คุยกับ อธิบดีอัยการ สคช. เรื่อง 'สื่อกับการนำเสนอข่าวเด็ก' มองกฎหมายเด็กมีความละเอียดอ่อน สื่อพึงระมัดระวังการเล่นข่าว ก่อนสุ่มเสี่ยงตกเป็นผู้กระทำผิดเพราะละเมิดสิทธิเด็ก 

หลายต่อหลายครั้งที่เราเห็น 'สื่อ' น้อยใหญ่ นำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ 'เด็ก' ผ่านช่องทางต่างๆ ยิ่งในปัจจุบันที่โลกการสื่อสารมุ่งสู่สังคมออนไลน์มากขึ้น ทำให้การนำเสนอข่าวดูคล้ายกับการแข่งขันที่ต้องเน้นความรวดเร็ว เพื่อช่วงชิงพื้นที่บนโลกเสมือนนั้น ส่งผลให้บางครั้งข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกไป อาจตกหล่นจากการคัดกรองจนเข้าข่ายละเมิดสิทธิที่พึงมีของเด็ก

ประเด็นที่ ทีมข่าวฯ ขอยกมาเป็นกรณีศึกษาในวันนี้ คือเรื่องของ 'น้องเชื่อมจิต' และครอบครัว ที่กำลังเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศ และดูเหมือนเรื่องราวจะทวีความเข้มข้นไม่จบลงโดยง่าย อย่างไรก็ดีหลังจากที่เราได้สนทนากับ 'นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง' อธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) ทำให้เราพอจะตระหนักและทราบได้ว่า ที่ผ่านมา 'สื่อ' อาจจะละเมิดสิทธิของเด็กไม่มากก็น้อย

...

กฎหมายเกี่ยวกับเด็กมีความละเอียดอ่อน : 

นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า ถ้าพูดถึงกฎหมายคุ้มครองเด็กโดยรวม ถือว่ามีความละเอียดอ่อน เพราะกฎหมายมองว่าเด็กยังอยู่ในภาวะวิสัยที่ไม่สามารถคุ้มครองตัวเองได้ กฎหมายจึงมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองเด็กมากเป็นพิเศษ 

ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นที่ต่างจังหวัดที่มีเด็กไปรุมโทรม สังเกตดูว่าขนาดเด็กเป็นผู้ต้องหา เรายังเปิดเผยภาพเด็กไม่ได้เลย เพราะในกฎหมายต้องใช้วิธีการสำหรับเด็ก สมมติว่าเด็กเป็นผู้ต้องหา เป็นพยาน หรือเป็นผู้เสียหาย ถ้าจะสอบเด็ก ต้องมีสหวิชาชีพเข้ามาร่วม เช่น อัยการ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น ตำรวจจะมานั่งสอบถามเองไม่ได้ เหล่านี้ต้องทำเป็นกระบวนการ เพื่อไม่ให้คำถามไปทำร้ายจิตใจเด็ก 

ทีมข่าวฯ สอบถามอธิบดีอัยการ สคช. ต่อไปว่า หากสื่อต้องการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กควรจะปฏิบัติอย่างไร?

นายโกศลวัฒน์ ให้คำตอบว่า ในเบื้องต้น สื่อต้องปิดภาพหรือเบลอหน้าเด็กให้หมดเพื่อความปลอดภัย เนื้อหาการนำเสนอต้องเป็นเนื้อหาโดยรวม ไม่ชี้เฉพาะเจาะจงที่จะยืนยันว่าตัวตนเด็กเป็นใคร เช่น ข้อมูลพ่อแม่เด็ก เพราะอาจจะสามารถโยงไปถึงตัวเด็กได้ จริงๆ แล้วแค่มีการเขียนอะไรเกี่ยวกับเด็กไปในทางที่ไม่ดี ก็สุ่มเสี่ยงที่จะผิดแล้ว นี่คือหลักทั่วไปที่เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก 

อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็ก อธิบดีอัยการ สคช. กล่าวว่า มีกรณีบางอย่างที่ถือเป็นข้อยกเว้น เช่น เมื่อมีเด็กหาย ถ้าต้องการประสานให้สังคมช่วยกันตามหาเพื่อช่วยเหลือ กรณีเช่นนี้สามารถเปิดภาพเด็กสู่สาธารณะได้เลย แต่เมื่อตามเจอแล้ว คนที่นำไปเผยแพร่ก็ต้องช่วยลบภาพออก นี่คือมาตรฐานการคุ้มครองเด็ก

ตัวอย่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก :

ทีมข่าวฯ ขอพาคุณผู้อ่านส่องกฎหมายบางข้อที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็ก โดยเริ่มต้นกันที่ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ ให้คำนิยามไว้ว่า "เด็ก" หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส 

โดย พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 หมวด 2 การปฏิบัติต่อเด็ก ระบุว่า

มาตรา 22 การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การกระทำใดเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก หรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อเด็กหรือไม่ ให้พิจารณาตามแนวทางที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

ซึ่ง พ.ร.บ. ข้างต้น หมวด 9 บทกำหนดโทษ ระบุว่า มาตรา 79 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 มาตรา 50 หรือมาตรา 61 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

...

แนวปฏิบัติฯ การเสนอข่าว : 

คราวนี้เราขอพาคุณผู้อ่านไปดู "แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การเสนอข่าว ความคิดเห็น และภาพเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2564" ซึ่งเผยแพร่โดย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ หรือ The National Press Council of Thailand 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสิ่งนี้จะไม่ใช่กฎหมาย แต่ก็เสมือนเป็นแนวปฏิบัติที่สื่อพึงกระทำ โดยทีมข่าวฯ ขออนุญาตยกเนื้อหามาบางส่วน ดังนี้

ข้อ 1 การเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชนของเด็กและเยาวชน           

ข้อ 2 การเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน มีดังนี้

- ต้องไม่เปิดเผยชื่อ ชื่อสกุล ภูมิลำเนาที่อยู่ของเด็กและเยาวชน รวมทั้งชื่อ ชื่อสกุล และภูมิลำเนาที่อยู่ของบิดา มารดา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน รวมทั้งสิ่งที่ทำให้รู้หรือสามารถรู้ถึงตัวเด็กและเยาวชนได้ โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียงเกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็กและเยาวชน หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

- ต้องไม่ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือชีวิตครอบครัวของเด็กและเยาวชน แม้ว่าจะได้รับความยินยอมจากเด็ก เยาวชน หรือผู้ปกครองก็ตาม

- พึงระมัดระวังการนำเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และเนื้อหาทั่วไป ที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อชีวิตของเด็กและเยาวชน ไม่ว่าการนำเสนอดังกล่าวจะมีเจตนาดีต่อเด็กและเยาวชน หรือไม่ก็ตาม

...

- พึงระมัดระวังการนำเสนอ ผลิต หรือเผยแพร่ซ้ำ ซึ่งภาพ หรือภาพเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชนในลักษณะขบขัน ทำให้เป็นตัวตลก น่าสงสาร สมเพช ที่มีการส่งต่อกันทางสื่อดิจิทัล

กรณีครอบครัวเชื่อมจิต และการนำเสนอข่าวของสื่อ : 

สำหรับกรณีของ 'น้องเชื่อมจิต' นายโกศลวัฒน์ แสดงความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมาการนำเสนอข้อมูลของสื่อถือว่าสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะทำผิด เพราะโดยกฎหมายสื่อไม่ควรนำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่จะนำไปสู่การยืนยันว่าเด็กคนนั้นเป็นใคร เช่น ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลของผู้ปกครอง เพราะถ้านำเสนอออกไปสังคมก็จะรู้ว่าใครเป็นลูกเขา

"อย่างข่าวเมื่อวาน (3 มิถุนายน 2567) ถ้าผมเห็นไม่ผิด มีช่วงหนึ่งที่ตำรวจประกาศเรื่องกฎหมายและสิทธิของเด็ก ผมมองว่าโรงพักก็คงต้องประกาศออกไป เพราะมองในมุมหนึ่งหากตำรวจยอมให้มีการละเมิดกฎหมายคุ้มครองเด็กบนโรงพัก มันก็ดูไม่เหมาะต่อสถานที่ของเขา เพราะนั่นคือโรงพัก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษากฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ตำรวจทำถูกต้องในมุมของเขา เพราะเขาไม่ได้คุ้มครองพ่อแม่แต่คุ้มครองเด็ก อย่างกรณีที่ถ่ายทอดสดแล้วติดภาพเด็ก ตรงนี้ก็สุ่มเสี่ยงมากแน่นอน อยู่ที่เขาจะเอาเรื่องไหม"

...

อย่างไรก็ดี อธิบดีอัยการ สคช. ได้มีคำแนะนำเบื้องต้นถึงสิ่งที่สื่อมวลชนพึงปฏิบัติว่า การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็ก อยากให้ศึกษากฎหมายแล้วใช้อย่างระมัดระวัง เพราะคุณอาจสุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นผู้ต้องหาทำผิดกฎหมายคุ้มครองเด็กได้ 

การนำเสนอนั้นมีเทคนิคหลบหลีก ที่ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างโจ่งแจ้ง เช่น สื่ออาจเขียนทำนองว่า ลัทธิดังกล่าวอยู่จังหวัดไหน เขาใช้กระบวนการหรือวิธีอย่างไร นั่นเป็นเหมือนการนำเสนอชั้นต้นโดยไม่ต้องระบุตัวตน

"อย่างข่าวนี้ สื่อแทนครอบครัวนั้นว่า 'ลัทธิเชื่อมจิต' คนก็เข้าใจไปโดยปริยายแล้วว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่ม แม้ว่าจะไม่ได้บอกว่าพ่อแม่หรือเด็กเป็นใคร แต่ถ้าใช้คำดังกล่าว คนก็จะไปเสิร์ชหากันต่อเองในโซเชียล แล้วเขาก็มาอ่านข่าวคุณ เขาจะเกิดความสงสัย และเกิดการต่อยอดกันเอง อย่างนี้สื่อจะได้ไม่สุ่มเสี่ยงการกระทำความผิด"

นายโกศลวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า หรือถ้าสื่อได้สัมภาษณ์เด็ก คุณสามารถนำข้อมูล เนื้อหา บทสัมภาษณ์มาใช้ได้ตรงนี้ได้ไม่มีปัญหา แต่มันจะมีปัญหาก็ต่อเมื่อคุณนำรูป หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงถึงเด็กได้มาเปิดเผย

"ในกรณีที่ต้องการใช้รูปเด็ก ต้องเบลอหน้าให้หมด ให้มองหน้าไม่ออกเลยว่าเป็นใคร ถ้าสื่อนำเสนอแบบระบุตัวตน ผู้ปกครองมีสิทธิที่จะสามารถฟ้องร้องแจ้งความได้ตามกฎหมาย พวกนี้เป็นคดีที่มีโทษทางอาญา ถึงอาจจะยอมความได้ แต่ถ้าเกิดผู้ปกครองเด็กไม่ยอม มันก็จะยุ่งเข้าไปใหญ่" อธิบดีอัยการ สคช. เน้นย้ำกับเรา

สื่อต้องยอมรับความเสี่ยงต่อการนำเสนอข่าว : 

อธิบดีอัยการ สคช. แสดงความคิดเห็นว่า อย่างถ้าจะมีคนบอกมาว่า กฎหมายหมิ่นประมาทเป็นกฎหมายปิดปากสื่อ ผมจะบอกว่ามันไม่ใช่นะ เพราะถ้าไปดูกฎหมายหมิ่นประมาท เขาบอกเลยว่า ถ้าติชมด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยสื่อมวลชนพึงกระทำ อันนี้คุณทำได้เลย และกฎหมายบอกว่าไม่เป็นความผิดด้วย 

"หรือถ้าคุณวิจารณ์ล้ำไปถึงเรื่องส่วนตัวที่สุ่มเสี่ยงหมิ่นประมาท กฎหมายยังให้คุณพิสูจน์ความจริงได้อีก และถ้าความจริงนั้นพิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือสาธารณะ กฎหมายก็บอกว่าไม่ต้องรับโทษอีก ฉะนั้น ที่จริงแล้วกฎหมายเปิดให้สื่อที่จะแฉการทุจริต แฉคนโกง แฉคนคอร์รัปชัน หรือเรื่องต่างๆ ที่ทำให้สังคมโดยรวมเสียหาย"

นายโกศลวัฒน์ ระบุว่า แต่ทีนี้จะทำอย่างไรล่ะครับ เพราะเราต้องยอมรับว่า สื่อทุกเจ้าต่างช่วงชิงความเป็นหนึ่ง ถ้าไม่นำเสนอก็กลัวว่าจะตกข่าว ทำให้บางครั้งสื่อบางสำนักอาจจะกล้านำเสนอแบบตีแสกหน้า เพราะเขาต้องการเรตติ้งและไม่เกรงผลที่จะตามมา

แต่สื่อต้องอย่าลืมว่า ถ้าคุณทำอะไรที่เสี่ยงผิดกฎหมายทุกอย่างมีราคาของมันเอง สมมติว่าคุณเอารูปเด็กไปใช้ แล้วอ้างว่าไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจมันก็ไม่ใช่ เพราะข่าวทุกสำนักมีโฆษณา เขาสามารถอ้างความผิดได้ว่า คุณนำเด็กมาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ 

ถ้าเป็นพวกเพจผีคนก็ไม่คิดอยากจะฟ้องหรอก เพราะรู้ว่าฟ้องไปก็ไม่ได้อะไร แต่สื่อหลักถือว่าสุ่มเสี่ยงกว่ามาก เพราะเป็นเป้านิ่งและสามารถเรียกค่าเสียหายได้อย่างสะใจ นี่เลยเป็นคือต้นทุนความสุ่มเสี่ยงที่สื่อหลักต่างๆ ควรระวัง ต้องเลือกระหว่างเรตติ้งและกฎหมาย

"ผมมองว่า เด็กยังไงก็คือเด็ก สื่อต้องนำเสนอข่าวควบคู่ไปกับกระบวนการคุ้มครองเด็กตามกฎหมาย ตรงนี้ก็ต้องทำความเข้าใจกับหัวหน้าฝ่ายข่าวด้วยว่า ถ้ามีนักข่าวคนไหนรู้กฎหมาย แล้วระมัดระวังที่จะไม่กระทำความผิด ก็อย่าไปต่อว่านักข่าวเลยว่าทำไมเนื้อหาไม่เหมือนเจ้าอื่น" นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง กล่าวส่งท้าย


อ่านบทความที่น่าสนใจ :