วิเคราะห์การปรับขึ้น 'ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน' กับ 'รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์' คาดผลกระทบเชิงลบ อาจทำสินค้าราคาสูงขึ้น ผู้ประกอบการบางส่วน 'เจ๊ง' ไปต่อไม่ไหว ต่างชาติเมินลงทุน เหตุผลิตภาพแรงงานไทยยังสวนทาง ด้านผลกระทบเชิงบวก มองกระตุ้นเศรษฐกิจได้นิดหน่อย
สวัสดี วันแรงงานแห่งชาติ 2567 เวียนกลับมาอีกครั้งกับหนึ่งวันสำคัญบนหน้าปฏิทิน ซึ่งเราน่าจะพอทราบความสำคัญของวันนี้กันมาบ้างแล้วว่า มีขึ้นเพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของ ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นฝ่ายผลิตที่สำคัญ ในการผลักดัน และช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ก่อนจะถึงวันแรงงานปีนี้ มีกระแสออกมาช่วงหนึ่งว่า จะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษาคม 2567 ทำให้แรงงานหลายคนเฮ! และรู้สึกดีใจ เพราะจะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นแล้ว!
ความยินดีต้องหยุดชะงักลง เพราะเมื่อ 24 เมษายน 2567 ณ กระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า "การสื่อสารอาจจะสับสน" เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ ไม่ได้จะปรับขึ้นทันที สำหรับวันแรงงานนี้ จะเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่คาดว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2567 จะมีการประกาศขึ้นค่าจ้างในภาพรวมทั่วประเทศ
...
แต่หากอิงจากข่าวก็ถือว่า 'น่าจะ' มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท เพียงแต่เวลาขยับออกไป อย่างไรก็ตาม การปรับครั้งนี้มีนักวิชาการบางส่วน ได้ออกมากังวลว่า 'อาจมีผลเสียมากกว่าผลดี'
เราจึงได้เชิญชวน 'รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์' นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง มาร่วมวิเคราะห์และคาดการณ์ว่า หากปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน จริง!!! จะสร้างผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบอย่างไร?
เหตุผลโดยทั่วไปของการปรับขึ้นค่าแรง :
รศ.ดร.สมชาย เริ่มต้นแสดงทรรศนะเรื่อง 'การขึ้นค่าแรง' ให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า ผมขอเรียนอย่างนี้ โดยปกติแล้วเวลาขึ้นค่าแรง จะต้องมีเหตุผลหลักๆ ในการขึ้น คือ หนึ่ง ค่าแรงนั้นจะขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ แต่ช่วงนี้อัตราเงินเฟ้อของไทยยังต่ำ
"เงินเฟ้อเราต่ำมาก ถ้าเป็นเงินเฟ้อพื้นฐาน ขณะนี้ยังเป็นบวกนิดหน่อย แต่ถ้าเป็นเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งรวมเรื่องราคาพลังงานด้วย ตัวนี้ประเทศเราติดลบ เพราะไปลดราคาพลังงาน ซึ่งถ้าปล่อยไปตามตลาด เงินเฟ้อตัวนี้ก็จะเป็นบวก รวมกันแล้วประมาณ 0-1%"
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวถึงเหตุผลอื่นต่อไปว่า ส่วนที่สอง การขึ้นค่าแรงควรขึ้นในลักษณะตามสัดส่วนของ Sector หมายความว่า ไม่ใช่การออกมาเท่ากันทั้งหมด แต่ต้องดูว่า ส่วนไหนต้องการเยอะ ส่วนไหนมีผลิตภาพเยอะ ซึ่งส่วนนั้นค่าแรงก็จะสูงกว่าทั่วไป
สำหรับส่วนที่สาม การขึ้นค่าแรงนั้น จะขึ้นตามโซน ตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ ต้องดูว่ากลุ่มตรงนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้ปรับเงินให้สอดคล้อง เนื่องจากบางจังหวัดอาจมีเศรษฐกิจดี บางจังหวัดอาจจะไม่ดี ก็ต้องค่อยๆ ปรับดูกันไป
ผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น :
ทีมข่าวฯ สอบถามกูรูด้านเศรษฐศาสตร์ต่อไปว่า หากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำไปที่ 400 บาทจริง อะไรคือผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น?
"จริงๆ ต้องเรียนก่อนว่า 400 บาท จาก 300 กว่า นี่ถือว่าขึ้นมาเยอะนะ" รศ.ดร.สมชาย กล่าวรับคำถาม ก่อนจะให้คำตอบเพิ่มเติมว่า…
"สมมติว่าถ้ารัฐบาลประกาศขึ้นแน่ๆ แล้ว มันย่อมมีผลกระทบกับธุรกิจบางส่วน และบางส่วนก็ไม่ได้รับผลกระทบ ตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบ เช่น ส่วนของการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ หรือร้านค้าต่างๆ เนื่องจากเศรษฐกิจกลุ่มนี้อยู่ในลักษณะการเติบโตต่ำ"
...
รศ.ดร.สมชาย กล่าวขยายความเพิ่มเติมว่า ที่บอกว่าธุรกิจบางส่วนจะปรับตัวได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สนับสนุนและใจถึงเรื่องค่าแรง เหมือนกับบางประเทศที่เขาไม่ได้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ การประกาศของรัฐบาลจึงไม่มีผลกระทบกับกลุ่มนี้
ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ผมมองว่าเขาจะมีการแสดงออกทั้งหมด 3 แบบด้วยกัน แบบแรก คือ พวกเขาจะผลักดันราคาสินค้าให้ผู้บริโภค พูดง่ายๆ คือ 'เพิ่มราคาสินค้า' นั่นแหละ ส่วนแบบที่สอง เขาจะพยายามลดต้นทุนการใช้จ่าย แทนที่จะเพิ่มราคา นั่นก็คือ ลดจำนวนพนักงานลง ทำให้คนตกงาน เป็นปัญหาในระบบเศรษฐกิจอีก
ส่วนของแบบที่สาม ผู้ผลิตอาจจะหันมาใช้ 'แรงงานต่างด้าว' เพราะอัตราค่าจ้างต่ำกว่าจ้างคนไทย แม้เราจะบอกกันว่า 'แรงงานต่างด้าวเท่าเทียมกับไทย' แต่ผมเชื่อว่าจะมีประเภทลักลั่น ซึ่งหนีไม่พ้นกันอยู่ดี
"เพิ่มเติมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอีกส่วนหนึ่ง นั่นก็คือ 'เจ๊ง' เกิดขึ้นแน่ เพราะการปรับขึ้นค่าแรง ก็คือการปรับขึ้นต้นทุน เหมือนเพิ่มภาระให้ผู้ผลิต ผู้ผลิตบางคนผลักภาระตรงนี้ไปไหนไม่ได้ สุดท้ายก็จะเจ๊ง อันนี้พูดในกรณีที่ประกาศออกมาแบบ across the board (ทั้งหมด) ว่าเพิ่มจาก 300 กว่า เป็น 400" นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง วิเคราะห์ให้ทีมข่าวฯ ฟัง
...
ผลิตภาพของแรงงานไทยยังน้อย :
รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ตัวนี้ที่จะปรับกัน เขาคงมีความจำเป็นเลยต้องปรับ แต่ถ้าปรับขึ้นมาจริงๆ เราจะเห็นได้ชัดอยู่อย่างหนึ่งว่า มันจะมีผลกระทบในระยะกลาง ระยะยาวได้ ผมจะยกตัวอย่างผลกระทบง่ายๆ ให้ฟังว่า
ขณะนี้เศรษฐกิจไทย และความสามารถในการแข่งขันของเรา มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่อันดับ 9 ในอาเซียน เราชนะแค่บรูไนฯ ดูง่ายๆ ว่า 13 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ 2011 จนถึง 2023 เรื่อง GDP ของไทยขยายตัว 2.6% ต่อปี ส่วนเฉลี่ยของอาเซียนได้ 4.4% เราเป็นอันดับ 9 แทบจะโหล่สุด
ในทางกลับกัน เราจะเห็นได้ว่า กลุ่ม CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) ขยายตัวตั้ง 6-7% รวมไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ก็ขยายตัวด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากเพราะเรื่องแรงงานนี่แหละ
"ประเทศไทยค่าแรงสูง แต่ผลิตภาพต่ำ เห็นไหมว่ามันสวนทางกัน แต่ถ้าไปดูในกลุ่มของ CLMV จะเห็นว่า ค่าแรงของเขาต่ำกว่า แต่ผลิตภาพแรงงานเท่าๆ กับเรา หรือสูงกว่าด้วยซ้ำ"
...
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง อธิบายต่อว่า อย่างเวียดนามเขาก็เก่ง ขีดความสามารถสูงกว่าเรา แต่ค่าแรงต่ำกว่า ในกรณีของอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ก็เช่นเดียวกัน ค่าแรงถูกกว่าเรา แต่ผลิตภาพใช้ได้ หรือจะเป็นมาเลเซีย ผลิตภาพเขาดีกว่าเรา ค่าแรงก็ใกล้เคียงกับเรา ส่วนสิงคโปร์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ค่าแรงสูงแต่ผลิตภาพคนก็สูงมาก
แรงงานสู้ไม่ได้ เหมือนผลักดันการลงทุนออกนอกประเทศ :
จากหัวข้อก่อนหน้านี้ทีมข่าวฯ จึงถามกูรูของเรากลับไปว่า อาจารย์กำลังจะหมายความว่า การขึ้นค่าแรงนั้นทำได้ แต่ถ้าผลิตภาพของแรงงานไม่ดี มันก็อาจจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ และการลงทุนได้ ใช่หรือไม่ครับ?
รศ.ดร.สมชาย ตอบว่า ใช่ครับ… แรงงานของเราจะ 'ดีในระยะสั้น' ลองสังเกตว่าสมัยก่อนนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนเยอะมาก แต่เดี๋ยวนี้ลดไปเยอะ เพราะส่วนหนึ่งเขามาพิจารณาว่า ถ้าทำธุรกิจแล้วต้องการใช้แรงงานราคาถูก เขาจะไม่มาเมืองไทย กลับเลือกไปประเทศที่ค่าแรงถูก แต่มีฝีมือพอๆ กันหรือมากกว่า
"นี่จึงเป็นหนึ่งในปัญหาว่า ทำไมเศรษฐกิจไทยถึงอยู่ในสภาพแบบนี้ เพราะว่า 'ผลิตภาพ' ไม่ตรงกับค่าแรงนั่นเอง ประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว คนมาลงทุนเยอะ แต่ตอนนี้ถ้าเขาจะมาลงทุน เขาก็มองว่า ค่าแรงแบบนี้ ฝีมือแบบนี้ ไปประเทศอื่นดีกว่า"
"หากเป็นเช่นนี้ ควรจะแก้ไขอย่างไร?" เราถามอาจารย์ต่อไป
รศ.ดร.สมชาย ได้ตอบคำถามนี้ไว้ว่า ต้องไปแก้ปัญหาโดยการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน ต้องเพิ่มเรื่องของ Skill labor (ทักษะแรงงาน) ให้มันตรงกับยุคและสมัยใหม่ เน้นใช้เทคโนโลยี สำหรับคนที่ยังไม่อยู่ในระบบแรงงาน เช่น นักเรียน นักศึกษา ก็ต้องส่งเสริมการศึกษาให้พวกเขาก้าวทันโลก ปรับหลักสูตรให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ส่วนในระบบแรงงานก็ต้องเร่งพัฒนาด้านผลิตภาพ
"ถ้าเราไม่เร่งแก้ไข แม้การเพิ่มค่าแรงจะไปช่วยแรงงานจริง แต่ช่วยไปช่วยมา จะสร้างปัญหาให้เขาในจุดหนึ่ง ธุรกิจก็จะเอา AI เข้ามาช่วย และตอนนั้นแรงงานจะลำบากมากขึ้น ดังนั้น ต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถของแรงงาน"
"ส่วนที่ชมกันว่าคนไทยเก่ง อีกมุม คือ ผลิตภาพของเราแพง แต่ฝีมือสู้ CLMV ไม่ได้ ดังนั้น การพูดตรงๆ ดีกว่าการพูดชมๆ กันอยู่ ถ้ามัวแต่พูดชมว่าเก่งแต่ทำไม่ได้ เขาก็จะไม่จ้างคุณ เพราะยังมีคนเก่งๆ กว่าคุณ" รศ.ดร.สมชาย กล่าวด้วยความเป็นห่วง
ผลกระทบเชิงบวกที่อาจเกิดขึ้น :
เมื่อได้เห็นผลเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นแล้ว ทีมข่าวฯ จึงสอบถามกูรูด้านเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติมว่า ในส่วนข้อดีที่อาจจะเกิดขึ้นนั้นมีอะไรบ้าง?
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ กล่าวว่า แรงงานในประเทศไทยถือว่าได้รับค่าจ้างต่ำนะ ดังนั้น ถ้าได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นตามนี้ ก็อาจจะทุเลาความลำบากของพวกเขาลงได้บ้าง รวมไปถึงมันอาจจะช่วยกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจได้นิดหน่อย เพิ่มกำลังซื้อได้เล็กน้อย แต่ก็ไม่มาก…
"อีกอย่างหนึ่งผมว่า จะทำให้คนเครียดน้อยลงไปบ้าง เพราะทุกวันนี้เครียดกันมาก ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับคนที่มีรายได้น้อย การได้เงินตรงนี้คงไม่ได้ทำให้พวกเขาหายเครียดหรอก เพียงแต่ว่า มันจะช่วยให้จำนวนวันที่ต้องปวดหัวลดลงไปบ้าง"
นัยทางการเมือง :
รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า สำหรับเรื่องนี้มีส่วนของการเมืองเกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพราะสิ่งที่รัฐบาลคิดและทำมันคือ 'สัญญาประชาคม' เนื่องจากรัฐบาลต้องการหาเสียง และเคยคุยไว้แล้ว ตอนที่เคยขึ้นมาแรกๆ รัฐบาลบอกว่า ต้องมีการปรับใหม่ ก็เลยค่อยๆ ปรับไปครั้งนึง ส่วนตอนนี้รัฐบาลจะปรับเพิ่ม เพื่อรักษาคะแนนเสียง ซึ่งอันนี้คือการมองในทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า มันก็ยังต้องพัฒนาหรือปรับ ให้ตรงกับสัดส่วนของความสามารถ ในประเทศที่เจริญแล้ว หรือสามารถพัฒนาได้ มันจะมีความสอดคล้องระหว่างความเป็นไปได้ทางการเมือง กับความมีเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่ในประเทศที่ไม่เจริญ และสร้างปัญหาวิกฤติ มักจะไปเน้นไปที่ความเป็นไปได้ทางการเมือง คือ คะแนนเสียง จนไปสร้างผลกระทบกับผลิตภาพ
"การเมืองเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก ในหลายต่อหลายประเทศมีปัญหา เพราะว่าถ้าเมื่อไหร่คุณเอาการเมืองมาเกี่ยวข้อง คุณจะมีคะแนนเสียง แต่ขณะเดียวกันก็ไปขัดแย้งกับเรื่องของความมีเหตุมีผลทางเศรษฐกิจ"
ทีมข่าวฯ ถามอาจารย์สมชายต่อไปว่า ในมุมมองของอาจารย์ ครั้งนี้รัฐบาลคิดรอบคอบแล้วหรือยัง?
คำตอบของคำถามนี้ คือ ผมว่าเขาคิดรอบคอบแล้ว เพราะอย่าลืมว่ารัฐบาลประกอบด้วยคนจำนวนมาก เพียงแต่ว่าวาระของเขาอาจจะแตกต่างกันไป เพราะมันมีทั้งวาระการเมืองและเศรษฐกิจ บางทีไม่ตรงกัน มันเลยจะมีการถกเถียงระหว่างคนที่เน้นเรื่องความมีเหตุผลทางเศรษฐกิจ กับวาระทางการเมือง
"แต่อย่างน้อยที่สุด ในระบบการเมืองที่ดี การบริหารทางการเมือง ต้องคำนึงถึงความมีเหตุผลทางเศรษฐกิจ ประกอบกันอย่างมาก ซึ่งมันจะนำพาประเทศไปได้ดี แต่ถ้าเอนเอียงไปทางผลประโยชน์ทางการเมืองมากไปหน่อย นี่จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถของการแข่งกัน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะเวลานักการเมืองมองคะแนนเสียงจะมองสั้นๆ แต่อนาคตของประเทศมันต้องมองยาว"
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ ผมก็เห็นใจแรงงาน ทางรัฐบาลก็เห็นใจแรงงาน เพราะตอนนี้เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ เพียงแต่ว่ารัฐจะทำยังไงให้แรงงานมีความชอบธรรม ก็ต้องไปเพิ่มขีดความสามารถให้แรงงาน มันจะวินวินทั้งสองฝ่าย รัฐบาลได้ บริษัทได้ แรงงานก็ได้ ให้มันคู่ขนานกันไป ให้มีดุลยภาพ ถ้าเพิ่มแค่ค่าแรง มันจะออกมาค่อนข้างเอียงๆ เดินขาเป๋นิดหน่อย
ภาพ : iStock
อ่านบทความที่น่าสนใจ :