17 มิ.ย. 67 เปิดประมูลข้าว 10 ปี ลอตสุดท้ายในโครงการจำนำข้าวสมัย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ท่ามกลางข้อสงสัยถึงคุณภาพข้าว การตรวจสอบสารตกค้าง โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่า ข้าวที่ส่งมาตรวจสอบที่กรมวิทยาศาตร์ฯ มีจำนวนน้อยกว่าที่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรฯ กำหนดไว้หลายเท่า และมีแนวโน้มที่สารตกค้างจากการรมควันข้าวมีสูง ผู้ที่ประมูลได้ มีต้นทุนการกำจัดสิ่งเจือปนเพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ การนำไปแปรรูปเป็น เอทานอล คือทางออกคุ้มค่าสุด
เส้นทางประมูลข้าว 10 ปี จากโครงการรับจำนำข้าว สมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เก็บอยู่ในโกดัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 อ.เมือง และคลังกิตติชัย หลัง 2 อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ มีข้าวหอมมะลิทั้งหมด 15,000 ตัน ซึ่งเป็นข้าวลอตสุดท้ายค้างอยู่ในโกดัง ถูกตั้งคำถามจากสังคม หลัง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พาสื่อมวลชน ผู้เกี่ยวข้องลงไปชิมข้าวถึงพื้นที่ เมื่อ 6 พ.ค. 67 ยืนยันว่าข้าว 10 ปี ปลอดภัย
ด้านกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำการตรวจสอบตัวอย่างข้าว 10 ปี แบ่งเป็น 2 ตัวอย่าง จาก 2 โกดัง มีน้ำหนัก 3 กิโลกรัม และน้ำหนัก 5 กิโลกรัม มาเปรียบเทียบกับข้าวจากท้องตลาดอีก 2 ตัวอย่าง ผลตรวจพบว่า ข้าว 10 ปี มีสารอาหารครบถ้วน เหมือนข้าวตามท้องตลาด ไม่พบสารเคมี เช่น สารอะฟลาท็อกซิน และสารเคมีทางการเกษตร แต่พบว่าข้าวมีสีเหลือง กลิ่นอับ พบสิ่งมีชีวิต และชิ้นส่วนของ มอด แมลง
...
การยืนยันถึงความปลอดภัยของข้าว 10 ปี นำสู่การเส้นทางการประมูลข้าวหอมมะลิลอตสุดท้าย ที่องค์การคลังสินค้า วางไทม์ไลน์ประกวดราคา โดยตั้งแต่วันนี้ - 7 มิ.ย. 67 ให้ผู้สนใจดูตัวอย่างข้าวได้ด้วยตาเปล่า แต่ห้ามนำตัวอย่างไปตรวจสอบ ทำให้ขณะนี้มีบริษัทที่สนใจเข้าไปดูตัวอย่างค่อนข้างน้อย และจะเริ่มประมูลแบบรวดเดียวจบวันที่ 17 มิ.ย. 67 จากนั้นให้ผู้ที่ประมูลได้ชำระเงินภายใน 20 วัน
แต่ปมที่ใหญ่กว่านั้นคือ การที่คนของฝั่งรัฐบาล ออกมาให้ข้อมูลว่ามีโอกาสที่จะส่งออกข้าวหอมมะลิ 10 ปี ไปขายแอฟริกา ทำให้ตัวแทนของหลายประเทศในแอฟริกา ออกมาโต้แย้งถึงความไม่เห็นด้วย ที่จะส่งข้าวลอตดังกล่าวมา และจะส่งผลให้ข้าวไทยในตลาดแอฟริกาได้รับผลกระทบ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้องออกมาชี้แจงว่า หากมีการส่งข้าวไปยังแอฟริกา จะมีกระบวนการปรับปรุงข้าวตามมาตรฐานส่งออก ก่อนส่งไปยังประเทศปลายทาง
ปลายทางข้าว 10 ข้อมูลการตรวจสอบที่ไม่ชัดเจน
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การที่องค์การคลังสินค้า ประกาศให้ผู้ที่สนใจประมูล สามารถดูข้าวตัวอย่างได้เพียงตาเปล่า โดยไม่สามารถนำตัวอย่างข้าวไปตรวจสอบได้ แสดงให้เห็นถึงข้อพิรุธ เพราะการซื้อข้าวจำนวนมากขนาดนี้ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจนำตัวอย่างข้าวไปตรวจสอบ มากกว่าจะดูด้วยตาเพียงอย่างเดียว
ข้าว 10 ปี ที่นำตัวอย่างไปตรวจสอบที่กรมวิทยาศาตร์การแพทย์ มีประเด็นเรื่องการตรวจสอบสารตกค้างที่น่าสงสัยคือ การชักตัวอย่างข้าวไปตรวจสอบ ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ข้าวที่นำมาตรวจสอบ เป็นข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ส่งมาให้ โดยถุงนึงมีน้ำหนัก 3 กิโลกรัม อีกถุงหนัก 5 กิโลกรัม ตอนนี้ยังไม่มีใครยืนยันชัดเจนว่าข้าวที่ส่งตรวจสอบ เป็นตัวแทนของข้าว 10 ปี จริง
แต่ถ้าตัวอย่างที่ส่งตรวจสอบเป็นข้าว 10 ปี ยังคงมีปัญหาในเรื่องปริมาณของข้าวที่ส่งไปตรวจสอบ เพราะตามมาตรฐานข้าวหอมมะลิ ที่กำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ระเบียบใหม่ปี 2560 ระบุว่าถ้ามีการเก็บตัวอย่างข้าวในโกดัง ที่มีปริมาณ 500-1,500 ตัน ต้องมีการเก็บตัวอย่าง 25 จุด/ทั่วโกดัง มีตัวอย่างข้าวจำนวน 400-3,000 กรัม
...
ดังนั้น ถ้าเป็นการตรวจสอบที่ตรงกับข้อกำหนด ต้องมีการเก็บข้าวตัวอย่างในคลังกิตติชัย ที่มีข้าว 11,656 ตัน อย่างน้อย 194 จุด/ทั่วโกดัง ส่วน บจก.พูนผลเทรนดดิ้ง 3,356 ตัน ต้องเก็บตัวอย่าง 56 จุด/ทั่วโกดัง
ส่วนการวิเคราะห์หาอะฟลาท็อกซิน ต้องมีตัวอย่าง 10 กิโลกรัม/ต่อโกดัง แต่ตัวอย่างที่กรมวิทยาศาสตร์ฯ ตรวจสอบมีเพียง 3 กิโลกรัม และ 5 กิโลกรัม ถือว่าต่ำกว่าข้อกำหนดมาตรฐาน กรมวิทยาศาสตร์ฯ แถลงถึงผลการตรวจหา อะฟลาท็อกซิน ในข้าว 10 ปี แม้ไม่พบ แต่ปริมาณข้าวที่ส่งตรวจ ไม่ตรงกับค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ จึงไม่ถือว่าเป็นตัวแทนข้าวในโกดังได้ เพราะมีปริมาณน้อยกว่ากำหนด
สารเมทิลโบรไมด์ จากการรมควันข้าว 10 ปี เป็นอีกสารตกค้างที่น่าห่วง เพราะมีผลกระทบต่อคนที่เป็นโรคไทรอยด์ และผู้ที่ขาดสารไอโอดีน จากการตรวจสอบของกรมวิทย์ แถลงว่าไม่พบสารดังกล่าว แต่ถ้าดูจากการตรวจสอบของไบโอไทยร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ย้อนหลังไปปี 2557 ที่เริ่มมีโครงการจำนำข้าว มีการเก็บตัวอย่างข้าว 40 ตัวอย่าง ไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการของรัฐ พบตัวอย่าง 75 เปอร์เซ็นต์ มีสารเมทิลโบรไมด์ และ 2 เปอร์เซ็นต์มีสารตกค้างเกินมาตรฐาน น่าสนใจว่า ข้าวที่เก็บมา 10 ปี ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ทำการสำรวจ และมีการรมควันมาตลอด กลับไม่พบสารดังกล่าว
...
สารฟอสฟีน เป็นอีกสารตกค้าง มาจากการรมควันที่ใช้อย่างต่อเนื่อง เกิดกระบวนการทางเคมีที่สารไปจับโมเลกุลกับผงเมล็ดข้าวสาร จะกำจัดยาก ต้องสกัดด้วยน้ำร้อน ในลักษณะการหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ ถ้าหุงด้วยหม้อข้าวโดยไม่เทน้ำออก จะได้รับสารฟอสฟีน เจือปนในข้าวสู่ร่างกาย แต่การสกัดด้วยน้ำร้อนสามารถกำจัดสารได้เพียง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยสารนี้ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม ซึ่งการตรวจสอบข้าว 10 ปี ไม่มีการตรวจสอบหาสารฟอสฟีน
ทางออกข้าว 10 ปี จัดการสารเคมีตกค้างเพิ่มต้นทุนผู้ประมูล
วิฑูรย์ มองว่า หากผู้ที่ประมูลข้าว 10 ไปได้ จะมีต้นทุนที่สูง ในการกำจัดสารเคมีที่ต้องส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะสารอะฟลาท็อกซิน ต้องกำจัดโดยการอบด้วยความร้อน 230 องศาฯ แต่การใช้อุณหภูมิที่สูงจะทำให้ข้าวไหม้ และสูญเสียน้ำหนักของเมล็ดข้าว
การปรับปรุงสภาพข้าว 10 ปี ก่อนนำไปขาย ต้องมีการกำจัดสิ่งเจือปน ขัดสีข้าวเก่าให้มีสีขาวเหมือนข้าวใหม่ได้ ขณะที่ถ้าต้องมีการกำจัดสารตกค้าง จะทำให้บริษัทที่ประมูลได้มีต้นทุนพุ่งสูง ไม่คุ้มที่จะนำไปแปรรูปขาย ซึ่งถ้าประมูลไปได้กิโลกรัมละ 15 บาท เฉพาะปรับปรุงสีเมล็ดข้าวและกำจัดสิ่งเจือปน มีต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามีการจำจัดสารเคมีตกค้าง จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์
...
“ถ้าการประมูลข้าว 10 ปี ครั้งนี้ มีผู้ประมูลข้าวได้กิโลกรัมละ 10 บาท ถึงจะคุ้มทุนกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในการต้องไปจัดการสิ่งแปลกปลอม แต่ถ้ามีการประมูลในราคาที่สูงกว่านั้น จะไม่คุ้มกับต้นทุนที่เพิ่มสูงกว่าข้าวปกติ”
ประเด็นการส่งออกข้าว 10 ปี ไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา ตอนนี้หลายประเทศทราบข่าว ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย แม้มีการปรับปรุงก่อนการส่งออก แต่เชื่อว่าประเทศในแอฟริกาจะมีการตรวจสอบข้าวไทยที่เข้มข้นมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อคุณภาพความเชื่อมั่นข้าวไทย ไม่คุ้มค่ากับผลกระทบด้านลบที่ตามมา
“ปกติข้าวหอมมะลิ ถ้าเก็บไว้ 6 เดือน ความหอมจะหายไป 50 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นข้าวหอมมะลิเก็บมา 10 ปี ความหอมเท่ากับ 0 ส่วนโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตในข้าว ถ้าเก็บไว้เกิน 6 เดือน สารอาหารจะหายไป 10-30 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นถ้าส่งข้าวไปยังแอฟริกา ที่เป็นตลาดส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุด ในสภาพที่ข้าวมีสารอาหารต่ำและความหอมไม่มี จึงไม่ควรส่งไป”
ทางออกแปรรูปข้าว 10 ปี เอทานอล คุ้มทุนมากที่สุด
วิฑูรย์ ให้ความเห็นถึงการแปรรูปข้าว 10 ปี ว่า การนำข้าวไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ก็ตัวกำหนดไม่ให้มีสารอะฟลาท็อกซิน เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด ส่วนใหญ่โรงงานผลิตอาหารสัตว์สต๊อกวัตถุดิบไม่เกิน 2 ปี แต่ข้าวหอมมะลิเก็บไว้กว่า 10 ปี จึงเป็นเรื่องยากที่อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์จะสนใจข้าวลอตนี้
ประกอบกับโรงงานผลิตอาหารสัตว์มีสูตรในการทำที่ตายตัว หากมีการนำข้าวลอตนี้ไปใช้ ต้องเปลี่ยนไลน์การผลิตใหม่ เพื่อรองรับการผลิตอาหารสัตว์จากข้าวหอมมะลิกว่าหมื่นตัน ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
การนำไปแปรรูปเป็นเอทานอล เป็นทางเลือกที่น่าสนับสนุนมากที่สุด เพราะรัฐบาลมีโรงงานผลิตของกรมสรรพสามิตร ที่ผลิตเอทานอล ทั้งในเกรดที่เป็นอาหาร และอุตสาหกรรมยา แม้ปกติการผลิตเอทานอลด้วยข้าวมีต้นทุนสูง เมื่อเทียบกับการนำมันสำปะหลัง อ้อย
แต่ถ้าข้าว 10 ปี รัฐสามารถประหยัดต้นทุนในการแปรรูปได้ เพราะมีโรงงานในการผลิตเอง ซึ่งข้าว 1 กิโลกรัม สามารถให้เอทานอลประมาณ 0.2-0.3 ลิตร โดยข้าว 1 ตัน จะได้เอทานอลประมาณ 200-300 ลิตร ถ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมจะได้เอทานอลเพิ่มสูงขึ้นอีก
การนำข้าว 10 ปี มาแปรรูปเป็นเอทานอล เป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะเอทานอลเมื่อแปรรูปแล้ว สามารถเก็บไว้ได้หลายปี ไม่ต้องกลัวสารตกค้างในข้าว เพราะเมื่อแปรรูปจากการกลั่นมาเป็นเอทานอล สารตกค้างต่างๆ จะไม่มีการเจือปนอยู่ในกระบวนการสกัด
“มาถึงตรงนี้ยังเชื่อว่า การประมูลข้าวในรอบนี้ จะมีผู้ที่ประมูลได้ แต่ถ้ารัฐบาลไม่ดื้อทางการเมืองมากไป โดยคำนึงในเหตุผลกระทบที่ตามมา ต้องประกาศว่า จะไม่ส่งข้าวลอตนี้ไปยังแอฟริกา ขอจัดการแปรรูปเป็นเอทานอลแทน เพราะถ้าประเมินแล้วผลตอบแทนจะใกล้เคียงกัน ซึ่งถ้ายังนำข้าว 10 ปี ไปขายในต่างประเทศ ผลตอบรับที่ได้จะไม่คุ้มเสีย”.