คุยกับนายกสมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า มองการเปลี่ยนจากขับแท็กซี่ NGV เป็น EV ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษา แต่ถือว่ายังไม่ตอบโจทย์กับเศรษฐกิจปัจจุบัน แนะหากคิดเปลี่ยนจริง เวลาทำงานอาจจะหายไปวันละ 2 ชั่วโมง

'แท็กซี่' (Taxi) เป็นหนึ่งในระบบขนส่งที่คนนิยมใช้กัน อย่างทีมข่าวฯ ที่กำลังนั่งเขียนสกู๊ปเรื่องนี้อยู่ ก็เคยขึ้นแท็กซี่มานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว ทั้งการเรียกด้วยตัวเองตามริมถนน รวมไปถึงใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 

หากคุณผู้อ่านสังเกตดูดีๆ จะพบว่าปัจจุบันมีแท็กซี่เพิ่มขึ้นมา 1 ประเภท นั่นก็คือ แท็กซี่ EV หรือ รถแท็กซี่ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม แท็กซี่ที่ใช้ NGV หรือ LPG ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไป ไม่ได้หายไปไหนแต่อย่างใด…

อ้าว… แล้ววันนี้เราจะมาคุยเรื่องอะไรกันล่ะ!? 

ใจเย็นๆ เราขอเล่าย้อนไปนิดนึงว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมข่าวฯ ได้ขึ้นรถแท็กซี่เพื่อกลับที่พัก แล้วได้พบกับเรื่องที่น่าสนใจเข้า เมื่อพี่คนขับพูดเชิงระบายกับเราว่า เขาอยากเปลี่ยนจากขับรถ NGV มาเป็น LPG เนื่องจากปั๊ม NGV หายากขึ้นทุกวัน แต่ยังมีข้อกังวล และไม่แน่ใจว่า…

...

"ถ้าเปลี่ยนแล้วจะดีไหม หรือมีอะไรต้องเตรียมตัวหรือเปล่า?"

นั่นเป็นประเด็นที่น่าสนใจ! และทีมข่าวฯ คาดว่ายังมีพี่คนขับหลายคน กำลังคิดไม่ตกกับเรื่องนี้อยู่เช่นกัน เราจึงได้ยกสายตรงติดต่อไปถึง 'คุณอนุวัตร ยาวุฒิ' นายกสมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อชวนมาไขคำตอบของคำถามดังกล่าว 

ถ้าพี่แท็กซี่ รวมถึงผู้อ่านทุกคนพร้อมแล้ว ก็ค่อยๆ เลื่อนไปดูข้อมูลด้านล่างนี้ได้เลย แต่! พี่คนขับทั้งหลายอย่าอ่านไปขับไปล่ะ เดี๋ยวจะเกิดอันตรายเสียก่อน!!!

แท็กซี่ EV อาจยังไม่ตอบโจทย์ : 

เมื่อถามว่า แท็กซี่ EV หรือ NGV นั้นดีกว่ากัน ในส่วนนี้คุณอนุวัตรแสดงความคิดเห็นว่า ถ้าเอาความคิดผม ณ ตอนนี้ มองว่า EV ยังไม่ตอบโจทย์เพราะค่าเช่ารถยังสูงมาก เริ่มต้นตั้งแต่วันละ 750 บาท หรือ 850 บาท ขึ้นอยู่กับว่าเช่าที่อู่หรือสหกรณ์ไหน อย่างเช่น ถ้าไปเช่ากับอู่ด้านนอก รถ AION ES จะอยู่ที่วันละ 850 บาท แต่ถ้าเช่ากับสนามบินจะอยู่ที่วันละ 750 บาท หากเป็น BYE e6 ราคาจะอยู่ที่ 950-1,050 บาทต่อวัน

นายกสมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า กล่าวต่อว่า นั่นคือต้นทุนค่าเช่ารถต่อวัน คราวนี้ถ้ามาดูค่าชาร์จไฟฟ้าต่อหน่วย ราคาสูงสุดจะอยู่ที่ 8 บาท เกือบ 9 บาท ส่วนต่ำสุดจะอยู่ที่ 4.50 บาท ขึ้นอยู่กับว่าชาร์จช่วงเวลาไหน ดังนั้น ถ้านำค่ารถและค่าชาร์จไฟฟ้ามารวมกัน ต้นทุนวิ่งรถจะอยู่ที่ประมาณ 1,300-1,400 บาทต่อวัน  

"คนขับแท็กซี่จะบอกกันว่า ตอนนี้ NGV หาเติมยาก แต่มันยังมี LPG อยู่และหาเติมได้ทั่วไป ซึ่งราคาแท็กซี่ที่เป็น LPG ตกอยู่ประมาณ 550-650 บาทต่อวัน แล้วแต่ว่ารถใหม่หรือรถเก่า ส่วนค่าเติมแก๊สจะอยู่ที่ประมาณวันละ 600 บาท"

คุณผู้อ่านลองหยุดตรงนี้ แล้วคิดเลขเล่นๆ เร็วๆ กันดู จะพบว่าต้นทุนต่อวันของ EV และ LPG ดูจะไม่ต่างกันเท่าไรนัก ซึ่งคุณอนุวัตรก็มีความคิดเห็นเช่นนั้น แต่ด้วยเหตุที่มันต่างกันไม่เท่าไรนี่แหละ ทำให้เขามองว่า LPG คงจะตอบโจทย์กว่า

นายกสมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า มองว่าถ้าดูคงจะเห็นว่าต้นทุนในหนึ่งวันพอๆ กัน แต่ NGV หรือ LPG ไม่ต้องรอคิว เข้าปั๊มแล้วสามารถเติมพลังงานได้เลย ผมจึงบอกว่า EV ยังไม่ตอบโจทย์เท่าไร หลักๆ ก็ด้วยเหตุผล 'ค่าเช่ายังแพงเกินไป'

...

"เฉพาะต้นทุนเช่าค่ารถ วันละ 750 บาท ตกเดือนละ 20,000 กว่าบาทเลยนะ นี่ยังไม่รวมค่าเติมพลังงาน ค่ากินอีกนะ ต้องขับวันละเท่าไรถึงจะได้ค่าตัว บวกกับเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน ตอนนี้ผมเลยมองว่าสิ่งที่คุ้มที่สุดคือ ไฮบริดติดแก๊ส"

คุณอนุวัตร เสริมว่า ผมบอกสมาชิกเสมอว่า ตอนนี้เราเป็นสมาคม EV ก็จริง แต่ที่ยังไม่เชียร์ให้เปลี่ยนเป็น EV เพราะผมมองว่ายังไม่มีการช่วยเหลือจากภาครัฐ การขับแบบไฮบริดติดแก๊สน่าจะคุ้มทุนที่สุด 

นอกจากนั้น ถ้าดูในเรื่องของอัตราค่าใช้จ่าย กิโลเมตรต่อเชื้อเพลิงของ EV จะตกอยู่ที่กิโลเมตรละ 0.80-1 บาท ส่วนตัวไฮบริดติดแก๊สจะต่างกันที่บาทนิดๆ ตกอยู่ที่ประมาณกิโลเมตรละ 1.10-1.15 บาท คือมันต่างกันอยู่แค่ไม่กี่สตางค์เอง นายกสมาคมฯ กล่าวกับเรา

ปั๊ม NGV มีจำนวนน้อย : 

ก่อนที่เราจะไปคุยเรื่อง Taxi EV กันต่อ เราขอชวนคุณผู้อ่านมาดูเรื่อง NGV กันสักนิด… หนึ่งในสาเหตุที่คนขับแท็กซี่อยากเปลี่ยนมาขับ EV ก็เพราะว่าปั๊ม NGV นั้นหายาก ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากคุณอนุวัตรว่า จริงครับ NGV มีการยกเลิกปั๊มไปเรื่อยๆ จนในกรุงเทพฯ แทบจะหาเติมไม่ได้แล้ว

...

พอได้ยินแบบนั้น ทีมข่าวฯ จึงถามกลับว่า "แล้วคนที่ยังขับจะไปเติมที่ไหน?"

นายกสมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า ให้คำตอบว่า ถ้าเขายังเติมอยู่ เขาก็ต้องดิ่งไปที่ที่มี เช่น มีนบุรีมีจุดเดียว ก็ต้องไปเติมตรงนั้นเลย ดังนั้น ต้องคำนวณดูให้ดีว่า หากรับงานมาแล้วจะมีแก๊สพอไหม หรือมีจุดไหนให้เติมบ้าง ถือว่าค่อนข้างลำบากสำหรับคนใช้ NGV ซึ่งแท็กซี่ที่ใช้ NGV มีอยู่ประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าใช้ LPG จะไม่มีปัญหา เพราะมีอยู่ทุกที่

จากข้อมูล จำนวนสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ 2567 (NGV) โดยกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อ 26 มีนาคม 2567 ทีมข่าวฯ พบว่าทั่วประเทศมีสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ 305 สถานี โดยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร 62 สถานี 

มีบ้าน + ขับ EV = ตอบโจทย์ : 

เรามาคุยเรื่อง EV กันต่อดีกว่าครับ! จากบทสนทนาในหัวข้อแรก เราจึงสรุปเชิงตั้งคำถามกลับไปยังนายกสมาคมฯ ว่า แสดงว่าถ้ามองภาพรวม EV ก็ดีกว่า แต่เรื่องค่าเช่า ค่าต่างๆ ไม่ตอบโจทย์ในเศรษฐกิจแบบนี้? 

...

เขาตอบรับทันท่วงทีว่า "ใช่ครับ" ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า…

เมื่อเป็นแบบนั้น มันเลยทำให้เรามองว่า ณ ปัจจุบัน ถ้าคนขับแท็กซี่อยากขับ EV จริงๆ อาจจะต้องมีบ้านเป็นของตัวเองแล้วชาร์จที่บ้าน แบบนี้ตอบโจทย์เลยครับ! แต่โดยปกติคนขับแท็กซี่ไม่ได้มีบ้านทุกคน ส่วนใหญ่จะเช่าที่พักอยู่ ซึ่งเขาไม่สามารถใช้ไฟส่วนนั้นมาชาร์จรถได้

"สมมติว่าถ้ามีบ้าน พอกลับถึงบ้านก็ชาร์จไว้เลย ตื่นเช้ามาพร้อมใช้ ขับออกข้างนอกอาจจะได้ชาร์จบ้าง ประมาณ 10-20 นาที แต่ทุกวันนี้จะเน้นชาร์จตามปั๊มกันหมดเลย ผมเลยบอกว่าถ้ายังไม่มีบ้านของตัวเอง อาจจะยังไม่ตอบโจทย์สักเท่าไร" คุณอนุวัตร ยกตัวอย่างให้เราเข้าใจ 

แสดงว่าถ้าคิดจะเปลี่ยนเป็น EV อาจจะควรหยุดไว้ก่อนใช่ไหม? นายกสมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า หยุดคิดไปแป๊บนึง ก่อนจะให้คำตอบว่า… มันก็ทำได้ครับ เพียงแต่ผมมองว่า ณ ตอนนี้ มันเป็นกระแสที่ทุกคนอยากมาเล่นรถไฟฟ้า เนื่องจากว่าจะได้ค่าเชื้อเพลิงถูก แต่กลับกันอีกด้านหนึ่งค่าเช่าแพงเกินไป 

ข้อดีของการขับรถแท็กซี่ EV : 

เอาล่ะครับ… อ่านมาถึงตรงนี้บางคนอาจจะรู้สึกกังวลจนไม่อยากขับรถ EV แต่เดี๋ยวเราลองมาดูข้อดีกันบ้างดีกว่า เผื่อว่าผู้อ่านจะได้นำไปชั่งใจว่า "จะเอายังไงต่อดี!?"

สำหรับข้อดีของรถแท็กซี่ EV นั้น คุณอนุวัตร มองว่า Maintenance หรือค่าบำรุงรักษา จะน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากส่วนประกอบของรถสันดาปทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 กว่าชิ้น แต่พอมาเป็น EV อยู่ที่ประมาณ 100 กว่าชิ้น ทำให้ค่าบำรุงรักษาถูกลง ซึ่งช่วยลดค่าบำรุงรักษาระยะยาว เช่น ถ้าใช้ EV จะลดค่าใช้จ่ายน้ำมันเครื่องประมาณ 500-1,000 บาทต่อเดือน หรือค่าบำรุงรักษาน้อย ค่าอะไหล่ต่างๆ แบบที่รถสันดาปเจอ เช่น หม้อน้ำรั่ว หม้อน้ำแตก เครื่องน็อก และอื่นๆ ก็จะลดไป 

นายกสมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า กล่าวถึงข้อดีของรถ EV ต่อว่า เท่าที่ผมสังเกตอายุการใช้งานของแท็กซี่สันดาป พบว่าทุก 3 ปี จะต้องบำรุงครั้งใหญ่ ตรวจหม้อน้ำ ตัวเครื่อง ระบบเบรก หรืออื่นๆ และถ้าหากคุณไม่ตรวจสอบดีๆ ความร้อนมันอาจจะขึ้นมา ทำให้เครื่องน็อกจนต้องไสฝาสูบ 

"หรือส่วนที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายชัวร์ๆ คือ เปลี่ยนน้ำมันเครื่องกับน้ำมันเกียร์ อย่างค่าน้ำมันเกียร์ ถ้าวิ่งรถ 4-5 หมื่นกิโลเมตร จะเปลี่ยนครั้งหนึ่ง ราคาประมาณ 1,000 บาท ส่วนน้ำมันเครื่อง ก็แล้วแต่ยี่ห้อ มีถูกมีแพง ถ้าพูดในส่วนที่ผมใช้ก็ประมาณ 900 บาท/ครั้ง คูณ 12 เดือนเข้าไป ก็เกือบหมื่นบาทต่อปี ดังนั้น ถ้าใช้ EV จะไม่ต้องมาใช้จ่ายตรงนี้" คุณอนุวัตร กล่าวกับทีมข่าวฯ

การเตรียมตัวของคนอยากขับ EV : 

สำหรับใครที่รู้สึกอยากเปลี่ยนไปขับ EV แล้วล่ะก็ คุณอนุวัตร ระบุว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างแรก คือ การชาร์จไฟ เนื่องจากต้องใช้เวลาชาร์จอย่างต่ำประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ซึ่งก็แล้วแต่บางปั๊มว่ากำลังไฟชาร์จนั้นมากน้อยแค่ไหน แล้วมันก็จะเสี่ยงด้วยว่า ถ้าไปถึงสถานีชาร์จ ตู้ชาร์จจะเสียไหม 

ผู้ขับต้องรู้ว่ารถคันนี้วิ่งได้เท่าไร ชาร์จไฟที่ไหนบ้าง หรือสามารถชาร์จที่บ้านได้ไหม เพราะ การชาร์จที่บ้านราคาจะอยู่ที่ 2-3 บาท/หน่วย แต่ก็จะมีราคาติดหัวชาร์จอีก อยู่ที่ประมาณ 1-2 หมื่นบาท แล้วแต่หัวชาร์จและรุ่น หรือถ้าเช่าที่พักอยู่ ก็ต้องคุยกับเจ้าของว่าสามารถนำตัวชาร์จมาติดได้หรือเปล่า อีกทั้งเวลาการทำงานจะหายไปวันละประมาณ 2 ชั่วโมง เนื่องจากว่าวันนึงจะชาร์จประมาณ 2 ครั้ง ตีไปครั้งละ 1 ชั่วโมง

มีอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ขับแท็กซี่อาจจะกังวลกันว่า แล้วรถ EV ลุยน้ำได้หรือไม่ นอกจากนั้นประกันจะคุ้มครองหรือเปล่า? สำหรับเรื่องนี้ นายกสมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า ได้ให้คำตอบผ่านเราไว้ว่า เรื่องประกันก็ต้องดูตามบริษัทไป ส่วนแบตเตอรี่ ปกติแบตจะอยู่ที่ IP68 อยู่แล้ว จะกันน้ำได้ แต่ระยะเวลาก็ตามแต่ละยี่ห้อ บางอันได้แค่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ซึ่งบางครั้งในการลุยน้ำท่วม เราไม่รู้ว่าจะต้องอยู่อย่างนั้นกี่นาที 

"อย่างไรก็ตาม การใช้รถ EV ถ้าลุยน้ำมาแล้ว ควรจอดอย่างน้อย 1 ชั่วโมง การลุยน้ำไม่มีปัญหา แต่ต้องตรวจสอบสภาพตลอด เช่น เคยมีรถไฟฟ้าไปจอดคาอยู่ที่ทางไปชลบุรี เพราะฟิล์มหุ้มแบตรั่ว น้ำเลยเข้าแบตเตอรี่ ผมไม่รู้ว่าเขาใช้งานมากน้อยแค่ไหน ฟิล์มเสื่อมหรือละลายหรือเปล่า บางครั้งเราใช้ไปนานแต่ถ้าไม่ตรวจสภาพ ก็แย่เหมือนกัน"

วิธีเบื้องต้นหากคิดเปลี่ยนไปขับ EV  : 

อ่านมาถึงตรงนี้ หากคุณ! คุณ! หรือคุณ! สนใจอยากจะเปลี่ยนจากขับรถสันดาป เป็นขับรถ EV แล้วล่ะก็ ทีมข่าวฯ ได้ถามวิธีดำเนินการ และค่าใช้จ่ายกับทางนายกสมาคมฯ มาให้เบื้องต้นแล้ว ซึ่งเขาบอกกับเรา "ดำเนินการไม่ยากครับ"

คุณอนุวัตร ระบุว่า ถ้าพร้อมและตัดสินใจจะขับ EV แล้ว ง่ายที่สุดคือการไปเช่าที่สนามบิน ราคาต่อวันถูกสุดอยู่ที่ 750 บาท และไม่จำเป็นว่าต้องขับแค่ในสนามบินเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คุณต้องวางเงินประกัน 15,000 บาท ซึ่งค่าประกันนี้ผ่อนได้ด้วย!

"พอมาเช่าแล้วก็เอารถไปทดลองขับสัก 6 เดือน หากพอใจ ติดใจ ถูกใจ อยากไปต่อ สามารถเปลี่ยนจากสัญญาเช่า มาเป็นสัญญาเช่าซื้อได้ ตรงนี้ก็จะทำให้ราคาเช่ารถถูกลงไปด้วย" นายกสมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า กล่าวกับทีมข่าวฯ 

แท็กซี่ EV ยังไร้การสนับสนุนจากภาครัฐ : 

ทีมข่าวฯ สอบถามนายกสมาคมฯ ซึ่งอยู่ปลายสายว่า ในฐานะที่ทำงานส่วนนี้มา ทางภาครัฐได้เข้ามาสนับสนุนแท็กซี่ EV อย่างไรบ้าง? คุณอนุวัตร ตอบกลับว่า เราเคยขอให้รัฐสนับสนุน แต่ปัจจุบันไม่มีโครงการอะไรที่มาสนับสนุนเลย เราเคยเขียนโครงการขอว่า ขอรถทดสอบ 100 คันให้สมาชิก แต่ก็ไม่ได้มีอะไรคืบหน้า

นายกสมาคมฯ กล่าวต่อว่า อย่างตัวของ วินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า จะมีอยู่บริเวณ กฟผ. ที่เอารถมอเตอร์ไซค์มาให้วินลองขับประมาณ 50 คัน ซึ่งผลลัพธ์ออกมาดี คนขับมีเงินเหลือมากขึ้น แถมยังเป็นการช่วยลดมลพิษด้วย แต่ของแท็กซี่ยังไม่เคยมีโครงการอะไรเลย เราพยายามขอไปตลอดก็ยังไม่เคยได้

"เคยเข้ากระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงยื่นขอโครงการไปถึงกระทรวงคมนาคมเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่มีวี่แวว ยังไม่มีอะไรตอบโจทย์ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ถ้าเราจะเขียนขอโครงการ ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะแท็กซี่ไฟฟ้าเริ่มออกมามากขึ้น มันก็จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า 'โครงการนำร่อง' แล้ว"

อนุวัตร ยาวุฒิ
อนุวัตร ยาวุฒิ

หากเป็นเช่นนั้นไปแล้ว แต่ถ้าหลังจากนี้มีรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ยังอยากให้รัฐสนับสนุนเรื่องใดบ้าง? 

นายกสมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า ระบุว่า อยากให้รัฐสนับสนุนเรื่องสถานีชาร์จ สนับสนุนสมาคมให้มาดำเนินการแทนรัฐ มองว่าจะทำให้แท็กซี่ EV เดินต่อไปได้ หากรัฐจะสนับสนุนส่วนนี้ เราสังเกตว่าต้องมีกระทรวงมหาดไทยร่วมด้วย นั่นคือสำนักงานเขต หรืออำเภอมาพูดคุยกัน เนื่องจากการต้องลงสถานีชาร์จตามจุดต่างๆ ส่วนค่าบริการ การไฟฟ้าอาจจะส่งไฟให้สำนักงานเขต 3 บาท/หน่วย คุณก็เก็บสักไม่เกิน 3.50 บาท เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนใช้ และผมเชื่อว่ายังไงก็ไม่มีขาดทุน 

"อีกอย่าง คือ ต้องดำเนินการหารถที่ราคาถูกจริงๆ เข้ามาในระบบ อย่างตอนนี้ที่ถูกสุดอยู่ที่ 750 บาท จะทำอย่างไรให้ราคาอยู่ประมาณ 600-650 บาทก่อนได้ไหม อย่างน้อยมันก็ยังถูกกว่า 100 บาท ซึ่ง 100 ถ้าคิดเป็น 30 วัน คนขับก็จะประหยัดไป 3,000 บาท ถือว่าเป็นค่าข้าวให้เขาได้ไม่มากก็น้อย"

คุณอนุวัตร แสดงความคิดเห็นต่อว่า น่าจะภายในอาทิตย์หน้า ผมมีนัดคุยกับนายทุน ที่จะนำรถเข้ามาขายให้กับแท็กซี่ ผมจะเข้าไปคุยและเสนอว่าเราทำราคาสัก 650 บาทได้ไหม ถ้าทำได้ผมก็คงดำเนินโครงการในเรื่องการให้สมาชิกสมาคมได้นำร่องก่อน แล้วขยับไปตามสถานที่ต่างๆ ชวนคนเข้าโครงการ ซึ่งถ้าทำได้ผมมองว่าดีมาก

ภาพ : AFP

อ่านบทความที่น่าสนใจ :