ข้าว 10 ปีโครงการรับจำนำข้าวในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กินได้จริงหรือ? ตามที่ ”ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาการันตีถึงขนาดเล่นใหญ่ นำข้าวในคลังออกมาหุงกินโชว์ และจะส่งออกขายตลาดแอฟริกา จนเกิดดราม่าร้อนแรง มีการตั้งคำถามข้าวเหล่านั้นรวม 1.5 หมื่นตัน ยังคงมีสารอาหารหลงเหลือ และปลอดภัยหรือไม่ 

โดยเฉพาะสารพิษอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) เชื้อราที่มักปนเปื้อนอยู่ในธัญพืช ถั่ว หอมแดง กระเทียม พริกแห้ง เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ เมล็ดฝ้าย ข้าวฟ่าง และมันสำปะหลัง ซึ่งเติบโตได้ดีในอากาศร้อนและชื้น หากกินบ่อยๆ จะเกิดโรคมะเร็งได้ และหากข้าว 10 ปี ควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ได้ไม่ดีพอ จนเกิดเชื้อรา ทำให้คนกินมีความเสี่ยง แม้แนะนำให้ล้างน้ำ 15 ครั้ง ก็คงช่วยไม่ได้ ยังไม่รวมสารตกค้างในการเก็บข้าว มีการรมควันป้องกันมอด

ไม่ทันไร ”รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์” อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำตัวอย่างข้าว 10 ปี ไปตรวจเพื่อตอบข้อสงสัยคาใจของหลายคน เบื้องต้นพบว่ามีสารก่อมะเร็งเป็นอันตราย อยู่ในระดับไม่ปลอดภัย จึงไม่ควรนำมากิน หลังใช้ชุดทดสอบของศูนย์วิจัยข้าว ทำการตรวจซ้ำ 3 ครั้ง ซึ่งเจอผล 1 ครั้ง จะต้องใช้เทคนิคขึ้นสูงตรวจหาสารอะฟลาท็อกซินที่มีความละเอียดขึ้นไปอีก โดยเกณฑ์มาตรฐานของอะฟลาท็อกซินในข้าว ต้องต่ำกว่า 20 ppb คือ 20 ส่วนในพันล้านส่วน

...

ข้าวเก่าเก็บ 10 ปี เชื้อราเพียบ รมควันมากยิ่งอันตราย 

ผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บที่มีมาตรฐานเท่านั้น จะให้คำตอบกับทุกฝ่ายว่าข้าว 10 ปี มีคุณภาพและปลอดภัยหรือไม่? ที่สำคัญจะได้จบดราม่าไม่ต้องถกเถียงกันอีกต่อไป และจากความเป็นห่วงของ ”รศ.ดร.รุ่งนภา พงศ์สวัสดิ์มานิต” นักวิจัยทางด้านอายุการเก็บของผลิตภัณฑ์อาหาร ได้ออกมาย้ำว่า ข้าวเก่าเก็บ นอกจากอันตรายจากสารตกค้างจากการรมควัน และพิษจากเชื้อราต่างๆ แล้ว พิษจากแบคทีเรียสาเหตุอาหารเป็นพิษ ก็เป็นเรื่องอันตราย ยิ่งในเรื่องรสชาติ การชิมด้วยคนเพียง 2-3 คนยังไม่เพียงพอ

ในฐานะนักวิจัยทางด้านอายุการเก็บของผลิตภัณฑ์อาหาร และได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงคุณภาพระหว่างการเก็บผลิตภัณฑ์หลายชนิด ทำให้นึกเป็นห่วงว่าข้าวที่เก็บมา 10 ปี จะยังสามารถบริโภคได้หรือไม่ พร้อมทั้งเกิดความห่วงใยต่อผู้ที่รับประทานข้าวเก่าเก็บ 10 ปีในวันนั้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงคุณภาพอาหาร มีหลายด้าน อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงคุณภาพทางเคมี กายภาพ และจุลินทรีย์ 

“จากภาพข่าวท่านรัฐมนตรีบอกว่า ยังรับประทานได้ แสดงว่าคุณภาพทางด้านประสาทสัมผัส เป็นที่ยอมรับของท่านผู้ชิมในวันดังกล่าว แต่คนทั่วไปอาจไม่ยอมรับก็ได้ ทางวิชาการ ปกติ การทดสอบการยอมรับแบบนี้ที่เรียกว่าคอนซูเมอร์ เทสต์ ต้องมีจำนวนผู้ชิมมากกว่า 150 คน"

ส่วนคุณภาพทางด้านเคมี ต้องมีการตรวจสอบด้วยการวัดค่าในห้องปฏิบัติการ ว่า ยังคงมีสารประกอบของสารรมควันใดที่หลงเหลือหรือตกค้าง ยิ่งจำนวนครั้งของการรมควันยิ่งมาก ยิ่งเป็นอันตรายมาก ถ้าจำไม่ผิด วิธีการรมควันที่ถูกต้องในผลิตภัณฑ์หลายชนิด ภายหลังการรมควันช่วงเวลาหนึ่ง ต้องมีการระบายอากาศเพื่อให้สารรมควันที่หลงเหลือออกไป แล้วรีบบรรจุอาหารเหล่านั้นเพื่อส่งออกไปจากคลังสินค้า

...

ระวังเชื้อแบคทีเรีย ทำลายไม่ได้ง่ายๆ ด้วยการหุงต้ม

แต่กรณีนี้หากมีการระบายอากาศ ก็เสี่ยงต่อการที่จะมีหนู และแมลง กลับเข้าไปปนเปื้อนใหม่อยู่ดี ซึ่งทางอุตสาหกรรมอาหารเรียกว่า การปนเปื้อนซ้ำ ยังไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ที่เห็นในข่าวว่า มีเศษข้าวแตกกระจาย ตอนสุ่มในโกดัง และยังพบว่ามีมอดแมลง เป็นจำนวนมาก อาจเกิดจากการปนเปื้อนใหม่ ซึ่งไม่ใช่ตีความว่า มีความปลอดภัยเพราะยังมีมอดแมลง

การที่เมล็ดข้าวมีสีเหลือง ก็เป็นดัชนีชี้วัดถึงคุณภาพที่ก่อให้เกิดความกังวล โดยเฉพาะการล้างน้ำ 15 ครั้งก่อนการหุง นั้นแสดงให้เห็นความผิดปกติของข้าว เพราะโดยทั่วไปเราจะซาวน้ำแค่ 1-2 ครั้ง และบางยี่ห้อดีมาก ไม่ต้องซาวน้ำ และที่น่าเป็นห่วงนอกจากเรื่องของคุณภาพทางเคมี กายภาพ และประสาทสัมผัสแล้ว ยังมีคุณภาพทางด้านจุลินทรีย์  ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ชิมก็อาจไม่ทราบก็ได้ เพราะเกิดจากสารพิษที่จุลินทรีย์สร้างขึ้น

ในกรณีของข้าว นอกจากเชื้อราที่มีคนพูดถึงกันมากแล้ว แต่ยังไม่เห็นมีใครพูดถึงเชื้อแบคทีเรีย ที่เรียกว่า บาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus cereus) สร้างสารพิษที่อันตราย และไม่สามารถทำลายได้ง่ายด้วยการหุงต้มปกติ ขนาดผู้ประกอบการที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าว ยังมักจะถูกลูกค้าต่างชาติที่นำเข้าถามว่า มีการตรวจสอบเชื้อบาซิลลัส ซีเรียส หรือไม่ หากมี ก็อาจเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดสารพิษของแบคทีเรียตัวนี้ได้เช่นกัน 

...

ข้าว 10 ปี ผลิตแอลกอฮอล์ดีที่สุด อาหารสัตว์ก็ไม่ควรเสี่ยง

สรุปว่าหากจะนำข้าวที่เก็บไว้ 10 ปีมาใช้ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย ขอเสนอแนะว่า ควรนำไปหมักเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ อาจได้ราคากว่าการขายข้าวสาร แต่ไม่แนะนำให้ไปทำเป็นอาหารสัตว์ และไม่ว่าจะนำข้าว 10 ปีบริโภคภายในประเทศ หรือส่งออก ล้วนส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่สร้างชื่อเสียงด้านข้าวมานานหลายสิบปี หรือร้อยปี 

“สงสารชาวนา และผู้ประกอบการไทย ขออ้างตัวเลขส่งออก ม.ค.-มิ.ย. 2563 พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทยมีปริมาณถึง 1.12 แสนตัน มูลค่า 176 ล้านดอลลาร์ ไทยยังครองตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวอันดับที่ 1 ของโลก จึงไม่ควรแลกระหว่างข้าวคุณภาพ 10 ปีที่ไม่ปกติจำนวนสัดส่วนเพียงน้อยนิด กับความเสียหายมหาศาลที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศ”.