พิษควันบุหรี่ และควันบุหรี่ไฟฟ้า ในโรงพยาบาล ส่งผลทำให้คนไข้อาการทรุด และโรคร้ายกำเริบ ระมัดระวัง! ใกล้ถังออกซิเจน เสี่ยงระเบิด....

กลายเป็นเรื่องดราม่า และคนให้ความสนใจ สำหรับกรณี นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ กรณีถูกมารดาของเด็กชายอายุ 14 ปี แจ้งความข้อหาทำร้ายร่างกายด้วยการตบ จับแก้ผ้า เนื่องจากสูบบุหรี่ในห้องน้ำโรงพยาบาล หลังจากเดินทางมาเยี่ยมภรรยาและลูก หลังเข้าทำการรักษาตัว 

ล่าสุด นพ.เหรียญทอง ออกมายอมรับว่า ได้กระทำดังกล่าวจริง เนื่องจากเยาวชนชายรายดังกล่าวได้สูบบุหรี่ที่แผนกผู้ป่วยนอก หรือโอพีดี ชั้น 1 อาคาร 3 ซึ่งเป็นอาคารใหม่ ส่งผลให้กลิ่นควันบุหรี่เข้าสู่ระบบปรับอากาศคละคลุ้งทั่วพื้นที่พักคอยสำหรับผู้ป่วยที่รอรับการตรวจ  

ทีแรก...ทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการปรับ 5,000 บาท แต่เขาไม่มี จึงยึดโทรศัพท์ไว้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เรียกมาจัดการ จึงได้ตบไป 3-4 ครั้ง เตะ 1 ครั้ง และสั่งให้แก้ผ้าออกไปจาก รพ. ซึ่งตนยอมรับผิดในส่วนนี้ และยอมรับว่าตั้งใจอนาจารเพื่อเป็นการสั่งสอน แต่หลังจากนั้นตนเห็นว่ามีแก๊งมอเตอร์ไซค์มาข่มขู่ขับรถเสียงดังหน้าทางเข้า รพ.มงกุฎวัฒนะ 6-7 คัน 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีความที่มีการแจ้งความกันนั้นคงเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง แต่ในส่วนของการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะนั้น แน่นอนว่าสร้างความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างโรงพยาบาล

...

นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผอ.กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีการปรับปรุงกฎหมายบังคับใช้ใหม่แล้ว โดยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา มีการปรับให้เป็นความผิดทางพินัยในการสูบบุหรี่ในสถานที่ห้ามสูบนั้น ให้ลงโทษเป็นการ “ปรับสถานเดียว” โดยโทษปรับในการสูบในพื้นที่ห้ามสูบนั้น คือ ไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งถือเป็น “ลหุโทษ” หรือ โทษสถานเบา โดยไม่ประวัติอาชญากรรมเกิดขึ้น 

เนื่องจากมีการปรับกฎหมายใหม่ ทางส่วนกลางจึงมีการวางแนวทางไว้แล้ว “ผู้ดำเนินคดี” จะเป็นเจ้ากระทรวงที่ดูแลกฎหมาย นั่นก็คือ กระทรวงสาธารณสุข ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ “ตำรวจ” จะไม่ใช่ผู้ดำเนินการแล้ว ดังนั้นผู้ที่จะทำหน้าที่ปรับจะขึ้นตรงกับสาธารณสุข เช่น สาธารณสุขจังหวัด, หากอยู่ในส่วนกลาง กทม. ก็จะขึ้นกับ สำนักงานเขต เช่น โรงพยาบาลดังกล่าวอยู่เขตรังสิต ก็จะขึ้นกับ สำนักงานเขตหลักสี่

“จะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยว่าในสถานที่เกิดเหตุนั้นมีข้อมูลหลักฐานอย่างไรบ้าง หากพบผู้กระทำผิด ก็จะมีการแจ้งข้อกล่าวหา และ ปรับ โดยทั้งนี้อำนาจในการเปรียบเทียบปรับจะพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ เช่น มีเจตนาหรือไม่ มีสถานะทางเศรษฐกิจของผู้ที่ถูกปรับเป็นอย่างไร แต่สูงสุดคือไม่เกิน 5,000 บาท”

ปัญหาการสูบบุหรี่ในโรงพยาบาล อันตรายกับผู้ป่วย 

นพ.ชยนันท์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หรือโรงพยาบาลนั้น ถือเป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ 100% รวมถึงทางเข้าออก 5 เมตร โดยเฉพาะในโรงพยาบาล โดยมากคนที่มาใช้บริการก็ล้วนแต่จะเป็นผู้ป่วย หรือ มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว โดยเฉพาะโรคที่มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน หรือแม้แต่จะเป็นโรคติดต่อร้ายแรงก็ตาม 

“อันตรายจากควันบุหรี่มือสองนั้นไม่แตกต่างจากการรับตรงเลย โดยเฉพาะคนป่วยนั้นจะเกิดเอฟเฟกต์กับตัวโรคด้วย เช่น หากเป็นเบาหวานอาการแย่ลง คนเป็นโรคปอด จะทำให้เกิดอาการกำเริบ ด้วยเหตุนี้เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวก็เพื่อจะคุ้มครองคนป่วย รวมถึงคนที่ไม่สูบบุหรี่”

อย่างไรก็ดี นพ.ชยนันท์ ยอมรับว่า แม้จะมีกฎหมายคุ้มครอง แต่ก็เคยเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าในโรงพยาบาล เราจะพบเห็นไม่บ่อย แต่ก็เคยมี ซึ่งเรื่องนี้คนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้ว สิ่งที่เป็นอันตรายมากที่สุดคือ ห้องผู้ป่วย หรือพื้นที่ที่เก็บถังออกซิเจน ซึ่งหากมีการสูบบุหรี่ในพื้นที่ดังกล่าวจะเกิดอันตราย เกิดการระเบิดได้ ถังออกซิเจนนั้นถือเป็นวัตถุไวไฟมาก เราไม่อยากให้เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทั่วโลก เราก็พบว่าเหตุเพลิงไหม้หลายครั้งมาจากบุหรี่ 

ส่วนผู้ป่วยวิกฤติ อยู่ในห้องฉุกเฉิน หากมีไอ หรือกลิ่นบุหรี่เข้ามา ก็จะส่งผลให้เขาซึ่งวิกฤติอยู่แล้ว เกิดอาการหายใจลำบากได้ เพราะควันบุหรี่จะส่งผลต่อทางเดินหายใจ หากรับเข้าไปก็จะทำให้ระบบหายใจแย่ลง...

...

ร้านอาหาร “แชมป์” การปรับละเมิดกฎห้ามสูบบุหรี่ 

เมื่อถามว่า ส่วนมากที่เกิดการปรับนั้นเป็นที่ไหน ผอ.กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค ชี้ว่า จากข้อมูลกฎหมาย ที่ก่อนจะเปลี่ยนแปลงเป็นการทำผิดแบบพินัยนั้น พบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหารพบเจอมากที่สุด รองลงมาคือ สถานีขนส่ง โรงเรียน ในขณะที่โรงพยาบาลพบเจอได้น้อยมาก  

“เราไม่อยากจะปรับ ไม่อยากได้เงินตรงนี้ แต่ที่ต้องทำ เพราะเราต้องการให้เขาเคารพกฎหมาย อย่างกรณีล่าสุดก็มีการจับปรับที่โรงหนัง ซึ่งส่วนตัวก็ไม่เคยคิดว่าจะมีใครไปสูบ แต่ก็พบ จึงต้องมีการดำเนินคดี”

บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายไม่แพ้กัน 

นพ.ชยนันท์ ย้ำว่า นอกจากบุหรี่ธรรมดาแล้ว บุหรี่ไฟฟ้าก็ถือว่ามีอันตรายเช่นกัน และหากใครฝ่าฝืนไปสูบในพื้นที่ห้ามสูบก็จะมีโทษเช่นเดียวกัน ไม่ว่าในร้านอาหารทั้งที่มีแอร์หรือไม่มีแอร์ 

“ควันบุหรี่ไฟฟ้า หรือ บุหรี่ธรรมดา ล้วนมีโทษพิษภัยกับทุกอวัยวะ เพราะมันส่งผลต่อเม็ดเลือดต่างๆ เช่น สารนิโคติน ทำให้หลอดเลือดทำงานผิดปกติ” 

...

บุหรี่ไฟฟ้า มีผลกับผู้ป่วยหรือไม่ นพ.ชยนันท์ กล่าวว่า มีผลร้ายไม่แตกต่างจากบุหรี่ธรรมดาเลย ที่ผ่านมาหลายคนเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้า ไม่มีเขม่า แม้ไม่มีสารทาร์ (Tar) แต่ว่ามีสารก่อมะเร็งในตัวควันบุหรี่ไฟฟ้าด้วย ซึ่งเรื่องนี้มีการศึกษาวิจัยมาแล้วว่าโทษของควันบุหรี่ไฟฟ้า ไม่แตกต่างจากบุหรี่ธรรมดา 

“แม้จะกลิ่นหอม แต่ข้างในเต็มไปด้วยสารก่อมะเร็ง มีโลหะหนัก แคดเมียม แอมโมเนีย ล้วนเป็นพิษกับร่างกาย” 

สิ่งที่ นพ.ชยนันท์ ห่วงมากที่สุดในเวลานี้คือ จากข้อมูลการสำรวจเด็กอายุ 13-15 ปี ในการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทั่วประเทศ พบว่า เด็กได้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับสถิติเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนว่า เป็นหนึ่งในตัวการทำให้เด็กกลายเป็น “นักสูบหน้าใหม่” เรื่องนี้หวังอยากให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ ก.ศึกษาธิการ พยายามรณรงค์หยุดยั้งการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า ในขณะที่ ภาคตำรวจ ศุลกากร ก็พยายามบังคับใช้กฎหมาย สคบ. ก็พยายามจับ ทั้งออนไซต์และออนไลน์ด้วย

ล้อมกรอบ 

...

“คนไทย” อมควันบุหรี่ 7 ใน 10 คน เลิกไม่ได้!

จากข้อมูล มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ พบว่า การแก้ปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องใน 2 เรื่อง คือ การช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่แล้วให้เลิกสูบบุหรี่ และรณรงค์ป้องกันไม่ให้เยาวชนไปเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 

ส่วนสถานการณ์การสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 2564 พบว่า จากจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ทั้งสิ้น 57 ล้านคน เป็นผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน หรือร้อยละ 17.4 

โดยกลุ่มอายุ 25-44 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด คือ ร้อยละ 21.0 

ผลการสำรวจยังพบว่า 60.8% ของนักสูบหน้าใหม่เป็นผู้ที่มีอายุ ระหว่าง 15-19 ปี สูงถึง 9.5 แสนคน ซึ่งในจำนวน 10 คนที่ติดบุหรี่ 7 คนจะเลิกไม่ได้ตลอดชีวิต ส่วน 3 คน เลิกได้ 

ผู้ที่ติดบุหรี่ จะสูบบุหรี่เฉลี่ยกว่า 20 ปี  

แนวโน้มที่น่าเป็นห่วง : การสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนและสตรีมีเพิ่มสูงขึ้น โดยใช้เล่ห์หลอกลวงทางการตลาด เพื่อหาลูกค้าอย่างน้อย 1 แสนคนต่อปี เพื่อทดแทนผู้เลิกสูบ หรือเสียชีวิต. 

อ่านบทความ