สภาพัฒน์ฯ รายงานภาวะสังคมไทย ครองโสดมากขึ้น 40.5% สะท้อนการใช้ชีวิต ด้วยภาวะเศรษฐกิจ การทำงานที่ต้องแบกรับมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การมีลูก 1 คน ใช้เงินเฉลี่ย 2-3 ล้านบาท กว่าจะเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะที่เพศสภาพเปิดกว้างมากขึ้น แม้รัฐมีนโยบายปั๊มลูกเพื่อชาติ แต่ต้องเปลี่ยนมุมมอง พัฒนาคุณภาพคน มากกว่าปริมาณประชากรที่เพิ่มสูง
จากรายงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาวะสังคม ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 อ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ‘สถานการณ์คนโสด’ ช่วงวัยเจริญพันธุ์ ที่มีอายุ 15-49 ปี มีคนโสดถึง 40.5% สูงกว่าภาพรวมในประเทศเกือบเท่าตัว และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560
จำนวนดังกล่าวกว่าครึ่งอยู่ในช่วงอายุ 15-25 ปี ส่วนใหญ่อาศัยในเมืองหลวง และ 1 ใน 3 เป็นผู้หญิงที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป อยู่ที่ร้อยละ 42.0 สูงกว่าผู้ชายเกือบเท่าตัว หรือร้อยละ 25.7 หากพิจารณาในกลุ่มคนมีคู่ พบว่ามีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตร่วมกันมากขึ้น สะท้อนได้จากคนที่แต่งงานแล้ว ที่มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 57.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 52.6 และจำนวนการหย่าร้างเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.0 จากปี 2560
...
รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยถึงการครองโสดของคนไทย มาจากปัจจัยด้านทัศนคติเปลี่ยนไป โดยมองว่าการมีครอบครัวไม่ใช่ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ แต่มีปัจจัยอื่นพ่วงเข้ามา เช่น ภาวะเศรษฐกิจ ที่มีผลกระทบต่อการแต่งงาน และใช้ชีวิตครอบครัว ซึ่งมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น
ส่วนตัวเลขประชากรชี้ชัดว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโสดมากกว่าชาย เนื่องจากผู้หญิงมีบทบาทในสังคมมากขึ้น ทำให้มุมมองด้านการแต่งงานช้าลงไปเรื่อยๆ เพราะผู้หญิงหลายคนมุ่งมั่นกับการทำงาน จนไม่ได้สนใจการมีคู่ครอง จากเดิมผู้หญิงจะแต่งงานเร็ว เฉลี่ยตั้งแต่อายุ 24 ปี อีกปัจจัยสำคัญมาจากการศึกษาของผู้หญิงสูงขึ้น ทำให้มีมุมมองการใช้ชีวิตพึ่งพาตัวเอง มากกว่าจะต้องมีสามี
อีกภาวะที่ทำให้มีคนโสดมากขึ้น เนื่องจากผู้ชายในช่วงวัยทำงาน เฉลี่ยอายุ 20-30 ปี มีอัตราการตายสูง ประกอบกับสังคมไทย เปิดรับเรื่องเพศสภาพของกลุ่ม LGBTQ มากขึ้น ทำให้เกิดการสมรสระหว่างชายกับหญิงเหมือนในอดีตลดลง
ขณะเดียวกันรูปแบบการอยู่อาศัยของคู่ครอง มีความหลากหลายมากขึ้น หรือการอยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้แต่งงาน เหมือนอยู่เป็นเพื่อนกัน เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตอยู่กับพี่น้องครอบครัวเดียวกันมากขึ้น
ในการวิจัยมีการประเมินว่า การเลี้ยงลูก 1 คน พ่อแม่ต้องใช้เงิน 2-3 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายให้กับลูกจนจบการศึกษาพื้นฐาน ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหาของภาครัฐ การบังคับให้คนมีบุตร ไม่ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ ก็เคยเจอกับปัญหาเหล่านี้ ทำให้เขาต้องกลับมาคิดใหม่ว่า การมีประชากรน้อยแต่มีคุณภาพ ดีกว่ามีประชากรมากแต่ไม่มีคุณภาพ
ผู้หญิง 1 คน ต้องมีบุตรเฉลี่ย 2.1 คน แต่ไทยต่ำกว่าเกณฑ์มาก
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ มองว่า คนไทยเป็นโสดมาก นอกจากปัญหาทางด้านการเงินแล้ว ยังเกี่ยวโยงกับภาระการทำงาน จากความคิดผู้หญิงในอดีต ที่มีความคาดหวังว่าผู้ชายจะต้องดูแลครอบครัว ปัจจุบันผู้หญิงสามารถดูแลตัวเองได้ เช่นเดียวกับความคิดของผู้ชาย ที่ไม่แต่งงาน หรือไม่มีลูกก็ได้ ขณะที่ทางเลือกด้านเพศสภาพในสังคมเปิดกว้างมากขึ้น
การที่คนไทยเป็นโสดมาก ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร เพราะทางทฤษฎีเกี่ยวโยงกับอัตราวัยเจริญพันธุ์ ที่ผู้หญิง 1 คน ต้องมีบุตรเฉลี่ย 2.1 คน เพื่อให้อัตราประชากรในอนาคตมีอัตราคงที่ แต่ถ้ามีอัตราการเกิดน้อยกว่านั้น จะทำให้อัตราประชากรลดลง สุดท้ายเกิดความเสี่ยงในประเด็นของประชากร
...
ดังนั้น อัตราการมีบุตรของคนไทย ตอนนี้ต่ำกว่า 2.1 คนอยู่จำนวนมาก ขณะที่สัดส่วนโครงสร้างประชากรจะกระทบกระเทือนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะถ้าประเทศมีวัยแรงงานมาก ช่วยทำให้มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น ยิ่งเมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้ประชากรวัยทำงานต้องแบกภาระทางเศรษฐกิจของประเทศ
กระบวนการที่จะกระตุ้นให้คนมีคู่ ภาครัฐต้องมีนโยบายให้คนมาเจอกันมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีการเจอกันในระบบออนไลน์ ที่ต้องมีระบบที่ปลอดภัยมากขึ้น หรือตัวอย่างในจีน ที่พ่อแม่นำรูปลูก และแนะนำอุปนิสัยส่วนตัว มาหาคู่ที่เหมาะสมในสวนสาธารณะช่วงวันหยุด
...
ด้านการกระตุ้นให้มีบุตร หน่วยงานรัฐต้องมีการลดภาระ ในการให้เงินสนับสนุนในการเลี้ยงดู ระบบการศึกษาที่ลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว ซึ่งช่วยเอื้ออำนวยให้คนมีบุตรเพิ่มขึ้น ไม่ต้องเป็นหนี้ในการหาเงินมาเลี้ยงดูลูก.