ศึกล้งจีน แย่งชิงทุเรียนไทย หลังปีนี้ทุเรียนภาคตะวันออกให้ผลผลิตต่ำกว่าปีก่อน ประกอบกับสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้สุกเร็วกว่าปกติ ส่วนนายทุนจีนหน้าใหม่ เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ ต้องแย่งชิงผลผลิตเกรด A แต่บางส่วนถูกคนไทยหลอกขายทุเรียนอ่อน จนเจ๊งไม่เป็นท่า สมาคมทุเรียนไทย มองถ้าปล่อยไว้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ขณะที่มาเลเซีย ลุยการตลาดปั้น “มูซานคิง” คาดปลายปีเริ่มส่งทุเรียนสด โค่นหมอนทอง
ภานุศักดิ์ สายพานิช ประธานที่ปรึกษาสมาคมทุเรียนไทย กล่าวว่า ล้งทุเรียนจีนที่เข้ามาไทย ปี 2567 เพิ่มขึ้นกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกที่ส่งออกไปจีน มีน้อยกว่าประมาณการไว้ เมื่อเทียบกับปีก่อน ล่าสุดมีการส่งออกทุเรียนไปจีนประมาณ 3 แสนตัน เทียบกับการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณส่งออกต่ำกว่า 1 แสนตัน
ด้วยปริมาณทุเรียนที่ให้ผลผลิตต่ำกว่าปีที่แล้ว ทำให้ล้งจีน มีการแย่งผลผลิตทุเรียน จนราคาทุเรียนส่งออกแพงกว่าปีที่แล้ว เช่น ทุเรียนเกรด A , B , C เฉลี่ยราคาหน้าสวนกิโลกรัมละ 145-155 บาท ถือว่ามีราคาสูงขึ้น
...
อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ทุเรียนสุกเร็วกว่าปกติ จากเดิมถ้ามีฝนตกต่อเนื่อง ทุเรียนมีอายุ 120 วันก็สามารถตัดได้ แต่ปีนี้ทุเรียนมีอายุ 100 วันก็สามารถตัดได้ เพราะการตัดทุเรียนได้ต้องดูปริมาณแป้ง ประมาณ 32 เปอร์เซ็นต์ แต่พอมาปีนี้ทุเรียนยังมีอายุไม่ถึง 100 วันกลับมีปริมาณแป้งถึง 32-33 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกษตรกรต้องตัดเร็ว ถ้าปล่อยให้ถึง 120 วันทุเรียนจะร่วงจากต้น ทำให้ราคาตก ส่งออกไม่ได้
แม้ปีนี้หน่วยงานรัฐเข้ามาตรวจสอบเข้มงวด เพื่อป้องกันทุเรียนอ่อนมาขาย แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนทำให้มีทุเรียนอ่อนหลุดรอดมาในตลาดได้ ดังนั้นบางสวนที่เข้มงวดจะมีการปอกดูเนื้อข้างใน และตรวจเปอร์เซ็นต์แป้งร่วมด้วย ขณะเดียวกันก็มีบางสวนที่ตัดทุเรียนก่อน เพื่อหนีภัยแล้ง
อากาศที่ร้อนจัดส่งผลต่อคุณภาพของเนื้อทุเรียน โดยเฉพาะการส่งออก ล้งจีนบางรายที่เข้ามาทำธุรกิจใหม่ ต้องจ้างคนไทยตัดทุเรียน ก็ถูกหลอกด้วยการตัดทุเรียนอ่อนที่ไม่มีคุณภาพให้ เพราะทุเรียนอ่อนมีน้ำหนักมากกว่าทุเรียนแก่ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ขายได้ราคาสูงกว่า ซึ่งล้งจีนหลายเจ้าถูกคนไทยหลอก หลายรายก็ขาดทุน หรือหันไปจ้างคนไทยที่ตัดทุเรียนเจ้าใหม่
“ต้องยอมรับว่าล้งจีนทำให้ทุเรียนไทยมีราคาสูงในการส่งออก เพราะคนจีนส่วนใหญ่ติดต่อค้าขายกับคนจีนชาติด้วยกัน มีคนไทยไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ที่สามารถตีตลาดในจีนได้ แต่ส่วนใหญ่ต้องผ่านล้งจีน”
ด้วยการแข่งขันที่สูงของล้งจีนเข้ามาตั้งในไทย ทำให้คนจีนที่เข้ามาหน้าใหม่ ต้องลงทุนซื้อทุเรียนถึง 100-150 ตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อส่งไปจีนถึงจะได้กำไร ดังนั้นในปริมาณทุเรียนไทยที่ให้ผลผลิตลดลง ทำให้ปีนี้ต้องจับตาว่า บรรดาล้งจีนที่เข้ามาลงทุนจะได้รับผลกระทบมากแค่ไหน เฉพาะค่าเช่าพื้นที่ ล้งก็หมดไปหลายล้านบาท ไม่รวมกับค่าลูกน้อง และการขนส่ง ถ้าหากหาทุเรียนส่งไปขายจีนไม่ได้ยิ่งขาดทุน ทำให้ปีนี้มีการแข่งขันของล้งจีนดุเดือด
การที่ล้งจีนเข้ามา มีส่วนสำคัญทำให้ราคาทุเรียนแพงขึ้น แต่การที่คนไทยไปหลอกขายทุเรียนไม่ได้คุณภาพ ในกรณีที่นายทุนจีนหน้าใหม่เข้ามายังไม่มีความรู้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพทุเรียน ขณะเดียวกันนายทุนจีนก็ไม่กล้ามาลงทุนทำล้งในไทย ถ้าปล่อยให้มีกลไกนี้มาก จะทำให้นายทุนจีนที่มาทำล้งในไทยย้ายฐานไปประเทศอื่น เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา หรือมาเลเซีย ที่กำลังได้รับอนุญาตนำเข้าทุเรียนสดไปจีน ประมาณปลายปีนี้ จากเดิมส่งได้เฉพาะทุเรียนแช่แข็ง
...
กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงการเข้ามาของล้งจีน แย่งอาชีพคนไทย ภานุศักดิ์ มองว่า การเข้ามาของนายทุนจีน มีส่วนสำคัญทำให้ราคาทุเรียนสูงขึ้น แต่สิ่งสำคัญ หน่วยงานภาครัฐต้องควบคุมให้อยู่ในกรอบ ไม่เกิดการผูกขาด เพราะล้งที่เข้ามาส่วนใหญ่ต้องจ้างแรงงานไทยและต่างด้าวในการตัดทุเรียน ทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดจันทบุรี เกิดการกระจายตัวสูงขึ้น
“การทำล้งทุเรียน ไม่ใช่ธุรกิจสวยหรูอย่างที่คนคิด คนทำเจ๊งก็เยอะ เพราะถ้าทำกันแบบซื่อตรงจริง จะได้กำไรไม่เยอะ ถ้ายิ่งจ้างแรงงานแบบเอาต์ซอร์ส ต้องจ่ายแพงกว่าพนักงานประจำ ไหนจะลูกจ้างแพ็กของ ที่ตอนนี้อยู่เรตค่าจ้างอยู่ที่กิโลกรัมละ 7-8 บาท จากเดิมที่กิโลกรัมละ 3 บาท”
จับตามาเลเซีย ได้รับอนุญาตส่งทุเรียนสด ตีตลาดทุเรียนพรีเมียม
กรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่าทุเรียนไทยเสียแชมป์ให้เวียดนามในการส่งออกทุเรียน ภานุศักดิ์ กล่าวว่า ยังเป็นไปได้ยาก เพราะไทยมีปริมาณการส่งออกทุเรียนที่มากกว่า แม้ปีนี้เจอภัยแล้ง แต่มีทุเรียนที่ปลูกใหม่ พร้อมให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นในปีหน้าอีกจำนวนมาก ถ้าไม่มีผลกระทบจากสภาพอากาศ ปีหน้ามีผลผลิตทุเรียนออกมามากกว่าปีนี้ ส่วนการสวมสิทธิทุเรียนต่างชาติมาเป็นทุเรียนไทย ต้องเฝ้าระวังทุเรียนจากฝั่งกัมพูชา เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านชาติเดียวที่ยังไม่ได้สิทธิในการส่งทุเรียนไปจีน
...
คู่แข่งการส่งออกทุเรียนไปจีนที่น่ากลัวคือ มาเลเซีย ที่คาดว่าได้รับอนุญาตส่งทุเรียนสดไปจีนได้ปลายปีนี้ แม้หลายคนมองว่า ทุเรียนพันธุ์ “มูซานคิง” และ “หนามดำ” มีรสชาติสู้หมอนทองไทยไม่ได้ แต่ต้องยอมรับว่า มาเลเซีย ทำการตลาด “มูซานคิง” ในจีนไว้ดีมาก จนทำให้คนจีนเชื่อว่า “มูซานคิง เป็นคิงออฟทุเรียน” เพราะมีการโปรโมต ใช้พนักงานทำการตลาดเป็นร้อยคนในจีน และทำต่อเนื่องมาหลายปี
ถ้าเทียบเรื่องรสชาติ “หมอนทอง” ยังมีรสชาติดีกว่า “มูซานคิง” แต่ด้วยพลังของการตลาด ทำให้คนจีนเชื่อ เพราะหลายครั้งที่มีการนำมาเปรียบเทียบกันในจีน แต่ก็ไม่มีหน่วยงานรัฐไทยออกมาโต้แย้งว่าหมอนทองดีกว่า เลยทำให้คนจีนบางส่วนเชื่อว่า “มูซานคิง” ดีกว่า แม้มีรสขมก็โฆษณาว่า เป็นเหมือนกับอัลมอนด์คั่ว ที่มีรสขมถือว่าเป็นของดี เลยทำให้ราคาในตลาดไม่ห่างจากหมอนทอง
ที่ผ่านมา “มูซานคิง” ส่งไปจีนในแบบทุเรียนแช่แข็ง แต่ถ้าได้รับอนุญาตให้ส่งไปจีนแบบทุเรียนสด จะทำให้คนจีนที่อยู่ในตลาดบน มีกำลังซื้อทุเรียนราคาแพง หันไปซื้อ “มูซานคิง” มากกว่า “หมอนทอง” และจะส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนในระดับตลาดบนของจีน
...
ภาครัฐต้องแก้เกมให้หมอนทองยืนหนึ่งตลาดจีน
ภานุศักดิ์ วิเคราะห์ถึงแนวทางการแก้ปัญหาในการส่งออกทุเรียนไปจีน ในภาวะที่มีคู่แข่งรอบด้านว่า ตอนนี้ไทยพยายามคุมเรื่องมาตรฐานทุเรียนที่ต้นทางให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะที่การขนส่งต้องทำให้สะดวกมากขึ้น เนื่องจากปีหน้าผลผลิตจะเพิ่มมากขึ้น
เพราะส่วนใหญ่การส่งทุเรียนไปจีนกันทางรถ ด้วยมีราคาไม่แพง โดยด่านที่นิยมผ่านคือ นครพนม เข้าลาว เวียดนาม ก่อนเข้าจีน แต่เมื่อมีรถขนส่งมากก็ทำให้รถติดบริเวณด่าน จนทำให้ผลผลิตสูญเสียราคา ดังนั้นภาครัฐไทย ควรเจรจาให้มีการเปิดด่านเพิ่มขึ้น หรือเปิดด่านตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลดการจราจรติดขัด
ขณะเดียวกัน ต้องมีการทำการตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์ที่ชาวจีนชื่นชอบมากขึ้น เพื่อให้ทำคลิปโปรโมตทุเรียนไทยว่ามีอัตลักษณ์รสชาติที่ชัดเจน เพราะตอนนี้ทุเรียนพันธุ์หมอนทองปลูกในหลายประเทศ แต่ต้องทำให้ชาวจีนรู้ว่า หมอนทองไทย คือที่สุดของทุเรียน ไม่ใช่หมอนทองที่ปลูกที่ไหนก็เหมือนกัน
รสชาติทุเรียนไทยเทียบกับเพื่อนบ้าน
สำหรับรสชาติทุเรียน ภานุศักดิ์ มองว่า ทุเรียนหมอนทองไทย มีรสชาติที่พอดี มีความหวาน มัน เนื้อแห้ง แต่ถ้าเทียบกับหมอนทองที่ปลูกในเวียดนาม มีพื้นที่ติดชายทะเล มีรสชาติหวาน ไม่ค่อยมีความมัน มีความแฉะ
ทุเรียนพันธุ์ “มูซานคิง” ของมาเลเซีย รสชาติติดขม เนื้อแฉะ กลิ่นฉุน.