"รถน้อย คอยนาน ค่าโดยสารเพิ่ม" คำถามที่ผู้ใช้รถเมล์ ถึงการปฏิรูป ยิ่งทำยิ่งเพิ่มภาระให้ประชาชน แม้ ขสมก. มีการเดินรถ 107 เส้นทาง เกินครึ่งของรถที่วิ่งอยู่เป็นรถร้อนที่มีราคาถูก แต่อีก 162 เส้นทาง เป็นของเอกชน ซึ่งใช้รถแอร์ มีค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว "สภาผู้บริโภค" มองว่า ควรมีการซอยย่อยค่าโดยสารตามระยะทางให้ถี่มากขึ้น เพื่อช่วยให้ประชาชน ไม่ต้องแบกรับภาระหนักอย่างที่เป็นอยู่

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการ ด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ระบบการขนส่งรถเมล์ในกรุงเทพฯ อดีตมีสถิติคนที่ขึ้นรถเมล์กว่าล้านคน/วัน ปัจจุบันผู้โดยสารลดลงมาเหลือ 5-6 แสนคน/วัน ส่วนนึงมาจากการปฏิรูปรถเมล์ตั้งแต่ปี 2562 มีการเปลี่ยนแปลงบทบาท ขสมก. ที่เดิมเป็นทั้งผู้กำกับและให้บริการ แต่มติใหม่ให้ ขสมก. เป็นผู้บริการอย่างเดียว ส่วนผู้กำกับดูแลเป็นกรมการขนส่งทางบก

การปฏิรูปเส้นทางของ ขสมก. โดยอ้างเหตุว่าเพื่อให้เกิดความคล่องตัว สุดท้าย ขสมก. เหลือการเดินรถอยู่ 107 เส้นทาง ส่วนเอกชนมี 162 เส้นทาง รวมทั้งสิ้น 269 เส้นทาง

...

หากวิเคราะห์ให้ลึกพบว่า เส้นทางเดินรถ ขสมก. ขณะนี้ทยอยให้เอกชนมาเดินรถแทนมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางที่มีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก ส่วนค่าโดยสารของเอกชนส่วนใหญ่เป็นรถแอร์ ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้โดยสารค่อนข้างมาก เพราะเมื่อเป็นรถแอร์ ค่าโดยสารเป็นไปตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง กำหนดตามระยะทางคือ 15-20-25 บาท ขณะที่ ขสมก. เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยคนมีรายได้น้อย เลยคิดค่าโดยสารที่ไม่คุ้มกับต้นทุนแท้จริง ซึ่งผู้บริโภคชอบ แต่ ขสมก. ก็พบกับปัญหาขาดทุน

"สิ่งที่ประชาชนตั้งคำถามตอนนี้คือ การปฏิรูปรถเมล์เป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสารจริงหรือไม่ อย่างล่าสุดยกเลิกการเดินรถสาย 18 ของ ขสมก. เส้นทางตลาดท่าอิฐ-อนุสาวรีย์ชัยฯ ถ้าขึ้นไป-กลับวันละ 16 บาท แต่ตอนนี้ เมื่อเป็นรถแอร์มาวิ่งแทน ต้องจ่ายค่าโดยสารไป-กลับวันละ 50 บาท ถือว่าเกินกว่าสิ่งที่หน่วยงานพยายามให้ค่ารถโดยสารรถสาธารณะ ไม่เกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งหากผู้โดยสารต้องไปต่อรถเพิ่ม ยิ่งมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น"

แนวคิดการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ ส่วนนึงเพื่อให้การเดินรถมีระยะสั้นลง สามารถเชื่อมต่อกับการคมนาคมอื่นๆ ได้ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ การทำเส้นทางให้สั้นลง ประชาชนบางส่วนต้องไปต่อรถเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จนกลายเป็นภาระให้กับผู้บริโภค แม้รัฐมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อย แต่ไม่ได้เข้าถึงประชาชนทุกคน

ช่องว่างค่าโดยสารรถเมล์แอร์

คงศักดิ์ มองว่า อัตราค่าโดยสาร ที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง กำหนดตามระยะทางคือ 15-20-25 บาท ยังมีช่องว่างที่สามารถลดได้ เพราะกฎหมายกำหนดระยะทาง 4 กิโลเมตร 15 บาท ถือเป็นระยะทางที่ใกล้มาก ซึ่งถ้าระยะทาง 4-16 กิโลเมตร 20 บาท แต่ถ้า 16 กิโลเมตรขึ้นไป 25 บาท หากมีการคิดค่าโดยสารแบบซอยย่อยระยะทางให้ถี่ขึ้น เพื่อให้ผู้โดยสารจ่ายอัตราที่เหมาะสม เป็นแนวคิดที่ประชาชนผู้ใช้บริการอยากให้เกิดขึ้น

หรือการคิดค่าโดยสารตามระยะทางแบบเดิมของรถยูโร ที่หลายคนพอใจ โดยเริ่มจาก 12-15-16-18 บาท ซึ่งเป็นการซอยค่าโดยสารที่ถี่ขึ้น เหมาะกับประชาชนที่หาเช้ากินค่ำมากกว่า

...

ต่างประเทศมีการช่วยเหลือให้ค่ารถโดยสารสาธารณะต่อวัน ไม่เกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ขั้นต่ำ ไม่ว่าจะต่อรถกี่ต่อก็ไม่เกินนี้ สิ่งนี้ทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น และไม่ส่งผลกระทบต่อรายจ่ายของประชาชน ขณะที่ไทยแนวคิดการลดรายจ่ายค่าเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ กลับเน้นการช่วยเหลือกลุ่มยากไร้ โดยการให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ไม่ได้มองถึงภาพรวมของการเข้าถึงระบบขนส่งทั้งระบบ

"ขสมก. เคยมีตั๋วรายวัน รายเดือน รายสัปดาห์ แต่ปัญหาระบบขนส่งไทยยังไม่เชื่อมต่อกัน คือบางเส้นทางมีแต่รถเอกชนไม่มีรถ ขสมก. ทำให้บัตรที่ซื้อมา ไม่สามารถใช้ได้ ตอนนี้หลังการปฏิรูปรถเมล์ เส้นทางของ ขสมก.ลดลง ยิ่งส่งผลให้การซื้อบัตรลักษณะดังกล่าวลดลง แต่ถ้ามีการจัดระบบให้ใช้ได้ทั้งรถ ขสมก. และเอกชน จะทำให้ประชาชนประหยัดค่าครองชีพได้มากขึ้น"

ที่ผ่านมา ขสมก. เคยระบุว่า มีรถเมล์ร้อนที่วิ่งอยู่ 2,398 คัน แต่สถานการณ์จริงที่ผู้โดยสารเจอ กลับพบว่าต้องรอรถเมล์นานกว่าเดิม ภาครัฐยังไม่เคยมีการประมวลผลกระทบหลังจากปฏิรูปรถเมล์ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผู้ประกอบการเอกชน มีการตั้งคำถามถึงปริมาณรถที่ปล่อยมาตรงกับที่กำหนดไว้หรือไม่ เพราะหลายคนยังบ่นในโลกออนไลน์ว่า "รถน้อย คอยนาน"

...

สิ่งสำคัญที่จะทำให้ค่าโดยสารในระบบขนส่งสาธารณะถูกลง รัฐต้องมีการสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือประชาชน ควรมีงบอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือด้านค่าโดยสารทั้งระบบ และหารายได้อื่นนอกจากค่าโดยสาร เพื่อช่วยให้ระบบเดินต่อไปได้.