เหตุไฟไหม้แท็งก์เก็บสารเคมี จ.ระยอง ถึงควบคุมต้นเพลิงได้แล้ว แต่สารเคมีที่เกิดจากการเผาไหม้ อาจก่อให้เกิดโรคร้ายสะสม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กังวลถึงสารก่อมะเร็งและโลหะหนัก ที่มีการปนเปื้อนลงสู่ทะเล แหล่งน้ำและสัตว์น้ำ ที่มีผลกระทบสะสมต่อประชาชนระยะยาว

ไฟไหม้ถังเก็บน้ำมัน ในนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 67 ภายหลังศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือ EMCC นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยอง ได้รับแจ้งเกิดเหตุเพลิงไหม้ ถังเก็บสาร Pyrolysis Gasoline (แก๊สโซลีน) ซึ่งต่อมาสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้

สำหรับผลกระทบที่เกิดกับคนในพื้นที่ และสิ่งแวดล้อม "ฐิติกร บุญทองใหม่" ผู้จัดการแผนงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ มองว่า จากเหตุไฟไหมที่ มาบตาพุด จ.ระยอง เป็นแท็งก์เก็บ "ไพโรไลซิส แก๊สโซลีน" เป็นกลุ่มสารปิโตรเคมี ที่มีชื่อย่อว่า C9+ ซึ่งสารเคมีชนิดนี้จะสามารถติดไฟได้ หากมีความร้อนตั้งแต่ 30 องศาเซลเซียส ถือเป็นวัตถุไวไฟ โดย C9+ เมื่อถูกเผาไหม้จะเป็นกลุ่มควันที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้

จากข้อสันนิษฐานการเผาไหม้อาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น มีการซ่อมบำรุงทำให้เกิดประกายไฟ หรือแท็งก์เก็บมีการชำรุด ซึ่งแท็งก์ที่เกิดการไหม้ จะบรรจุสารเคมีได้เกินพันตัน

...

ปกติเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้สารที่เกี่ยวกับปิโตรเคมี ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการดับไฟ เพราะไม่สามารถใช้น้ำดับได้ แต้ต้องใช้โฟมที่เป็นสารเฉพาะในการดับไฟที่เกิดจากการลุกไหม้ โดยตามนิคมอุตสาหกรรมจะมีทีมดับเพลิงที่เชี่ยวชาญ และมีสารเคมีที่มาช่วยดับโดยเฉพาะ แต่ในกรณีที่เกิดขึ้น น่าสนใจว่า ถ้าไม่มีการควบคุมเพลิงได้ช้า มีปัจจัยอะไรทำให้การลุกไหม้สารดังกล่าวมีความรุนแรงจนส่งผลต่อชีวิตประชาชน หรือต้นเพลิงมาจากจุดที่ไม่สามารถดับได้ง่าย

ที่น่าเป็นห่วงหลังจากควบคุมเพลิงได้แล้วคือ สารเคมีตกค้างที่เกิดจากการเผาไหม้ ที่สามารถมากับน้ำที่ชะล้างลงในทะเลหรือแหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้มีการปนเปื้อนอยู่ในสัตว์น้ำ ซึ่งจะมีทั้งสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งแบบสะสม โลหะหนัก ขณะเดียวกันสารดับเพลิงบางชนิดก็มีสารดับเพลิงปนอยู่

“ปกติสารเหล่านี้ เมื่อไหลลงทะเลจะเจือจางไป แต่จะมีผลในรูปแบบของการสะสมเข้าสู่ร่างกาย อาจไม่แสดงอาการในทันที และอาจมาในรูปแบบการปนเปื้อนในสัตว์น้ำ สารบางตัวแม้จะใช้ความร้อนในการปรุงอาหารให้สุกก็ไม่ได้สลาย เมื่อคนทานสัตว์น้ำเข้าไปจะมีภาวะสะสม”

แต่ผลกระทบจากควันที่เกิดจากการเผาไหม้สารเคมี ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดอาการฉับพลันในมนุษย์ ทั้งแบบที่เป็นการระคายเคืองที่ตา ผิวหนัง และมีผลต่อระบบการหายใจ วิงเวียนศีรษะ หากคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ที่มีปัญหาทางระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว ก็อาจจะมีผลอย่างรวดเร็ว เช่น เลือดกำเดาไหล หายใจไม่ออก จนต้องรีบนำตัวส่งไปยังโรงพยาบาล.