ครม.เศรษฐา 2 ต้องเร่งใส่เกียร์ทำงานให้เห็นผลมากกว่านี้ เพราะนักวิเคราะห์มองการแต่งตั้งหนนี้มีอำนาจต่อรองมาจาก "มุ้งการเมือง" ทั้งในพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้บางตำแหน่งต้องหลุดโผ ซึ่งรัฐมนตรีหน้าใหม่บางราย จะกลายเป็น "สายล่อฟ้า" ที่ทำให้เกิดอุบัติทางการเมือง จนต้องเปลี่ยนนายกฯ กลางทาง
รศ.ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิเคราะห์การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เศรษฐา 2 ว่า เป็นการปรับตำแหน่งตามสัดส่วนทางการเมือง เพื่อตอบแทนกลุ่มการเมือง และพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ขณะเดียวกันปัจจัยเรื่องผลงานเป็นอีกสิ่งทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเห็นการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี ในลักษณะนี้ตั้งแต่สมัยท่านทักษิณเป็นนายกฯ ที่จะปรับเปลี่ยใน 6-8 เดือน
หากวิเคราะห์ความได้เปรียบของพรรคร่วมรัฐบาล ในการปรับ ครม.เศรษฐา 2 "รศ.ดร.ธนภัทร" มองว่า พรรร่วมรัฐบาลเดิมยังค่อนข้างเสมอตัว ไม่มีการได้เก้าอี้เพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่พรรคภูมิใจไทยยังเป็นตัวแปรสำคัญตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาล และมีบทบาทในการต่อรองตำแหน่งสูงมาก
...
การที่ พรรคเพื่อไทย ไม่ได้มี สส.จำนวนมากแบบคุมคะแนนเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสภา ทำให้ต้องพึ่งพาพรรคร่วมมีความจำเป็นมาก เห็นได้ชัดว่าการปรับ ครม.ครั้งนี้ ความได้เปรียบตกไปอยู่ที่กลุ่มการเมือง โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย กลุ่มคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน, คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แม้อยู่ในพรรคเพื่อไทย แต่ยังมีความเป็นกลุ่มเครือข่ายของตัวเองสูงกว่าความเป็นพรรค
ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่น่าห่วง และเป็น "สายล่อฟ้า" ทางการเมืองมากที่สุดคือ คุณพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีสำนักนายกฯ ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ค่อนข้างน่ากังวล เพราะงานที่ คุณปานปรีย์ เคยทำไว้จะขาดความต่อเนื่อง ยิ่งตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านก็มีสงครามตามแนวชายแดนมาเป็นระยะ
อีกตำแหน่งที่ค่อนข้างน่าห่วงในการทำงานคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ของ คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน ต้องยอมรับว่าการทำงานที่ผ่านมามีความเกี่ยวข้องกับหมอและการแพทย์น้อย เช่นเดียวกับ คุณเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช สลับเก้าอี้มานั่งตำแหน่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นการหวังผลทางการเมืองมากกว่าการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะพรรคเพื่อไทยต้องการดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์
“การปรับเปลี่ยน ครม.รอบนี้ไม่น่าจะทำให้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะในระยะยาว การเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเอกภาพ และต้องยอมรับว่า คุณเศรษฐา ถึงจะเป็นนายกฯ แต่ไม่มีพลังมากพอที่จะคุมคนในพรรคเพื่อไทยได้ นี่จึงกลายเป็นความพิกลพิการของรัฐธรรมนูญที่กำหนดคนจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องมาจากการเป็น สส.ก็ได้ เลยทำให้ คุณเศรษฐา ไม่ได้มีพาวเวอร์พอในพรรคเพื่อไทย ซึ่งการปรับคณะรัฐมนตรีคงมีกลไกที่เหนือกว่ามาจัดการให้”
ระวังอุบัติเหตุทางการเมืองเปลี่ยนนายกฯ กลางทาง
รศ.ดร.ธนภัทร วิเคราะห์ถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจนต้องปรับเปลี่ยนนายกฯ กลางทาง จะต้องมีปัจจัยทางการเมืองที่สุกงอม เพราะถ้าคนที่อยู่เบื้องหลัง คุณเศรษฐา สามารถได้ประโยชน์เหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้ ก็อาจไม่ต้องเปลี่ยนนายกฯ เพราะต่อให้สลับเอาคุณ "แพทองธาร ชินวัตร" ขึ้นมาก็ไม่ได้ เพราะการเมืองตอนนี้ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นนายกฯ ต้องเจ็บตัวทั้งนั้น
อีกปัจจัยที่เป็นตัวเร่งทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองคือ การผลักดันนโยบายเงินดิจิทัล หากมีการยื่นวินัจฉัย และรัฐบาลถูกตัดสินในทางลบ จะนำสู่การต้องเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลกลางคันได้ เพราะการไม่มีเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล จะส่งผลต่อการบริหารบ้านเมืองในระยะยาว
...
ถ้าประเมินให้คะแนนการปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในเชิงภาพลักษณ์ให้ 7 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 เพราะเป็นการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าความผาสุกของประชาชน และสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ต้องระวังคือการทุจริต ที่มองแต่การตอบสนองนโยบาย โดยไม่มองผลกระทบโดยรวมของเศรษฐกิจ
“พรรคเพื่อไทย ต้องนำบทเรียนสมัยคุณยิ่งลักษณ์ คุณทักษิณ มาเป็นข้อควรระวัง เพราะต้องยอมรับว่า การรัฐประหารยังสามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น การพัฒนาประเทศก็จะไม่เกิด และวนซ้ำรอยเดิม ซึ่งผลกระทบหนักจะเกิดขึ้นกับประชาชน”.