7 วันอันตรายสงกรานต์ “หมอแท้จริง” ชี้เมาแล้วขับดีขึ้น แต่ขับรถเร็วแย่ลง ไร้การรณรงค์-ป้องกัน เผย ทุกวันมีคนไทย 45 คน ตายจากอุบัติเหตุ ป้องกันได้ อย่าโทษเคราะห์กรรม ถึงคราวตาย...
สรุป 7 วันอันตราย ช่วงเทศกาล “สงกรานต์ 2567” (11-17 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุสะสม 2,044 ครั้ง บาดเจ็บ 2,060 คน และเสียชีวิต 287 ศพ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2566 ที่มีผู้เสียชีวิต 264 ศพ บาดเจ็บ 2,203 คน
สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ขับรถเร็ว ร้อยละ 45.98 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 18.75 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 12.50 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.82 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง...
ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนอะไรบ้าง? คือ การรณรงค์การ “เมาไม่ขับ” ถือว่าดีขึ้น เพราะการสูญเสียจากเมาแล้วขับลดลง แต่เรื่อง “ขับรถเร็ว” ล่ะ ...?
นี่คือเรื่องที่ต้องแก้ไขใช่หรือไม่
“เวลาพูดถึงเมาแล้วขับ ทุกคนจะคิดถึงหน้าผม แต่เวลาพูดถึงการรณรงค์ไม่ขับรถเร็ว คุณนึกถึงใคร... มีมูลนิธิไหนทำเรื่องนี้ ไม่มีใช่ไหม?”
นี่คือคำแรกที่ นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาฯ มูลนิธิเมาไม่ขับ ได้พูดคุยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พร้อมกับยอมรับว่า การรณรงค์เมาไม่ขับนั้น ได้ทำมา 30 ปี และเริ่มจะเห็นผลวันนี้
...
นพ.แท้จริง กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุสงกรานต์ ล่าสุด พบว่าสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ไม่ใช่เรื่องเมาแล้วขับ กลายเป็นเรื่อง “ขับรถเร็ว” พุ่งขึ้นไป 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ขณะที่เมาแล้วขับ ลดลงมาเยอะ
แสดงว่าการรณรงค์เรื่อง “เมาแล้วขับ” เราทำได้ดี แต่เรื่อง “ขับรถเร็ว” เราทำได้แย่ลง..?
“ทุกคนรู้ว่า “เมาแล้วขับ” มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ นี่ขนาดรู้แล้ว แต่เรื่อง “ขับรถเร็ว” คนยังไม่รู้ รู้แค่ว่าขึ้นทางด่วน ก็ต้องขับเร็วๆ สิ ไม่งั้นจะสร้างทางด่วนไว้ทำไม ที่สำคัญคือ มาตรการในการบังคับใช้เรื่องความเร็ว แตกต่างจาก “เมา” พอชนแล้ว ตรวจแอลกอฮอล์ อันนี้โดน แต่เมื่อมาดูเรื่องความเร็ว เราแทบจะไม่เห็นการฟ้องร้องเลย...”
เลขาฯ มูลนิธิเมาไม่ขับ เผยว่า เราจะเห็นภาพคนไทยขับรถฝ่าไฟแดงประจำ ที่ผ่านมา แทบจะไม่มีการรณรงค์เรื่องขับรถเร็ว ทำให้ไม่รู้กฎหมายเกี่ยวกับความเร็ว แตกต่างจากเรื่องเมา คือเห็นภาพชัด รู้ว่าถูกปรับ ถูกจับ ถูกขัง เท่าไร แม้กระทั่งมีด่านตรงไหน ยังรู้ แต่กับเรื่องความเร็ว เรากลับไม่สนใจ
กวดขันน้อย? เพราะมีกล้องจับความเร็วอยู่แล้ว?
ทีมข่าวฯ ถามหมอแท้จริงว่า เรามีเครื่องมือจับความเร็วอยู่แล้ว ทำให้มีการกวดขันน้อยหรือไม่ กูรูด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ชี้ว่า กล้องจับความเร็วที่ตำรวจใช้กันนั้น ราคาแพงมาก ตัวหนึ่งหลายแสนบาท แต่ใบสั่งดังกล่าว ไม่ส่งผลต่อความรู้สึกของคนขับรถ ว่าจะไม่ขับรถเร็ว
“เวลาเรารณรงค์ เราต้องทำให้เขารู้สึกสำนึกอยากจะป้องกัน เหมือนกับมาตรการโควิด ช่วงระบาดใหม่ๆ มีการรณรงค์ให้ใส่หน้ากากอนามัย หากไม่ใส่ แม้จะเข้าเซเว่นยังไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องกลับมาทบทวน คือ เรื่องมาตรการในการป้องกัน ซึ่งเทคโนโลยีเราเองก็มีแล้ว ก็คือกล้องจับความเร็ว แต่ว่าเราจะเอาจริงเอาจังขนาดไหน ทำอย่างไรให้เกิดกับความรู้สึกอยากจะลดความเร็ว เพราะขับรถแล้ว เกิดอุบัติเหตุแล้วไม่คุ้ม”
ใส่หมวกกันน็อก 90% จะลดสูญเสีย 8,000 คน/ปี
ที่ผ่านมา เรามีการรณรงค์เกี่ยวกับ “หมวกกันน็อก” แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้ผล ถึงแม้ว่าหมวกกันน็อก ไม่ได้ใช้เพื่อลดอุบัติเหตุ แต่เป็นการลดอัตราการตายบนท้องถนน ให้กับกลุ่มจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด
...
“หลักการของอุบัติเหตุเรายอมให้เกิดได้ เพราะมันคือ “อุบัติเหตุ” เพียงแต่ไม่ควรถึงแก่ชีวิต”
แต่เราก็มีกฎหมายครอบคลุมเรื่องการใส่หมวกกันน็อก ทั้งคนขับคนซ้อน...? นพ.แท้จริง อุทานว่า “ถูก...มาตรการมี แล้วผลเป็นอย่างไร เราต้องกลับมาย้อนดูผลของมันด้วย จากข้อมูล 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าคนใส่หมวกกันน็อกไม่ถึง 50% สำรวจทีไรก็เกือบๆ 50% ทุกครั้ง
ดังนั้น หากเรามีการรณรงค์ให้ใส่หมวกกันน็อกได้ ขอแค่ไม่ถึง 100% แค่เพียง 90% ใน 1 ปี เราจะลดการสูญเสียชีวิตได้ 7,000-8,000 คน ขอแค่ใส่หมวกกันน็อกดีๆ ที่ผ่าน มอก. และอย่างที่เราเห็น บางคนใส่เวลาถูกชน หมวกกันน็อกกระเด็นออกไป แปลว่าใส่แต่ไม่ล็อกคาง
“การป้องกันชีวิตจากอุบัติเหตุ สำหรับจักรยานยนต์ ไม่ได้ใช้อะไรมาก ขอแค่มีหมวกกันน็อก ซึ่งราคามันก็ไม่ได้แพงมาก หากเทียบกับชีวิตคน”
นพ.แท้จริง สะท้อนปัญหาว่า การรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุนั้น ในมุมมองของบ้านเรา เขาไม่ได้มองว่าเป็นเรื่อง “คอขาดบาดตาย” ต้องรีบแก้ไข ที่เห็นเป็นรูปธรรม ที่ทำงานอย่างแข็งขัน ก็คือ 7 วันอันตราย ช่วงปีใหม่ และสงกรานต์ แต่... อุบัติเหตุนั้น มันมีคนตายทุกวัน
“ทุกวันจะมีคนตายเฉลี่ยวันละ 45 คน จากอุบัติเหตุ ขณะเดียวกัน ในต่างประเทศ บางประเทศเขาตายน้อยมาก อย่างอังกฤษ เขาตายร้อยกว่าคนเท่านั้นทั้งปี หากคิดเป็นอัตราส่วนคือ 7-8 คนต่อแสนประชากร ขณะที่คนไทยเสียชีวิตเมื่อปี 2564 จำนวน 18,218 ศพ หรือ 25 ต่อแสนประชากร (รายงาน Global status report on road safety 2023 ของ WHO)”
สิ่งที่อยากจะเห็น คือ ภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานต่างๆ ให้ร่วมกันรณรงค์เรื่อง “หมวกกันน็อก” ก่อน จากนั้นค่อยมารณรงค์เรื่องความเร็ว ต่อด้วยเรื่องเมา เพราะสิ่งที่ทำอยู่นั้นมันเป็นเรื่องยาก การให้คนมาใส่หมวกกันน็อกนั้น มันทำได้ทันที”
...
“เลิกเชื่อ” ตายจากอุบัติเหตุ เพราะถึงคราว ทั้งที่ป้องกันได้
ช่วงท้ายการพูดคุยกับ หมอแท้จริง สิ่งที่เลขาฯ มูลนิธิเมาไม่ขับ ย้ำว่า อยากให้คนไทยเลิกเชื่อว่าการตายจากอุบัติเหตุ เพราะ “ถึงคราวตาย”
“ที่ผ่านมา คนไทยมักเชื่อว่าตัวเองจะไม่ประสบอุบัติเหตุ หากยังไม่ถึงคราวตาย...ซึ่งแตกต่างจากโควิดระบาดนะ เพราะมันมาแน่ ตายแน่ แต่อุบัติเหตุมองว่า “ไม่ใช่เรา” ดังนั้น หากถามต่อว่า หากมันมาถึงคุณล่ะ ก็มักจะพูดว่า “ถึงคราวแล้ว...เขาทำบุญมาแค่นี้” เรื่องนี้มันไม่ใช่เลย อุบัติเหตุมันป้องกันได้!!” หมอแท้จริง ย้ำอีกครั้งหนึ่ง “อุบัติเหตุป้องกันได้”
กูรูในการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ อธิบายว่า สิ่งที่ทุกหน่วยงานต้องทำ คือ ทำให้สังคมตื่นตัว และเรื่องนี้ “ไม่ใช่เรื่องธรรมดา” มันคือวิกฤติแล้ว ไม่ใช่แค่ 7 วันอันตราย แต่มันคือ วิกฤติทุกวัน แต่เราไม่เคยโดนฉายภาพแบบนี้ออกมา เพราะวันนี้ปิดศูนย์ไปแล้ว แม้จะบอกว่า เราจะทำอย่างต่อเนื่อง แต่เราก็ไม่เคยเห็นภาพนั้น...
...
คำพูดกับภาพจำ เหมือนคนละเรื่องกัน ทั้งที่ตัวเลขต่างๆ ที่เก็บไว้ก็มี เพียงแต่ “สภาพแวดล้อม” ของคนไทย มันเอื้อต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งความเชื่อ การเคารพกฎหมาย หรือแม้แต่ปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งทั้งหมดนี้เราต้องช่วยกันแก้ไข จะโทษคนใดคนหนึ่งไม่ได้...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ