์อะไร แล้วมีนัยอย่างไร และถ้าได้คนออมเงินเพิ่มไม่ถึงหลักหมื่นล้านในกองทุนฯ นี่คือคำถามที่ต้องการคำตอบ”.