ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย ตั้งข้อสังเกต 3 ข้อ ไฟไหม้พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมบ่อยครั้ง จากโกดังกากอุตสาหกรรม ถึงแท็งก์น้ำมันมาบตาพุด

กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับเหตุเพลิงไหม้ ในเขตโรงงานอุตสาหกรรม... 

เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ก็เกิดเหตุ เพลิงไหม้ กากอุตสาหกรรม ในโกดังแห่งหนึ่ง ใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง 

และล่าสุดวันนี้ กับเพลิงไหม้ ถังเก็บสาร Pyrolysis Gasoline (แก๊สโซลีน) บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด จังหวัดเดียวกัน แต่เกิดเหตุที่ ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง 

เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ มีรายงานว่าพบกลุ่มควัน ที่บริเวณถังจัดเก็บสารประกอบไฮโดรคาร์บอน C9+ ในช่วงเช้าวันนี้ (9 พ.ค.) เวลาประมาณ 10.45 น. เบื้องต้น พบผู้บาดเจ็บ 4 ราย และ เสียชีวิต 1 ราย 

ทั้งนี้ สารประกอบ ไฮโดรคาร์บอน C9+ เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ (by product) จากการผลิตสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดพลาสติก โดยได้แยกเบนซีน โทลูอีน มิกซ์ไซลีน ออกหมดแล้ว ซึ่งใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมต่างๆ (Solvent) 

อย่างไรก็ตาม ได้มีการระดมกำลังเพื่อควบคุมเพลิง จนกระทั่ง 16.50 น. มีรายงานว่า สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว 

...

นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า “แก๊สโซลีน” ก็คือ น้ำมันที่ค่าออกเทนสูง ฉะนั้น การดับไฟดังกล่าว จำเป็นต้องใช้โฟมดับ 

ขั้นตอนในการทำงานของเจ้าหน้าที่ เขาเริ่มตั้งแต่การแจ้งเตือน อพยพคน ก่อนอื่นต้องเอาคนหนีออกจากที่เกิดเหตุและใกล้เคียงเสียก่อน และต้องหนีไปในพื้นที่ “เหนือลม” เพราะ “สารเคมี” ที่เกิดเป็นควันจากเหตุเพลิงไหม้นั้น มันอุดมไปด้วยสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะ “มะเร็งเม็ดเลือดขาว” 

หากเจอสารเคมีตรงๆ ก็จะมีอาการ แสบตา แสบจมูก หากเข้าไปในปอดก็จะทำอันตรายกับปอด กลายเป็นการสะสมเชื้อร้าย สุดท้าย หากได้รับสารพิษเข้าไปมาก มันจะทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ในหลักการในการเอาตัวรอด คือ ต้องเอาผ้าชุบน้ำ ปิดปาก จมูก หากหนีจนรอดพ้นรัศมีแล้ว ให้ใช้น้ำสะอาดล้างหน้า ล้างตัว อย่างน้อย 15 นาที 

ในส่วนของการดับไฟนั้น ได้มีหน่วยของ “การนิคมอุตสาหกรรม” เข้าไปดำเนินการ โดยมีการประกาศ ภาวะฉุกเฉินในระดับ 2 ซึ่งเคสลักษณะแบบนี้ จะมีการระดมการทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งคนของโรงงานเอง การนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากมีการประกาศภาวะฉุกเฉินระดับ 2 ไปจัดการ ซึ่งปกติแล้ว เขาจะมีชุดเผชิญเหตุ มีชุดป้องกันอย่างเต็มที่ 

“เมื่อเข้าไปจะต้องใช้โฟมในการฉีด เพราะน้ำกับน้ำมัน มันเข้ากันไม่ได้อยู่แล้ว น้ำที่ใช้ อาจจะฉีดเป็นสเปรย์ เป็นหมอกควบคุมไว้ เพื่อป้องกัน ไม่ให้ “ไอน้ำมัน” มันออกไปมากเกินไป นอกจากนี้ น้ำที่ใช้ เขาอาจจะใช้ฉีดหล่อถังอื่นไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้มันลุกลาม ขณะที่ถังต้นเพลิง ต้องใช้โฟม หรือ คาร์บอนไดออกไซด์ ในการควบคุม เนื่องจาก หากทำไม่ได้ จะส่งผลเสียหายรุนแรงมากกว่า”

นายสนธิ บอกว่า ตามขั้นตอน การประกาศภาวะฉุกเฉิน นั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับโรงงาน ระดับนิคมอุตสาหกรรม และ หากเอาไม่อยู่ ก็อาจจะต้องประกาศระดับ 3 คือ ระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าฯ เป็น ผู้บัญชาการ แต่ถ้าระดับสองเอาอยู่ก็ถือว่าดี

หากควบคุมสถานการณ์ได้ สิ่งที่จะต้องดูแลตามมาคืออะไร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ชี้ว่า สิ่งที่ต้องมาเป็นอันดับ 1 คือ สุขภาพของประชาชน อยากให้ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงพนักงานทุกคน และใกล้เคียง ต้องไปตรวจสุขภาพ หน่วยงานที่จะตามเข้ามา คือ ก.สาธารณสุข 

ข้อสังเกต ไฟไหม้ พื้นที่โรงงานบ่อย?

ข้อสังเกต ไฟไหม้พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมบ่อย เกิดอะไรขึ้นกับมาตรฐานความปลอดภัยโรงงาน ประเด็นนี้ นายสนธิ ตั้งข้อสังเกตว่า มันไหม้บ่อยจริง ซึ่งกรณี ล่าสุดนี้ คงต้องรอทางโรงงานแถลงข้อเท็จจริงต่อไป ว่ามีสาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไร  

แต่ช่วงที่ผ่านมา ก็มีไหม้โกดังกากอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องปกติ หากจะตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดช่วงนี้ไฟไหม้บ่อย ผมคิดว่ามี 3 ประเด็น 

...

1.เกิดการรั่วไหล จากอุบัติเหตุจริงๆ 

2.มีพฤติการณ์การ “เผา” เอาประกันหรือไม่? โดยเฉพาะบางโรงงานในพื้นที่ภาคกลาง 

3.มีพฤติการณ์การ “เผา” เพื่อทำลายหลักฐาน หรือไม่? โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “กากอุตสาหกรรม” เพราะถือเป็นทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันไขคำตอบ 

ส่วนกรณี “ปิโตรเคมี” นั้น สิ่งที่ต้องตรวจสอบ คือ เรื่องระบบความปลอดภัย ดีเพียงพอหรือไม่...? หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ประเมินเรื่องความเสี่ยงต้องลงพื้นที่ตรวจสอบ ที่ผ่านมา มีการประเมิน หรือไม่ มีการซ้อมอพยพทุกปีหรือไม่ มีตรงไหน 

นายสนธิ ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เป็นห่วง คือ เรื่องสุขภาพของประชาชน เพราะไอควันพิษ นั้น มันเป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพระยะยาว ผมทราบว่า ควันมันไปถึงบ้านฉางเลย หากเกิดอะไรขึ้นกับประชาชนเหล่านี้ใครจะดูแล ดังนั้น เมื่อควบคุมทุกอย่างได้แล้ว ต้องลงพื้นที่ดูแลเยียวยา...

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...